โควิด-19 กับนโยบายเรียนออนไลน์

กานดา ประชุมวงค์ เรื่อง

หลังจากกระทรวงศึกษาธิการออกประกาศเรื่องการเปิดเทอมของสถานศึกษาในสังกัดและกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้สถานศึกษาทุกแห่งของรัฐและเอกชน ทั้งในระบบและนอกระบบ เปิดเรียนภาคเรียนที่ 1/2563 จากวันที่ 16 พฤษภาคม 2563 เป็นวันที่ 1 กรกฎาคม 2563-13 พฤศจิกายน 2563 ปิดเทอมตั้งแต่วันที่ 14-30 พฤศจิกายน 2563 รวมจำนวนวันปิดภาคเรียนแรกเป็นเวลา 17 วัน ส่วนภาคเรียนที่ 2/2563 จากปกติเปิดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2563 เลื่อนมาเป็นวันที่ 1 ธันวาคม 2563-9 เมษายน 2564 และปิดภาคเรียนที่ 2/2563 ตั้งแต่วันที่ 10 เมษายน 2564 เป็นต้นไป และจะเปิดทำการเรียนการสอนตามระยะเวลาปกติในปีการศึกษาหน้า โดยให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน อันสืบเนื่องจากการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 

เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2563 ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีว่า “โรงเรียนอาจหยุดได้ แต่การเรียนรู้หยุดไม่ได้ ไม่ว่าสถานการณ์แวดล้อมจะรุนแรงแค่ไหน การเรียนรู้ที่เข้าถึงและมีคุณภาพสำหรับเด็กไทยทุกคน คือเป้าหมายสูงสุดตามแนวคิดการเรียนรู้นำการศึกษา ควรจัดการเรียนการสอนให้คำนึงถึงความปลอดภัยสูงสุดของทุกคน ให้นักเรียนทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนการสอนได้ แม้จะไม่สามารถไปโรงเรียนได้ ก็ให้ใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

เนื่องจากโรงเรียนเลื่อนการเปิดเรียน กระทรวงศึกษาธิการจึงมีนโยบายให้จัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล โดยเผยแพร่สัญญาณจากมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมในพระบรมราชูปถัมภ์ เว็บไซต์ DLTV และผ่านทางแอปพลิเคชันของ DLTV ซึ่งการจะรับชมผ่านช่องทางโทรทัศน์ได้นั้นจะต้องมีจานรับสัญญาณดาวเทียม ส่วนการจะรับชมผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นนั้น ก็จำเป็นต้องมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในการรับชม

DLTV หรือ Distance Learning Television มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยแก้ปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่ประสบปัญหามีครูไม่ครบชั้นและครูสอนไม่ตรงรายวิชา ซึ่งเพิ่มมาอีกหนึ่งข้อคือ เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 

ต่อมาเมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ประกาศให้ครูเข้ารับฟังการอบรมแนวทางการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งเป็นการอบรมออนไลน์ ทว่าบางโรงเรียนก็ให้คณะครูและบุคลากรทางการศึกษาเดินทางไปรับฟังการอบรมร่วมกันในสถานศึกษา อันเป็นความย้อนแย้งกับมาตรการการป้องกันลดการแพร่ระบาดตามที่รัฐบาลประกาศ

การอบรมครูและผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศเพื่อให้จัดการศึกษาทางไกลมนสถานการณ์โควิด-19 ด้วยระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ผ่านช่องทาง Youtube เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563

การทดลองจัดการเรียนการสอนทางไกลเริ่มตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม – 30 มิถุนายน 2563 นั่นก็หมายถึงว่า เด็กจะต้องเริ่มเรียนผ่านช่องรายการโทรทัศน์ในระบบดิจิทัลและระบบออนไลน์ โดยมีผู้ปกครองคอยกำกับดูแลตลอดระยะเวลาที่มีการเรียนการสอนในวันที่ 18 พฤษภาคม ไปจนถึงวันเปิดเรียน

คณะครู บุคลากรทางการศึกษา และบุคคลทั่วไปที่เข้ารับฟังการจัดการเรียนออนไลน์แสดงความความคิดเห็นต่อการจัดการศึกษาแบบใหม่

การแสดงความคิดเห็นใต้คลิปวิดีโอคอนเฟอเรนซ์การอบรมของคณะครูและบุคลากรทางการศึกษาเกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ในสถานการณ์โควิด-19 ผ่านช่องทางยูทูบ สะท้อนให้เห็นว่า การจะจัดการเรียนการสอนออนไลน์ผ่านช่อง DLTV นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะผู้ปกครองไม่สามารถที่จะมานั่งเฝ้าเด็กหรือให้ความรู้เพิ่มเติมจากที่เด็กสงสัยทุกคน เพราะผู้ปกครองจำเป็นต้องทำมาหากินเพื่อหาเงินเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง 

คำถามคือ หากผู้ปกครองสามารถให้ความรู้เด็กขนาดนั้น ผู้ปกครองคงไม่ต้องนำเด็กไปฝากไว้กับครูที่โรงเรียนใช่ไหม 

บ้านบางหลังอาจมีเด็กที่กำลังเรียนหนังสือ 2-3 คน ถามว่า แต่ละบ้านจะมีทีวี มีแท็บเล็ตหรือคอมพิวเตอร์ให้เด็กเรียนกันอย่างทั่วหรือไม่ บางครอบครัวพ่อแม่ต้องไปทำงานต่างจังหวัด เด็กๆ จึงอยู่กับตายาย ถามว่า ตายายสามารถเข้าเว็บไซต์ DLTV ได้ไหม บ้านของผู้ปกครองมีอินเทอร์เน็ตกันทุกครัวเรือนไหม ผู้ปกครองจะมีเงินที่ไหนจ่ายค่าอินเทอร์เน็ตรายวันหรือรายเดือน หรือจะให้ไปอาศัย Wi-Fi จากโครงการเน็ตประชารัฐที่นั่งเล่นได้แค่บริเวณบ้านผู้ใหญ่บ้าน

หลังรัฐบาลออกนโยบายการจัดการเรียนการสอนในลักษณะออนไลน์ ก็มีเสียงสะท้อนจากหลายๆ ฝ่าย ทั้งคณะครูและผู้ปกครอง ทั้งเรื่องการใช้กระดาษเพื่อพิมพ์งานเป็นจำนวนมาก การใช้เครื่องปริ้น และอื่นๆ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นค่าใช้จ่ายที่ครูต้องออกเอง 

รวมถึงการลดวันปิดเทอมของเด็ก จากเดิมปิดเทอมเล็กที่เคยจำนวน 21 วันก็เหลือเพียง 17 วัน ส่วนปิดเทอมภาคเรียนที่ 2 ที่เคยมีจำนวน 2 เดือนก็เหลือเพียง 37 วัน ทั้งที่คำว่า “ปิดเทอม” สำหรับเด็กหลายๆ คน คือเวลาแห่งอิสระที่พวกเขาเฝ้ารอมาตลอดภาคการศึกษา 

ครูคนหนึ่งในจังหวัดอุบลราชธานีแชร์ประสบการณ์ว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่เป็นชาวไร่ชาวสวน ช่วงเช้ามืดก็ต้องไปกรีดยาง พอกลับจากกรีดยางก็ไปไร่มันต่อ ส่วนนักเรียนก็เป็นเด็กบ้านๆ ไม่ใช่เด็กในเมือง แค่เขามาเรียนที่โรงเรียนได้ถือว่าสุดยอดแล้ว ถ้าจะให้เขามานั่งเรียนออนไลน์โดยที่ไม่มีครูอยู่ด้วย มันเป็นไปได้ยาก อีกอย่าง บริเวณโรงเรียนที่สอนอยู่ บ้านของเด็กแต่ละคนก็ยากจน บางหลังอยู่ในสวนยาง ไม่มีทีวีก็มี ถ้าจะให้พร้อมเรียนจริงๆ คงทำยาก 

“จากที่สอบถามผู้ปกครองเรื่องเรียนทางไกล ผู้ปกครองบ่นว่าถ้าจะให้มานั่งเฝ้าดูลูกเรียนคงทำไม่ได้ เพราะผู้ปกครอง 80% ของโรงเรียนเป็นชาวสวนยางและสวนมัน บางคนก็เป็นเจ้าของสวนเอง บางคนก็รับจ้างเขา จึงไม่มีเวลา” ครูคนนั้นเล่าประสบการณ์ 

เช่นเดียวกับครูอีกโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษที่กล่าวถึงความสามารถในการพบปะเด็กและผู้ปกครองแต่ละคน ซึ่งปกติครูจะต้องไปพบอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งว่า ผู้ปกครองอยู่หลายอำเภอ เวลาต้องมารับ-ส่งใบงาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเดินทางและมีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ส่วนอุปกรณ์การเรียนนั้นไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีเวลา  

“การออกเยี่ยมบ้านนักเรียนในสถานการณ์โรคระบาดมีความเสี่ยงสูงและเด็กอยู่ต่างอำเภอ ครูต้องใช้เวลาหลายวันในการออกเยี่ยมบ้านเด็ก ครูต้องจัดเตรียมใบงานสำหรับการเรียนออนไลน์ตามหลักสูตร ซึ่งใน 1 สัปดาห์ ใช้ใบงานหลายแผ่น”ครูบอกและว่า “แต่ที่น่าจะเป็นปัญหาคือ ครูกับนักเรียนยังไม่เคยมีปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน ทำให้ยากในการติดต่อสื่อสาร อีกทั้งบางครอบครัวเด็กไม่ได้อยู่กับพ่อแม่ บางครอบครัวก็ขาดอุปกรณ์ในการเรียนออนไลน์ เด็กไม่อยากเรียนออนไลน์ เป็นต้น”

การลงพื้นที่พูดคุยกับผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดบุรีรัมย์

นอกจากนี้ เรายังได้ลงพื้นที่สำรวจความพร้อมของนักเรียนและผู้ปกครอง พบว่า ผู้ปกครองของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในโรงเรียนแห่งหนึ่งของจังหวัดบุรีรัมย์ ฝากคำถามมากับครูด้วยความเป็นห่วงว่า นโยบายนี้จะทำได้จริงหรือ? เด็กจะเรียนได้จริงหรือ? แล้วเด็กอนุบาลที่กำลังจะเข้าเรียนอนุบาล 2 จะทำงานตามใบงานของครูได้หรือ? และอีกอย่างเขาอยู่กับตายาย ตายายจะช่วยอธิบายให้เขาเข้าใจได้ไหม?

จากข้อมูลข้างต้น อาจจะสรุปได้ว่า อุปสรรคในการจัดการเรียนการสอนผ่านระบบ DLTV มีปัญหาหลายประการ ทั้งครูที่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการเดินทางและจากการเตรียมแบบฝึกหัด ส่วนนักเรียนเมื่อต้องจ้องจอทีวีนานๆ ก็ไม่มีสมาธิ แม้ในยามปกติ การเรียนในห้องเรียน เด็กบางคนก็มีพฤติกรรมวอกแวก รวมทั้งผู้ปกครองไม่มีเวลาและปัจจัยอื่นๆ ที่อาจทำให้การจัดการเรียนการสอนตามนโยบายรัฐบาลอาจไม่มีประสิทธิภาพ 

ผู้เขียนจึงเห็นว่า การจัดการศึกษาแบบออนไลน์ที่กระทรวงศึกษาธิการทำอยู่นี้ ระบบการศึกษาไทยยังไม่พร้อมที่จะให้เด็กได้รับการเรียนแบบนี้

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print