หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ 

บ่ายคล้อยในงานเสวนา “หนึ่งทศวรรษชายคาเรื่องสั้น” จัดขึ้นที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2563 “เดือนวาด พิมวนา” ชื่อจริง “พิมใจ จูกลิ่น” นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546 ชาวจังหวัดชลบุรี เจ้าของหนังสือ “ช่างสำราญ” ก็มาร่วมงานด้วย 

ถ้อยคำสะดุดหูบนเวทีที่ว่า “การเขียนงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงปี 2553 เป็นงานวรรณกรรมที่ต้องใช้พลัง เพราะเป็นสถานการณ์ที่อาชญากรไม่เคยจดจำในสิ่งที่ตัวเองกระทำ ตรงกันข้ามกลับจะลบภาพเหล่านั้นด้วยความเงียบและลืมความตาย การโดนล้อมปราบ ทั้งที่ผู้คนเหล่านั้นมีญาติพี่น้อง มีบ้านเลขที่ แต่คนที่กระทำกลับไม่ต้องรับผิดชอบ” 

เป็นวาทะที่บันดาลให้ทีมงานเดอะอีสานเรคคอร์ดไม่รีรอต้องคว้าเธอมาสนทนาถึงวาทะที่ทิ่มแทงความเป็นจริงในสังคมไทยเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงกลางเมืองเมื่อเดือนเมษาฯ – พฤษภาฯ 2553 

เราสั่งกาแฟร้อนกันคนละแก้ว พร้อมกับคว้าเก้าอี้จากร้านกาแฟใกล้ๆ คณะศิลปศาสตร์ มานั่งคุยกันเงียบๆ ในป่าละเมาะอันนิ่งสงบ 

นี่เป็นบทสนทนาที่ออกมาจากใจของนักเขียนซีไรต์คนนี้ 

“ศพของคนตายเกือบ 100 ศพ ความจริงมันไม่มีทางที่จะจืดจางหรือหายไปได้” เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546

94 ศพกำลังถูกลบ 

“จริงๆ แล้วใกล้ชิดกับเหตุการณ์นั้นมาก…” เป็นประโยคแรกที่เธอเอ่ยหลังจากทีมงานฯ ไถ่ถามถึงประสบการณ์เมื่อปี 2553 

เธอนิ่งเงียบประหนึ่งว่า กำลังเรียบเรียงความนึกคิดก่อนจะพรั่งพรูถ้อยคำ  

“การชุมนุมผ่านไปแล้ว 10 ปี เร็วมาก ตอนนั้นได้ไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง แต่อะไรก็ตามที่มันไม่ได้ถูกคลี่คลาย ไม่ได้ถูกจัดการให้เกิดความยุติธรรม มันก็จะเป็นเรื่องที่ไม่ได้ผ่านไป แม้เราจะติดตามข่าวจัดการรำลึกกันทุกปีๆ แต่สถานการณ์ก็ไม่คลี่คลาย” เธอกล่าวในฐานะคนที่ไปสังเกตการณ์การชุมนุมหลายแห่งในกรุงเทพฯ เมื่อปี 2553  

สิ่งที่เธอบอกว่าไม่คลี่คลาย คือกระบวนการเสาะหาความจริงของผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ทางการเมืองที่มีมากกว่า 94 ศพที่ตอนนี้ยังไม่สามารถลงโทษผู้สั่งการในเหตุสลายการชุมนุมแม้แต่คนเดียว 

“ศพของคนตายเกือบ 100 ศพ ความจริงมันไม่มีทางที่จะจืดจางหรือหายไปได้ แต่มันย้อนแย้งกลับกัน เพราะฝ่ายหนึ่งพยายามจะลบภาพนี้ทิ้งไป แต่มันกลับไปดังในจิตใจของผู้คนที่สูญเสีย ไปดังในจิตใจของพี่น้อง ญาติ คนรัก คนที่เดือดร้อน แม้คนจะตายไปแล้ว แต่เสียงคนที่อยู่ข้างหลังกลับยิ่งดังเพิ่มขึ้นทุกวันๆ” เธอสะท้อนภาพของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความรุนแรง   

แม้จะมีงานเขียนเกี่ยวกับการเมืองปรากฏให้เห็นไม่บ่อยนัก แต่เดือนวาด พิมวนา ก็เป็นคนหนึ่งที่ติดตามข่าวการเมืองและสนใจการเมือง 

“จากวันที่ล้อมปราบ จากวันที่มีใครคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร จากวันที่มีใครคนหนึ่งเป็นฝ่ายถือปืน แล้วมีคนล้มลง มันไม่ได้คลี่คลายไปไหน” เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546

คนอีสานถูกยิงตายมากกว่าภาคอื่น 

แม้เธอจะไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนอีสาน แต่เธอก็รู้สึกเจ็บปวดกับความสูญเสีย เพราะจากปรากฏการณ์ที่เห็นและยังคงมีบันทึกหลักฐานคือ คนที่มีที่อยู่ตามบัตรประชาชนในภาคอีสานเสียชีวิตในเหตุการณ์ความรุนแรงถึง 36 ศพ ซึ่งยังรอคอยความยุติธรรม 

“แม้คนที่ตายจะเป็นคนอีสานมากกว่าที่อื่น แต่คนที่รู้สึกถึงความอยุติธรรมไม่ได้จำแนกว่ามาจากภาคไหน ความเจ็บปวดไม่ได้แบ่งภาค เพราะความเจ็บปวดจากการถูกกระทำ การถูกยิง การล้อมปราบ เป็นความรู้สึกที่ไม่ได้หายไป เพียงแต่มันถูกปิดกั้นไม่ให้แสดงออก” เดือนวาดกล่าวอย่างเนิบช้า 

เธอวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่ยอดของผู้เสียชีวิตมีพื้นเพจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่าภาคอื่นนั้น อาจเป็นเพราะคนอีสานเป็นคนในกลุ่มก้อนที่มักถูกเหยียบย่ำด้วยวาทกรรมต่างๆ อยู่เสมอ เช่น วาทกรรม โง่ จน เจ็บ เป็นพวกขลาดเขลา เป็นพวกเห็นแก่เงิน เป็นคนจนที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อนักการเมือง เป็นต้น จึงทำให้คนอีสานเข้าร่วมทางการเมืองมากกว่าภาคอื่น 

“คำดูถูกเหยียดหยามเหล่านี้พุ่งตรงมาที่คนอีสานก่อนหน้านี้นานแล้ว กระทั่งวันหนึ่งคนอีสานเหล่านี้ มีความรู้สึกนับถือหรือชื่นชอบนักการเมืองที่ทำให้เขาลืมตาอ้าปากได้ หรือจะด้วยเหตุใดก็ตาม พัดพาให้คนชั้นล่างหรือคนอีสานเหล่านี้เข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง แต่เขาก็ไม่ควรถูกกระสุนปืนปลิดชีพ” เธอกล่าวย้ำ 

การชุมนุมกับชนชั้น

การเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นชป.) หลายครั้ง ทำให้เธอเห็นบรรยากาศการมีส่วนร่วม ซึ่งเธอฉายภาพได้อย่างเป็นรูปธรรมว่า “การชุมนุมก็มีชนชั้น” เพราะการชุมนุมของ นปช. นั้น ผู้คนส่วนใหญ่เป็นชาวรากหญ้าและเป็นชาวบ้านร้านตลาดมากกว่าชนชั้นนำ

โดยเธอเห็นว่า ปกติการเมืองจะมีการแบ่งฝักฝ่ายและมีชนชั้น ซึ่งเห็นได้ชัดว่าใครมีอำนาจเป็นชนชั้นที่จะสามารถเล่นงานฝ่ายตรงข้าม 

“แต่ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องบังเอิญหรือเปล่าที่ชนชั้นรากหญ้าแบบอีสานเข้ามามีบทบาทเป็นส่วนหนึ่งของสถานการณ์การเมือง ที่ผู้นำทางการเมืองคนหนึ่ง ซึ่งถูกกระทืบถูกไล่ล่า จนอยู่ในประเทศนี้ไม่ได้ ทั้งที่ปกติเรื่องการเมืองจะเป็นเรื่องของชนชั้นนำ แต่คราวนี้แตกต่าง” เธออธิบายปรากฏการณ์ในฐานะคนที่สนใจการเมืองไทยคนหนึ่ง 

ในสายตาของ “เดือนวาด พิมวนา” ห้วงเวลาก่อนและหลังเหตุการณ์ปี 2553 ผลที่เกิดขึ้นกับคนอีสานก็มีความน่าสนใจ โดยเฉพาะการถูกกันสิทธิ์ไม่ให้เลือกตั้ง ด้วยเหตุผลว่ามีการศึกษาไม่เพียงพอต่อระบอบประชาธิปไตย 

“การถูกเหยียดแบบนี้ เราคิดว่าคนที่เจริญจริงๆ ไม่มีทางที่จะทนได้” เดือนวาดสะท้อนการต่อสู้ทางความคิดในห้วงเวลานั้น 

ทั้งที่ความจริงแล้วในระบอบประชาธิปไตย ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน ซึ่งเธอได้เน้นย้ำปรัชญานี้ 

“ถ้าเป็นระบอบประชาธิปไตยเขาจะต้องมี แต่ถ้ามีใครถามว่า เฮ้ย! มึงควรมีสิทธิ์ไหม เราไม่ควรถามเช่นนั้น เพราะแสดงว่าคุณมันก็ไม่ใช่ประชาธิปไตยแล้ว มันก็ไม่ใช่การเคารพสิทธิ์ในความเป็นมนุษย์แล้ว”

“ถ้าคุณคิดว่า ใครคนหนึ่งข้างๆ คุณ หรือคนข้างบ้าน หรือว่าคนจนๆ อะไรก็ตาม มีสิทธิ์น้อยกว่าคุณ สิ่งนี้ไม่แม้แต่จะเป็นคำถามว่า เขามีสิทธิ์อยู่แล้ว ถ้าหากว่าเราอยู่ในระบอบนี้ ระบอบประชาธิปไตย เขาจะต้องมีสิทธิ์” นักเขียนรางวัลซีไรต์เน้นย้ำแนวคิดที่เธอยึดมั่น 

10 ปี ความรุนแรงที่ลืมไม่ลง 

ระหว่างการสนทนาว่าด้วยความรุนแรงทางการเมืองเห็นได้ชัดว่า “เดือนวาด พิมวนา” มีความเครียดให้เห็นอยู่หลายขณะ โดยเฉพาะการถามถึงความรับผิดชอบต่อผู้สูญเสียของผู้สั่งการ 

“จากวันที่ล้อมปราบ จากวันที่มีใครคนหนึ่งกลายเป็นอาชญากร จากวันที่มีใครคนหนึ่งเป็นฝ่ายถือปืน แล้วมีคนล้มลง มันไม่ได้คลี่คลายไปไหน” เธอโพล่งขึ้นแล้วหยุด ก่อนจะกล่าวต่อว่า “คนตายเป็นร้อย เราก็เชื่อว่าคงจะมีคน…ไม่รู้ว่าเขาลืมได้จริงหรือเปล่า อาจจะมีคนลืมได้จริงก็ได้ เพราะเขาไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว”

แม้นักเขียนรางวัลซีไรต์คนนี้จะไม่ได้เข้าร่วมชุมนุมในเหตุสลายการชุมนุมหรือขอคืนพื้นที่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ที่แยกราชประสงค์ กรุงเทพฯ แต่การติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดก็ทำให้เธอรู้ว่า การสั่งการมาจากไหนและใครเป็นผู้สูญเสีย 

“มนุษย์ที่ตาย ไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม มันเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าคุณรู้ว่าเขาตายด้วยอำนาจรัฐ ถ้าคุณรู้ว่าเขาตายด้วยปืน ด้วยลูกกระสุนที่มาจากเงินภาษี มันต่างกันมากเลยกับการถูกโจรคนหนึ่งยิง” เดือนวาดกล่าวด้วยเสียงเนิบๆ แต่แฝงด้วยความคั่งแค้น

“การเขียนมันรอเวลา มันเป็นเมล็ดพันธุ์ ถ้าคุณทิ้งเมล็ดพันธุ์ไว้แล้ว เดี๋ยวมันต้องโตของมัน” เดือนวาด พิมวนา นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี 2546

ความยุติธรรมกับงานวรรณกรรมที่รอวันสะสาง 

แม้ความรุนแรงจะผ่านมากว่าหนึ่งทศวรรษ แต่ทว่าน้อยนักที่จะเห็นนักเขียนออกมาวาดลวดลายในงานเขียนเพื่อกระตุ้นให้สังคมไทยเห็นภาพแห่งความเจ็บช้ำนั้นบนกระดาษ ซึ่งเธออธิบายว่า “นักเขียนก็มีฝักฝ่าย” 

“มันก็น่าเศร้าที่นักเขียนในสัดส่วนใหญ่ที่กินเงินภาษีประชาชนด้วย ไม่ยินดีที่จะเป็นกระบอกเสียง ไม่ได้ยินดีที่จะพูดถึงสิ่งนี้ ไม่ได้ยินดีที่จะให้เรื่องนี้มันเป็นสิ่งสำคัญ” เธอตัดพ้อวงการนักเขียนไทย 

ทั้งนี้เธอก็ยังเชื่อว่า ยังมีนักเขียนบางคนหรือบางกลุ่มที่พยายามสร้างสรรค์งานวรรณกรรมเพื่อกระตุ้นให้ผู้คนรู้สึกร่วมกับความสูญเสียเมื่อปี 2553 โดยเธอนับตัวเองเป็นหนึ่งในนั้นที่ต้องการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งความเจ็บปวดนี้ไว้ในกระดาษ 

“ในสภาพบ้านเมืองที่มันยังไม่ใช่ประชาธิปไตยจริงๆ เรารู้อยู่แล้วว่า เราจะถูกเซ็นเซอร์อย่างไร เราพูดอะไรได้แค่ไหน ในแง่ของงานวรรณกรรมก็ไม่ใช่เรื่องที่ว่า ถ้าถูกปิดกั้นแล้วจะให้พูดถึงไม่ได้ เราจึงเชื่อว่า มันไม่มีเรื่องใดที่จะถูกปิดให้ลืมได้ง่ายๆ” เธอแสดงจุดยืน 

การสนทนาว่าด้วยวรรณกรรมและความรุนแรงทางการเมืองครั้งนี้ “เดือนวาด พิมวนา” จึงบอกว่า 

“แม้วันนี้จะยากลำบากที่จะเขียน ที่จะพูดออกมาอย่างแท้จริง อาจจะเขียนได้ แต่ว่าไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เขียนแล้วกระทบ เขียนมากไปเดี๋ยวก็โดนกฎหมายนั่นนี่จัดการ แต่เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องที่จริงๆ แล้ว มันรอเวลา มันเป็นเมล็ดพันธุ์ ถ้าคุณทิ้งเมล็ดพันธุ์ไว้แล้ว เดี๋ยวมันต้องโตของมัน” 

จากนั้นเธอจึงปิดบทสนทนาว่าด้วยความรุนแรงทางการเมืองที่ยังเป็นภาพในความทรงจำอันเลวร้ายของสังคมไทย

ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ที่นี่ 

image_pdfimage_print