ข่มขืนเด็ก – บาดแผลทางใจ ฝันร้ายที่ลืมไม่ลง

ภาพหน้าปกจาก istock.com/AHMET YARALI

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

แม้คดีความกรณีครูและรุ่นพี่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดมุกดาหารรวม 7 คน ถูกนักเรียนหญิงกล่าวหาว่ารุมข่มขืนภายในห้องเรียนและบ้านพักครู จนต่อมาตำรวจ สภ.ผึ่งแดด จ.มุกดาหาร ได้แจ้งข้อกล่าวหากระทำความผิดฐานกระทำชำเราต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม อันมีลักษณะเป็นการโทรมเด็กหญิง จะยังอยู่ในระหว่างสืบสวนสอบสวน และผลของคดีความยังไม่เสร็จสุด 

แต่กรณีนี้มีประเด็นให้ถกเถียงอย่างน้อย 2 ประเด็น เพื่อให้สังคมตระหนักว่า ความผิดจากการกระทำชำเราเด็กไม่ได้จบสิ้นแค่ในทางคดีความตามกฎหมายเท่านั้น แต่มันส่งผลกระทบทางจิตใจของเด็กที่เกิดจากการถูกล่วงละเมิดทางเพศ และอาจส่งผลกระทบต่อตัวเด็กและสังคมโดยรวมเมื่อเด็กเติบโตขึ้น

บาดแผลทางจิตใจส่งผลต่อการใช้ชีวิตของเด็ก 

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล อธิบายปรากฏการณ์ดังกล่าวว่า หากเด็กนักเรียนหญิงถูกข่มขืนกระทำชำเราจากผู้ชายทั้ง 7 คนจริง การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายการกระทำที่กระทบกระเทือนจิตใจอย่างร้ายแรง อาจทำให้เด็กเกิดภาวะทางจิตเวชที่เรียกว่า โรคเครียดภายหลังภยันตราย (post-taumatic stress disorder) 

“ภาวะนี้อาจจะทำให้เด็กเกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ เกิดความวิตกกังวลในการใช้ชีวิต เกิดภาพหลอนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ  ภาวะเหล่านี้จะติดตัวเด็กไปจนโต และอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของเขาไปตลอด” อังคณากล่าว

อังคณา อินทสา หัวหน้าฝ่ายส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ภาพเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

เก็บกด เก็บตัว กลัว สูญเสียความมั่นใจในตัวเอง

อังคณากล่าวว่า ผลกระทบอีกอย่างที่ตามมาคือ การเกิดภาพหลอนจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำๆ บ่อยๆ ความหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุซ้ำอาจทำให้เด็กที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกข่มขืนสับสน กลัว เก็บตัว เด็กผู้หญิงบางคนโตมาจะสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ไม่รักหรือเห็นคุณค่าในตัวเอง เกิดความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง

“เราพบหลายกรณีที่เด็กหญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงหรือถูกข่มขืน พอโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เขากลับมองตัวเองไม่มีความสามารถในการทำงานและใช้ชีวิตในสังคม กลายเป็นคนเก็บตัว ไม่มีเพื่อน ไม่อยากจะทำอะไร” อังคณากล่าว 

สำหรับอังคณา การที่เด็กผู้หญิงถูกคุกคามทางเพศในลักษณะการข่มขืนจากผู้ชายถือเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์ มีผลกระทบต่อตัวตน จิตวิญญาณของเด็กผู้หญิงคนนั้นไปตลอดกาล หากเด็กไม่ได้รับการฟื้นฟูเยียวยาทางจิตใจ  

เสี่ยงโทษตัวเอง ทำร้ายตัวเอง

จากประสบการณ์ที่มูลนิธิของอังคณาทำงานกับผู้หญิงและเด็กผู้หญิงที่ถูกผู้ชายกระทำความรุนแรงทางเพศและข่มขืน ส่วนใหญ่พบว่า หลังเกิดเหตุการณ์ พวกเขาจะมีอาการป่วยทางจิตเวชเข้าข่ายเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงมีโรคทางจิตอื่นๆ เช่น ภาวะวิตกกังวลจนนอนไม่หลับในเวลากลางคืน และเกิดภาพหลอนเหตุการณ์ถูกข่มขืนในช่วงกลางคืน สุดท้ายมักจะรู้สึกสิ้นหวัง ไม่อยากมีชีวิตอยู่และอยากฆ่าตัวตายอยู่บ่อยๆ

“ร้อยละ 90 ของผู้หญิงและเด็กที่เข้ามาขอคำปรึกษา หลังจากถูกผู้ชายกระทำความรุนแรงทางเพศ ต้องเข้าพบนักจิตวิทยาและใช้ยาผู้ป่วยจิตเวชช่วยแก้ไขปัญหาบาดแผลทางจิตใจที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง” อังคณากล่าว

เด็กไร้อำนาจต่อรอง ความรุนแรงจึงเกิด

สาเหตุความรุนแรงในทางเพศที่เกิดขึ้นกับเด็ก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา วิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งมาจากเด็กไม่มีอำนาจต่อรองกับพ่อแม่/ผู้ปกครอง จึงทำให้เด็กเสี่ยงต่อการถูกใช้ความรุนแรงเพื่อแลกกับผลประโยชน์ที่เด็กต้องการ เช่น อาหาร เงิน ของเล่น ผลการศึกษา

วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ภาพจากเว็บไซต์สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

นอกจากนี้ ความเชื่อและวัฒนธรรมที่ว่า เด็กเป็นสมบัติของพ่อแม่/ผู้ปกครอง ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่วราภรณ์มองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เด็กเสี่ยงถูกกระทำความรุนแรงทางเพศโดยคนใกล้ตัวได้ เพราะพ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถให้คุณ ให้โทษ  หรือจะปฏิบัติอย่างไรก็ได้ต่อเด็ก อีกทั้งในความสัมพันธ์เด็กกับผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย ก็มักจะใช้อำนาจที่มีมากำหนดชีวิตของเด็ก 

“อย่างในกรณีที่เกิดขึ้นล่าสุดที่มุกดาหาร หากเด็กถูกข่มขืนเพราะครูข่มขู่ว่าจะไม่ให้คะแนนเพื่อเลื่อนชั้น ก็เข้าข่ายว่าเด็กถูกกระทำแบบนี้เพราะถูกครูใช้อำนาจความเป็นครู เป็นผู้ให้คุณให้โทษ ข่มขู่เพื่อข่มขืนเด็ก ในขณะที่เด็กไม่มีอำนาจต่อรอง” วราภรณ์กล่าว 

มักเป็นคนใกล้ตัวที่เป็นผู้กระทำ 

วราภรณ์กล่าวว่า ผู้ที่กระทำความรุนแรงทางเพศและข่มขืนเด็กผู้หญิง ส่วนใหญ่ที่มูลนิธิได้รับทราบมานั้น ส่วนมากเป็นคนใกล้ตัวเด็ก คนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือครูในโรงเรียน 

จากการสำรวจและเก็บข้อมูลจากข่าวจำนวน 317 ข่าวในหนังสือพิมพ์ประเทศไทยเมื่อปี 2560 เกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศ โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลพบว่าร้อยละ 49 เกิดเหตุการณ์ล่วงละเมิดทางเพศขึ้นในบ้านผู้ถูกกระทำ และร้อยละ 5.8 เกิดขึ้นในสถานศึกษา เช่น โรงเรียน ห้องเรียน มหาวิทยาลัย ที่เหลือเกิดขึ้นริมถนนที่เปลี่ยว ในป่า สวนไร่นา โรงแรม เป็นต้น

“อาจจะวิเคราะห์ได้จากข้อมูลที่พบว่า ผู้กระทำการล่วงละเมิดทางเพศเด็กมักเป็นคนใกล้ตัว และสถานที่ที่เกิดเหตุการณ์การล่วงละเมิดทางเพศ ก็มักเกิดขึ้นในสถานที่ที่เด็กคิดว่าปลอดภัยที่สุด อย่างในบ้านและโรงเรียน” วราภรณ์กล่าว  

ไม่กล้าเปิดเผยเรื่องราว เพราะกลัวถูกกล่าวหาว่าเนรคุณ

การที่เด็กถูกกระทำความรุนแรงทางเพศจากคนใกล้ตัว หรือพ่อแม่/ผู้ปกครองแล้ว แต่ไม่กล้าเปิดเผยความรุนแรงที่ตัวเองได้รับ ก็ถือเป็นอีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้น

วราภรณ์กล่าวว่า ในสังคมมีวัฒนธรรมเรื่องความกตัญญูรู้คุณพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ แม้ว่าเด็กจะถูกกระทำความรุนแรงทางเพศหรือถูกข่มขืนโดยคนที่เด็กให้ความเคารพนับถือเช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง คนในครอบครัว ครูที่สอนสั่งแล้ว เด็กก็ไม่กล้าไปแจ้งความเพื่อให้ผู้กระทำได้รับโทษ

“เด็กไม่กล้าที่จะแจ้งตำรวจ เพราะกลัวคนที่เคยดูแล ช่วยเหลือ คนที่เคารพรักจะถูกจับติดคุก เด็กมักจะคิดว่า หากทำแบบนี้ก็จะถูกสังคมรอบข้างตีตราว่าเนรคุณ ไม่กตัญญูต่อผู้มีพระคุณ” วราภรณ์กล่าว 

นอกจากนี้ เด็กที่ตกเป็นเหยื่อการถูกข่มขืนไม่กล้าเล่าประสบการณ์ที่ตัวเองได้รับมาให้คนอื่นฟัง เพราะกลัวว่าสังคมจะไม่เชื่อ และสังคมอาจจะนินทาและกล่าวโทษตัวเด็กผู้หญิงว่าเป็นผู้พาตัวเองเข้าไปในพื้นที่เสี่ยงที่จะอาจถูกผู้ชายข่มขืนหรือแต่งกายนุ่งสั้นห่มน้อย 

“หากมีข่าวเด็กผู้หญิงถูกข่มขืน สังคมมักกล่าวโทษผู้หญิง สังคมไม่ค่อยกล่าวโทษผู้กระทำหรือประนามผู้กระทำ แม้กระทั่งในกรณีที่มีหลักฐานชัดเจนว่าชายกระทำจริง สังคมก็ละเว้น เพราะมันมาจากพื้นฐานที่เรายอมรับชีวิตทางเพศของผู้ชายที่มันเปิดกว้าง” วราภรณ์กล่าว  

วราภรณ์กล่าวว่า สังคมไทยควรเลิกความคิดความเชื่อเรื่องเพศที่ว่า ผู้ชายมีอิสระในการหาประสบการณ์ทางเพศ (มีเพศสัมพันธ์) ผู้ใหญ่ ผู้ปกครอง มักจะบอกผู้ชาย/ลูกชายว่าต้องมีประสบการณ์ทางเพศให้เยอะๆ โดยผู้ใหญ่ผู้ปกครองมักไม่สนใจว่าลูกชาย/เด็กชายจะใช้วิธีการใดที่จะได้มาซึ่งประสบการณ์ทางเพศ จะได้มาโดยความยินยอม บังคับ ข่มขู่ หรือกรณีที่ผู้ชายแต่งงานแล้วมีเมียน้อย มีกิ๊ก มีแฟนหลายคน สังคมก็ไม่ถือว่าเป็นเรื่องที่ผิดร้ายแรงอะไร

เธอกล่าวอีกว่า ถ้าเป็นเด็กผู้หญิง ผู้หญิงผู้ใหญ่ผู้ปกครองจะเน้นการควบคุมชีวิตทางเพศของผู้หญิง จะสอนลูกผู้หญิงว่าต้องไร้เดียงสาในเรื่องเพศ ไม่จำเป็นต้องหาความรู้หรือประสบการณ์ทางเพศ หรือแสวงหาประสบการณ์ทางเพศ หรือมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน 

“หากผู้หญิง/เด็กผู้หญิงมีแฟนหลายคน เปลี่ยนแฟนเยอะ สังคมก็จะจับตามองและติดสินว่าเป็นผู้หญิงไม่ดี ผู้หญิงถูกสอนว่าต้องทำตัวให้สังคมเห็นว่าไม่สนใจเรื่องนี้ จะได้ชื่อว่าเป็นผู้หญิงที่ดี” วราภรณ์กล่าว

ถูกข่มขืนสองครั้งขึ้นไปไม่ได้แปลว่า “สมยอม” 

หลายคนคิดว่า การที่เด็กผู้หญิงถูกข่มขืนสองครั้งขึ้นไปแปลว่าเด็กยินยอมให้ถูกกระทำทางเพศนั้นถือว่าเป็นความคิดที่ผิด วราภรณ์กล่าวว่า การถูกกระทำซ้ำครั้งที่สองที่สามนั้น อาจจะเกิดการที่เด็กถูกบังคับ ข่มขู่ โดยอำนาจที่ผู้ชายหรืออำนาจผู้ใหญ่ผู้ชายที่มีเหนือกว่า เช่น อาจถูกข่มขู่ว่าจะเผยแพร่วิดีโอระหว่างการมีเพศสัมพันธ์กับเด็กคนนั้นให้สังคมเห็น รวมถึงกรณีที่ครูใช้อำนาจความเป็นครูข่มขู่ไม่ให้คะแนนเด็กสอบผ่านชั้นเรียน เป็นต้น 

“อยากให้เด็กผู้หญิงหรือผู้หญิง หรือเพศไหนก็ตาม ที่ถูกกระทำความรุนแรงทางเพศ ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่เกิดขึ้น รวมถึงเปิดเผยผู้กระทำผิด เพื่อให้กระบวนการทางกฎหมายดำเนินการเอาผิดผู้กระทำผิด เพราะถือเป็นการเรียกร้องความเป็นธรรมกับตัวเอง” วราภรณ์ทิ้งท้าย

image_pdfimage_print