ภาพหน้าปกจาก Ratchaprasong (CC BY-NC 2.0)
ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 มาแล้ว 10 ปี แต่ยังไม่สามารถเอาผิดผู้สั่งการสลายการชุมนุมที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตไม่น้อยกว่า 94 คน
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุม กรณี เม.ย.-พ.ค.53 (ศปช.) พบว่า ในจำนวนนี้ ผู้เสียชีวิต 36 คนมีบัตรประชาชนระบุว่ามาจากภาคอีสาน และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ ศรีสะเกษ โดยมีผู้เสียชีวิต 6 คน
แล้ว 10 ปีที่ผ่านมา ข้อกล่าวหาที่ว่า คนอีสานถูกซื้อเสียง ไม่มีความรู้ทางการเมือง ไม่เข้าใจประชาธิปไตย และยอมตายเพื่อเงินนั้น ยังสามารถนำมาอธิบายหรือไม่ อะไรคือแรงจูงใจที่ทำให้พวกเขาเข้าร่วมขบวนการเสื้อแดง รวมถึงคนอีสานจะสามารถถอดบทเรียนจากการเรียกร้องสิทธิทางการเมืองที่มาพร้อมความสูญเสียครั้งนั้นอย่างไร เดอะอีสานเรคคอร์ดจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “10 ปี พฤษภาฯ ’53 คนอีสานอยู่ตรงไหน?” ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ด เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา
พรรคการเมืองของประชาชนถูกทำลาย
ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี หนึ่งในผู้ร่วมสังเกตการณ์ทางการเมืองคร้ังนั้น กล่าวว่า คนอีสานที่เป็นคนเสื้อแดงและร่วมชุมนุมในเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 มีเป้าหมาย/แรงจูงใจอย่างเดียว คือ ต้องการลุกมาป้องสิทธิทางการเมืองของตัวเอง ต้องการปกป้องรัฐบาลและพรรคการเมืองที่พวกเขาใช้สิทธิเลือกตั้งเลือกมาบริหารประเทศ
เขากล่าวอีกว่า พรรคการเมืองที่ภาคอีสานเลือกก็มีนโยบายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน เป็นนโยบายที่ทำให้คนอีสานมีชีวิตที่ดีขึ้น เช่น นโยบายกองทุนหมู่บ้านละ 1 ล้านที่ให้ประชาชนในหมู่บ้านเข้าถึงเงินกู้เพื่อนำมาใช้ทำงานหากิน และ นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคที่ทำให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาลทุกโรคได้ในราคาถูก ถูกให้ออกจากการบริหารประเทศด้วยวิธีการยึดอำนาจ ทำให้นโยบายหลายนโยบายที่เป็นสวัสดิการของประชาชนถูกทำลายด้วย
“ไม่แปลกที่คนอีสานต่อสู้ทางการเมืองและพร้อมตายในเหตุการณ์ เพราะพวกเขาลุกขึ้นมาเมื่อปีตั้งแต่ปี 2549 หลังจากคณะทหารยึดอำนาจการปกครองบ้านเมืองจากรัฐบาลทักษิณ และต่อมาก็ทำทุกวิถีทางเพื่อนำรัฐบาลพรรคของคนที่ทำงานกับทักษิณ ซึ่งดำเนินนโยบายที่เป็นประโยชน์กับชาวอีสาน และประชาชนกำลังมีชีวิตที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง” ธีระพลกล่าว
ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
เลือกพรรคการเมืองแบบมีเหตุผล
สำหรับธีระพล คนภาคอีสานเลือกพรรคการเมืองแต่ละครั้งอย่างมีเหตุผล ไม่ได้เลือกเพราะพรรคการเมืองซื้อเสียง แต่เลือกเพราะพรรคการเมืองที่มีนโยบายเพื่อปากท้องของพวกเขา
“การเมืองของชาวบ้านผันตามนโยบายเศรษฐกิจที่พวกเขาได้รับประโยชน์ถ้วนหน้า ไม่ได้ผันตามเงินซื้อเสียง หรือผันตามเงินบัตรคนจน แต่ผันตามนโยบายเชิงโครงสร้างที่ทำให้เขาสามารถตั้งต้นชีวิตตัวเองได้ ไม่ได้รอง้อ รอการบริจาคทานจากรัฐบาล” ธีระพลกล่าว
จากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านอีสานในจังหวัดอุบลราชธานีที่เป็นคนเสื้อแดงมาหลายปี เขาพบว่า เหตุผลที่คนเสื้อแดงไปชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 นั้นไม่ได้ไปด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองอื่นใด นอกจากเพื่อปกป้องรัฐบาลและนโยบายที่ดูแลช่วยเหลือปากท้องของพวกเขา ในช่วงนั้น พวกเขามีความหวังในการทำงาน การใช้ชีวิต ทำงานหนักก็มีผลตอบแทนที่ดี ไม่เหมือนทุกวันนี้ ที่ทำงานหนัก แต่ผลตอบแทนน้อย
“บางคนบอกว่า ออกไปชุมนุมเพื่อปกป้องรัฐบาลที่ทำให้พวกเขากินอิ่ม นอนอุ่น และพวกเขาพร้อมเสมอในออกไปชุมนุมเพื่อแสดงออกว่ายังคิดถึงรัฐบาลทักษิณ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ อยากให้รัฐบาลเก่ากลับมาบริหารประเทศ เพราะทุกวันนี้ชีวิตยากลำบาก ทำมาหากินฝืดเคือง” ธีระพลกล่าว
ออกไปใช้สิทธิทางการเมืองแต่ถูกทหารฆ่า
นักวิชาการคนนี้ยังตอบคำถามถึงสาเหตุที่รัฐบาลใช้อำนาจในการสั่งสังหารประชาชนเมื่อปี 2535 เพราะเห็นพวกเขาเป็นคนจนและเป็นชาวรากหญ้า หรือไม่มองว่า ตามหลักการของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสากล สิทธิทางการเมือง สิทธิการแสดงออกทางการเมือง ทั้งการวิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาล การชุมนุมทางการเมืองถือเป็นหลักการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการบริหารประเทศ
“ประชาชนที่ออกไปชุมนุมไม่ควรถูกฆ่า ไม่ว่าจะฝ่ายเสื้อสีไหนก็ตาม ไม่ว่าจะเสื้อแดงเสื้อเหลืองออกไปชุมนุมทางการเมือง ไม่มีใครสมควรโดนทหารฆ่า ถ้าเป็นประเทศที่เป็นอารยะ จะไม่ใช้กำลังกองทหารปรามปรามประชาชน เพราะว่าทหารมีหน้าที่ปกป้องประชาชนในประเทศ” ธีระพลกล่าว
เสียงสะท้อนจากผู้ชุมนุมคนเสื้อแดงในเหตุการณ์นั้นที่ธีระพลได้ยินคือ ประชาชนตั้งคำถามว่า ทำไมทหารถึงกล้าฆ่าประชาชน เอาปืนยิงจนสมองไหลเสียชีวิต แค่ประชาชนออกมาชุมนุมที่ไม่มีอาวุธ ซึ่งเรียกร้องให้รัฐบาลสมัยนั้นยุบสภา เลือกตั้งใหม่ตามกติกา แต่รัฐบาลสมัยนั้นเลือกใช้กองกำลังทหารมาปราบ
“ช่วงเวลานั้น คนเสื้อแดงถูกกล่าวหาใส่ร้ายด้วยวาทกรรมอันเลวร้าย เช่น ผู้ก่อการร้าย พวกเผาบ้านเผาเมือง มีการตัดต่อวิดีโอให้ดูเป็นคนโหดร้าย พยายามปลุกปั่นให้คนในประเทศช่วงนั้นเกลียดชัง ซึ่งเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่นำไปสู่การเปิดทางให้ทหารฆ่าคนเสื้อแดง” ธีระพลกล่าว
ทั้งที่สำหรับธีระพล ทหารที่เรียกตัวเองว่าเป็นรั้วของชาติต้องปกป้องประชาชนในประเทศ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงนั้นคือ ประชาชนคนไหนเป็นเสื้อแดง ทหารกลับมองว่าเป็นผู้ร้ายต้องฆ่า รัฐประเทศนี้มีกองกำลังไปปราบประชาชน ไม่ได้มีไว้เพื่อป้องกันประชาชน
“ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนในประเทศนี้ ใครที่คิดต่างกับอำนาจรัฐส่วนกลาง คุณจะถูกกำราบ ถูกปราบ ไม่ได้สนใจว่าคุณเป็นใคร” ธีระพลกล่าว
สิ่งที่เขาสังเกตเห็นก่อนหน้านี้คือ ค่ายทหารทุกจังหวัดจะมีคำว่ากองทัพเพื่อชาติ ศาสนา กษัตริย์ ประชาชน แต่หลังจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2535 มีการเอาคำว่าประชาชนออก เพราะปี 2535 ประชาชนตระหนักแล้วว่า เราไม่ควรเรียกร้องให้ทหารมายุ่งกับการเมือง จนทหารเลิกยุ่งการเมืองนานหลาย 10 ปี แต่เหตุการณ์การรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2549 ทหารก็กลับมามีอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง เมื่อมีอำนาจ ใครแสดงออกทางการเมืองไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลส่วนกลางก็จะถูกปราบ
“เหตุการณ์คนเสื้อแดงปี 2553 ทหารและรัฐบาลไม่ได้มองประชาชนว่าเป็นพลเมืองที่มีสิทธิ มีเสียงแสดงออกทางการเมือง อีกทั้งมองว่าเป็นพลเมืองที่ไม่เชื่อฟังรัฐและกองกำลังทหารอีกต่อไป” ธีระพลกล่าว
วาทกรรมใส่ร้ายคนเสื้อแดงว่าเป็นผู้ร้าย
ธีระพลวิเคราะห์ว่า การสร้างวาทกรรมให้คนเสื้อแดงเป็นผู้ร้ายในเหตุการณ์ทางการเมืองช่วงปี 2553 นั้นคล้ายกับการสร้างวาทกรรมให้ผู้ที่คิดต่างจากรัฐบาลในอดีต เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามาทำการปราบปรามผู้คิดต่างทางการเมืองเกิดขึ้น
“การสร้างวาทกรรมเกลียดชัง ลดทอนคนเสื้อแดง คล้ายกับช่วงเหตุการณ์ ‘6 ตุลา 19’ ที่อำนาจรัฐได้สร้างวาทกรรมลดทอนขบวนการนักศึกษาที่ออกมาต่อต้านรัฐบาลว่าเป็นผู้ร้ายคอมมิวนิสต์ มีอาวุธปืน จนทำให้ทหารเข้าปราบปราม” ธีระพลวิเคราะห์ และกล่าวต่อว่า “ทั้งที่ก่อนหน้านั้น 3 ปี เหตุการณ์ ‘14 ตุลา 16’ รัฐยังชื่นชมเชิดชูนักศึกษาเหมือนซุปเปอร์ฮีโร่ ช่วยเหลือประเทศ”
สำหรับธีระพล วาทกรรมที่ใส่ร้ายคนเสื้อแดงนั้น ทำงานต่อเนื่องจนถึงช่วงหลังการปราบปรามผู้ชุมนุม ซึ่งสะท้อนได้จากทหารเพิ่งฆ่าประชาชนแล้วเลือดยังไม่แห้ง รัฐบาลก็จัดงานทำความสะอาดเมืองครั้งใหญ่ ซึ่งมีคนเมืองในกรุงเทพฯ เข้าร่วมงานล้างเลือดคนตาย ซึ่งเหตุการณ์นั้นมันหมายถึงการล้างหลักฐาน ล้างพยายานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่การดำเนินคดีผู้กระทำผิดและเรียกร้องความยุติธรรมให้ผู้เสียชีวิต
“กรณีคนเมืองกรุงฯ ออกมาช่วยกันล้างเมือง มันคล้ายๆ กับคุณไม่ได้ส่งเสียงเชียร์ แต่คุณก็เป็นคนส่งกระสุนให้กองกำลังทหาร ยิงใส่กระสุนแสนห่ามายิงไทบ้านเสื้อแดง” ธีระพลวิเคราะห์และว่า “ผมขอเรียกร้องให้นำผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายให้ได้ อีกทั้งต้องทำลายวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการฆ่าประชาชน”
นักวิชาการคนนี้ยังกล่าวอีกว่า ในกฎหมายที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แล้วมีการแทรกกฏหมายบางมาตราไว้ว่า เจ้าหน้าที่รัฐหากลงมือกระทำอะไรตามกฏหมายจะไม่มีความผิด เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐฆ่าประชาชนไม่มีความผิด อันนี้ถือว่าไม่ควรมีในกฎหมาย
นักศึกษา-คนรุ่นใหม่คือความหวัง
สำหรับธีระพล นักศึกษาที่มาเรียนกับเขา มีแนวโน้มที่จะเป็นเสรีนิยมมากขึ้น ทำให้เขามีความหวัง แต่ก็ไม่ง่ายที่จะเปลี่ยนแปลง เพราะอีกฝ่ายก็ปกป้องความมั่งคั่ง มีการใช้กองทหารรักษาอำนาจตัวเอง อีกทั้งรัฐธรรมนูญปี 2560 ก็เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถเข้าถึงความเป็นส่วนตัวทั้งในโลกออนไลน์และในสังคมทั่วไป ทำให้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนในโลกออนไลน์และออฟไลน์ถูกรัฐและฝ่ายอำนาจแทรกแซง ติดตามดูการเคลื่อนไหวทางการเมืองได้ ดังนั้นควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้
“ผมคิดว่า รัฐ ผู้มีอำนาจ ทหารมีอำนาจอยู่สูงก็จริง แต่อำนาจนั้นจะไม่อยู่ค้ำฟ้า เพราะประชาชนจะเรียนรู้และลุกขึ้นปกป้องสิทธิและอำนาจของตัวเอง”
ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี
คนมีสิทธิ์เลือกตั้ง 1 เสียงเท่ากัน
อีกประเด็นที่น่าสนใจที่ ผศ.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี กล่าวคือ หนึ่งปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจให้คนอีสานเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองปี 2553 เนื่องจากมีผู้อำนาจและประชาชนบางกลุ่มไม่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน นำมาซึ่งการดูถูกเหยียดหยามความคิดเห็นทางการเมืองของคนอีสาน
“มีการเหยียดหยาม ดูถูกคนอีสาน คนต่างจังหวัดว่าฐานะยากจน เพราะไม่เรียนหนังสือ เมื่อไม่ได้เรียนหนังสือก็ไม่รู้ว่าประชาธิปไตยคืออะไร การเมืองคืออะไร” เสาวนีย์กล่าว
สำหรับเสาวนีย์ คนในภาคอีสานรู้จักคำว่าการเมืองและประชาธิปไตย แม้แต่คำว่าประชาธิปไตยชาวบ้านบางคนก็อธิบายได้ว่ามันคือความเท่าเทียม เพราะหลังจากมีรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบและเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยแล้ว ชาวบ้านก็เลือกพรรคการเมืองที่ทำตามนโยบายหาเสียงไว้ได้ แล้วก็ได้ประโยชน์จากนโยบายนั้น มันทำให้ชาวบ้านรู้สึกว่า เสียงลงคะแนนเลือกตั้ง 1 เสียงของตัวเองมีความหมาย
เธอกล่าวอีกว่า แม้ชาวบ้านหลายคนไม่สามารถอธิบายคำว่าประชาธิปไตยได้อย่างถูกต้องตามหลักการ แต่เขาก็เข้าใจคำนี้ว่า ทุกคน ทุกอาชีพ ทุกฐานะ มีสิทธิเท่าเทียมกันทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย
“พวกเขาต้องการให้คนเท่ากัน เท่ากันในความหมายที่ไม่ใช่รวยเท่ากัน หรือเป็นอาจารย์เหมือนกัน แต่คือเท่าเทียมกันในทางกฎหมาย เท่ากันในเรื่องสิทธิ์การเลือกตั้ง ชาวบ้านตระหนักว่าเสียงของเขามีความหมาย” เสาวนีย์กล่าว
ขณะที่ วัฒนา จันทศิลป์ ทนายความนักโทษคดีการเมือง จ.อุบลราชธานี บอกว่า คนอีสานถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 กว่า 500 คน และต่อมาคนในจำนวนนี้ก็ถูกดำเนินคดีจำนวน 21 คน ตอนนี้ยังมีผู้ติดอยู่ในเรือนจำ 4 คน ซึ่งบางคนที่หลักฐานไม่เพียงพอศาลก็ยกฟ้อง และบางคนที่ไม่มีความผิดติดคุกฟรีก็มีการเยียวยา
“คนอีสานที่เข้ามาเกี่ยวข้องในคดี ส่วนใหญ่เป็นคนน่าสงสาร บางคนก็ไม่น่าเป็นคดีก็เป็น บางคนไม่ควรถูกฟ้องร้องก็ถูกฟ้อง ชาวบ้านหลายคนก็บอกว่าตัวเองไม่ได้รับความยุติธรรม ซึ่งความจริงเป็นอย่างนั้น เพราะความยุติธรรมมันขึ้นกับคนตีความ” ทนายความในคดีทางการเมืองกล่าว