หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

ร่องรอยความเสียหายจากน้ำท่วมใหญ่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเดือนสิงหาคมปี 2562 ยังมีให้เห็นตามผนังบ้านของ สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อดีตนักโทษการเมืองคดีเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี 

แตกต่างจากบาดแผลทางใจของเขา แม้ไม่มีร่องรอยให้เห็นจากภายนอก แต่เมื่อยืนขึ้นจึงเห็นว่า เขามีอาการสั่นและยืนไม่มั่นคงนัก ต้องใช้ไม้เท้าตลอดเวลา ซึ่งสมศักดิ์บอกว่า มีสาเหตุมาจากความเครียด ทำให้เขาเป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบ ส่งผลกระทบต่อร่างกายจนกลายเป็นอัมพฤตระหว่างอยู่ในคุก   

“ชีวิตผมตั้งแต่ติดคุกไปถึงทุกวันนี้ ไม่มีอะไรดีเลย ปีแรกที่ผมติดคุก แม่ผมก็เสีย ปีต่อมาพ่อผมก็เสียอีก ปีต่อมาก็ลูกชายผมอีก มาทุกวันนี้ เมียผมก็เพิ่งเสียไป ที่ทางผมก็ขายก็จำนำหมด ไม่เหลือสักอย่าง ต้องหาอยู่ที่ใหม่” สาเหตุเหล่านี้ทำให้สมศักดิ์เครียดหนัก  

บ้านที่ถูกน้ำท่วมหลังนี้สร้างขึ้นในพื้นที่แก้มลิงน้ำท่วมถึงและไม่มีเอกสารสิทธิ์การครอบครองที่ดิน เป็นการสร้างขึ้นหลังจากสมศักดิ์สูญเสียที่ดินเดิม เพราะครอบครัวนำทะเบียนบ้านไปจำนองเป็นหลักทรัพย์เพื่อต่อสู้คดี  

สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อดีตนักโทษการเมือง จ.อุบลราชธานี ถือไม้พยุงตัวเพื่อไม่ให้ล้ม ขณะยืนในบ้านหลังถูกน้ำท่วมใหญ่เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562

แม้เขาจะบอกว่าตอนนี้ร่างกายเริ่มดีขึ้น แต่ความเจ็บปวดยังคงฉายออกมาทางแววตา โดยเฉพาะเมื่อต้องเล่าถึงชะตากรรมหลังตกเป็นจำเลยในคดีทางการเมือง ก็ทำให้น้ำตาลูกผู้ชายคนนี้ต้องหลั่งริน 

“โอ๊ย มันทุกข์หลาย” เขาเล่าพร้อมกลั้นน้ำตาไม่ให้ไหล แล้วก้มหน้าเพื่อหลบสายตา 

ความเงียบทำงานอยู่ประมาณเกือบ 5 นาที สมศักดิ์จึงเงยหน้าขึ้น แล้วเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เขาถูกจับเป็นจำเลยเมื่อปี 2553 

“วันนั้น (19 พฤษภาคม 2553) ผมได้ยินข่าวว่า มีการชุมนุมของ นปช. ที่ศาลากลาง จึงออกไปดู เพราะได้ยินว่ามีคนบาดเจ็บ ซึ่งปรกติผมก็จะใส่ชุด อปพร. แต่วันนั้นชุดซักไว้ยังไม่แห้ง พอผมเข้าไป ก็อุ้มคนบาดเจ็บออกมาจากศาลากลางได้ 5-6 คน แต่ตำรวจก็ใช้ภาพถ่ายมาตามจับผม ทั้งที่ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเผาศาลากลาง ผมไปช่วยคน” สมศักดิ์กลืนความขนขื่นอันเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาต้องติดคุกลงในลำคอ

วันที่หัวหน้าครอบครัวต้องถูกจองจำทำให้ พัชรี ลายเสือ ภรรยา ต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัว พร้อมกับวิ่งขึ้นโรงขึ้นศาล 

“การขาดผู้นำครอบครัว ทำให้ชีวิตต้องอดๆ อยากๆ เพราะตอนเขาไม่โดนคดีก็รับก่อสร้างบ้านและบางวันก็ไปรับจ้าง ทำให้มีรายได้ไม่ขาด ตอนเขาติดคุกเราก็ทำกล้วยแขกขาย พอได้เลี้ยงลูก บางวันก็มีเงินแค่ 20 บาท ทำให้ตอนไปเยี่ยมเขาที่เรือนจำต้องเดินกลับบ้านประมาณ 10 กิโลฯ เพราะไม่มีค่ารถ” พัชรีให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 (ต่อมาเดือนมกราคม 2563 เสียชีวิตในวัย 60 ปี)   

สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ (ซ้าย) อดีตนักโทษการเมืองในคดีเผาศาลากลาง จ.อุบลราชธานี และ พัชรี ลายเสือ ภรรยา (ขวา – ขณะยังมีชีวิตอยู่) ภาพถ่ายเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 

วันถูกปล่อยตัว 

เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2560 สมศักดิ์ ถูกปล่อยตัวออกจากเรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี พร้อมกับอดีตนักโทษการเมืองอีก 3 คน หลังจากจำคุกไปแล้ว 7 ปี 4 เดือน จากผลการตัดสินของศาลชั้นต้นที่ให้จำคุก 33 ปี 4 เดือน  

“ตอนที่เขาจะให้ผมออกจากเรือนจำ เขาบอกให้เซ็นชื่อแล้วมาขึ้นรถตู้ ตอนอยู่ในรถตู้ พวกเรา 4 คนก็ปรึกษากันว่าเขาจะพาไปไหน ถ้าพาไปฆ่าทิ้ง พวกเราก็จะสู้ตาย” สมศักดิ์เล่าวินาทีก่อนการได้รับการปล่อยตัว 

เมื่อรถตู้เลี้ยวเข้ามาชุมชน เขาจึงเริ่มรู้ว่า รถตู้คนนั้นไม่ได้พาไปฆ่าทิ้งอย่างที่คิด เพราะบริเวณหน้าบ้านมีเจ้าหน้าที่ทหารยืนจังก้ารออยู่พร้อมครอบครัวแล้ว  

“ห้ามยุ่งการเมือง ห้ามเยี่ยมคนในเรือนจำ ห้ามออกนอกประเทศและห้ามร่วมชุมนุมทางการเมือง” เป็นข้อห้ามที่สมศักดิ์และเพื่อนเซ็นรับทราบก่อนการปล่อยตัว 

“เขาบอกว่า เอามาส่งแล้วเด้อ” นริศรา ประสานทรัพย์ หรือ แนน ลูกสาวของสมศักดิ์ เล่าวินาทีที่เจ้าหน้าที่นำพ่อมาส่งถึงหน้าบ้าน โดยที่เธอและแม่ ที่ตอนนั้นยังมีชีวิตอยู่ไม่ทราบล่วงหน้า 

“ตอนพ่อออกมา ไม่มีใครรู้ว่าพ่อจะได้ออก ตอนนั้นทหารจาก กอ.รมน. (กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในแห่งชาติอาณาจักร) มาหาที่บ้าน จากนั้นไม่นาน พวกเราก็เห็นหน้าพ่อใส่กางเกงขาสั้น พร้อมกับเสื้อขาวเดินลงจากรถ” แนนเล่าช่วงเวลาที่เห็นหน้าและได้สวมกอดพ่อในรอบหลายปี 

“ดีเจต้อย” จำคุกตลอดชีวิต 

ไม่เพียงแต่ครอบครัว “ประสานทรัพย์” เท่านั้นที่ต้องอยู่ในสถานการณ์ยากลำบากระหว่างหัวหน้าครอบครัวถูกดำเนินคดี 

ครอบครัว “ทาบุดดา” ก็มีชะตากรรมไม่ต่างกัน โดยเฉพาะเมื่อหัวหน้าครอบครัวของพวกเขาเป็นแกนนำคนสำคัญของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ของจังหวัดอุบลราชธานี 

“ตั้งแต่พี่ต้อยถูกจับ ลูกชาย 2 คนก็รู้สึกขาดพ่อ แม้พวกเขาจะเข้าใจ แต่ก็กระทบต่อจิตใจของลูกคนเล็ก ที่ตอนเกิดเหตุ เขาอายุแค่ 15 ปี” ผาสุข ทาบุดดา วัย 55 ปี ภรรยาของ พิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย แกนนำกลุ่มชักธงรบ เล่าถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นหลังหัวหน้าครอบครัวต้องตกเป็นนักโทษการเมือง 

ยิ่งไปกว่านั้นเธอต้องตกงานจากตำแหน่งธุรการของเทศบาลเมืองอุบลราชธานี หลังการเมืองเปลี่ยนขั้วทำให้สถานการณ์ทางเงินของครอบครัวร่อยหรอ แม้การเป็นแกนนำคนสำคัญของ กลุ่ม นปช.จะได้รับการดูแลจากแกนนำหลักจากส่วนกลาง แต่ทว่าช่วงเวลาดังกล่าวมีผู้ถูกจับดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก การดูแลจึงไม่ทั่วถึง 

“หลังพี่ต้อยถูกจับคุกได้ 1 ปี 5 เดือน ก็มาออกมาและอุทธรณ์คดี ตอนนั้นเขาก็มาทำธุรกิจไว้ให้ แล้วเขาก็ไปรอฟังผลการตัดสินของศาลฎีกา ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าจะถูกจำคุกตลอดชีวิตและตอนนี้ยังไม่ได้ออกจากเรือนจำเลย ส่วนธุรกิจที่ทำไว้ เราก็ทำต่อไม่เป็น ตอนนี้ก็เท่ากับว่าไม่มีรายได้”ภรรยาอดีตแกนนำกลุ่มชักธงรบกล่าวและว่า “ตอนนี้ก็อยู่ได้ด้วยเงินช่วยเหลือจากกองทุน Redfam Fund หรือ กองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง” 

พิเชษฐ์ ทาบุดดา หรือ ดีเจต้อย ถูกตัดสินคดีในศาลฎีกาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2558 ในความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ความผิดต่อเจ้าพนักงาน ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตราย ซึ่งเป็นการร่วมกันก่อเหตุวางเพลิงเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 โดยศาลฎีกาได้กลับคำให้พิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่ให้จำคุกเพิ่ม 1 ปี เป็นประหารชีวิต แต่ศาลฎีกาได้ลดโทษเหลือจำคุกตลอดชีวิตแทน

“ไม่คิดว่าจะมาอยู่จุดนี้ ไม่คิดว่าจะร้ายแรงขนาดนี้” ผาสุขโอดครวญถึงชะตาชีวิตของสามีที่ตอนนี้ถูกจองจำอยู่ที่เรือนจำคลองไผ่ จ.นครราชสีมา 

ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี หนึ่งในผู้ก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดง 

กองทุน Redfam Fund 

หลังเหตุการณ์ทางการเมืองวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 มีชาวจังหวัดอุบลราชธานีถูกจับ 60 คน ต่อมาได้ทยอยยกฟ้องจนเหลือเพียง 21 คน ขณะนี้มีผู้ต้องขังที่ยังอยู่ในเรือนจำของคดีนี้ 4 คน แยกเป็นชาย 3 คน ถูกจำคุกที่เรือนจำคลองไผ่ จ.นครราชสีมาและหญิง 1 คน อยู่เรือนจำจังหวัดอุบลราชธานี ทั้ง 4 ครอบครัวได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปี 2554

“ชีวิตพวกเขาพังตั้งแต่วันแรกที่เราถูกจับขัง ตั้งแต่วินาทีแรกที่เปลี่ยนเป็นชุดนักโทษในเรือนจำ อัตลักษณ์ก็เปลี่ยนไปเลย ต่อให้ยังไม่มีการพิพากษาก็ตาม”

เป็นเหตุผลที่ ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ก่อตั้งกองทุนช่วยเหลือครอบครัวผู้ต้องขังคดีการเมืองเสื้อแดงร่วมกับเพื่อนนักวิชาการภายในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและนักวิชาการอีกหลายจังหวัดที่มีนักโทษการเมือง 

แรกทีเดียวการช่วยเหลือนักโทษการเมืองเป็นการเปิดระดมทุนผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย โดยให้ผู้ต้องการช่วยเหลือโอนเงินเข้าบัญชีของครอบครัวนั้นๆ ซึ่งต่อมากลายเป็นกองทุนฯ และช่วยเหลือครอบครัวของนักโทษการเมืองครอบครัว 2 พันบาทต่อเดือน นอกจากนั้นก็ใช้สำหรับการประกันตัว  

“ผมตกเป็นแพะ”

แม้ทุกครอบครัวที่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนฯ จะรู้สึกขอบคุณในการดูแล แต่ทว่าไม่มีครอบครัวใดต้องการเงินช่วยเหลือหากไม่จำเป็น โดยเฉพาะครอบครัว “ประสานทรัพย์” 

“ตั้งแต่ติดคุก มันก็กระทบหลายอย่าง ทั้งเรื่องครอบครัว เรื่องอิสรภาพ มันตัดทอนเราไป มันเสียเวลา เท่ากับเอาเวลาของเราไปคุมขังในเรือนจำโดยไม่ใช่เหตุ แทนที่จะเอาเวลามาทำมาหากิน เลี้ยงครอบครัวให้เจริญก้าวหน้า แต่นี่ไม่ใช่ เอาเวลาของผมไปทิ้งในเรือนจำเฉยๆ ไม่ได้ประโยชน์และผมก็เป็นแค่ชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้เป็นแกนนำอะไรกับเขา” สมศักดิ์โอดครวญ 

ในรายงานของศูนย์ข้อมูลประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เดือน เม.ย.-พ.ค.53 หรือ ศปช. หมวดการจับกุมดำเนินคดีว่าด้วยเหตุผลทางการเมืองปี 53 หน้า 468 ตั้งข้อสังเกตในคดีเผาศาลากลางอุบลราชธานีว่า การจับกุมผู้ต้องสงสัยจึงเป็นการจับตามหมายจับทั้งหมด แต่กระบวนการออกหมายไม่รัดกุมและไม่ยึดหลักการของกฎหมายที่ต้องมีหลักฐานตามสมควร มีการออกหมายจับทั้งคนที่อยู่ภายนอกและภายในศาลากลาง ภาพถ่ายส่วนใหญ่เป็นภาพถ่ายระยะไกล บางภาพมืด ไม่ชัดเจน บางภาพถ่ายขณะขว้างก้อนหินเข้าใส่ป้อมยาม บางภาพถ่ายคนที่ยืนอยู่ภายนอก ไม่มีพฤติกรรมอื่นใด 

“คดีนี้ยังมีการออกหมายจับผู้ต้องหาบางคน โดยใช้ภาพที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปี 2553 ด้วย และถูกออกหมายจับเพราะตำรวจเคยเห็นเขาร่วมชุมนุมในครั้งก่อนๆ โดยไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับการชุมนุมที่ศาลากลาง” รายงาน ศปช. ระบุ  

จึงไม่แปลกหาก “สมศักดิ์” จะรู้สึกว่า “ถูกยัดเยียดข้อหา” 

“10 ปีที่ผ่านมา ผมได้เรียนรู้หลายอย่าง ทั้งความยุติธรรมที่มันสองมาตรฐาน ตอนอยู่ในเรือนจำ ผู้ที่ไม่ได้ทำผิดก็มี ผู้ที่ทำผิดโดยตรงก็มี ผู้ที่ไม่ได้กระทำผิดถูกยัดเยียดข้อหาก็มี อย่างพวกผมเป็นต้นคือ ไม่ผิดจริง เขาก็ว่าผิด ก็เท่ากับยัดเยียดข้อหาเอาไปเป็นแพะ ถ้าเป็นคนมีเงินคงจะไม่ติดคุก แต่คนจนๆ เหมือนพวกผมไม่มีเงินต่อสู้คดี ไม่มีเงินจ้างทนาย มีแต่ติดคุกอย่างเดียว” เป็นบทเรียนในรอบ 10 ปีที่สมศักดิ์ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรง หลังตกเป็นนักโทษการเมือง  

ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอด้านล่างนี้ 

image_pdfimage_print