อติเทพ จันทร์เทศ เรื่อง
เหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 เปลวแดดยังแผดเผา ท่ามกลางวันเวลานับ 10 ปี คดีความที่เกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของประชาชนยังไม่คืบหน้า ส่วนคนถูกจับยังติดตรึงอยู่ในห้องขัง บ้างได้รับการปล่อยตัวสู่อิสรภาพที่เต็มไปด้วยบาดแผลของวันเวลา
นับเป็นทศวรรษแห่งความเจ็บปวดของผู้คน หากแต่การกลับมาค้นหาข้อมูลเหตุสลายการชุมนุมเดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ชั่งดูเหมือนว่าประเทศไร้ความทรงจำ ฤาข้อมูลทางประวัติศาสตร์ถูกลบเลือนออกจากความทรงจำของผู้คนแล้ว โดยเฉพาะเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเป็นชาวรากหญ้าที่ตายเพื่อประชาธิปไตยในแบบฉบับของพวกเขาไม่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “วีรบุรุษ”
เมื่อดูข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) ก็พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ชุมนุมทางทางการเมืองในช่วง 2 เดือนนั้นมากกว่า 94 คน บาดเจ็บ 1,283 คน ในจำนวนนี้มีผู้เสียชีวิต 36 คนในบัตรประชาชนระบุว่า มาจากภาคอีสานและจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ศรีสะเกษถึง 6 คน
ผมได้คัด 5 เรื่องราวของคนอีสานที่ตายกลางกรุงฯ จากหนังสือ “คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต” และรวบรวมข้อมูลจากการสัมภาษณ์ของ ศปช. เพื่อให้เห็นความเป็นมา รวมถึงชุดความคิดของพวกเขาต่อการเมืองและประชาธิปไตยตามแบบฉบับของชาวรากหญ้า

ภาพวาดคนเสื้อแดงที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 โดย ตะวัน วัตุยา จัดแสดงในเทศกาลขอนแก่นแมนิเฟสโต้เมื่อปี 2560 เครดิตภาพ – ถนอม ชาภักดี
1.
บุญธรรม ทองผุย อายุ 46 ปี พื้นเพเป็นคนจังหวัดศรีสะเกษ แต่งงานกับสุภารัตน์ (แดง) ทองผุย มีลูกด้วยกัน 2 คน เขาย้ายมาสร้างครอบครัวอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิ ก่อนที่ทั้งสองจะไปทำงานก่อสร้างที่กรุงเทพฯ
เมื่อปี 2547 พ่อของแดงป่วยเป็นมะเร็ง เธอต้องกลับบ้านเพื่อดูแลพ่อที่จังหวัดชัยภูมิ ทำให้บุญธรรมต้องรับหน้าที่ทำงานหาเงินอยู่ที่กรุงเทพฯ เพียงลำพัง
แดงเล่าเกี่ยวกับสามีในหนังสือเล่มเดียวกัน ตอน “บอกให้พวกผู้หญิงกลับไปๆ อันตราย” ว่า บุญธรรมเป็นคนรักความยุติธรรมมาก ไม่คดโกงใคร ไม่เอาเปรียบใคร และเป็นคนสนใจการเมืองอยู่ตลอด เขารู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในการเมืองไทย จึงมาสมัครเป็นสมาชิก นปช. และเริ่มเข้ามาร่วมการชุมนุมกับคนเสื้อแดงเมื่อปี 2552
ชีวิตของบุญธรรมและครอบครัวไม่ต่างจากคนต่างจังหวัดอีกมากมายที่เข้าไปทำงานก่อสร้างในกรุงเทพฯ โดยมักจะกลับบ้านช่วงเทศกาล มีรายได้จากการทำงานด้วยค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยเดือนละ 5,000-6,000 บาท แล้วส่งเงินเพื่อเลี้ยงลูกชายวัย 7 ขวบ และลูกสาววัย 16 ปี ที่ยังอยู่ในวัยเรียน
10 เมษายน 2553 บริเวณสี่แยกคอกวัว บุญธรรมถูกยิงที่หน้าผากซ้ายทะลุศีรษะด้านหลังส่วนบน สมองฉีกขาด และถูกนำตัวส่งไปยังโรงพยาศูนย์เอราวัณ ผลการชันสูตรที่โรงพยาบาลศิริราชระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ถูกยิงที่หน้าผากซ้ายทะลุศีรษะด้านหลังส่วนบน สมองฉีกขาดโดยกระสุนปืนไม่ทราบชนิด และเสียชีวิตในที่เกิดเหตุ
หลังทราบว่าสามีเสียชีวิต แดงต้องเดินทางไปขอรับศพที่กรุงเทพฯ ระหว่างรอ เธอต้องอยู่กินในที่ชุมนุมร่วมกับ นปช. โดยพักอยู่ที่เต็นท์จังหวัดชัยภูมิ ใช้กระดาษแผ่นหนาปูนอนกับพื้นถนนอยู่ที่ราชประสงค์นานร่วมเดือน ก่อนจะกลับไปทำธุระที่บ้านประมาณวันที่ 14 พฤษภาคม 2553 ก่อนที่รัฐบาลจะประกาศห้ามคนเข้าออกพื้นที่ชุมนุม หลังจากนั้นเพียง 4 วัน รัฐบาลก็ใช้มาตรการขอคืนพื้นที่ด้วยการใช้อาวุธจริง ทำให้เธอไม่สามารถเข้าพื้นที่ได้ แดงจึงเปลี่ยนไปพักย่านคลองจั่นแทน
หนึ่งปีหลังการตายของสามี เธอยังคงเก็บศพสามีไว้เป็นหลักฐานเพื่อลงโทษผู้กระทำผิด แม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการยอมรับผิด ไม่มีการขอโทษ
“พูดง่ายๆ ตามภาษาชาวบ้าน คือเอาไว้แก้แค้นไง” แดงพูดพร้อมหัวเราะเป็นเสียงที่ฟังดูขมขื่น
2.
จรูน ฉายแม้น อายุ 46 พื้นเพเดิมเป็นชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เข้ามาหางานทำและสร้างครอบครัวอยู่ในกรุงเทพฯ เหมือนกับคนต่างจังหวัดอีกมากมาย เขาแต่งงานกับภรรยาเมื่อ 26 ปีก่อน มีลูกสาว 2 คน
จรูนเคยทำงานโรงเชือดไก่ แต่เมื่อไข้หวัดนกระบาด เขาต้องเปลี่ยนงานมาขับรถส่งของให้ร้านเสริมสวยแห่งหนึ่งอยู่ราว 2 ปี และอาชีพสุดท้าย คือขับแท็กซี่และช่วยภรรยาเตรียมของขายอาหารอีสาน ลาบ ก้อย ริมถนนซอยอ่อนนุช ไม่ไกลจากบ้านเช่า
นวล ฉายแม้น ภรรยาเล่าในบทสัมภาษณ์ตอน “ผมก็เป็นแบบนี้ของผม” ในหนังสือ “คนที่ตายมีใบหน้า คนที่ถูกฆ่ามีชีวิต” ว่า จรูนเริ่มสนใจการเมืองหลังการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 จากนั้นเข้าจึงร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) มาโดยตลอด
“แรกๆ ก็ไปกับเพื่อน ก่อนมาชวนสมาชิกในครอบครัวไปด้วยและทำให้นวลสนใจการเมืองและร่วมเคลื่อนไหวมาด้วยกัน” นวลบอก
กระทั่งเวลา 20.00 น. วันที่ 10 เมษายน 2553 จรูนถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถนนดินสอ (แจ้งการตายจากสถาบันนิติเวช) ระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า บาดแผลกระสุนปืนความเร็วสูงเข้าที่ทรวงอก
เจี๊ยบ ลูกสาวคนโต เล่าถึงวันที่ไปตามหาศพพ่อที่โรงพยาบาลกลาง ตอนแรกเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้เยี่ยม เพราะอยู่ห้องผู้ป่วยรวมชั้น 9 เธอคิดว่าพ่อคงบาดเจ็บไม่ถึงตาย เธอจึงต่อรองขอทางโรงพยาบาลเพื่อขึ้นไปดูอาการของพ่อ แต่แล้วก็พบว่าพ่อนอนตาย มีเพียงผ้าห่มผืนเดียวห่มไว้ ไม่มีสายน้ำเกลือหรืออะไรเลย
3.
สวาท วางาม อายุ 28 ปี อาชีพพนักงานส่งเฟอร์นิเจอร์ ก่อนลาออกมาเป็นการ์ด นปช. พื้นเพเป็นคนตำบลนาหนองไผ่ อำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์
สวาทเป็นคนหนุ่มที่ยังไม่แต่งงาน เขาจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 และกำลังเรียนต่อ กศน. ครอบครัวของสวาทไม่มีที่ดินทำกิน เป็นเหตุผลให้เขาต้องย้ายเข้าไปทำงานที่กรุงเทพฯ เหมือนคนอีสานจำนวนมาก พ่อ น้องชาย และเขาอยู่ด้วยกันที่ห้องเช่าเล็กๆ ใต้สะพานพระราม 8
สวาทเป็นคนหนุ่มแห่งยุค มุ่งมั่น ขยันทำมาหากิน และเอาจริงเอาจังกับการงาน ไม่ต่างจากอุดมการณ์ทางการเมืองของเขา เขาเคยทำงานเป็นเด็กปั๊ม ขับรถรับจ้างส่งเฟอร์นิเจอร์ และเคยทำงานอยู่ในไซต์ก่อสร้าง
ส่วนสำราญ ผู้เป็นพ่อ ทำงานเป็นรปภ. ที่ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งย่านปิ่นเกล้า ได้ค่าตอบแทนวันละ 260 บาท ส่วนน้องชายคนเล็กทำงานอยู่โรงพิมพ์ได้ค่าจ้างวันละ 150 บาท วันไหนที่สวาทไปร่วมชุมนุม ทั้งพ่อและน้องชายจะแบ่งเงินให้เขาทุกครั้ง
ทั้งสามคนเข้าร่วมเป็นแนวร่วม นปช. ด้วยกัน ในบันทึกหนังสือเล่มเดียวกันนี้ ตอน “น้ำตาแกตก แกโกรธมาก” วรเมธ น้องชายที่ร่วมเคียงบ่าเคียงไหล่ในทุกสถานการณ์กับพี่ชาย เล่าว่า พวกเขาขับมอเตอร์ไซค์ออกจากบ้านย่านสะพานพระราม 8 แล้วจอดรถไว้แถวสี่แยกคอกวัวและเดินไปด้านหน้าสุด ตอนนั้นทั้งสองฝ่ายกำลังปะทะกันบ้างแล้ว ส่วนพ่อตามไปหลังสุด ช่วงนั้นทหารเริ่มยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาแล้ว สวาทวิ่งมาเอาธงชาติแล้วเดินถือไปข้างหน้า แต่น้องชายเรียกไม่ทัน จากนั้นเขาก็ถูกยิง “ตูม” เดียวต่อหน้าต่อตา
วรเมธเล่าต่อว่า กระสุนมาจากฝั่งทหารด้านบนของตึกริมถนนข้าวสาร และเห็นกับตาว่ามีแสงเลเซอร์เล็งนำมาก่อน
สวาทเสียชีวิตเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 20.10 น. ที่สี่แยกคอกวัว เขาถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลกลาง โดยสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ถูกยิงศีรษะด้านบนข้างขวา ทะลุขมับซ้ายเสียชีวิตในที่เกิดเหตุจากกระสุนปืนความเร็วสูง
4.
ไพรศล ทิพย์ลม (ศล) อายุ 37 ปี อาชีพพนักงานชิปปิ้งท่าเรือ พื้นเพเป็นคนหมู่ที่ 2 ตำบลโคกสูง อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ไพรศลพบรักกับภรรรยาชาวลาว (สังวานย์) เมืองสะหวันเขต เมื่อปี 2549 มีลูก 2 คน แล้วไปทำงานในกรุงเทพฯ ยึดอาชีพเป็นพนักงานชิบปิ้งท่าเรืออยู่ที่คลองเตย ลาดกระบัง และแหลมฉบัง
ไพรศลเป็นคนเงียบ แต่เรื่องประชาธิปไตยเขาไม่เคยเงียบ เขาสนใจเรื่องสิทธิและเสรีภาพ ภรรยาเล่าว่า ไพรศลเข้าร่วมชุมนุมกับคนเสื้อแดงตั้งแต่สมัยที่เพิ่งก่อรูปก่อร่างเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปก.) เมื่อปี 2550 หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 หลังจากนั้นก็เข้าร่วมชุมนุมกับขบวนการเสื้อแดงมาโดยตลอด เขาว่างเว้นจากงานร่วมชุมนุมเป็นครั้งคราว
แม้การเข้าร่วมชุมนุมกับ นปช. ครั้งก่อนๆ สังวานย์จะไม่เคยห้าม แต่ระยะหลังเธอพยายามเหนี่ยวรั้งไม่ให้ไพรศลไปร่วมชุมนุม เพราะกลัวจะไม่ปลอดภัย อีกอย่างลูกๆ ก็ยังเล็กอยู่ ส่วนสังวานย์เอง ก่อนหน้าไม่เคยไปร่วมชุมนุมเลย แต่เมื่อปี 2553 เธอได้ไปร่วมชุมนุมกับเพื่อนบ้าน ทั้งที่สะพานผ่านฟ้าฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และแยกราชประสงค์
สังวานย์เล่าช่วงสุดท้ายของชีวิตไพรศลว่า เวลาสี่โมงครึ่ง ศลอยู่ที่แยกราชประสงค์ แต่เวทีที่สะพานผ่านฟ้าฯ กำลังมีการสลายการชุมนุมอย่างดุเดือด ทหารเข้าปะทะกับประชาชนอย่างหนัก แกนนำจึงโทรศัพท์เรียกให้ผู้ชุมนุมจากที่ต่างๆ มาสมทบ ศลจึงขี่มอเตอร์ไซค์ไปสบทบที่สะพานผ่านฟ้าฯ “ไม่ต้องโทรหากูตอนนี้ ตอนนี้กูยังไม่ตาย” ภรรยาเล่าถึงตอนที่โทรหาศล “เฮ้ยทำไมพูดแบบนั้น” ภรรยาถามกลับ “เออ ไม่เป็นอะไรหรอก” จากนั้นทั้งสองก็ไม่ได้ติดต่อกันอีกเลย รู้อีกที “ไพรศลเสียชีวิตแล้ว”
ก่อนเวลา 19.00 น. วันที่ 10 เมษายน 2553 หลังเกิดเหตุบริเวณสี่แยกคอกวัว ไพรศลถูกส่งโรงพยาบาลหัวเฉียว ต่อมาสถาบันนิติเวชวิทยา กรมตำรวจระบุสาเหตุการเสียชีวิตว่า ถูกยิงที่ศีรษะด้านหน้าทะลุท้ายทอย สมองถูกทำลายจากกระสุนปืนความเร็วสูง เสียชีวิตในที่เกิดเหตุด้วยกระสุนปืนความเร็วสูง
5.
สมศักดิ์ แก้วสาร อายุ 34 ปี ชาวจังหวัดหนองคาย มีลูกทั้งหมด 4 คน จากภรรยา 2 คน คนโตกำลังเรียนอยู่ชั้น ป.5 อีกคนอยู่ชั้นอนุบาล ส่วนคนสุดท้องยังไม่เข้าโรงเรียน (อีกคนอาศัยอยู่กับภรรยาคนเดิม)
ช่วงการชุมนุมเมื่อปี 2553 สมศักดิ์เดินทางจากหนองคาย-กรุงเทพฯ บ่อยครั้ง เพื่อตามหาความยุติธรรมและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ โดยเป็นช่วงเวลาการบริหารประเทศในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ที่ครอบครัว “แก้วสาร” สนับสนุนนายกฯ คนนี้ทั้งบ้าน เขาสนใจเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมมาโดยตลอด
สมศักดิ์รับจ้างขับรถแท็กซี่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำมากว่า 10 ปี ช่วงว่างเว้นจากการขับแท็กซี่ เขาก็กลับบ้านที่หนองคายเพื่อรับจ้างทำนาและรับจ้างทั่วไป ได้ค่าจ้างวันละ 200 บาท
วันที่สมศักดิ์เสียชีวิต (10 เมษายน 2563) คนในครอบครัวของเขาไม่มีใครอยู่กรุงเทพฯ จึงไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับลูกชายคนที่ 7 ของบ้านที่มีสมาชิกครอบครัว 11 คน
คนในครอบครัวรู้ข่าวการตายของสมศักดิ์ในเช้าวันถัดมา โดย ประจักษ์ ศิริโชค แม่เลี้ยง เป็นคนแจ้งข่าวให้ครอบครัวรู้ว่า “สมศักดิ์ตายแล้ว” ซึ่งเป็นการทราบข้อมูลจากเถ้าแก่สหกรณ์แท็กซี่ที่โทรบอก แต่ประจักษ์ตัดสินใจบอกทุกคนในเช้าวันที่ 11 เมษาฯ
“เอาเถอะ ไอ้สักมันตายในสนามรบ” เป็นบทสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากเถ้าแก่
หลังจากทุกคนรู้ข่าว จึงรีบด่วนเข้ากรุงเทพฯ เพื่อมารับศพของสมศักดิ์ที่โรงพยาบาลศิริราช เป็นเรื่องน่าเศร้าที่คนในครอบครัวไม่รู้รายละเอียดมากนัก รู้แค่ว่าสมศักดิ์ถูกยิงที่หน้าอก
ข้อมูลจาก ศปช. ระบุว่าสมศักดิ์ถูกยิงหลังทะลุออกซ้าย บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 และไม่ทราบเวลาที่แน่ชัด
นอกจากผู้เสียชีวิตที่มีมากกว่า 94 ศพ และบาดเจ็บ 1,283 คน ยังมีผู้สูญหายจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเดือนเมษายน–พฤษภาคม 2553 อีกไม่น้อย ซึ่งญาติและครอบครัวต่างเฝ้ารอการกลับมา
และเฝ้ารอความยุติธรรมที่ไม่รู้อยู่ที่ไหน…
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด