การแต่งเสียเคราะห์ เป็นประเพณีที่อยู่ในภาคอีสาน มีการสืบทอด และยังคงทำอยู่จนถึงปัจจุบัน ในหลายชุมชนมีพิธีกรรมที่แตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ใช้บทสูตรแต่งเสียเคราะห์เป็นบทเดียวกัน แต่ก็มีบางท้องถิ่นที่ใช้บทสวดไม่เหมือนกัน พิธีกรรมดังกล่าวจะทำขึ้นในเดือน 6 หรือเดือนพฤษภาคม นับตามปฏิทินจันทรคติแบบอีสาน ในวันอังคารของเดือนเท่านั้น ในบางหมู่บ้านจะต้องประกอบพิธีกรรมนี้ทุกครอบครัว เช่น บ้านยางขี้นก อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี มีพิธีกรรมที่น่าสนใจดังรายละเอียดต่อไปนี้ครับ

การเตรียมกระท งแต่งเสียเคราะห์ ภาพถ่ายโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

โดยพื้นฐานดั้งเดิม ผมคิดว่า “การแต่งเสียเคราะห์” อิงมาจากความรู้สึกต้องการปลอดภัยทางจิตวิญญาณของมนุษย์ ที่มีต่อการกระทำของสิ่งเหนือธรรมชาติ เช่น ผี สาง เทวดา ตลอดจนบรรพบุรุษของตนเอง ไม่ใช่เพียงสังคมอีสานเท่านั้นที่มีพิธีกรรมเหล่านี้ แต่สังคมโลกก็มีเช่นเดียวกัน ในแง่ของภาคอีสานนั้น ผมคิดว่ามีความสำคัญด้วยภาพที่เราเห็นการปะทะของความเชื่อจากสองอารยธรรมใหญ่ของโลกที่มีอิทธิพลทางความคิดและความเชื่อของคน ดังจะเห็นได้ในบทสูตรแต่งเสียเคราะห์ที่มีการอ้างถึงเทวดาตามแนวคิดคติความเชื่อโหราศาสตร์แบบอินเดีย โดยใช้ “ระบบทักษา” ซึ่งเป็นระบบดาวนพเคราะห์ที่ผลัดเปลี่ยน มีอิทธิพลต่อชีวิตของมนุษย์ (เสวยอายุ) ปรากฏทั่วไป ในคติของการสร้างเมือง และการบวงสรวงบูชา โดยใช้การบูชา “เทวดาอัฐทิศ” หมายถึง เทวดาประจำทิศทั้ง 8 พร้อมทั้งเทวดาที่สถิตในเมืองอีก 2 เมือง ที่กล่าวดังตัวอย่างในบทสูตรมีโครงสร้างของพิธีกรรม 

ก่อนเริ่มพิธีจะ “ควดข้าว” ด้วยการนำข้าวมาวนที่ใจกลางฝ่ามือ แล้วกล่าวพรรณนาถึงเคราะห์กรรมที่จะเกิดขึ้น จากนั้นใช้ฝ้ายขาวผูกโยงเสากระทงไปทั้งหมด แล้วเริ่มบูชาดอกไม้ด้วยบท “อัคคีทิฆัง…” ต่อด้วยบท “มงคลสูตร” จากนั้นจึงเริ่มกล่าวบทสูตรแต่งเสียเคราะห์พรรณนาถึงเทวดาที่สถิตอยู่ ณ สถานที่ต่าง ๆ ความว่า 

“สุณันตุ โภนโต ดูราเทวดาทั้งหลาย ฝูงรักษาภูมิสถานวัดศาสนา ภูผาป่าไม้เหย้าเรือนที่นี้ จงเสด็จลงมาเยี่ยมย่อผ่อคอยยังฝูงข้าทั้งหลาย ส่วนว่าเจ้าย้าว เจ้าเฮือน เจ้าเสื้อ เจ้าผ้า เจ้าซาตาทั้งหลาย ฝูงมีอุปัทวะอนตายภายใน และภายนอก …จึงได้แต่งเครื่องกิยาบูชาพระเคราะห์นี้ ถวายเทพมหาสัตว์เจ้าทั้งหลาย เพิ่นบรรยายบอกชื่อ…”

เมื่อกล่าวบูชาบรรยายภาพรวมเสร็จแล้ว จึงกล่าวถึงชื่อเทวดาทั้ง 11 พระองค์ โดยบอกสถานที่สถิต ข้อความการอัญเชิญเหมือนกัน แต่ชื่อเทวดาจะเปลี่ยนไป ดังความที่ว่า

“เทวดาเจ้าตนหนึ่งอยู่ …(สถานที่เทวดาสถิต)… จงยัวระยาตรลงมาเอาเครื่องสักการะบูชาอันนี้เท่าวันเทอญ”

“เทวดาเจ้าตนหนึ่งอยู่…(ทิศเทวดาสถิต)…ชักเข็ญมาให้เป็นเหตุแก่เจ้าย้าว เจ้าเฮือนทั้งหลายฝูงนี้ จงเสด็จลงมาเอาเครื่องสักการะบูชาเคราะห์อันนี้เท่าวันเทอญ วินาเสตุก็จงให้หายอุปัทวะอนตายทั้งภายในและภายนอก แก่ฝูงข้าทั้งหลายเท่าวันเทอญ” 

จากนั้นจึงใช้น้ำส้มป่อยเป่าใส่ทง 9 ห้อง แล้วหัวหน้าครอบครัวนำไปทิ้งในบริเวณชายป่าถือเป็นเสร็จพิธี

วิธีการประกอบกระทง 9 ห้อง สัมพันธ์กับระบบทักษา และเทวดาอัฐทิศ ภาพโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี 

สำหรับเทวดาทั้ง 11 พระองค์ พบว่าอยู่ในระบบทักษา มีความสำคัญในแง่ความเชื่อที่ปรากฏโดยทั่วไปในเขตอุษาคเนย์ โดยในล้านนาและล้านช้างมีการใช้เป็นหลักการสร้างเมือง พิธีราชาภิเษก การรักษาโรค และสถาปัตยกรรม รวมถึงนำมาเป็นรูปแบบการออกแบบทงเพื่อแต่งเสียเคราะห์ทั้ง 9 ห้องอีกด้วย พิธีกรรมนี้ของภาคอีสานมีความคล้ายคลึงกับการแต่ง “บูชาพระเคราะห์ทั้ง 9 ด้วยสะตวง 9 ห้อง” โดยผังของระบบทักษาและเทวดาอัฐทิศของภาคอีสาน เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นไปของชีวิต ครอบครัว บ้านเรือน เมือง ส่งผลร้ายและดีต่อชีวิตมนุษย์ ทั้ง 11 พระองค์ ประกอบด้วย 1) เทวดาเขาเมรุราช 2) เทวดาเมืองอินทปัตถะนคร 3) เทวดาเมืองลังกา 4) เทวดาประจำทิศบูรพา 5) เทวดาประจำทิศอาคเนย์ 6) เทวดาประจำทิศทักษิณ 7) เทวดาประจำทิศหรดี 8) เทวดาประจำทิศประจิม 9) เทวดาประจำทิศพายัพ 10) เทวดาประจำทิศอุดร 11) เทวดาประจำทิศอิสาณ โดยมีผังตามรายละเอียดในรูปภาพ ดังนี้

ผังเทวดาประจำทิศในทงแต่งเสียเคราะห์ ภาพโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

เทวดาประจำทั้ง 8 ทิศ มาจากเทวดาอัฐทิศและเทวดาทั้ง 9 ที่สถิตเวียนรอบเขาพระสุเมรุ ส่วนเมือง 2 เมือง ได้แก่ อินทปัตถะนครและเมืองลังกา คงมีความสำคัญในแง่ของการรับรู้ในส่วนของพระพุทธศาสนา น่าจะเป็นการอัญเชิญพระสงฆ์ หรือเทวดาที่รักษาพระพุทธศาสนาลงมารับเอาเครื่องสักการะบูชาไปพร้อมกัน (หากผู้รู้ท่านอื่นมีข้อเสนอหรือข้อแย้งจะเป็นการดีอย่างยิ่ง เพื่อสืบค้นต่อไปในประเด็นของการใช้ชื่อทั้งสองเมือง)

สำหรับเครื่องบูชาสักการะการบูชาการแต่งเสียเคราะห์ สามารถจัดหมวดหมู่ที่เป็นสัญลักษณ์แทนบุคคลและความอุดมสมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

เครื่องบูชาในรูปมีคำหมาก ไม้เสียบฝ้าย ใบสีดา และเมี่ยง เตรียมเป็นเครื่องบูชาก่อนใส่ในกระทงแต่งเสียเคราะห์ ภาพโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี 

1. เครื่องบูชาสักการะแทนบุคคล ประกอบด้วย เทียนฮอบหัวคาคิง เทียนใจมือ ตีความสัญลักษณ์จะเห็นว่า ส่วนของเทียนเป็นองค์ประกอบที่ให้ความสว่างกับชีวิตให้มีความรุ่งเรือง รุ่งโรจน์ ส่วนฝ้ายผูกแขน ฝ้ายโยงดวงชะตา แทนเส้นเวรกรรมและความผูกพันของครอบครัว รวมถึงการปกป้องสิ่งไม่ดีให้ไกลจากร่างกาย หุ่นคนจากกาบกล้วย แทนตัวบุคคลหรือมนุษย์ที่อยู่ศูนย์กลางของระบบทักษา

กระทงแต่งเสียเคราะห์ใส่ข้าวปลาอาหาร หมากพลู ลงไปเรียบร้อย เตรียมพร้อมสำหรับการประกอบพิธีกรรม ภาพโดย ภาณุพงศ์ ธงศรี

2. เครื่องบูชาสักการะแทนความอุดมสมบูรณ์ ประกอบด้วย ข้าวเหนียว ข้าวจ้าว ข้าวดำ ข้าวแดง ข้าวเหลือง ข้าวตอกแตก ดอกไม้ ปลาแห้ง หอมซอย กระเทียม เมี่ยง แร้ง กา หมู หมา แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ และการบูชาที่ต้องการให้ชีวิตของตนเองมีข้าวปลาอาหารครบถ้วน จึงได้นำมาบูชาในช่องต่างๆ ส่วนไม้ใส่ฝ้ายที่ปักรอบกระทงแต่งเสียเคราะห์ เป็นไม้แทนเศวตฉัตร พัดจามร ทุงช่อ ทุงแดง ทุงดำ ฯลฯ ซึ่งเป็นเครื่องสูงสำหรับกระบวนแห่เกียรติยศของพระมหากษัตริย์หรือเจ้านายชั้นสูง ส่วนฝ้ายแต่ละชั้นเปรียบเสมือนสวรรค์ชั้นต่างๆ และศูนย์รวมของจักรวาล

จะเห็นได้ว่า “การแต่งเสียเคราะห์” จะใช้ระบบทักษาและเทวดาอัฐทิศเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการบวงสรวง โดยพื้นฐานความเชื่อจากเทวดาและระบบการวางผังดวงชะตาที่มาจากอินเดียโบราณ มีบรรดาพืชพรรณธัญญาหาร เป็นสัญลักษณ์แห่งความสมบูรณ์ของชีวิตทั้งด้านความมั่นคงทางอาหาร ทางร่างกาย และทางจิตใจ

วิดีโอการประกอบพิธีกรรมแต่งเสียเคราะห์ : การแต่งเสียเคราะห์ของชาวจังหวัดอุบลราชธานี

เอกสารอ้างอิง :

ทศพร โสดาบรรลุ. (ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 กันยายน 2549) คติการสร้างเมืองเชียงใหม่ในวัฒนธรรมล้านนา. หน้าจั่ว ฉบับประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรมและสถาปัตยกรรมไทย, 138 – 147

ธวัชชัย ทำทอง. (2561). ดาราศาสตร์กับวิถีชีวิตคนล้านนา ลำปาง: สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง

ปิยนันท์ ชอบศิลประกอบ. (2557) เทวดานพเคราะห์ – พระพุทธรูปประจำวัน: ภาพสะท้อนคติความเชื่อ พิธีกรรมในสังคมไทย กรุงเทพฯ: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ ภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร.อนนต์ ศรีศักดา. (ม.ป.ป.) ท้าวจตุโลกบาล : เทวดารักษาโลก Executive Journal , 73 – 76

image_pdfimage_print