แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง
ประเด็นความมั่นคงทางอาหารในวิกฤตสถานการณ์ “โควิด-19” สะท้อนภาพของปัญหาใหญ่เรื่อง “ปากท้อง” ซึ่งทั่วโลกได้กลับมาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นกระแสที่ชี้ว่า โลกจะเปลี่ยนยุค เปลี่ยนภาพทุกด้านของเศรษฐกิจ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภค และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนจะเปลี่ยนไปหลังจากโรคระบาดผ่านพ้นไปสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal
ทว่าในช่วงเวลาที่ประชาชนกำลังเผชิญหน้ากับวิกฤตอย่างยากลำบาก กระทรวงพาณิชย์กลับเตรียมเสนอผลการศึกษา เรื่องการเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) เข้าสู่วาระการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) ที่มี สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธุ 2563 โดยวางแผนการว่า ไทยจะยื่นความจำนงเข้าร่วมเป็นสมาชิกอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะกรรมาธิการ CPTPP ครั้งที่ 3 ในเดือนสิงหาคม 2563 ณ ประเทศเม็กซิโก
ทันทีที่ข่าวเล็ดลอดออกมา มวลชนออนไลน์ได้จัดตั้ง Mob From Home แสดงการคัดค้านอย่างล้นหลาม โดยหลายฝ่ายเห็นว่า การเข้าร่วม CPTPP จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงแก่ประเทศไทย เช่น การผูกขาดเมล็ดพันธุ์ การทำลายความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางยา ส่งผลกระทบต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งจะทำให้คนไทยตกเป็นทาสทุนข้ามชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แรงกดดันของสังคมที่การคัดค้านขยายตัวเร็วยิ่งกว่าไฟลามทุ่ง ทำให้ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ต้องออกมาแถลงผ่านสื่อว่า ‘เรื่องนี้อาจจะไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ เพราะมีวิกฤตโรคระบาด จึงเห็นขอถอนเรื่องออกไป’
อย่างไรก็ตาม มติ ครม. ในวันดังกล่าว ได้เห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารระยะที่ 1 (ปี 2562-2570) ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยแผนมุ่งเน้นให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอาหารแห่งอาเซียนและเป็น 1 ใน 10 ของประเทศผู้ส่งออกอาหารของโลกภายในปี 2570 ควบคู่กับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก (Local Economy) ตามนโยบายประชารัฐของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี
สรุปแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ประกอบด้วย 4 มาตรการ โดยการขับเคลื่อนหลักจะอยู่ที่กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและภาคเอกชน เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่ (Food Warriors) การผลิตอาหารอนาคต (Future Food) เช่น อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์อาหารจากเทคโนโลยีชีวภาพ และอาหารใหม่ การส่งเสริมให้มี Future Food Lab อย่างมีศักยภาพ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของผู้ประกอบการ การสร้างโอกาสทางธุรกิจ (New Marketing Platform) โดยการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร SMEs การสร้างปัจจัยพื้นฐานเพื่อเร่งการพัฒนาอุตสาหกรรม อาหารของไทยและลดอุปสรรคในการประกอบธุรกิจที่จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0
