ภาพปก: เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายน 2553

เหตุการณ์การปะทะเมื่อ 10 เมษายน 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว ถือเป็นอีกหนึ่งความเลวร้ายที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าฉากการเมืองไทย หลายคนถูกเรียกว่า “วีรบุรุษ” แต่อีกด้านหนึ่งกลับถูกกล่าวหาว่า “เป็นผู้ร้าย” พร้อมกับการถูกตั้งข้อหาว่าเป็น “ชายชุดดำ”   

“ไม่ได้กลัวที่โดนจับ แต่สภาพในนั้น (เรือนจำ) มันเลวร้ายมาก นึกถึงกรงสัตว์ในสวนสัตว์เขาดิน เหมือนเขาขังหมารวมๆ กันหลายตัว แล้วที่นอนก็ไม่มี มีที่แค่คืบนึง พี่อยู่ในสภาพนั้น 3 ปี” 

เป็นเสียงจากปลายสายของ อร ปุณิกา ชูศรี แม่ค้าขายอาหารตามสั่งวัย 46 ปี เล่าถึงช่วงชีวิตที่ “ถูกยัดเข้าคุก” หลังเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงจับกุมเมื่อเดือนกันยายน 2557 ก่อนถูกตั้งข้อหาว่าครอบครองและพกพาอาวุธปืนในคดีชายชุดดำ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553

ปุณิกาคือ ผู้หญิงเพียงคนเดียวจากจำเลย 5 คน ที่ถูกจับกุมภายใต้การบังคับใช้กฎอัยการศึกษา หลังรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำให้เธอตกเป็นจำเลยคนที่ 5 โดยศาลชั้นต้นได้ยกฟ้องเมื่อต้นปี 2560 พร้อมกับจำเลยที่ 4 ต่อมาเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 

อรถูกปล่อยตัวอีกครั้ง ส่วนจำเลยที่ 1-2 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งยืนจำคุก 10 ปี

หลังเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านพ้นไป 10 ปี ซึ่งนับได้ว่าเป็นทศวรรษที่สูญหายในทางการเมืองไทย ทว่า 10 ปีที่ผ่านมา ก็ทำให้ชีวิตของผู้คนเล็กๆ หลายคนต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล

หญิงจากศรีสะเกษ 

กว่า 30 ปีแล้วที่หญิงสาวจาก อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ พาชีวิตตัวเองเข้ามาหาเลี้ยงปากท้องในกรุงเทพฯ กระทั่งแต่งงานมีครอบครัว 

ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปุณิกาได้เข้าไปขายอาหารที่เวทีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นชป.) พร้อมกับใจที่อยากออกมีส่วนร่วมในการเรียกร้องเพื่อทวงคืนความยุติธรรมหลังการรัฐประหาร 2549 ที่กระทำต่อพรรคการเมืองที่เธอนิยม 

กระทั่งเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ปุณิกาถูกทหารจำนวนหนึ่งมาบุกจับถึงร้านขายอาหารเมื่อเดือนกันยายน 2557  ตอนนั้นเธอทราบข่าวจากการ์ด นปช. ที่รู้จักกันแล้วว่า อดีตผู้ชุมนุม นปช. หลายคน เริ่มถูกทหารไปนำตัวจากบ้าน เพราะมองว่า ทุกคนตกเป็น “เป้า”  

การชุมนุมของกลุ่ม นปช. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2553 ภาพจาก ข่าวสด

“วันที่เค้ามาควบคุมตัว พี่ไปแจ้งความกับตำรวจ เพราะคิดว่าเป็นเรื่องใหญ่ ทหารพูดกับพี่วันนั้นว่า มึงกล้าเอาตำรวจมาจับกูเลยเหรอ กูจะจับมึงยัดห้องขังให้มึงติดคุกไม่เห็นเดือนเห็นตะวัน” ปุณิกาเล่าย้อนไปถึงเหตุการณ์วันนั้นที่ยังดังก้องหู 

เธอถูกทหารนำตัวไป โดยไม่มีหมายจับ…

หลังจากถูกจับทนายพยายามยื่นคำขอปล่อยตัวชั่วคราว ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ถูกปฏิเสธ 

ส่วนสามีต้องเปิดร้านตามสั่งเพียงลำพัง เพื่อปากท้องของลูกสาววัย 19 ปี และลูกชายวัย 15 ปี ซึ่งยังอยู่ในวัยเรียน พร้อมๆ กับวิ่งหาความช่วยเหลือที่สุดท้ายแล้ว ใครต่อใครก็ปฏิเสธ เพราะกลัวการถูกกล่าวหาว่าเป็น “ท่อน้ำเลี้ยง” 

10 ปีหลังจากเหตุการณ์เดือนเมษาฯ พฤษภาฯ 2553 และอีก 3 ปีของการถูกจองจำอิสรภาพ สำหรับปุณิกาแล้ว เธอไม่เคยลืมเลือน เพราะเธอรู้สึกว่า เป็นห้วงเวลาที่ไม่เคยได้รับความยุติธรรม

“ไม่โกรธ มีแต่ความแค้นกับความเกลียดมากกว่า มันรับไม่ได้กับความอยุติธรรมที่พวกเขาทำ ไม่ใช่แค่พี่คนเดียว แต่มีคนที่ร่วมชะตากรรมแบบนี้อีกหลายคน” เธอกล่าว และว่า “คนที่สู้จริงๆ เห็นลำบากทุกคน คนตายก็ตายไป บางคนตายอย่างอนาถา ตายในห้องเช่าเล็กๆ อย่างโดดเดี่ยว พวกที่โดนฆ่าตาย ยิงตาย คนเสียชีวิตไป มันเหมือนกับไร้ค่า”

แม้รายได้จะลดลงจากการระบาดของโควิด-19 แต่ ปุณิกา ชูศรี เจ้าของร้านอาหารตามสั่ง ปากซอยรัชดาภิเษก 44 ยังคงทำอาหารกล่องแจกจ่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ทุกวันๆ ละ 50 กล่อง

เคราะห์ซ้ำกรรมซัด ถูกแจ้งความอีก 1 ข้อหา 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ปุณิกาถูกชุดสะกดรอยของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เข้าจับกุมอีกครั้งที่ร้านอาหารตามสั่งของเธอที่ถนนรัชดาภิเษก ตามหมายจับของศาลอาญา ลงวันที่ 7 กรกฎาคม 2553 ข้อหาร่วมกันกับจำเลยชุดเดิมพยายามฆ่าเจ้าพนักงานที่กระทำตามหน้าที่โดยไต่ตรองไว้ก่อน โดยการนำอาวุธปืนสงครามไปยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ถนนตะนาว บริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อคืนวันที่ 10 เมษายน 2553 

ปุณิกาได้รับการประกันตัวในคืนนั้น เพื่อสู้คดีในเดือนมิถุนายน 

“อยากภาวนาให้คดีนี้รอด ส่วนอีกคดีอยากไปฎีกาให้จบๆ ไป จะได้กลับไปศรีสะเกษดูแลพ่ออายุ 80 กว่า ถ้าเกิดเราติดรอบนี้ พี่คงไม่ได้ออกมาอยู่ดูแลเค้าแล้ว” ปุณิกา เล่าถึงชะตากรรมที่กำลังเผชิญ 

นอกจากปุณิกาแล้ว ยังมีคนที่ถูกจับในข้อหาเดียวกันอีก 4 คน ได้แก่ กิตติศักดิ์ สุ่มศรีปรีชา อยู่เย็น รณฤทธิ์ สุวิชา และ ชำนาญ ภาคีฉาย ทั้ง 5 คน ไม่รู้จักกันมาก่อน 

หลังถูกจับได้ประมาณ 1 เดือน ทนายความของทั้ง 5 คน ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีอาญาเพื่อร้องขอความเป็นธรรม เนื่องจากการรับสารภาพในคดีเกิดขึ้นจากการถูกทำร้ายร่างกายและได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมระหว่างการควบคุมตัว ก่อนที่จะถูกส่งตัวมารับแจ้งข้อกล่าวหาและแถลงข่าว

ในจำนวน 5 คน กิตติศักดิ์ถูกกระทำมากที่สุดคือ ถูกซ้อมและถูกใช้ถุงคลุมศรีษะ ส่วนผู้ชายคนอื่นๆ ถูกใช้ถุงคลุมศรีษะ แต่ปุณิกาไม่ถูกกระทำ 

เกือบ 6 ปี ในเงาคดีการเมืองของครอบครัว “สุ่มศรี”  

ห้องขนาด 33 ตารางเมตร ของแฟลตเอื้ออาทรแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ บรรจุชีวิตของครอบครัว “สุ่มศรี” ทั้งหมด 7 ชีวิตไว้ใต้ชายคาเดียวกัน มี 3 ชีวิตจากครอบครัวของอัมพันธ์ ภรรยาของกิตติศักดิ์ หรือ อ้วน สุ่มศรี จำเลยในคดีชายชุดดำ และอีก 4 ชีวิตจากครอบครัวของน้องชาย 

การไร้หัวหน้าครอบครัวทำให้เกือบ 6 ปีแล้วที่ครอบครัว “สุ่มศรี” ต้องเผชิญกับภาวะยากลำบากของชีวิต โดยเฉพาะเมื่อ “กิตติศักดิ์” ถูกจองจำในช่วงที่ลูกสาวกำลังอยู่ในวัยเรียน 

“หนูคงเรียนจบ ได้ทำงานดีๆ อย่างนั้นมั้งพี่” คือภาพที่ กรรณิกา สุ่มศรี หรือ นิน ลูกสาวของกิตติศักดิ์กล่าวถึงความฝันของเธอที่ไม่แตกต่างจากครอบครัวอื่นๆ 

นินเล่าว่า ตั้งแต่พ่อโดนจับกุมไป เธอต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพื่อมาช่วยงานแม่ที่ขายอาหารตามสั่งอยู่ในโรงอาหารของสถานที่ราชการแห่งหนึ่ง

ก่อนถูกจับกิตติศักดิ์ทำงานเป็นพนักงานขับรถให้ผู้บริหารในที่ทำงานเดียวกันกับอัมพันธ์ และขับรถตู้ประจำทางด้วย เมื่อหัวเรือใหญ่ของครอบครัวต้องคดี รายได้จากเงินเดือนประจำก็หายไปทันที 

ตอนนั้นนินอายุ 21 ปี กำลังจะเรียนจบชั้น ปวช. แต่ต้องออกจากโรงเรียนมาช่วยแม่ทำงาน กระทั่งเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เธอตัดสินใจไปขับรถตู้ประจำทางเพื่อหารายได้จุนเจือทางบ้าน พร้อมๆ กับการวิ่งขึ้นลงศาล สลับกับการไปเยี่ยมพ่อที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

“พูดยากนะพี่ ไม่มีใครรู้สึกดีหรอก มันก็แย่ไปกันหมด” นินกล่าวถึงความรู้สึกที่ครอบครัวของเธอต้องมาเจอกับคดีการเมือง

อัมพันธ์ (ซ้าย) ภรรยาของกิตติศักดิ์ สุ่มศรี กำลังเลี้ยงหลาน ซึ่งเป็นลูกของน้องชาย และมี กรรณิกา สุ่มศรี หรือ นิน (ขวา) ทั้งคู่กลายเป็นคนตกงานในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19

เหมือนเคราะห์ซ้ำกระหน่ำมาที่ครอบครัวนี้ ร้านขายอาหารตามสั่งของอัมพันธ์ถูกสั่งให้เลิกขายมาตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้ที่ไม่แน่นอนอยู่แล้วหายไปอีกทาง พร้อมๆ กับอาการป่วยเป็นโรคนิ่วที่เริ่มรุนแรงขึ้น บางครั้งอาการเจ็บปวดถึงขนาดต้องหยุดพักและหาที่นอนราบ แม้อยู่ในร้าน

“ไม่มี…ไม่มีความยุติธรรม จะไปเรียกร้องที่ไหน” คือคำตอบที่อัมพันธ์พูดถึงชะตากรรมครอบครัวของเธอ 

“มีเรื่องอะไรก็เก็บไว้ ขนาดพ่อเขา (กิตติศักดิ์) เสีย ยังไม่กล้าบอกเลย เมื่อปี 2560 เขาก็ถามหาพ่อนะ เราก็บอกว่าแกสบายดี แกออกมาค่อยให้แกรู้เอง” อัมพันธ์กล่าวพร้อมกับเสียงสะอื้นไห้และมีน้ำตาปรากฏแทรกกลางประโยคที่เธอกำลังเล่าถึง

บทสรุปอันไร้น้ำหนัก 

เดือนกรกฎาคม 2558 จำเลยทั้ง 5 คน ถูกพนักงานอัยการสั่งฟ้องข้อหามีอาวุธปืนสงครามไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและไม่สามารถจดทะเบียนได้ อีกทั้งนำพาอาวุธเข้าไปในที่ชุมชน 

คำฟ้องระบุพฤติการณ์ว่า จำเลยทั้ง 5 คน ได้ร่วมกันพาอาวุธไปยังพื้นที่ชุมนุมของกลุ่ม นปช. บริเวณสี่แยกคอกวัว และได้ใช้อาวุธยิงต่อสู้กับเจ้าหน้าที่ โดยจำเลยทั้ง 5 คนได้แต่งกายชุดดำ

วิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความจากสมาพันธ์นักกฎหมายเพื่อสิทธิและเสรีภาพ (สกสส.) บอกว่า ขณะนี้คดีของกิตติศักดิ์อยู่ระหว่างการยื่นฎีกา ส่วนปรีชา จำเลยอีกคนยังไม่ต้องการยื่น เพราะต้องการให้คดีจบสิ้นอย่างถึงที่สุด

“คุณอ้วน (กิตติศักดิ์) เขาสู้ว่า เขาไม่ได้ทำผิด เขายืนยันมาโดยตลอด มันควรจะได้รับการแก้ไขเยียวยา เขาไม่ได้โดนคดีชายชุดดำคดีเดียว แต่โดนถึง 4 คดี” วิญญัติกล่าวและอธิบายว่า “กรณีของกิตติศักดิ์ ถูกสั่งฟ้องจากการอ้างพยานเป็นทหารที่นั่งรถสวนมา ส่วนปรีชาอัยการสั่งฟ้อง โดยอ้างพยานจากสายสืบตำรวจที่ดึงหน้ากากสีดำลงมาแล้วถูกถ่ายรูปไว้ บวกกับผลตรวจดีเอ็นเอ”  

“ไม่มีหลักฐานอย่างอื่นอีกเลย โดยเฉพาะกรณีของกิตติศักดิ์ มีการอ้างพยานบุคคลที่เป็นทหารไปปฏิบัติงานที่บริเวณแยกคอกวัว ทหารขับรถฮัมวี่อ้างว่าขับรถสวนกับจำเลย ซึ่งเป็นรถตู้ที่คันที่ชายชุดดำกำลังหลบหนี เขาขับรถสวนกัน พยานหลักฐานมีเท่านั้น” วิญญัติกล่าว 

วิญญัติระบุอีกว่า พยานบุคคลรายนี้ยังเคยให้การในคดีไต่สวนการตายของนักข่าวชาวญี่ปุ่นที่ไม่สอดคล้องกับคำให้การในคดีชายชุดดำ คดีนั้นพยานให้การว่าจำชายชุดดำคนไหนไม่ได้เลย แต่กลับไปเบิกความในคดีชายชุดดำ โดยให้การใหม่ว่า “จำหน้าได้และมีอาวุธอยู่ในรถตู้” 

กระบวนการที่คล้ายกันในคดีนักโทษการเมือง 

การจับกุมในช่วงระยะเวลานั้น เป็นช่วงหลังการรัฐประหาร 2557 เพียงไม่กี่เดือน คดีการเมืองถูกรื้อฟื้นขึ้นพร้อมๆ กับรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนขององค์กรฮิวแมนไรว็อทช์ที่ระบุว่า กรณีของกิตติศักดิ์ หนึ่งในจำเลยคดีชายชุดดำ ถูกเจ้าหน้าที่นำตัวออกจากบ้านและหายตัวไปหลายวัน ก่อนถูกนำตัวมาแถลงข่าว 

“การจับกุมหลังรัฐประหารปี 57 เป็นการหวังผลให้เกิดการดำเนินคดี เพราะเป็นคดีเดียวที่ฟอกดำเป็นขาวได้” วิญญัติให้ความเห็น 

จากการทำคดีการเมืองนับร้อยคดี วิญญัติบอกว่า จำเลยทั้งหมด “ถูกบังคับให้รับ ให้จำยอม” มีการคุมขัง ไม่ปล่อยตัวชั่วคราว และหาวิธีให้รับสารภาพ อีกทั้งใช้กระบวนการซักถาม เอาไปสอบในที่ลับ อ้างบันทึกซักถาม แล้วค่อยเอาไปขอออกหมายจับ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่ชอบตั้งแต่ต้น 

สืบหาความจริงจาก คอป. และ ศปช. 

รายงาน “ความจริงเพื่อความยุติธรรม : เหตุการณ์และผลกระทบจากการสลายการชุมนุม เมษา-พฤษภา 53” จัดทำโดย ศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย. -พ.ค. 2553 (ศปช.) เมื่อปี 2555 ระบุว่า คำบอกเล่าของพยานในเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว ประชาชนที่เสียชีวิต 9 คน “ถูกยิงช่วงระหว่างเวลา 19.30 – 20.30 น. ก่อนการปรากฏตัวของชายชุดดำทั้งสิ้น” และจากข้อมูลที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ “ยังไม่สามารถระบุได้ว่า ระเบิดที่ยิงหรือขว้างลงมาใส่ทหารนั้นมาจากบริเวณใดหรือใครเป็นผู้ปฏิบัติการ” 

ด้านข้อมูลของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) เปิดเผยรายงานฉบับสมบูรณ์ เมื่อปี 2555 ระบุเกี่ยวกับชายชุดดำว่าเป็นกลุ่มคนใช้อาวุธสงครามปะปนอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุมและเป็นผู้ใช้อาวุธสงครามตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ทหารบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา มีทหารเสียชีวิต  4 คน ผลการชันสูตรศพพบว่า เสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิด รวมทั้ง พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิดขว้างชนิดเอ็ม 67 ส่วนอีก 1 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธคนหนึ่งเห็นว่า น่าจะเสียชีวิตจากสะเก็ดระเบิดเอ็ม 79 

เวลาผ่านไป 10 ปี แม้ฝุ่นจากควันปืนของเหตุการณ์ที่แยกคอกวัว เมื่อ 10 เมษายน 2553 จะจางลง ทิ้งความทรงจำไว้กับผู้คนในสังคมมากน้อยไม่เท่ากัน 

“มันลืมไม่ได้ ถ้าได้นั่งพูดคือน้ำตาจะไหล มันหดหู่ใจ คนที่ตายถูกยิงหัวเละ มีอาวุธอยู่ข้างกายอย่างที่เค้าบอกไหม มันยิ่งทำให้เราเศร้า” รุ่งลาวรรณ หรือ สา คำมี ภรรยาของชำนาญ จำเลยที่ศาลอุทธรณ์เพิ่งยกฟ้อง เอ่ยด้วยน้ำเสียงที่อัดอั้น 

“เป็นความน้อยเนื้อต่ำใจของกลุ่ม นปช.นะ คนตายแบบนั้นทำไมเค้านิ่งเฉย” เป็นคำถามของรุ่งลาวรรณที่ยังคงรอคำตอบ 

หมายเหตุ: รายงานพิเศษชิ้นนี้เป็นผลงานของนักข่าวสายสิทธิมนุษยชนที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ

 

image_pdfimage_print