หมาในมหาวิทยาลัย
คุณจะเลือกชื่นชมสัตว์ชนิดใดระหว่างสุนัขจรจัดที่ยืนตรงและเห่าหอนเวลาได้ยินเสียงเพลงชาติและกระรอกตัวน้อยที่มีอิสระจากเสียงเพลงปลุกใจ เรื่องสั้น “หมาในมหาวิทยาลัย” ชายคาเรื่องสั้นชวนตั้งคำถาม
ภาพหน้าปกจาก istock.com/Ejla
กฤตรา (นามปากกา) เรื่อง
กลางเปลวแดดอันร้อนระอุของเดือนพฤษภาคม สุวิทย์ โพธิ์ศรีคล้าย หอบร่างอันไร้วิญญาณของกุลธิดาไปยังสถานที่อันเคยเป็นบ้านของเจ้าพระยารามราฆพ คนสนิทของรัชกาลที่ 6 ซึ่งตอนนี้ใช้เป็นศูนย์บัญชาการอำนาจแห่งรัฐและเป็นศูนย์กลางความมืดมอดแห่งยุคสมัย
“เอาเมียผมคืนมา เอาเมียผมคืนมา” เขากู่ร้องตะโกนท่ามกลางฝูงชนของผู้คนแห่ล้อม
เขาไม่สนใจสายตาของผู้คนที่เพ่งมองหรือสายตาเจ้าหน้าที่ที่มาพร้อมอาวุธครบมือ
แม้ก่อนจะออกจากห้องเช่าย่านบ่อนไก่ เพื่อนข้างห้องจะเตือนเขาแล้วว่า
“อย่าเอาเรื่องเลย มึงสู้เขาไม่ได้หรอก อย่าไปเลย”
แต่เขาไม่ฟัง เขายังหอบร่างอันไร้วิญญาณของเมียรักขึ้นรถแท็กซี่เพื่อมาขอชีวิตเธอคืน
“เอาเมียกูคืนมา เอาเมียกูคืนมา” เขาตะโกนอีกครั้ง คราวนี้เป็นการตะโกนแทบสุดเสียง เขากอดร่างของกุลธิดา พร้อมกับร้องไห้โฮแบบไม่อายฟ้า อายดิน
เขาไม่สนใจว่า สายตาที่มุงดูเขาจะมองด้วยสายตาแบบไหน อาจมองด้วยสายตาหยามเหยียดที่เขาใส่รองเท้านันยางคู่เก่าหรือเสื้อตราห่านสีซีดแสนถูก
“คุณลุงต้องการอะไรคะ” นักข่าวสาวถามขึ้นระหว่างที่เขากำลังร้องไห้น้ำตาอาบแก้ม
หยาดน้ำตากับเหงื่อที่คละคนปนกัน ทำให้กลิ่นกายเขาไม่สู้ดี สิ่งนี้เขาพอจินตนาการความรู้สึกของคนถามออกว่าเป็นเช่นไร
เขามองหน้าเธอก่อนจะตอบคำถามว่า “ผมอยากให้รัฐบาลเอาเมียผมคืนมา เธอไม่ได้ทำอะไรผิด เธอไม่ได้ทำอะไรผิด”
สุวิทย์ร้องไห้อีกครั้งพร้อมสะอื้นเฮือกใหญ่ คราวนี้เขาร้องไห้เหมือนคนไร้สติ เขาไม่สามารถควบคุมความรู้สึกของการเป็นคนสูญเสีย
“คุณลุงแค่บอกว่าต้องการให้รัฐบาลช่วยยังไง หนูจะเขียนข่าวให้”
การพูดของเธอคราวนี้ แม้จะทำให้เขามีความหวังขึ้นมาว่า สิ่งที่เขากำลังเรียกร้องอยู่อาจจะเป็นจริง แต่ระหว่างนั้นก็มีเสียงตะโกนของใครคนหนึ่งดังขึ้น
“ออกไปๆ ออกไปๆ วันนี้ไม่มีใครอยู่” เจ้าหน้าที่พร้อมอาวุธครบมือนับสิบตรงดิ่งเข้ามาหาเขา แล้วลากสุวิทย์ออกจากประตู 4 ซึ่งเป็นพื้นที่รับร้องเรียนของสถานที่ที่เคยเป็นบ้านของพระยารามราฆพ