มาตรการทั้งหมดนี้มุ่งให้เกษตรกรเพาะปลูกในระบบอุตสาหกรรมการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยี เพื่อผลิตวัตถุดิบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมเพื่อค้าขายในตลาดโลก
อีกฝั่งของกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) สังกัดกระทรวงมหาดไทย ได้รณรงค์ระดับชาติให้ประชาชน 77 จังหวัด ปลูกพืชผักตาม “แผนปฏิบัติการ 90 วัน (วันที่ 1 เมษายน – 30 มิถุนายน) ปลูกผักสวนครัวเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร” ในช่วงที่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชจาก บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด จำกัด (ศรแดง) 4-5 หมื่นซอง และ บริษัท เจียใต๋ จำกัด 5 แสนซอง เพื่อให้ พช. กระจายสู่ครัวเรือนทั่วประเทศ และสุดท้ายโครงการนี้เรียกว่า “ตู้เย็นข้างบ้านต้านภัย COVID-19”

แสวง สมวงษ์ บ้านหนองลุมพุก แกนนำกลุ่มปลูกผักปลอดสาร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มเกษตรธรรม ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น
ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่เกษตรกรในกลุ่มเกษตรธรรม ตำบลโนนสะอาด อำเภอหนองเรือ จังหวัดขอนแก่น ตั้งวงใต้ถุนบ้านชวนกันวิเคราะห์ข้อมูล ทบทวนความเป็นมา สรุปบทเรียน และเตรียมความพร้อมที่จะขับเคลื่อนวิถีชีวิตในช่วงการระบาดของโควิด-19 และชีวิตที่จะเปลี่ยนไปในอนาคตเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
เกษตรกรกลุ่มเกษตรธรรมเล่าภาพในอดีตประมาณปี 2520 ในอำเภอโนนสะอาด ที่หลายครัวเรือนผ่านประสบการณ์การเป็น “ลูกไร่” ของบริษัทที่เข้ามาจ้างให้เกษตรกรผลิตเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศและแตงกวาเพื่อส่งออก
เช่นเดียวกับหลายตำบลใน จังหวัดขอนแก่น และหลายจังหวัดในภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดที่ติดกับแม่น้ำโขง เช่น หนองคาย นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ ที่บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งเป็นทุนไทยจะเข้ามาเป็นนายหน้าว่าจ้างให้เกษตรกรในหมู่บ้านผลิตเมล็ดพันธุ์ในระบบเกษตรพันธสัญญาและรวบรวมผลผลิตส่งออกให้แก่บริษัทเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ชนิดการผลิตที่พบมาก เช่น พริก แคนตาลูป มะเขือเทศ แตงกวา เป็นต้น
ชนิดของเมล็ดพันธุ์ผักที่มีการผลิตในประเทศมีอยู่ 3 ชนิด คือ เมล็ดพันธุ์พันธุ์ผักผสมเปิด เมล็ดพันธุ์ผักพันธุ์แท้ และเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสม (F1 – hybrid) แต่การขยายฐานการผลิตเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทย โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนและปรับปรุงพันธุ์ จะเน้นที่การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสม (F1 – hybrid) เท่านั้น
การศึกษาของ รศ.ดร.บุญมี ศิริ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุว่า การผลิตเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสมมีทั้งผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ เป็นพันธุ์ที่ปรับปรุงขึ้นมาโดยบริษัทเมล็ดพันธุ์ในประเทศเอง ได้แก่ มะระ แตงกวา แตงร้าน แตงโม บวบ ฟักทอง แคนตาลูป พริกยักษ์ พริกชี้ฟ้า มะเขือเทศ มะเขือเปราะ มะเขือยาว ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนที่ผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศโดยเฉพาะ เป็นพันธุ์ที่ปรับปรุง โดยบริษัทเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศ ได้แก่ แตงกวา แตงร้าน แตงดอง แตงโม แคนตาลูป พริกยักษ์ พริกชี้ฟ้า และมะเขือเทศ ซึ่งมีตลาดเมล็ดพันธุ์ที่แน่นอนในหลายๆ ประเทศ
ผลการศึกษาของ รศ.ดร.บุญมี ยังบอกอีกว่า สำหรับบริษัทที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ผักลูกผสมเพื่อการส่งออกที่สำคัญพิจารณาจากมูลค่าการส่งออกเฉพาะเมล็ดพันธุ์ควบคุมเพื่อการค้าที่มีมากกว่า 15 ล้านบาท เมื่อปี 2543 มี 9 บริษัท คือ บมจ.เจียไต๋เมล็ดพันธุ์ บมจ.เซมินีสเวเจ็ทเทเบิลสีดส์ (ประเทศไทย) บมจ.ซีนเมล็ดพันธุ์ บมจ.อดัมส์เอ็นเตอร์ไพรเซส บมจ.ซาคาตะสยามซีด บมจ.ทีเอสเอ บมจ.เพื่อนเกษตรกร บมจ.เอจียูนิเวอร์แซล และบมจ.ไทยโกลเด้นซีด โดยมีแหล่งผลิตส่วนใหญ่อยู่ในอีสาน
เมื่อปี 2548 Positioningmag เผยแพร่บทความโดยระบุว่า ประเทศไทยนำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักเกือบทั้งหมดจากต่างประเทศ เพราะไทยไม่สามารถผลิตเมล็ดพันธุ์ผักในระดับสายพันธุ์พ่อแม่ หรือที่เรียกกันว่าเมล็ดพันธุ์หลัก (Foundation Seed) ได้เอง เนื่องจากประเทศเจ้าของเมล็ดพันธุ์จะสงวนสิทธิ์ในการขยายพันธุ์ไว้ เมล็ดพันธุ์ที่นำเข้าร้อยละ 83 เป็นเมล็ดพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ผักที่นำเข้ามาก ได้แก่ กะหล่ำปลี ผักชี คะน้า ผักกาดขาว ผักกาดหัว กะหล่ำดอก ผักกาดกวางตุ้ง และพริก การสร้างรายได้เข้าประเทศจากธุรกิจเกษตรประเภทนี้คือ การนำเข้าเมล็ดพันธุ์หลักจากบริษัทประเทศผู้ผลิตมาเพาะเป็นพันธุ์ขยาย (Registered Seed) ในไทย โดยส่งนักวิชาการไปศึกษาวิธีการเพาะพันธุ์ การดูแลรักษา รวมทั้งการผสมพันธุ์ ส่วนเมล็ดพันธุ์ที่ได้มาจะนำไปกระจายให้กับเกษตรกรเพาะปลูกตามวิธีการที่แนะนำ เมื่อผลผลิตออกแล้วจะรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนเพื่อส่งกลับไปยังเจ้าของสิทธิบัตรอีกครั้ง ก่อนจะจัดส่งจำหน่ายทั่วโลกในลักษณะเมล็ดพันธุ์จำหน่าย (Certified Seed)
เมื่อปี 2548 มูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ของไทยเฉลี่ยแต่ละปีอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาท มูลค่าการส่งออก 1,000 ล้านบาท เวลานั้นในประเทศไทยมีบริษัทที่จดทะเบียนขออนุญาตทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ประมาณ 200 ราย แบ่งเป็นบริษัทผู้ส่งออกประมาณ 60 ราย บริษัทนำเข้าประมาณ 70 ราย บริษัทที่ทำการผลิตปรับปรุงสายพันธุ์ไม่เกิน 20 ราย บริษัทที่เป็นรายใหญ่ๆ เช่น บมจ.เจียไต๋ บมจ.อีสท์ เวสท์ ซีด บมจ.เพื่อนเกษตร บมจ.โนวาร์ติส บมจ.ที เอส เอ บมจ.เช่ง เฮียง ฮวด บมจ.เจี่ย กวง เส็ง เป็นต้น
ข้อมูลในแผนยุทธศาสตร์ศูนย์กลางเมล็ดพันธุ์ พ.ศ. 2558-2567 ระบุว่า เมื่อปี 2556 ความต้องการใช้เมล็ดพันธุ์ในไทยมีมูลค่า 25,000 ล้านบาท เป็นเมล็ดพันธุ์พืชไร่ 22,800 ล้านบาท กับเมล็ดพันธุ์ผัก 2,200 ล้านบาท ขณะที่มูลค่านำเข้าเมล็ดพันธุ์ผักในปี 2556 – 2558 อยู่ที่ 718 – 813 ล้านบาท มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 2,633 – 2,937 ล้านบาท
เมื่อปี 2558 มีบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนขออนุญาตทำธุรกิจจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ 184 บริษัท มี 34 บริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ของตนเอง มีร้านค้าที่ขอใบอนุญาตเป็นผู้รวบรวมพันธุ์จำนวน 1,000 ราย และร้านค้าที่จำหน่ายเมล็ดพันธุ์มากกว่า 20,000 ราย ส่วนเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ 80,000 ครัวเรือน/ราย ทั้งนี้ได้ส่งออกเมล็ดพันธุ์เพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท เมื่อปี 2562 โดย 50% ของมูลค่าการส่งออกจะมาจากเมล็ดพันธุ์ที่พัฒนาในไทย
และเมื่อปี 2559 สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประมาณว่า ในไทยมีบริษัท R&D ปรับปรุงพันธุ์ประมาณ 34 ราย รับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์ 11 ราย ซื้อมาขายไป (Tradind) 140 ราย บริษัทส่งออก 80 ราย แบ่งเป็นต่างชาติ 10 ราย ไทย 70 ราย มูลค่าการนำเข้าเมล็ดพันธุ์ 923 ล้านบาท ส่งออกเมล็ดพันธุ์ 5,551 ล้านบาท มีบริษัทเมล็ดพันธุ์ 20 บริษัทที่มีส่วนแบ่งการตลาดร้อยละ 98 จากมูลค่าตลาดเมล็ดพันธุ์ในประเทศ ได้แก่ บมจ.มอนซานโต้ ไทยแลนด์ บมจ.ซินเจนทา ซีดส์ บมจ.แปซิฟิคเมล็ดพันธุ์ บมจ.ไพโอเนีย ไฮเบรด ไทยแลนด์ บมจ.อีสท์ เวสท์ ซีด บมจ.เจียไต๋เมล็ดพันธุ์ บมจ.อีสท์ เวสท์ ซีด อินเตอร์เนชั่นแนล บมจ.ซีนเมล็ดพันธุ์ บมจ.เมล็ดพันธุ์เอเชีย บมจ.เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ บมจ.เพื่อนเกษตรกร บมจ.อดัม เอ็นเตอร์ไพรเซส บมจ.เจียไต๋โปรดิ๊ว บมจ.แอดว้านซ์ซีด บมจ.ซาคาตะ สยามซีด บมจ.พืชพันธุ์ตราสิงห์ บมจ.สวีทซีดส์ บมจ.เอ จี ยูนิเวอร์แซล บมจ.ยูเนี่ยนเพรสติจ และบมจ.กำไรทองการเกษตร
แต่เบื้องหลังของการผูกขาดตลาด เว็บไซด์ Thaipublica พบว่า บริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ในเมืองไทยมีเพียง 5 กลุ่มเท่านั้น ได้แก่ 1. บริษัท มอนซานโต้ ไทยแลนด์ เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งฐานการผลิตและส่งออกเมล็ดพันธุ์ในประเทศไทยมายาวนาน ปัจจุบันผู้ถือหุ้นใหญ่ของมอนซานโต้ทั้งหมดเป็นอเมริกัน 2. บริษัท เจียไต๋ จำกัด ของกลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์หรือซีพี 3. บริษัท อีสท์ เวสท์ ซีด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของกลุ่มทุนจากเนเธอร์แลนด์ 4. บริษัท ซินเจนทา ซีดส์ จำกัด ผู้ถือหุ้นกลุ่มสำคัญคือ โนวาร์ตีส ครอป โปรเทคชั่น (ประเทศไทย) ซึ่งกลุ่มโนวาร์ตีสคือกลุ่มธุรกิจเกษตรยักษ์ใหญ่จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ที่เข้ามาร่วมกับผู้ถือหุ้นคนไทย และ 5. บริษัท แปซิฟิค เมล็ดพันธุ์ จำกัด เป็นบริษัทไทยขนาดกลาง ทำงานวิจัย ผลิตและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พวกข้าวโพดและข้าวฟ่าง รวมถึงยังมีความร่วมมือระหว่างบริษัท ตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดของซีพีได้สิทธิบัตรมาจากมอนซาโต้ โดยตลาดข้าวโพดในประเทศเป็นของซีพีประมาณ 30% และเป็นของมอนซาโต้อีกประมาณ 20% ซึ่งเป็นการถือครองตลาดครึ่งหนึ่งของประเทศ
เป็นเวลาหลายทศวรรษที่บริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์ในไทยได้เข้ามาใช้ที่ดินของเกษตรกร โดยไม่จำเป็นต้องซื้อที่ดินเอง เป็นการช่วยให้บริษัทข้ามชาติสามารถเข้าใช้ประโยชน์จากที่ดินและแรงงานของครัวเรือนเกษตรกรไทยเพื่อทำการผลิตเมล็ดพันธุ์โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนซื้อที่ดิน แต่มีอำนาจเหนือเกษตรกรแทบทุกด้าน เพราะบริษัทเป็นผู้ลงทุน ทั้งเงินทุน เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลง สารบำรุงพืช และเป็นผู้กำหนดเงื่อนไขการผลิตและการรับซื้อเมล็ดพันธุ์คืนจากเกษตรกร ทั้งราคารับซื้อและมาตรฐานคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ที่จะรับซื้อไว้ล่วงหน้า
ผลที่เกิดขึ้นหลังการเข้ามาของบริษัทเมล็ดพันธุ์ ในตำบลโนนสะอาด คือ เกษตรกรที่เป็นลูกไร่ขาดทุน เนื่องจากขั้นตอนการดูแลการเพาะปลูกเข้มงวดมาก มีการปลูกสายพันธุ์พ่อ-แม่แยกกัน ต้องผสมเกสรด้วยมือ ต้องตอนดอก เด็ดดอกและผลที่ไม่ได้รับการผสมออก เนื่องจากในการรับซื้อเมล็ดพันธุ์นั้นจะมีเงื่อนไขสำคัญข้อตกลงคือ ต้องมีความบริสุทธิ์ของสายพันธุ์ในระดับ 98-99% และมีความงอก 90% ขึ้นไป
หากไม่ผ่านเงื่อนไขก็จะไม่รับซื้อ รวมถึงการใส่ปุ๋ย ฮอร์โมน การใช้สารเคมีกำจัดวัชพืชและศัตรูพืชตามที่กำหนดอย่างเคร่งครัด แม้ราคารับซื้อเมล็ดพันธุ์ในรอบการผลิตประมาณ 3-5 เดือนจะสูงตั้งแต่กิโลกรัมละ 20-10,500 บาท ขึ้นกับชนิดและความยากง่ายในการผลิต แต่ผลผลิตที่ออกมาก็มักไม่ได้มาตรฐานตามที่บริษัทต้องการ ในที่สุดเกษตรกรไม่สามารถรับภาระขาดทุนก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบการผลิตเข้าสู่เกษตรพันธสัญญาการปลูกพืชเชิงเดี่ยวชนิดอื่น ส่วนพื้นที่อื่นๆ มีการศึกษามากมายที่พบว่า การใช้ที่ดินเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ได้ส่งผลกระทบจากสารเคมีทางการเกษตรตกค้างปนเปื้อนในดินและแหล่งน้ำ ทำให้ดินเสื่อมสภาพ และหลายพื้นที่พบสารเคมีทางการเกษตรปนเปื้อนในเลือดของเกษตรกรสูงมาก
ในช่วงเวลา 20-30 ปี นับตั้งแต่กลุ่มทุนในธุรกิจค้าเมล็ดพันธุ์เริ่มขยายตัวจากการนำเข้าเมล็ดพันธุ์จากต่างประเทศมาบรรจุซองขาย จนมาถึงการลงทุนปรับปรุงพันธุ์ออกมาเป็นเมล็ดพันธุ์ลูกผสม วิถีการผลิตจากอดีตของเกษตรกรจะมีการคัดเลือกและเก็บเมล็ดพันธุ์ดีเอาไว้ทำพันธุ์ (Homesafe Seed) ในฤดูถัดไป ก็กลายมาเป็นการซื้อเมล็ดพันธุ์กันมากขึ้น และเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อมาเพาะปลูกนั้น ไม่ว่าจะเป็นเมล็ดพันธุ์ทั่วไป หรือ เมล็ดพันธุ์ลูกผสม แต่แทบทั้งหมดคือ เมล็ดพันธุ์จากบริษัทผู้ค้าเมล็ดพันธุ์ที่ไม่สามารถนำมาปลูกในรุ่นต่อๆ ไป เพราะสายพันธุ์ไม่นิ่ง กลายพันธุ์ หรือเมล็ดเป็นหมัน ปลูกไม่ขึ้น หรือถ้าปลูกต่อได้ก็ต้องใช้เวลาในการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อมากกว่า 5 ชั่วรุ่นพันธุ์ถึงจะนิ่งขึ้น
อีกทั้งยังมีการนำเมล็ดพันธุ์ไปฉายรังสีแกมมาเพื่อป้องกันไม่ให้มีการนำไปปลูกต่อหรือขยายพันธุ์ด้วย ความหลากหลายทางพันธุกรรม การพึ่งพาตนเอง และความยั่งยืนในการผลิตของเกษตรกรจึงค่อยๆ ลดลง มีต้นทุนในการซื้อเมล็ดพันธุ์เพิ่มขึ้น และยังต้องใช้สารเคมีทางการเกษตรในการเพาะปลูกมากขึ้น เพราะเมล็ดพันธุ์ลูกผสมมีความอ่อนแอและถูกสร้างขึ้นเพื่อให้ตอบสนองการเจริญเติบโตด้วยสารเคมี
การปรับปรุงพันธุ์ที่เน้นการผลิตเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อสร้างพืชผักที่หน้าตาสวยงามขึ้น ใหญ่ขึ้น ดกขึ้น มีสีสันมากขึ้น ยังเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมานิยมพืชผักใหม่ๆ มากกว่าพืชพันธุ์ดั้งเดิมตามธรรมชาติด้วย
สำหรับความคิดเห็นของเกษตรกรในกลุ่มเกษตรธรรมที่ปัจจุบันยังคงมีการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้านไว้ปลูกต่อ มีการซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมจากท้องตลาดเพื่อผลิตพืชผักบริโภคในครัวเรือนและผลิตเพื่อจำหน่าย รวมถึงมีเกษตรกรชาวไร่อ้อยที่ต้องซื้อท่อนพันธุ์อ้อยปลูกใหม่ทุกครั้ง เนื่องจากไม่สามารถเก็บพันธุ์ปลูกต่อได้ และในอดีตก็เคยผ่านการรับจ้างผลิตเมล็ดพันธุ์มาก่อน พวกเขาเห็นว่า การซื้อพันธุ์ที่ไม่สามารถเก็บพันธุ์ปลูกต่อ เพราะการกลายพันธุ์ ถือเป็นต้นทุนที่ยอมจ่ายในการผลิตเพื่อตอบสนองตามความต้องการของตลาด
แต่การออกกฎหมายตั้งแต่พระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ. 2518 ฉบับแก้ไขเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่เน้นการควบคุมการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ให้มีคุณภาพก่อนถึงมือเกษตรกร ด้วยการขึ้นทะเบียนและป้องกันการละเมิดสิทธิของผู้ลงทุนวิจัย รวมถึงพระราชบัญญัติคุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ที่ออกตามพันธกรณีความตกลงขององค์การการค้าโลกที่มีข้อตกลงเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPs) โดยยึดกรอบแนวคิดส่วนใหญ่ของอนุสัญญา UPOV1978 เพื่อสนับสนุนการคิดค้นนวัตกรรมใหม่เกี่ยวกับเมล็ดพันธุ์ โดยเปิดโอกาสให้บริษัทหรือนักปรับปรุงพันธุ์สามารถนำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ไปทดสอบ วิจัยและคิดค้นพันธุ์พืชใหม่ๆ ภายใต้การกำกับดูแลและแบ่งปันผลประโยชน์คืนให้กับประเทศ
ที่ผ่านมาผลลัพธ์คือ มีแต่บริษัทค้าเมล็ดพันธุ์ที่ได้ประโยชน์จากการคุ้มครองสิทธิตามกฎหมาย โดยไม่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับประเทศหรือกับเจ้าของเดิมในท้องถิ่นนั้นๆ ทั้งๆ ที่ฐานการผลิตและการวิจัยส่วนใหญ่ล้วนใช้เมล็ดพันธุ์ที่เก็บรักษามาจากท้องถิ่นหรือใช้ทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่ในท้องถิ่น รวมถึงยังได้ใช้ประโยชน์โดยตรงจากแรงงานของเกษตรกรบนที่ดินและแหล่งน้ำของเกษตรกรเองในฐานะเป็นผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ได้รับการปรังปรุงพันธุ์
แล้วเกษตรกรได้ประโยชน์อะไร?
ตอนต่อไปจะชำแหละ พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ. 2542 ว่านับจากวันประกาศใช้กฎหมายฉบับนี้ นายทุนหรือเกษตรกรได้ประโยชน์?
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด