หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ

แม้ผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองมาแล้วกว่า 10 ปี แต่ดูเหมือนว่า เสียงกราดยิงและกลิ่นควันปืนจะยังคงปะปนในความนึกคิดของ “ธีระพล อันมัย” อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ลงพื้นที่คลุกคลีการเคลื่อนไหวของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่กรุงเทพมหานคร อันเป็นพื้นที่ของการสังหารบุคคลที่เขาเรียกว่า “คนที่ถูกมองว่าไม่เป็นคน” 

เหตุสะเทือนขวัญจากการสลายการชุมนุมทั้งวันที่ 10 เมษายน 2553 และการขอคืนพื้นที่ เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ยังคงติดตา ซึ่งความรู้สึกแห่งความสูญเสียนั้นได้ผลักดันให้เขาร่วมกับกลุ่มเพื่อนที่สนใจงานเขียนทำ “วารสารชายคาเรื่องสั้น” เพื่อรวบรวมวรรณกรรมแห่งความเจ็บปวดครั้งนั้นไว้เป็นอักษร 

ธีระพล พาเดอะอีสานเรคคอร์ดย้อนกาลเวลาไปลงพื้นที่กับเขาอีกครั้ง แม้จะผ่านมากว่า 10 ปี แต่เขายังจำห้วงเวลานั้นได้…ไม่ลืมเลือน 

ย้อนเวลาลงพื้นที่ราชประสงค์ 

เหตุการณ์ความรุนแรงที่สี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เป็นคำถามใหญ่ที่ทำให้ธีระพลตัดสินใจเดินทางจากอุบลฯ ไปกรุงเทพฯ เพื่อหาคำตอบว่า เหตุอันใดพื้นที่กลางเมือง บนถนนราชดำเนิน ใกล้สนามหลวง ใกล้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กลับกลายเป็น “ทุ่งสังหาร” ที่ทำให้คนเสื้อแดงและเจ้าหน้าที่เสียชีวิตถึง 26 ศพ 

“ผมไปตามดูร่องรอยที่สี่แยกคอกวัว ที่ราชประสงค์ ก็ไปเดินดูและตามหานักศึกษาที่ไปร่วมชุมนุมอยู่ในนั้นด้วยว่าเขาเป็นอยู่กันอย่างไร พอเข้าไปสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกได้คือว่า ใครมันจะกล้าปราบคนจำนวนมากขนาดนี้อยู่กลางเมือง” เป็นคำถามที่ธีระพลยังหาคำตอบไม่ได้ 

เขาย้อนดูสาเหตุที่ทำให้ นปช. จากทั่วทุกสารทิศมารวมตัวกันที่กรุงเทพฯ เพราะต้องการให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ เนื่องจากเห็นว่าจุดกำเนิดของรัฐบาลชุดนั้นเกิดในค่ายทหาร

“พวกเขามีความรู้สึกว่า มันไม่ถูกต้อง เพราะคุณไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่คุณกลับใช้กลไกของกระบวนการองค์กรอิสระ ใช้เครือข่ายอำนาจทหารเข้ามาเกี่ยวข้องทางการเมือง ทำให้พรรคที่ไม่ชนะเลือกตั้งได้จัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร ข้อเรียกร้องของคนเสื้อแดงตอนนั้น คือ ให้ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่” เขาย้อนสาเหตุของการชุมนุม ซึ่งไม่มีใครคาดคิดว่าสาเหตุนั้นจะนำมาสู่ความรุนแรงในเวลาต่อมา 

เมื่อเข้าไปพื้นที่การชุมนุม สิ่งที่เขาสัมผัส คือความเป็นมิตรของผู้ชุมนุมที่ส่วนใหญ่มาจากต่างถิ่น ทั้งจากเหนือ กลาง อีสาน ตะวันออก และตะวันตก  

“ผมก็เดินไปในพื้นที่การชุมนุม ไทบ้านก็ทำอาหารเย็นกินกัน แล้วเขาก็ชวนเรากินข้าว ผมเห็นความเป็นคนบ้านนอกของผู้ชุมนุม ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดงจากภาคไหนก็แล้วแต่ ‘กินข้าวด้วยกันไหมนาย’ จากโคราช จากลาวจากอีสานก็ ‘กินข้าวเด้อหล่า’  ‘กินข้าวเด้อหัวหน้า’ แล้วเราก็ได้กินข้าวร่วมกับเขา” ธีระพลยังจำบรรยากาศในห้วงเวลานั้นได้ดี

“การที่คุณกล้าฆ่าคนได้ขนาดนี้ ก็ต้องยอมรับว่า หัวจิตหัวใจของคนสั่งการหรือคนลงมือนั้นมันโหดเหี้ยมเกินกว่าที่สามัญสำนึกเราจะรับได้” ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

มองคนเสื้อแดงไม่ใช่ “คน”  

แต่แล้วสิ่งที่คาดไม่ถึงก็มาเยือนเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 ซึ่งเป็นวันที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้คาดคิดเช่นเดียวกัน 

“พอถูกสลายการชุมนุม ความรู้สึกของผมเท่าที่จำได้คือ เขาไม่ได้มองคนเสื้อแดงที่ไปชุมนุมเป็นคนด้วยซ้ำ คุณเห็นเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่พร้อมจะถูกกำจัด เป็นเหมือนตัวเรือด เหมือนยุง เหมือนสิ่งมีชีวิตที่ไม่ใช่คน การที่คุณกล้าฆ่าคนได้ขนาดนี้ ก็ต้องยอมรับว่า หัวจิตหัวใจของคนสั่งการหรือคนลงมือนั้นมันโหดเหี้ยมเกินกว่าที่สามัญสำนึกเราจะรับได้”

ธีระพลพรั่งพรูความรู้สึกที่มีต่อปฏิบัติการของรัฐต่อผู้ชุมนุม นปช. แล้วหยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง 

ก่อนจะกล่าวต่อว่า “คนเสื้อแดงเป็นอะไรในสังคมไทย ผมว่าเขาเป็นคนนั่นแหละ แต่เป็นคนที่ไม่ถูกนับว่าเป็นพลเมืองหรือเป็นคนของประเทศนี้”

ในฐานะผู้ติดตามการเมืองและได้เข้าไปคลุกคลีการชุมนุม เขาจึงวิเคราะห์สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้กลุ่มผู้ชุมนุม นปช. ถูกปราบปรามด้วยการใช้กระสุนจริงกลางเมืองหลวง 

“ชนชั้นนำไม่เห็นด้วยกับแนวทางของคนเสื้อแดง” เป็นสาเหตุหลักที่นักวิชาการคนนี้บอกว่าเป็นแรงผลักให้เกิดการสังหารผู้คนกลางเมือง 

นอกจากนี้ เขายังเห็นว่า ชนชั้นกลางในกรุงเทพฯ ก็มีส่วนสำคัญต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น  

“คนกรุงเทพฯ บางส่วนส่งเสียงบอกว่า คนพวกนี้เป็น นปช. เป็นควายแดง สร้างวาทกรรมแห่งความเกลียดชัง แล้วก็โชว์ภาพว่าคนเสื้อแดงทำอะไรเลวร้ายบ้าง สร้างความชอบธรรมให้การปราบมันเกิดขึ้น พอคนเสื้อแดงถูกยิง ถูกฆ่า ถูกจับ ก็ใส่ร้ายว่าเผาบ้านเผาเมือง” ธีระพลวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีที่แล้ว 

ทว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้เขาเสียความรู้สึก คือ เหตุการณ์หลังการสลายการชุมนุมที่มีนักเขียนคนหนึ่งเขียนกวีใส่ร้ายผู้เสียชีวิตว่า เป็นคนเผาโรงหนัง   

“ตอนนั้นมีการเขียนบทกวีไว้อาลัยกับโรงหนังที่ถูกเผา ในคำไว้อาลัยระบุว่า ชาวบ้านที่ถูกฆ่าเป็นคนลงมือเผา แต่ตอนนี้ศาลก็ตัดสินออกมาแล้วว่า คนเสื้อแดงไม่ได้เป็นคนเผา การเผามันเกิดขึ้นหลังจากการชุมนุมเสร็จสิ้นแล้ว”ธีระพลเน้นย้ำข้อมูล  

“คนอีสาน” กลุ่มคนที่ถูกกระทำชั่วกัปชั่วกัลป์  

ธีระพลเป็นนักวิชาการที่ติดตามปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านอีสานที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐในหลายพื้นที่ รวมทั้งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์อีสานคนหนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเขาเห็นว่า คนอีสานเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นจำนวนมาก จึงมีตัวเลขของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บมากกว่าภาคอื่น 

“การชุมนุมกับคนอีสานเป็นเรื่องปกติมากและมันก็ไม่ใช่เพิ่งมีในสมัยคนเสื้อแดง เท่านั้น ถ้าเรากลับไปในยุคที่เขาปราบกบฏผีบุญ เมื่อวันที่ 4 เดือน 4 ปี 2444 ที่ทำให้คนลาวอีสานถูกยิงตายถึง 300 คน ที่บ้านสะพือ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี คนแบบไหนที่ถูกยิงตาย มันมีเรื่องอะไรที่ทำให้คนอีสานต้องลุกขึ้นมาประท้วง มารวมกันเพื่อเรียกร้อง”เขาย้อนประวัติศาสตร์การต่อสู้ของคนอีสาน 

การแสดงออกทางการเมืองเมื่อปี 2553 ในสายตาของ “ธีระพล” จึงเป็นเรื่องปกติ เพราะถือเป็นการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานในการชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตย

“อย่าลืมว่าจริงๆ แล้ว อีสานเคยเป็นพื้นที่สีแดงในช่วงสงครามเย็น ซึ่งเป็นฐานกำลังของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย”เขากล่าวย้อนภาพประวัติศาสตร์ที่ทำให้ภาคอีสานถูกเพ่งเล็งจากรัฐไทย 

“ผมไม่แน่ใจว่ารัฐบาลหรือรัฐไทยในหลายๆ ยุค ที่มีอำนาจเต็มมันเคยมองคนอีสานเป็นคน เป็นพลเมืองที่ถูกนับเป็นพลเมือง มีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเหมือนคนภาคอื่นหรือไม่”เป็นคำถามจากนักวิชาการ ม.อุบลฯ คนนี้ 

คนอีสานกับการปราบปรามมักเป็นสิ่งที่ผู้อำนาจหยิบมาใช้เป็นเครื่องมือเสมอ 

“แต่ก่อนถ้าคุณจะปราบคนอีสานคุณเผาหมู่บ้านทั้งหมู่บ้านก็ได้ จะฆ่าคนกลางถนนก็ได้ จะทำอะไรก็ได้ มันเป็นวัฒนธรรมเลวๆ ของชนชั้นปกครองของประเทศนี้ที่ปฏิบัติต่อคนอีสาน ที่ผ่านมาตั้งแต่ 100 ปีที่แล้วจนถึงปี 2010 (2553) นี่ศตวรรษที่ 21 คุณยังฆ่าคนกลางเมืองต่อหน้าสื่อมวลชน ต่อหน้าสังคมโซเชียลเน็ตเวิร์ก คุณยังฆ่าคนได้”

การปราบแค่ทำให้กลัว แต่ไม่ถาวร 

หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 แกนนำ นปช. บางคนถูกดำเนินคดี บางคนถูกลอบทำร้าย ส่วนผู้ชุมนุมจำนวนมากถูกจับกุม ถูกดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ ทำให้การเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. อ่อนกำลังลงอย่างเห็นได้ชัด 

“การปราบมันทำให้คนกลัว คนอาจจะกลัวตายมากขึ้น คนที่ผมคลุกคลีส่วนหนึ่งตาย ส่วนหนึ่งพิการ ส่วนหนึ่งติดคุก ส่วนหนึ่งลี้ภัย ส่วนหนึ่งแทบจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนในสังคม แต่ว่าเขาหลาบจำหรือไม่ ผมว่าเขาไม่หลาบจำ เขารอเวลา” เป็นสิ่งที่นักวิชาการคนนี้เห็นหลังเหตุการณ์ปี 2553 

“การปราบมันทำให้คนกลัว คนอาจจะกลัวตายมากขึ้น แต่ว่าเขาหลาบจำหรือไม่ ผมว่าเขาไม่หลาบจำ เขารอเวลา” ธีระพล อันมัย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

คนเสื้อแดงรอวันเอาคืน 

ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา คนเสื้อแดงถูกติดตาม ตรวจสอบ ควบคุมการเคลื่อนไหวในทุกหมู่บ้าน แต่ทว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2554 พรรคเพื่อไทยที่ นปช. สนับสนุนกลับชนะการเลือกตั้ง แม้ต่อมาปี 2557 กลุ่มผู้อำนาจจะรัฐประหารแล้วยึดอำนาจคืน แต่ธีระพลก็ยังเชื่อว่า “ชาวบ้านรอการเปลี่ยนแปลง” 

“ในช่วงเลือกตั้ง ผมไปทำวิจัย ก็สัมภาษณ์ชาวบ้านคนเสื้อแดงหลายคน เขาบอกว่าเขารออยู่ รอให้มีคนถือธงนำว่า ‘มื้อนี้เฮาจะไปทื้นมัน’ เป็นสิ่งที่ธีระพลรับรู้ความนึกคิดของชาวบ้านอีสานจากงานวิจัย

ธีระพลอธิบายเพิ่มเติมว่า “มัน” ที่ชาวบ้านบอก คือการเปลี่ยนจากระบบทหาร อำนาจนิยมเผด็จการเป็นประชาธิปไตย 

สิ่งหนึ่งที่เขาสังเกตเห็นจากการลงพื้นที่พูดคุยกับชาวบ้านอีสานต่อการเมืองในหลายพื้นที่คือ ชาวบ้านไม่ได้ยอมแพ้ 

“เขารอให้มีคนถือธงนำ เขาแค่ถ่าเวลา ถ่าเบิ่งซุมแม่มันตาย” เป็นสิ่งที่ชาวอีสานส่วนหนึ่งสะท้อนให้นักวิชาการลูกอีสานฟัง

“ไม่มียุคไหนสมัยไหนที่ชาวบ้านสาปแช่งชนชั้นนำได้มากเท่านี้อีกแล้ว เพราะอุกอั่ง ทั้งจากการรัฐประหารและการเลือกตั้ง คือทุกอย่างรอเวลาที่มันจะระเบิด ยิ่งถูกกดมากแค่ไหน ผมกลัวว่ามันจะระเบิดแรงกว่าเก่า”

เป็นสิ่งที่ธีระพลคาดการณ์จากประสบการณ์ของเขากับชาวบ้านชาวอีสานที่เรียกตัวเองว่า “คนเสื้อแดง”   

ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ด้านล่างนี้ 

 

image_pdfimage_print