ภาพปก: ป้ายรณรงค์ต้านระบบโซตัสของนักศึกษา ม.มหาสารคาม เครดิตจากเว็บไซต์ประชาไท
พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง
SOTUS (โซตัส) คือ ระบบการฝึกนักเรียนและนักศึกษาที่มีกลไกการทำงานอย่างเป็นระบบเข้มข้น โดยยึดถือระเบียบแบบแผนตามแนวความคิดหลัก 5 อย่าง คือ 1. การเคารพผู้อาวุโส (S : Seniority) 2. การปฏิบัติตามระเบียบวินัย (O : Order) 3. ปฏิบัติตามธรรมเนียมประเพณี (T : Tradition) 4. การมีความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียว (U : Unity) และ 5. ความมีน้ำใจ (S : Spirit)
ในสถาบันการศึกษาหลายแห่งหรือในหลายคณะ นักศึกษาหรืออาจรวมไปถึงบุคลากรของสถาบันการศึกษา มักมีความภาคภูมิใจในระบบการรับน้อง ไม่ว่าจะเป็นทั้ง SOTUS ระบบว้าก ระบบไซโค ระบบพี่ปกครองน้อง ระบบพี่วินัย ระบบพี่ระเบียบ ระบบรุ่นรหัส สังเกตได้จากการทำเสื้อรุ่น ผ้าคาดหัวตามด้วยชื่อคณะของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการโพสต์รูปตัวเองและเพื่อนๆ ในช่วงที่รับบทบาทเป็นพี่ว้าก พี่ปกครอง รวมไปถึงบทบาทต่างๆ ระหว่างกระบวนการโซตัสลงในโซเชียลมีเดีย
กระบวนการเหล่านี้เกิดขึ้นในช่วงเปิดปีการศึกษาใหม่ที่เกือบทุกมหาวิทยาลัยและโรงเรียนมัธยมบางแห่งจะเตรียมจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ขึ้นเป็นประจำทุกปี หน้าฉากของกิจกรรมรับน้องเต็มไปด้วยความสนุกสนานเฮฮา รอยยิ้ม และเสียงหัวเราะระหว่างรุ่นพี่รุ่นน้อง
หากมองแบบผิวเผิน กิจกรรมแบบนี้ไม่น่าจะมีปัญหาอันใด แต่เมื่อมองลึกเข้าไปภายในระบบแล้ว กลับพบว่ามีมุมอีกมุมหนึ่งที่ซ่อนอยู่ เพราะเบื้องหลังกลับเต็มไปด้วยความอึดอัด ความหดหู่ ความรุนแรง ความตึงเครียด และความหวาดระแวงกันระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง
กระบวนการนี้มิได้มีแต่ความรุนแรงเชิงกายภาพที่ทำให้เห็นถึงความโหดร้ายจากการทำร้ายร่างกาย การกดขี่ที่เกิดจากการกระทำของรุ่นพี่เพียงอย่างเดียว แต่กระบวนการโซตัสกลับแฝงเร้นความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม อย่างเช่น การใช้วัฒนธรรมอำนาจนิยม ระบบอาวุโส และการผลิตซ้ำวาทกรรมที่ใช้ต่อกันมาเรื่อยๆ ในการสั่งสอนอบรมรุ่นน้อง เช่น รุ่นพี่เกิดมาก่อนอายุมากกว่ารุ่นน้องที่อายุน้อยกว่าต้องเคารพรุ่นพี่ การสั่งสอนว่าสังคมข้างนอกรั้วมหาวิทยาลัยมันโหดร้าย เราจึงต้องสามัคคีเกาะกลุ่มกันรักกันเข้าไว้ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นต้น
จากแนวคิดเช่นนี้จะเห็นว่า มันคือการก่อให้เกิดแนวคิดความสัมพันธ์ในระบบอุปถัมภ์ เกิดการสร้างเส้นสายต่างๆ นานาในวงการอาชีพ ทั้งในวงการราชการและเอกชน
สำหรับคนที่ผ่านระบบโซตัสมา จะเชื่อมั่นยึดมั่นเสมอว่า เราต้องช่วยเหลือกัน มักจะมีการอ้างถึงสิ่งที่ทำมาร่วมกัน กิจกรรมที่ทั้งรุ่นพี่รุ่นน้องทำร่วมกันมา ก่อให้เกิดสายใยทางผลประโยชน์ระหว่างรุ่นพี่และรุ่นน้อง ซึ่งก็พัฒนามาจากความสัมพันธ์ของการที่รุ่นพี่ปกครองรุ่นน้องคอยสอน คอยดูแล และทำตัวเป็นผู้คุ้มครอง พร้อมกับกดขี่ให้รุ่นน้องศิโรราบ ยอมทำตามระเบียบแบบแผนของระบบโซตัส
เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสมหลังจากจบกิจกรรมรับน้อง รุ่นน้องจะได้รับสิทธิ์ในการพ้นจากกฎระเบียบในช่วงรับน้อง จะสามารถไว้ผม ใส่เครื่องแบบตามที่รุ่นพี่ให้อิสระวางกรอบเอาไว้และมอบอำนาจเอกสิทธิ์ให้รุ่นน้องในการปกครองรุ่นน้องที่เข้ามาใหม่
วงจรของการรับน้องจะวนซ้ำแบบนี้เรื่อยๆ จนพัฒนาเป็นสายสัมพันธ์ที่เรียกว่า “รุ่น” มีการวางการบังคับบัญชา มีลำดับขั้น แบ่งเป็นรุ่น มีการแบ่งหน้าที่เพื่อคงกิจกรรมรับน้องและระบบโซตัสอย่างชัดเจน ส่งเสริมทำให้เกิด hierarchy (ลำดับขั้นการบังคับบัญชา) กันภายในกลุ่ม โดยแบ่งแยกการบังคับบัญชาด้วยชั้นปี
นอกจากนี้ยังมีการสร้างธรรมเนียมปฏิบัติ โดยการบังคับให้นักศึกษาที่เข้ามาใหม่ต้องพยายามปรับตัวไปในแนวทางการปฏิบัติเดียวกัน อย่างการบังคับใส่ชุดนักศึกษา บังคับให้ห้อยป้ายชื่อ บังคับให้แต่งตัวในลักษณะเดียวกัน หรือการบังคับให้รุ่นน้องทุกคนทำความรู้จักกับรุ่นพี่และรุ่นเดียวกันภายในเวลาที่จำกัดในช่วงรับน้อง
การระบาดของโรคโควิด-19 จึงเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของระบบโซตัส เพราะไม่มีการรวมตัวทำกิจกรรมทางสังคมแล้ว
เมื่อไม่มีกิจกรรมรับน้องเป็นท่อน้ำเลี้ยงแล้วระบบโซตัสจะคงอยู่ต่อไปอีกหรือไม่?
ผู้เขียนขอตั้งข้อสังเกตว่า ระบบโซตัสเป็นเหมือนระบบที่วิ่งสวนทางกับการเปลี่ยนแปลงของโลก นิยามการศึกษามิได้สร้างมาเพื่อสั่งสอนและอบรมให้คนเดินไปในทิศทางเดียวกัน แต่การศึกษาต้องการมอบโอกาส มอบปัญญาให้คนได้พัฒนาเป็นพลเมืองที่พร้อมออกไปใช้ชีวิตในสังคม รั้วการศึกษาจึงเปรียบเสมือนการจำลองสังคมที่ถูกย่อส่วนลงไปเป็นระบบการศึกษา
ผู้เขียนจึงเห็นว่า การเรียนรู้ไม่ควรถูกจำกัดด้วยนโยบายจากส่วนกลาง ไม่ควรมีระบบโซตัส และไม่ควรมีกิจกรรมรับน้อง แต่ควรเป็นการสร้างทางเลือกที่อิสระในทำกิจกรรมตามอิสระแก่นักศึกษา โดยมีกิจกรรมแนะนำการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เพื่อทำความรู้จักกันโดยสมัครใจ ไม่ใช่การบังคับ แต่ควรมุ่งเน้นกิจกรรม Free Thought และ Free Speech เพื่อสร้างกระบวนการ Critical Thinking ที่เป็นการส่งเสริมให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ในการสร้างปัญญาชนขับเคลื่อนสังคมไทยให้ก้าวไปข้างหน้า
นักศึกษาและนักเรียน คือเจ้าของอำนาจในระบบการศึกษาไม่ใช่การสั่งการจากส่วนกลางแต่เพียงฝ่ายเดียว เพราะเราไม่ควรปล่อยให้คนกลุ่มเดียวเป็นผู้ออกคำสั่งอีกต่อไป
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด