ภาพหน้าปกจาก istock.com/Lyubov Ivanova

โมไนยา บุญช่วยชู เรื่อง 

 

อับดุลเอ้ย…เอ้ย!

ถามอะไรตอบได้…ได้!

ช ชายอยู่ข้างบน

ญ หญิงอยู่ข้างล่าง

กะเทยไม่มีในโลก

แล้ว ฅ ฅน อยู่ที่ไหน?

ปาหี่ น. การแสดงกลหรอกายกรรมของนักมายากลเร่ร่อนตามที่ต่างๆ และเช่นเดียวกันกับเกมปาหี่ คือเกมที่เอาไว้หลอกให้คนทายว่าคำตอบจริงๆ ของคำถามคืออะไร มักใช้ในกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ หรือเล่นเพื่อฆ่าเวลา และเฉลยของเกมปาหี่ข้างต้น ก็แค่ตอบตำแหน่งตามหัวพยัญชนะตัวแรกของคำ แต่มันกลับให้อะไรเรามากกว่านั้น

แม้แต่โครงสร้างเกมฆ่าเวลา ญ ผู้หญิง ก็ยังต้องอยู่ข้างล่าง

เมื่อสองปีก่อน ในการคัดเลือกตำแหน่งประธานพรรคเพื่อลงสมัครสภานักเรียน เธอและเพื่อนอีกสองถึงสามคน ออกไปยืนข้างหน้าที่ประชุมด้วยเสียงยกมือโหวตจากกลุ่มเพื่อนร่วมพรรค หากเธอได้รับตำแหน่งจริง นี่จะไม่ใช่ครั้งแรกของเธอในฐานะผู้นำหรือตัวแทนเพื่อนๆ แต่ก็อาจเรียกได้ว่าเป็นตำแหน่งที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบสูงสุดตั้งแต่เคยได้รับมา

“แต่มึงเป็นผู้หญิงนะเว้ย” เสียงตะโกนจากอีกฝั่งของที่ประชุม สารนั้นได้ระบุผู้รับสารอย่างเจาะจงในตัวมันเอง เพราะเธอเป็นสตรีหนึ่งเดียวที่ยืนอยู่ข้างหน้า

“เป็นผู้หญิงแล้วมันทำไม” เธอตอบกลับไปอย่าง (น่าจะ) สุภาพ

“แค่เป็นผู้หญิงก็เป็นเหตุผลมากพอแล้วหรือเปล่าวะ” เธอคิดว่านั่นไม่ใช่ประโยคคำถาม แต่ก็ไม่เก่งพอที่จะระบุได้ว่านั่นคือประโยคประเภทใด ความสามารถสูงสุดในวินาทีนั้น คือการรับรู้ถึงความรู้สึกกดขี่ และมันน่าสะเทือนใจไปอีกเท่า เมื่อประโยคข้างต้นกล่าวโดยผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นเพื่อนสนิทและเป็นสตรีเช่นเดียวกันกับเธอเอง

ท้ายที่สุดแล้ว เธอก็ได้รับเลือกให้เป็นประธานพรรค และเป็นประธานสภานักเรียนในเวลาต่อมา ทุกครั้งที่นึกถึงคำพูดและเหตุการณ์ในวันนั้น เธอก็ได้แต่ยิ้มมุมปากเล็กๆ คล้ายตัวร้ายในละครหลังข่าว ยิ้มที่ไม่ใช่ความดีใจ ยิ้มที่เกือบจะเป็นความสะใจ แท้จริงแล้วมันเป็นยิ้มที่แฝงด้วยความหงุดหงิดใจ และคงจะเป็นความหงุดหงิดใจนี้เองที่นำเธอไปสู่การเรียนรู้แนวคิดใหม่ที่ชื่อว่า เฟมินิสม์ (feminism) หรือ ลัทธิสตรีนิยม

ช้าก่อน อย่าเพิ่งปิด

จริงอยู่ว่า สำหรับเธอ มันไม่ยากนักในการกล่าวถึงหรือพูดคุยเรื่องเพศสภาพ แต่คงไม่ใช่สำหรับทุกคน มีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่พยายามหลีกเลี่ยงการพูดคุยถึงเพศสภาพ เพราะมันน่าอึดอัดใจที่จะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรก็ตามที่พวกเขาคิดว่าดีอยู่แล้วหรือไม่ได้รับผลกระทบต่อตนเองมากนัก บ้างคิดว่าผู้หญิงในสังคมปัจจุปันไม่ได้โดนกดขี่ โลกของเราน่ะ มันเท่าเทียมมานานมากแล้ว ผู้หญิงมีสิทธิเลือกตั้ง ผู้หญิงมีสิทธิในการศึกษา แล้วยังจะต้องการอะไรอีก? บ้างมองว่า ขึ้นชื่อว่าลัทธิ มักมีแต่ความหัวรุนแรงและที่รวมของคนหัวรุนแรง ถ้าให้จินตนาการถึงภาพนั้นก็คงเต็มไปด้วยแก๊สน้ำตา พูดจาด้วยศัพท์วิชาการเข้าใจยาก ถึงกับต้องแปลไทยเป็นไทย เป็นพวกผู้หญิงร่างกายบึกบึนและคงใส่กระโปรงกับตุ้มหูไม่เป็นด้วยซ้ำ

แล้วทำไมเราต้องเป็นเฟมินิสต์?

ว่ากันว่า ไม่มีบ้านหลังใดไม่เคยมีคนตายฉันใด ก็ไม่มีผู้หญิงคนใดไม่เคยถูกล่วงละเมิดทางเพศฉันนั้น เราต่างเติบใหญ่มาในสังคมที่ผู้คนส่วนใหญ่คิดว่าการเปิดกระโปรงเด็กผู้หญิงเป็นเรื่องแกล้งกันธรรมดาและเป็นธรรมชาติของเพื่อนต่างเพศ การถูกลวนลามในที่สาธารณะเป็นเพราะการแต่งกายยั่วยวนของเราเอง แถมยังมีหมื่นเหตุพันการณ์กับคดีข่มขืนที่ภาพยังคงเล่นซ้ำไปซ้ำมาในหัวของเหยื่อ จากวันนั้นจนชั่วชีวิต ลืมไม่ได้ แต่ก็จำไม่ลง

น่าเศร้าที่สังคมมักผลักภาระการรับผิดชอบต่างๆ มาให้เราและต่อให้เราร้องไห้ไปเล่าให้ใครต่อใครฟัง ก็ยังมิวายจะได้ยินประโยคโง่ๆ ที่ว่า 

“แกไปอ่อยมันเองหรือเปล่า?”

“ทำเป็นตกใจไปได้ ในใจชอบจนตัวสั่นเลยสิ”

“ร้องไห้กับเรื่องแค่นี้หรอ ผู้ชายแกล้งแปลว่าผู้ชายชอบหรอกนะ” แม้กระทั่ง 

“อย่างเธอน่ะหรอโดนแซว? เป็นบุญมากกว่าล่ะมั้ง” 

และอีกล้านลมปากที่พร้อมโจมตีเราในวันที่เราเป็นฝ่ายถูกกระทำด้วยซ้ำ

สังคมนี้ใช้เวลาโดยมากไปกับการพร่ำสอนผู้หญิงให้รักนวลสงวนตัว ห้ามนุ่งสั้นห่มสั้น พร่ำบอกผู้หญิงว่าอย่าเก่งเกินชายและห้ามขาดตกบกพร่องเรื่องงานบ้านงานเรือน อีกสำนวนที่สั่งสมค่านิยมผิดๆ ไม่ว่าจะเป็น “ชายข้าวเปลือก หญิงข้าวสาร” หรือ “มีลูกสาวเหมือนมีส้วมไว้หน้าบ้าน” อีกสารพัดคำสอนที่โยนความรับผิดชอบมาให้เรา  แม้แต่สุภาษิตสอนหญิงก็ยังถูกเขียนโดยผู้ชาย

นี่คือสิ่งที่ผู้หญิงแทบจะทุกคนเคยเจอ ไม่แน่ใจว่ามันสามารถลบล้างความคิดที่ว่า โลกของเราน่ะ เท่าเทียมมานานมากแล้ว หรือไม่ แต่หากความจริงไม่อาจเปลี่ยนความคิด ความคิดก็ไม่อาจเปลี่ยนความจริงได้เช่นกัน

เธอไม่และไม่เคยเกลียดผู้ชาย การถูกเกลียดของเพศตรงข้ามไม่ใช่เป้าหมายหลักของเฟมินิสต์ ในขณะเดียวกันเธอก็ไม่ได้ต้องการให้เพศหญิงเป็นใหญ่กว่าเพศอื่นๆ เธอคิดว่าสตรีนิยม ในพจนานุกรมของแต่ละคนนั้นคงไม่เหมือนกันและไม่ต่างกันนัก ซึ่งพจนานุกรมของเธอกล่าวไว้ว่า สตรีนิยม คือ

การที่เด็กผู้หญิงใส่กางเกงขาสั้นไม่ถูกมองว่าแรด

การที่เด็กผู้ชายแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีชมพูไม่โดนล้อว่าเป็นตุ๊ด

การที่สิ่งที่เราเป็นไม่ถูกตัดสินจากสิ่งที่คนอื่นคิดว่าเราน่าจะเป็น

มันไม่ใช่แค่การเรียกร้องสิทธิของสตรี แต่มันเป็นการร้องเรียกความเท่าเทียมทางเพศ การที่เราสามารถเป็นอะไรก็ได้ที่เราอยากเป็น ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงที่ชอบการทำงานบ้านและมีความสุขกับการเลี้ยงลูกอยู่ที่บ้านเฉยๆ ผู้หญิงใส่แว่นผู้รักการจิบกาแฟยามเช้าพร้อมกองเอกสารบนโต๊ะ ผู้หญิงผมสั้นแต่งตัวทะมัดทะแมงที่ใช้ค่ำคืนสุดสัปดาห์ไปกับการท่องเที่ยว  มากไปกว่านั้น คือการที่ผู้ชายไม่ถูกสอนว่าลูกผู้ชายห้ามร้องไห้เพราะร้องไห้แปลว่าอ่อนแอ การที่ผู้ชายไม่มีความจำเป็นต้องลุกให้ผู้หญิงนั่งบนรถประจำทาง การที่ผู้ชายไม่จำเป็นต้องออกค่าอาหารในเดทแรก รวมถึงการที่กลุ่ม LGBT+ ไม่จำเป็นต้องมานั่งพิสูจน์ความสำเร็จในชีวิตตัวเอง เพราะคิดว่าตัวเองแตกต่าง นั่นไม่ใช่จุดด้อยอะไรเลย ทุกคนมีสิทธิ์เลือกและฝันว่าจะใช้ชีวิตยังไงบนโลกใบนี้

ไม่รู้ว่ามันจะดีแค่ไหน ถ้าสักวันเราสามารถก้าวข้ามขีดจำกัดเรื่องเพศ แล้วมองกันที่การกระทำและความคิดจริงๆ แต่มันจะไม่มีวันนั้นเลย ถ้าเราไม่เริ่มทำอะไรสักอย่าง อะไรสักอย่างที่แปลว่าเปลี่ยนความคิดของตัวเองและเลิกยัดเยียดค่านิยมผิดๆ ให้รุ่นลูกรุ่นหลาน ทุกอย่างมันอาจจะใกล้ตัวจนเรามองไม่เห็นและคาดไม่ถึง แต่ใช่ว่าเราจะไม่สามารถเปลี่ยนมัน  ทุกๆ การกระทำจะเป็น soft power ที่ส่งผลถึงสังคมของเราในวันข้างหน้าอย่างที่ไม่มีใครนึกภาพออกแน่นอน

อับดุลเอ้ย… เอ้ย!

ถามอะไรตอบได้… ได้!

ช ชายอยู่ข้างบน

ญ หญิงอยู่ข้างล่าง

กะเทยไม่มีในโลก

แล้ว ฅ ฅน อยู่ที่ไหน

เฉลย : ฅ ฅนอยู่ตรงกลาง

การเล่นเกมปาหี่ ยังคงดำเนินหน้าที่ตามกติกาของมันต่อไป แม้ไม่อาจแหกกฎเกณฑ์ในข้อนี้ แต่ข้าพเจ้าก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในโลกของความเป็นจริง จะไม่มี ช ชาย จะไม่มี ญ หญิง จะไม่มีเพศใดๆ อยู่ข้างบนหรืออยู่ข้างล่าง จะมีก็แค่เพียง ฅ​ ฅน อยู่ตรงกลาง

ตำแหน่งที่คู่ควรกับมันมากที่สุด

**********

หมายเหตุ: มาโนช พรหมสิงห์ บรรณาธิการวารสารชายคาเรื่องสั้นและนักเขียนกลุ่ม NEW4D ซึ่งเป็นผู้ตรวจต้นฉบับนี้มีความเห็นว่า 

บางคนอาจจะเห็นว่า มันก้ำกึ่งระหว่าง fiction กับ non-fiction ทว่าก็อาจกล่าวได้ว่า มันมี story ของมันอยู่ และเป็นการลบเลือนพรมแดนประเภทของ ‘วรรณกรรม’ ต่างๆ อันเป็นจุดเด่นหนึ่งของวรรณกรรมยุค post-modern ทว่าที่สำคัญคือ แนวคิดของเด็กวัยนี้ generation นี้ ก้าวไปไกลจนเป็นตางึดหลาย ในเรื่องนี้ ผู้เขียนได้เขียนถึงแนวคิด feminism กับสิทธิเสรีภาพของ LGBT+ และความเท่าเทียมของคน อันเป็นแนวคิดที่เป็นกิ่งก้านที่แตกตัวออกมาจากหลักมนุษยนิยมแห่งเสรีนิยม (Liberalism) นั่นเอง

ในอีกไม่กี่ทศวรรษข้างหน้า เด็กรุ่นนี้จะเติบโตขึ้นมาเป็นกำลังของสังคม ไม่ว่าพวกเขาจะนำพาหลักการของเสรีนิยมมาสู่องคาพยพสังคมส่วนใดบ้าง ประเทศชาติย่อมเปลี่ยนแปลงก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้แน่นอน

image_pdfimage_print