ภาพหน้าปกโดย ประทีป สุธาทองไทย 

วิทยากร โสวัตร เรื่อง 

สืบเนื่องจากบทความที่แล้ว (อีสานดินแดนแห่งปีศาจ!) ผมชี้ให้เห็นว่าอีสานมีฐานวัฒนธรรมศิลปะการแสดง (เพลงและหมอลำ) ที่ฝังรากลึกพูดได้ว่า ตอนนี้แนวรบทางวัฒนธรรมด้านนี้ของอีสานชนะแล้ว

ต่อมาเป็นฐานความคิดทางการเมืองที่เป็นผลจากรัฐธรรมนูญ 40 ทำให้เกิดการเมืองที่ประชาชนมีส่วนร่วมแชร์ผลประโยชน์ชาติได้อย่างไม่เคยมีมา จนชาวบ้านเรียกติดปากว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ นั้น ได้ปลุกสำนึกประชาธิปไตยของคนรุ่นเก่า (รุ่นที่เป็นผู้ใหญ่) ขึ้นมา และคนรุ่นใหม่ที่โตมากับโลกข้อมูลข่าวสารที่เปิดกว้างมากจนเกิดกระแสความเอียนหน่ายคนดี ขี้เดียดเผด็จการ อยากอ้วกรัฐบาลผสมเผด็จการและสถาบันต่างๆ ที่มีตรรกะที่ไร้เหตุผลทำให้คนสองรุ่นนี้จูนกันได้ดีและจะเป็นคลื่นพลังในการเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ในอนาคต สามารถพูดได้ว่า จากนี้ไป 10 ปี ฐานการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในอีสานจะหยั่งรากมั่นคง กินพื้นที่และเวลาที่กว้างเป็นประวัติการณ์ 

เหลือก็แต่ฐานการอ่านการเขียนวรรณกรรมเท่านั้นที่ยังหยั่งรากและขยายฐานไม่ได้หรือได้น้อยที่สุด อ่อนกำลังที่สุด บทความนี้จะเน้นที่สาเหตุของประเด็นปัญหานี้ – –

บทบาทวรรณกรรมอีสานในอดีตเริ่มต้นที่วัดซึ่งเป็นที่ผลิตและเก็บรักษาหนังสือหนังหา พระจะอ่าน (เทศน์) ให้ประชาชนฟังตามงานพิธีกรรมต่างๆ ก็จะยกหนังสือหนังหา (ใบลาน) เหล่านี้ไปอ่านให้กันฟังโดยคนที่เคยบวชเรียนมา แต่ที่ทำให้กระจายไปมากที่สุดและทำให้วรรณกรรมมีพลังมากที่สุดคือ หมอลำ แม้แต่ในขบวนการผู้มีบุญ ผู้นำหลายคนที่ถูกจับกุมและถูกสอบสวน (ก่อนถูกฆ่า?) ยังยอมรับว่า อ่านวรรณกรรมเหล่านี้แล้วเกิดฮึกเหิมให้ลุกขึ้นสู้ศักดินาสยาม

นั่นจึงเป็นที่มาของการยกเลิกการเรียนการสอนของคนอีสานที่จัดการกันเอง ไม่ให้เรียนตัวไทยน้อย ตัวธรรม และหนังสือหนังหาแบบเก่า เปลี่ยนสำนักเรียนในวัดที่สอนสิ่งเหล่านี้ให้เรียนตัวหนังสือไทยกลาง หลักสูตรจากกรุงเทพฯ ต่อมาก็มีพระราชบัญญัติประถมศึกษาซึ่งเน้นหนักในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชจวบจนปัจจุบัน (ความเป็นคนลาว-เขมร-กูย-ผู้ไทและชนเผ่าต่างๆ ในอีสานก็กลายรวมมาเป็น คนอีสาน ตั้งแต่ยุคนี้เอง แต่คนลาวในอีสานมาเรียกตัวเองและภาษาที่ตัวเองพูดว่า เป็นภาษาอีสานคนอีสาน น่าจะหลังลาวเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ. 2518/ค.ศ. 1975)

มองจากภาพรวมตรงนี้จะเห็นว่า วรรณคดีโบราณที่ผลิตในอีสาน โดยคนอีสาน เพื่อคนอีสาน และกระจายสู่วงกว้างด้วยคนอีสานนั้น ถูกฆ่าตัดตอนไปแล้วตั้งแต่การปราบปรามฆ่าล้างขบวนการผู้มีบุญของเจ้าอาณานิคมกรุงเทพฯ และวรรณกรรมสมัยใหม่ของอีสานก็เกิดขึ้นภายหลังการรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง นักเขียนอีสานจึงมุ่งหน้าเข้าสู่ส่วนกลาง การผลิตผลงาน การกระจายผลงานก็อยู่ในเงื่อนไขของส่วนกลางกรุงเทพฯ มาจนทุกวันนี้ โดยละเลยที่จะสร้างฐานการผลิต  การกระจายหนังสือเพื่อคนอีสานอย่างจริงจัง

จะเห็นได้ว่า ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานนับเนื่องแต่หลังเหตุการณ์ขบวนการผู้มีบุญ ภาคอีสานไม่เคยมี ‘ช่วงยาว’ ของหนังสือหนังหาวรรณกรรมอีกเลย ไม่เหมือนกับที่ในภาคการเมืองที่รัฐธรรมนูญ 40 ทำให้เกิด ‘ช่วงยาว’ ของประชาธิปไตยทำให้เกิดการแชร์ผลประโยชน์ชาติของประชาชนและสร้างความเปลี่ยนแปลงต่างๆ มาจนวันนี้ และเราสามารถหวังได้ถึงการเปลี่ยนแปลงใหญ่ในอนาคตที่ไม่เกินช่วงอายุเรา

พอประมวลความคิดมาถึงตรงนี้ ผมจึงเข้าใจว่า ทำไมทีมงานนิตยสาร a day ที่มาสัมภาษณ์ผม มีคำถามที่ทำให้ผมเองก็นึกไม่ถึงว่าจะมีใครถามแบบนี้ในยุคสมัยนี้ว่า  

“คนอีสานอ่านอะไร?”

แรกทีเดียวที่ได้ยินคำถามนี้ผมตั้งการ์ดสูง ประมาณว่า เขาคงคิดว่าคนอีสานนี่ไม่อ่านอะไรเลย แต่พอมาคิดอีกที เขาอาจไม่รู้และอยากรู้จริงๆ ว่า คนอีสานอ่านอะไร  ผมจึงตอบเขาด้วยการยืนยันว่า

“คนอีสานอ่านหนังสือ และกระหายที่จะอ่าน เพียงแต่เราถูกทำให้ไม่ได้อ่าน”

เพื่อทำให้เจ้าของคำถาม ซึ่งเป็นคนต่างถิ่นเห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ผมจึงอธิบายเพิ่มเติมว่า- – ถ้าเอารสนิยมการอ่านแบบในงาน LIT Fest (โดยส่วนตัวผมชอบงานนี้มากๆ อยากให้งานหนังสือรูปแบบนี้กระจายไปให้ทั่วประเทศ) คนอีสานส่วนใหญ่ 80% ขึ้นไปไม่อ่านหรือไม่ได้อ่าน แต่ถ้าลองไปดูที่ศูนย์มรดกธรรมวัดหนองป่าพง  จะเห็นว่า หนังสือที่ตีพิมพ์ธรรมะที่หลวงปู่ชา สุภทฺโท เทศน์นั้น แต่ละเล่มพิมพ์เผยแพร่เฉลี่ยที่ 20,000 -100,000 เล่ม/ปี (ปีหนึ่งพิมพ์หลายครั้ง) และก็ไม่ใช่หนังสือพิมพ์แจก หากแต่มีราคาขายที่ราคาต้นทุน มีตั้งแต่เล่มละ 10 บาท ไปจนถึง 300 บาท

หนังสือเหล่านี้พิมพ์มาเป็นสิบๆ ปี เพื่อให้เห็นตัวเลขที่ชัดเจน โดยคิดง่ายๆ ที่ 10 ปี  ถ้าหนังสือเรื่องหนึ่งพิมพ์ปีละ 20,000 เล่ม เวลา 10 ปีหนังสือเล่มนี้กระจายออกไปให้ประชาชนได้อ่าน 200,000 เล่ม หรือถ้าเรื่องไหนพิมพ์ปีละ 100,000 เล่มก็เท่ากับว่าเวลา 10 ปีหนังสือเรื่องนั้นกระจายออกไปสู่ประชาชนถึง 1,000,000 เล่ม  และหนังสือที่หมุนเวียนอยู่ในศูนย์มรดกธรรมที่ว่านี้มี 45 เล่ม แสดงว่าปีหนึ่งๆ มีหนังสือของหลวงปู่ชากระจายไปให้ประชาชนอีสานได้อ่านประมาณ 9,000,000 – 45,000,000 เล่ม/ปี

นี่เป็นตัวเลขที่มหัศจรรย์มาก 

ทีนี้ลองนึกเทียบดูว่า มีหนังสือเล่มไหน เรื่องไหนบ้างในเมืองไทยที่มียอดพิมพ์ขนาดนี้?

แต่ปัญหาคือ คุณและคนในวงการหนังสือไทยอาจไม่นับว่า หนังสือพระเหล่านี้เป็นหนังสือ ทั้งที่ตัวมันเองเป็นหนังสือแหละ แต่พวกคุณไม่นับ เพราะอะไร? เพราะมันเป็นเรื่องธรรมะหรือเพราะมันไม่ได้พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ชั้นนำในกรุงเทพฯ หรือว่ามันไม่น่าอ่าน ไม่มีคุณค่าทางความรู้ใดๆ 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงนี้ชี้ชัดว่า คนอีสานอ่านหนังสือครับ และเรื่องนี้ผมไม่ได้พูดลอยๆ ผมเคยซื้อหนังสือเหล่านี้ (ก็มันเล่มละ 10 บาท 20 บาท) หอบไปแจกผู้แก่ผู้เฒ่าที่บ้านเกิดจังหวัดกาฬสินธุ์ เขาก็อ่านกันอย่างจริงจัง ไม่เพียงแต่อ่าน แต่เขายังเทียบสิ่งที่อยู่ในหนังสือกับประสบการณ์ชีวิตว่า มันจริงไหมด้วย  

หนังสือธรรมะของหลวงปู่ชาเหล่านี้จึงกลายเป็นบททดสอบความรู้ของประชาชนอีสานที่อ่านมัน และทำให้เกิดองค์ความรู้ใหม่กับตัวคนอ่านและเกิดการยอมรับหลักธรรมเหล่านี้

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้คือ ผ่านการที่ผมเฝ้าสังเกต เก็บข้อมูล และไปสัมภาษณ์  สัมผัสแหล่งข้อมูลเองทั้งนั้น 

ล่าสุดผมได้อ่านรายงานการวิจัยเรื่องการศึกษารูปแบบและคุณค่าของเหตุผลในการสอนธรรมของพระสงฆ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีอิทธิพลต่อศรัทธาของประชาชน  A Study of Form and Value of Logical Rationality in Dhamma Teaching of the Northeastern Buddhist Monks Influenced to the Public Faith โดย ผศ.บรรจง โสดาดี, ผศ.ดร.ทวีศักดิ์ ทองทิพย์, พระครูปริยัติวิสุทธิคุณ, ผศ.ดร. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสุรินทร์ พ.ศ. 2555 ซึ่งยืนยันสิ่งที่ผมพูดและการที่คนอีสานมีศรัทธาต่อพุทธศาสนาสายปฏิบัติ (ทั้งมหานิกายและธรรมยุติ) จึงไม่ใช่เรื่องไร้เหตุไร้ผลหรือเชื่อแบบโง่ๆ (ตามวาทกรรมที่ชอบอ้างกัน โดยส่วนตัวผมเอียนทั้งพวกที่อ้างในฐานะฝ่ายเหยียดและคนที่อ้างในฐานะฝ่ายต้าน เพราะผมเห็นว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้มองจากจุดยืนหรือสำนึกประชาชนส่วนใหญ่ของคนอีสานจริงๆ อย่างน้อยก็ในเรื่องนี้) 

คำถามจึงมีว่า แล้ววรรณกรรมหรือวิชาการสร้างสรรค์ที่เรานิยมกัน ทำไมจึงไม่สามารถลงหลักปักฐานและกระจายตัวในแผ่นดินอีสานบ้างเล่า?  

เป็นไปได้ไหมว่า นักเขียนส่วนใหญ่ไม่มองหรือไม่ให้ความสำคัญกับปัญหานี้จึงไม่คิด ไม่มีวิธีคิดและวิธีการที่จะทำการขยายฐานนี้ เพราะภาพปรากฏส่วนมาก นักเขียนอีสานเองก็คิดแต่ว่าจะส่งงานตัวเองไปสู่มือนักวิชาการ นักวิจารณ์ สำนักพิมพ์  และรางวัลจากส่วนกลาง เพื่อให้มีชื่อ เพื่อจะได้กระจายผลงานออกไป มันจึงเป็นการปล่อยให้ส่วนกลางกำหนดทุกอย่าง 

แม้แต่รสนิยมในการอ่าน มันจึงเป็นประมาณว่า ถ้าส่วนกลางว่าดีอย่างนี้  คนอีสานก็ต้องว่าแบบนี้ แต่ความจริงที่มากกว่านั้นก็คือ พอมันไม่ได้ออกมาจากฐานของคนอีสานจริงๆ แล้วงานมันเลยไม่กระจายตัวทั่วถึง หรือวันหนึ่ง ถ้าส่วนกลางเขาไม่ดูแลแล้ว นักเขียนก็ไปไม่เป็น อยู่เองไม่ได้ 

พูดให้เข้าใจง่ายก็คือ นักเขียนอีสานไม่ว่าจะเหลือง จะแดง จะก้าวหน้าหรืออนุรักษ์นิยม แทบทั้งหมดล้วนแต่มีสำนึกและพฤติกรรมพึ่งพากรุงเทพฯ ทุกระบบ และไม่คิดที่จะลงแรงสร้างฐานการอ่านของตัวเองขึ้นมาบนแผ่นดินมาตุภูมิ

ถ้ากรุงเทพฯ มันดีจริง จริงใจจริง มันต้องให้เรามีรถไฟฟ้าของเราเองบ้างสิวะ มันคงไม่ดูดทรัพยากรของเรา รีดภาษีเรา ดึงมันสมองเราไปสร้างสรรค์ให้แต่ตัวมันเจริญก้าวหน้าแต่ฝ่ายเดียว พอเราหือ เราลุกฮือเรียกร้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ พวกมันก็ฆ่าและล้างคราบเลือดทำลายหลักฐานให้เมืองมันสะอาด หรือเอาแค่หนังสือหนังหามันยังคิดราคาไม่เผื่อเราคนอีสานที่ส่วนใหญ่เป็นคนยากจนและเป็นภูมิภาคยากจนมากที่สุดของประเทศด้วย (มองมุมนี้ นักเขียนอย่างเราน่ะแหละที่โง่ (จน-เจ็บ)  ประชาชนอีสานน่ะเขาไม่ได้โง่แบบนี้ เพราะถ้าหมู่มึง (นักเขียน) ไม่เอื้อ พวกกูก็ไปเสพ ไปงัน ไปแสวงหาทางอื่น)

คำถามสำคัญก็คือ จะทำอย่างไรให้นักเขียนอีสานอยู่ได้ด้วยตัวเองจริงๆ เป็นอิสระจากรสนิยมและอำนาจจากส่วนกลางจริงๆ เหมือนที่หมอลำ ลูกทุ่งอีสาน นักร้องอินดี้อีสานเขามีฐานประชาชนอีสานรองรับ

แน่ล่ะ เมื่อฐานการอ่านงานวรรณกรรมและหนังสือของเราไม่แน่น ไม่ได้ฝังรากลึกและไม่ได้แผ่วงกว้างเหมือนฐานศิลปะการแสดง เราก็ต้องทำสิ ลงมือสร้างฐานแห่งการอ่าน แล้วมองไปที่ 10 ปี 20 ปี ที่ฐานคนอ่านนั้นจะกลายเป็นฐานคนซื้องาน

คำถามที่สำคัญต่อมาคือ แล้วจะทำอย่างไร?

บทความหน้า ผมจะมาบอกเล่าถึง ‘กลุ่มคน’ (ทั้งที่เป็นนักเขียนและไม่ใช่นักเขียน) ที่ประชุมก่อการกัน เพื่อที่จะทำให้อีสานกลายเป็นสาธารณรัฐแห่งการอ่านและการเขียนและสามารถอยู่ด้วยตัวของเราเองอย่างมีศักดิ์ศรีและอย่างมีอิสระจากกรุงเทพฯ จริงๆ

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print