การลากถูสุวิทย์ออกจากการร้องเรียนของเจ้าหน้าที่ตำรวจเรือนสิบ ถูกบันทึกภาพโดยสำนักข่าวต่างประเทศและสื่อหลายสำนัก
“พวกมันฆ่าเธอ กระสุนของพวกมันฆ่าเธอ” สุวิทย์ตะโกนระหว่างถูกลากแบบถูลู่ถูกัง
***
“เดี๋ยวข่อยกลับห้องมา จะเฮ็ดผัดกะเพราเนื้อเผ็ดๆ ให้เจ้ากินเด้ออ้าย ข่อยไปแป๊บเดียว เดี๋ยวกะกลับแล้ว”
กุลธิดาบอกสุวิทย์ก่อนลงจากมอเตอร์ไซค์ที่เขาขี่ไปส่งเธอหน้าปากซอย
ระหว่างที่เธอไปร่วมชุมนุมที่ราชประสงค์ อันเป็นย่านธุรกิจของเมืองหลวงแห่งกรุงเทพมหานคร เขาคอยติดตามฟังข่าวจากทีวีอยู่ตลอด
ก่อนเธอออกจากห้องเช่า ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ประกาศว่าจะขอคืนพื้นที่จากกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะทำให้ธุรกิจเสียหายและภาพลักษณ์ประเทศย่อยยับ
เขาอยากเตือนเธอว่า “ไม่ควรไป เพราะสถานการณ์ไม่ค่อยสู้ดี” แต่เขารู้นิสัยเธอดีว่า การเตือนครั้งนั้นอาจทำให้เธอเสียความรู้สึกและทะเลาะกัน
แต่การไม่เตือนเมียรัก แต่ยังขี่มอเตอร์ไซค์ไปส่ง ก็ทำให้เขารู้สึกผิดจนยากจะให้อภัยตัวเอง เพราะเท่ากับเขาส่งเธอไปตาย
ว่าไปแล้ว แม่ค้าขายส้มตำอย่างเธอ ไม่ควรไปร่วมกิจกรรมการเมืองอะไรทั้งสิ้น เพราะมันไม่เกี่ยวอะไรกับคนหาเช้ากินค่ำอย่างเขาหรือเธอ
แต่เธอยืนยันว่า “ข่อยออกไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ปกป้องประชาธิปไตยที่มันควรเป็นของพวกเรา”
พอพูดเรื่องประชาธิปไตยที่สุวิทย์แทบไม่กระเดียกหู เขาจึงปล่อยให้เรื่องนั้นผ่านไปเสียแทบทุกครั้ง
เพราะเขาไม่รู้จะเถียงกับเธออย่างไร เขารู้แต่เพียงว่า คนจนอย่างเขามีหน้าที่เพียงถมท้องลูกและเมียให้เต็มเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่ไปเรียกร้องอะไร
เขาเคยถามกุลธิดาหลายครั้งว่าประชาธิปไตยคืออะไร เธออธิบายว่า “มันไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง แต่มันคือการเปลี่ยนแปลง”
แม่ค้าส้มตำจากหมู่บ้านเล็กๆ ในจังหวัดแห้งแล้งแห่งหนึ่งทางภาคอีสานเล่าด้วยภาษาสมัยใหม่ที่สุวิทย์ไม่มีทางเข้าใจ
เธอเคยชวนเขาออกมาร่วมชุมนุมหลายครั้ง แต่เขาปฏิเสธ เพราะไม่อยากเสียรายได้จากการขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ถือเป็นรายได้หลักของครอบครัว
เขาไม่ได้เลือกอาชีพนี้ แต่การขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างเป็นเพียงไม่กี่อาชีพที่คนเรียนหนังสือจบแค่ชั้น ม.ต้น จากจังหวัดพระนครศรีอยุธยาอย่างเขาจะทำได้ในเมืองหลวงแห่งนี้
กุลธิดาเรียนจบชั้นมัธยมฯ ปลาย เธอจึงดูเหมือนมีความรู้มากกว่าเขา นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาไม่กล้าเถียงเธอเรื่องการเมือง
แต่พอไม่มีเธอแล้ว เขากลับรู้สึกว่า เขาน่าจะออกไปชุมนุมกับเธอ อย่างน้อยก็เพื่อปกป้องเธอ แม้เขาไม่เข้าใจคำว่าประชาธิปไตยที่เธอบอกเลยก็ตาม
***
สิบปีผ่านไป แม้สุวิทย์จะรู้ว่าใครเป็นคนสาดกระสุนใส่ร่างของกุลธิดา เพราะมีคนบันทึกภาพวิดีโอที่เห็นได้ชัดว่า วิถีกระสุนตรงดิ่งเข้าสู่ร่างของเธอขณะหลบอยู่ในวัดปทุมวนารามร่วมกับผู้ร่วมชุมนุมคนอื่นๆ ซึ่งต่อมาเขาได้มอบภาพนั้นให้แก่คนที่เก็บข้อมูลเรื่องคนตายจากเหตุการณ์ครั้งนั้น
พวกเขาบอกว่าจะเอาภาพนั้นประกอบในศาลเพื่อดำเนินคดีกับคนสั่งสลายการชุมนุม
“มึงสู้เขาไม่ได้หรอก” เป็นคำพูดของเพื่อนบ้านห้องติดกันย่านบ่อนไก่ที่บอกเขาก่อนนำร่างของกุลธิดาออกมาร้องเรียนในช่วงที่เธอจากไปใหม่ๆ
ตอนนั้นไม่มีใครคิดว่าเขาจะกล้าและบ้าบิ่นถึงขนาดนี้ เพราะสถานการณ์ตอนนั้น เขาอาจถูกยิงตายเหมือนหมาข้างถนนได้ตลอดเวลา
***
“ศาลอาญารัชดาภิเษกตัดสินให้อดีตผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. ที่เป็นผู้สั่งการให้สลายการชุมนุมในเหตุการณ์ 19 พฤษภาคม 2553 จำคุก 20 ปี โดยไม่รอลงอาญา” เป็นเสียงประกาศของนักข่าวสาวที่เขาเจอเมื่อ 10 ปีก่อน ประกาศผ่านโทรทัศน์ช่องหนึ่ง
แม้จะผ่านไปถึง 10 ปี ทว่าหน้าตาเธอแทบไม่เปลี่ยน คงเพราะการแต่งหน้าจึงทำให้ใบหน้าของเธอคมชัดขึ้นกว่าที่เขาเคยเห็น
เสียงการรายงานของเธอชัดถ้อยชัดคำ ทำให้เขาตื่นจากการหลับใหลในยามค่ำคืน
เขาลุกขึ้นนั่งบนเตียงที่ข้างกายเคยเป็นที่นอนของเมียรัก แต่วันนี้เหลือเพียงร่างอันไร้วิญญาณของเธออยู่บนเตียงกับเขาเท่านั้น เขายังคงเก็บร่างเธอไว้เพื่อรอ “ความยุติธรรม” ที่เขาเองก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขารอคอยจะมาเยือนเมื่อใด
เขากระซิบบอกร่างไร้ลมหายใจของว่า “จะไม่ยอมให้เธอไปไหน จะเก็บร่างของเธอไว้ ไม่ยอมเผา จนกว่าเขาจะจับฆาตกรที่ฆ่าเธอมาลงโทษได้”
***
หมายเหตุ: เรื่องนี้เป็นการจำลองจากสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พฤษาคม 2553 โดยผู้เขียนไม่มีเจตนาพาดพิงผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง