วีระวรรธน์ สมนึก เรื่อง 

เขา “ตาบอด” เพราะกระสุนนัดหนึ่งฝังกะโหลก 

แต่กลับ “ตาสว่าง” เพราะกระสุนนัดเดียวกันนี้ 

และทันทีที่ตาสว่าง

เขากลับพบว่าประเทศที่ตนอาศัยอยู่

ช่างมืดมน ไม่มีทางออก ไม่มีที่พึ่ง ไม่มีความยุติธรรม 

ไม่มีสิ่งซึ่งสามารถไว้วางใจ ทุกสิ่งที่เคยมองเห็น

ล้วนแต่เป็น “ภาพลวงตา” 

ข้อความข้างต้นเป็นบางส่วนจากหนังสือ “ตาสว่าง” (2563) แปลจากหนังสือเรื่อง Il Re di Bangkok เขียนโดย Claudio Sopranzetti และคณะ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

หนังสือเล่มนี้ดัดแปลงมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2520 – 2550 ถือเป็นงานผสมผสานระหว่างเรื่องจริงกับเรื่องแต่ง โดยคณะผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าด้านมานุษยวิทยาในประเทศไทยนับ 10 ปีและสัมภาษณ์บุคคลกว่าร้อยชั่วโมง กระทั่งออกมาเป็นหนังสือเล่มนี้ 

ผู้เขียนและคณะใช้เทคนิคการเล่าเรื่องโดยใช้กราฟฟิคโนเวลหรือนิยายภาพ เพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย แปลโดยนันธวรรณ์ ชาญประเสริฐ   

ผู้เขียนและคณะเขียนให้ “นก” เป็นตัวแทนและสัญลักษณ์ในการเล่าเหตุบ้านการเมืองที่เกิดขึ้นในรอบ 30 ปี โดยเรื่องราวเข้มข้นในช่วงเหตุการณ์ “พฤษภาคม 2553” เมื่อกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกรัฐบาลที่นำโดย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สั่งสลายการชุมนุมที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่เดือนมีนาคม กระทั่งนกที่เป็นตัวละครหลักในเรื่องเกิดอาการ “ตาสว่าง”   

นกเป็นชาวไร่ชาวนาที่จังหวัดอุดรธานี แต่ด้วยสภาพแร้นแค้น เขาจึงตัดสินใจเข้ามาหางานทำที่กรุงเทพฯ เมื่อปี 2525  

หลังเขาใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ไม่นาน นกก็ได้งานเป็นคนขับมอเตอร์ไซค์รับจ้างและเริ่มมีเพื่อน มีสังคม มีรายได้ และต่อมาเขาก็เริ่มสนใจการเมือง 

การเมืองได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาในแต่ละวัน รวมถึงบุคคลในครอบครัว 

ระหว่างที่ใช้ชีวิตในกรุงฯ เขาสัมผัสถึงอิสรภาพราวกับนกที่กำลังโบยบิน เขาได้ลิ้มรสว่าอิสรภาพคืออะไร และได้ตระหนักว่า เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว สิ่งหนึ่งที่ทุกคนพึงมีคือ “อิสรภาพ” 

เขาเริ่มเลือกทางเดินของตัวเองในแบบที่เขาเห็นว่าเหมาะควร เขาสมัครเป็นสมาชิก “กลุ่มคนเสื้อแดง” เช่นเดียวกับคนในสังคมและเพื่อนฝูงที่เขารู้จัก คนกลุ่มนี้ได้ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านในประเด็นที่พวกเขาเห็นว่าไม่เป็นธรรม แต่แล้วเรื่องราวก็กลับพลิกผัน 

ผู้เขียนและคณะใช้เทคนิคเล่าเรื่องโดยใช้กราฟฟิคโนเวลหรือนิยายภาพเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่าย

เปิดตา: เข้ากรุงเทพฯ เพื่อแสวงหา

เมื่อปี 2525 เป็นปีที่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี  เป็นปีที่ประเทศไทยจัดพระราชพิธีสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี อันแสดงถึงความเป็นบ้านเมืองที่มั่นคง มีความร่มเย็นเป็นสุขด้วยพระบารมีของพระผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่สังคมไทยกำลังฟื้นตัวจากภัยคอมมิวนิสต์และเศรษฐกิจกำลังเติบโต นำมาสู่การกระจายตัวของเหล่าแรงงานจากชนบท โดยเฉพาะจากทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไทย 

ภาพนั้นฉายชัดยิ่งขึ้นเมื่อ “นก” เข้ามาหางานทำในเมืองหลวงเช่นเดียวกับหลายชีวิตที่มาแสวงหาโอกาส โดยมีญาติมารอรับ

ช่วงแรก เขามีชีวิตจากรายได้เพียงเล็กน้อย กระทั่งวันหนึ่งเขาได้รู้ความจริงว่า เขาได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้น ส่วนอีกครึ่งหนึ่งถูกญาติที่เป็นนายหน้าหางานให้หักหัวคิว เมื่อทวงถามถึงสิ่งที่เกิดขึ้น เขาก็ถูกญาติไล่ออกจากที่พัก 

นี่คือบทเรียนแรกที่เมืองในฝันอย่างกรุงเทพฯ สอนเขาให้รู้จักด้านมือ เมืองที่ผู้คนอยู่กันอย่างตัวใครตัวมัน ปล่อยให้ผู้พ่ายแพ้เหลือเพียงตัวลีบเล็กและตกอยู่ในเงามืด “นกกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง”

แต่แล้วโชคชะตาก็ทำให้เขาได้พบกับ “หงส์” รุ่นพี่แรงงานจากจังหวัดเลย หงส์ช่วยให้นกยังใช้ชีวิตในกรุงเทพฯ ต่อไปได้ นกได้งานใหม่เป็นกรรมกรแบกหามในตลาด ความเป็นอยู่เริ่มดีขึ้น นกพูดเปรยว่า “เศรษฐกิจดี หางานง่าย” คลอเคล้าไปกับเสียงเพลง “ซาอุดร” ที่ดังมาจากวิทยุของวงคาราบาว เพลงที่บอกเล่าถึงเรื่องราวของชีวิตการทำงานและการหาเงินของคนต่างจังหวัดในห้วงเวลานั้น 

นกกลับมามองกรุงเทพฯ ในแง่ดีอีกครั้ง และหันมาสนใจเหตุบ้านการเมือง

เมื่อปี 2528 นกบรรยายว่า “เมืองเจริญขึ้นทุกปี พวกเราก็เหมือนกัน” แม้เหตุการณ์กบฏ 9 กันยาฯ (หรือกบฏทหารนอกราชการ) ที่พยายามทำรัฐประหารรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ยังไม่สำเร็จ ตอนนั้นเศรษฐกิจดีขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่คนทำงานในโรงงานน้ำแข็งอย่างนกยังมีเงินเก็บพอที่จะซื้อมอเตอร์ไซค์ได้ 

นกรู้สึกว่าตัวเองประสบความสำเร็จในชีวิตระดับหนึ่ง และเขาต้องการกลับบ้านเพื่อแสดงให้คนในหมู่บ้านเห็นว่า การมาอยู่กรุงเทพฯ ของเขาไม่สูญเปล่า 

ปกหนังสือ “ตาสว่าง” แปลจากหนังสือเรื่อง Il Re di Bangkok เขียนโดย Claudio Sopranzetti และคณะ พิมพ์โดย สำนักพิมพ์: อ่านอิตาลี

ลวงตา: กลับบ้านเกิดแบบไม่เหลืออะไร

นกกลับบ้านที่อุดรธานีเพื่อเกณฑ์ทหาร บวชทดแทนบุญคุณ และแต่งงานกับไก่ ในวันแต่งงานของเขา เป็นช่วงที่เกิดเหตุพฤษภาทมิฬ 2535 โทรทัศน์ปรากฏภาพพลตรีจำลอง ศรีเมือง  และพลเอกสุจินดา คราประยูร เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 และเหตุความรุนแรงดังกล่าวก็สิ้นสุดลงในเวลาต่อมา 

“วันนั้นเป็นวันที่เราสองคนและคนทั้งประเทศจะไม่มีวันลืมเลือน เหมือนเป็นจุดเริ่มต้นของชีวิตใหม่” นกกล่าว  

ต่อมาเมื่อปี 2536 เป็นปีที่ใครต่างคิดว่า เศรษฐกิจก็ยังคงจะเดินหน้าต่อไปได้ด้วยดี จนมีคำพูดที่ว่า“ประเทศเราจะร่ำรวยเหมือนอเมริกา” 

ขณะนั้น นกและหงส์ได้ชักชวนกันไปทำงานก่อสร้างที่เกาะพะงัน จังหวัดพังงา นกอยากมีรายได้มากขึ้นเพื่อส่งให้ ซัน ซึ่งเป็นลูก และเมียที่ต่างจังหวัด แต่แล้วก็ไม่ได้เป็นดั่งที่ต้องการ 

นายจ้างที่เกาะพะงันต้องการแรงงานไปก่อสร้างรีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว นกต้องทำงานหนักมากขึ้นเรื่อยๆ

นายจ้างผสมยาบ้าลงในน้ำให้เขาดื่ม หวังให้ตื่นตัวและทำงานได้มาก กระทั่งเขาต้องติดยา 

ในหนังสือสื่อสารด้วยถ้อยคำเปรียบเปรย โดยมีนกเป็นผู้สื่อสารว่า “นายจ้างทำกับผมแบบเดียวกับคนกรุงเทพฯ เหมือนผมเป็นสัตว์รับใช้ ผมมาทำงานที่เกาะนี้ก็เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ตอนนี้ครอบครัวผมต้องการเงินมากกว่าครั้งไหนๆ โชคดีมียาบ้าเสริมพลัง”

สุดท้าย เงินที่หามาได้ก็หมดไปกับการซื้อยามาเสพ นกไม่ได้ส่งเงินกลับบ้านและไม่ได้กลับบ้านติดต่อกันเป็นเวลานานจนกระทั่งลูกโตและพ่อของเขาเสียชีวิต ต่อมาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งปี 2540 นกจำต้องกลับบ้านเกิด โดยไม่เหลืออะไรติดตัว 

ตาบอด: ชีวิตเล็กๆ บนเส้นทางการเมืองระดับประเทศ 

หลังจาก ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งและเข้ารับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ได้สร้างความหวังและให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำให้ประชาชนคนไทยทุกคน “เป็นหุ้นส่วนของประเทศ” 

นกจึงตัดสินใจพาครอบครัวกลับมาแสวงหาโอกาสที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง คราวนี้เขายึดอาชีพมอเตอร์ไซค์รับจ้าง ครั้งหนึ่งวินมอเตอร์ไซค์ที่เขาประจำอยู่ถูกตำรวจรีดไถ เขาและเพื่อนรวมตัวกันเรียกร้องความเป็นธรรม กระทั่งตำรวจกลุ่มดังกล่าวถูกดำเนินคดี ก็ยิ่งทำให้เขาและเพื่อนรู้สึกว่า สิทธิเสียงของพวกเขามีพลัง 

นกเริ่มเห็นว่า รัฐบาลทักษิณให้ความสำคัญกับเสียงของคนจนอย่างเขาและคนรอบข้างมากขึ้น กระทั่งเมียของนกพูดว่า 

“ทักษิณกำลังทำให้ทุกอย่างดูกระเตื้องขึ้นจริงๆ” 

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทักษิณจะได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งเป็นสมัยที่สองเมื่อปี 2548 อย่างถล่มทลาย แต่แล้วก็มีกระบวนการทำลายความนิยมและโค่นล้มรัฐบาลทักษิณ จนนำมาสู่เหตุรัฐประหารในรุ่งเช้าของวันที่ 19 กันยายน 2549 

นักศึกษานักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง รวมถึงนกและคนรอบข้างของเขา เห็นตรงกันว่าควรออกมาเคลื่อนไหวเพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุรัฐประหารครั้งนั้น 

เพราะเป็นการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน กระทั่งเมื่อปี 2552 อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ ได้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

ส่งผลให้ประชาชนในต่างจังหวัดหลายพันคนออกมาเคลื่อนไหว โดยเรียกคนเองว่า “คนเสื้อแดง” และรวมกันที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้อภิสิทธิ์ลาออกจากการเป็นนายกรัฐมนตรี ประมาณกลางเดือนมีนาคม 2553 

หงส์เป็นหนึ่งในคนขับเคลื่อนการชุมนุม เมื่อเว้นว่างจากการขับวินมอเตอร์ไซค์ นกก็จะไปเข้าร่วมชุมนุม เช่นเดียวกับคนเสื้อแดงคนอื่นๆ ที่มาอาสาเป็นผู้คุ้มกันการชุมนุม บางคนก็ติดตามการเคลื่อนไหวของทหาร 

กระทั่งเกิดเหตุการณ์วันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่กองกำลังทหารพยายามสลายการชุมนุม ทำให้มีผู้เสียชีวิต 94 คน หนึ่งในนั้นคือ “หงส์”  และบาดเจ็บอีกนับพันคน นกได้รับบาดบาดเจ็บ เขาตาบอดจากการถูกยิง กระสุนฝังกระโหลก ไม่สามารถผ่าเอากระสุนออกได้

ตาสว่าง: สรรพสิ่งล้วนเปลี่ยนแปลง

ผู้เขียนตั้งคำถามผ่านตัวละครว่า ตลอดระยะเวลาเกือบ 30 ปีนั้น นกไม่ได้ต่อสู้เพื่อตัวเขาและคนรอบข้าง แต่เป็นการต่อสู้ไปตามเส้นทางทางการเมืองที่คนกลุ่มต่างๆ ลากเส้นไว้ ทำให้นกกลับมาทบทวนตัวเอง และฟังเสียงความต้องการของตัวเองว่าคืออะไร 

สิ่งที่เขาต้องการ คือการมีชีวิตในชนบท การมีครอบครัวที่เรียบง่ายและมีเพื่อนที่ดี เรื่องราวที่เกิดขึ้นในชีวิตได้สอนให้เขารับรู้ว่า อะไรคือสิ่งที่เขาต้องการ และอะไรคือสิ่งที่เขาไม่อยากหวนกลับไปอีก 

“ตาสว่าง” ในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการหันหลังให้กับเรื่องราวและการเคลื่อนไหวทางการเมืองด้วยการหันมาสนใจตัวเองและคนใกล้ชิด อาการตาสว่างในที่นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามวันข้ามคืน แต่เป็นอาการที่ค่อยๆ สั่งสม และจะปรากฏในช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งไม่อาจทราบล่วงหน้าว่า “ช่วงไหนเหมาะสม” 

ตาสว่าง ยังไม่ใช่อาการที่ข้ามพ้นจากภาพลวงตาหรือเรื่องราวในทางลบมาสู่การเข้าใจความจริงอย่างชัดแจ้ง แต่อาการตาสว่างเป็นเพียงการรับรู้ในสิ่งหนึ่งและประเมินว่าดีหรือไม่ดี

ตอนท้ายเล่ม ผู้เขียนชวนให้คิดว่า นกคงเลิกสนใจการเมืองและคงไม่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีก ซึ่งก็อาจจะเป็นไปได้ ขณะเดียวกัน การกลับไปสู่การเป็นตัวเองและอยู่กับคนใกล้ชิดอาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการเริ่มต้นใหม่ไปพร้อมกับการทบทวนสิ่งที่แล้วมา 

ผู้เขียนได้ขมวดปมว่า การออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวของนกในรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จในอดีต อาจไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หากนกต้องการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอีกครั้ง อาจจะต้องใช้เวลาทบทวนและหาวิธีทางที่เหมาะกับห้วงเวลานั้นๆ 

image_pdfimage_print