หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่องและภาพ 

แม้หนึ่งทศวรรษหลังการล้อมปราบกลุ่มผู้ชุมนุมในเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 จะมีหลายหน่วยงานรวบรวมข้อเท็จจริง รวมทั้งตั้งคณะกรรมการเสาะหาข้อเท็จจริง ฯลฯ แต่ก็ยังไม่มีหน่วยงานใดมีข้อเสนอชัดเจนว่า ผู้สั่งให้ใช้ความรุนแรงจนทำให้มีคนตายมากกว่า 94 ศพ และบาดเจ็บอีกนับพันต้องรับผิดอย่างไร? 

หนึ่งในองค์กรที่ว่า มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รวมอยู่ด้วย โดยเป็นการรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 12 มีนาคม – 19 พฤษภาคม 2553 รายงานจำนวน 92 หน้ามีใจความสำคัญว่า การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นการชุมนุมที่เกินขอบเขตของรัฐธรรมนูญ มีการพกพาอาวุธ ไม่เป็นไปโดยสงบ ละเมิดสิทธิมนุษยชน ขณะที่รัฐบาลในขณะนั้น มีความผิดฐานละเลยไม่คุ้มครองประชาชน ไม่มีมาตรการรับมือที่รอบคอบ

รวมทั้งมีข้อเสนอเกี่ยวกับภาครัฐว่า รัฐต้องดูแลการชุมนุมให้เป็นไปอย่างสงบเรียบร้อย เพื่อป้องกันมิให้กระทบต่อสาระสำคัญแห่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกฝ่าย โดยคำนึงถึงกรอบแห่งกฎหมาย มาตรฐานสากล รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบคอบ

ควรหลีกเลี่ยงการประกาศใช้กฎหมายพิเศษเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม เพราะไม่สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลสถานการณ์การชุมนุมอย่างมีประสทิธิภาพ รัฐจึงจำเป็นต้องมีมาตรการกฎหมายที่เหมาะสมหรือกลไกเฉพาะเพื่อดูแลและรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุม

การดูแลสถานการณ์การชุมนุมโดยรัฐต้องมีหน่วยงานรับผิดชอบเป็นการเฉพาะ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่ชัดเจน มีเจ้าหน้าที่ที่มีทักษะในการทำงานด้านมวลชน รวมถึงเครื่องมือที่เหมาะสม 

“เมื่อเข้าสู่การเคลื่อนไหวมวลชนถึงจุดหนึ่ง คนที่เป็นแกนนำคุมมวลชนไม่ได้ จึงเกิดการผลักดันมวลชนแต่ละฝ่ายมาเผชิญหน้ากันเราเรียกว่าสงครามกลางเมือง” น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตวุฒิสภา จ.อุบลราชธานี

รายงาน กสม. ล่าช้า ไม่ทันการ 

แต่เบื้องหลังของทำรายงานฉบับนี้ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานอนุกรรมการสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองบอกว่า เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความไม่เป็นเอกภาพของคนองค์กร ประกอบกับความไม่พร้อมและความผิดพลาดในการทำงานส่งผลให้รายงานออกมาล่าช้า ไม่ทันต่อสถานการณ์ 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเปิดเผยรายงานผลการตรวจสอบเพื่อมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เมื่อเดือนมิถุนายนปี 2556 หรือ 3 ปี หลังจากเหตุความรุนแรงผ่านพ้นไป 

“สรุปก็คือ รายงานออกมาไม่ทันต่อการที่จะบอกว่าใครควรจะทำงานอย่างไร มันไม่มีผลในทางปฏิบัติ กลายเป็นรายงานที่ออกมาแล้วต้องยอมรับว่าไม่ทันต่อเหตุการณ์และใช้ไม่ได้ในสายตาของคนที่เห็นว่าเหตุการณ์มันทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ” อดีตกรรมการสิทธิฯ ย้อนอดีต  

รากเหง้าความรุนแรง

ก่อนมาเป็นประธานตรวจสอบเหตุความรุนแรงที่คณะกรรมการสิทธิฯ เมื่อปี 2552 นพ.นิรันดร์เห็นเค้าลางความรุนแรงทางการเมืองที่เริ่มมาตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่ พล.อ.สนธิ บุญยรัตนกลิน ยึดอำนาจจาก ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

นพ.นิรันดร์บอกว่า ขณะนั้นพรรคการเมืองและภาคประชาชนแบ่งออกเป็น 2 ฝ่าย แต่ละฝ่ายก็ออกมาเคลื่อนไหวมวลชน กระทั่งเผชิญหน้าจนกลายเป็นจุดแตกหักเมื่อปี 2553 ทั้งที่ควรจะแก้ไขปัญหาด้วยวิธีทางการเมือง ด้วยการมาพูดคุยกัน 

“เมื่อเข้าสู่การเคลื่อนไหวมวลชน ถึงจุดหนึ่ง คนที่เป็นแกนนำก็ไม่สามารถควบคุมมวลชนได้ ทั้ง 2 ฝ่ายต่างซุกซ่อนความรุนแรงอยู่ภายใน โดยที่ไม่ได้ประกาศออกมา ช่วงนั้นมันคือการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคการเมืองที่ขัดแย้งกับกลุ่มอำนาจที่ต้องการรักษาสถานภาพอำนาจในสังคมไว้ จึงเกิดการผลักดันมวลชนแต่ละฝ่ายมาเผชิญหน้ากัน เราเรียกว่าสงครามกลางเมือง” เป็นข้อสังเกตที่ น.พ.นิรันดร์เห็นจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น  

ในฐานะที่เป็นหนึ่งในสมาชิกสภาสูงจึงได้คลุกคลีกับแวดวงการเมือง แน่นอน น.พ.นิรันดร์ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองจนเห็นว่า ความขัดแย้งทางการเมืองเหล่านี้มีรากเหง้าจากระบบอำนาจเก่าที่กลุ่มอนุรักษ์นิยมต่อสู้กับการเมืองระบบใหม่ที่ต้องการใช้อำนาจของเสรีนิยมประชาธิปไตย 

“ผมคิดว่า การต่อสู้นี้มีมาตั้งแต่ 2475 ซึ่งต้องยอมรับว่า อดีตนายกฯ ทักษิณทำให้เกิดกระแสใหม่ในการต่อสู้ทางการเมืองคือ การต่อสู้เชิงนโยบาย ตรงนี้มันเลยทำให้ภาพออกมาค่อยข้างชัดว่า อำนาจตรงนั้นเป็นอำนาจที่แท้จริงของอำนาจในระบอบประชาธิปไตยที่เราบอกว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เพียงแต่ว่าคุณทักษิณก็มีความพลาดหลายอย่าง โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนในสงครามยาเสพติด” น.พ.นิรันดร์วิเคราะห์รากเหง้าของความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง  

เหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อปี 2553 นอกจากจะเห็นว่าได้ทำให้อำนาจของฝ่ายอนุรักษ์นิยมเติบโตขึ้นอย่างเหนือขีดกำจัดแล้ว ความขัดแย้งครั้งนั้นยังส่งผลถึงการยึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ด้วย 

“สิ่งที่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมประสบผลสำเร็จคือ การสร้างระบบโครงสร้างใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ส.ว. จากการแต่งตั้ง 250 คน ซึ่งเป็นการถอยหลังไปมากกว่า 30 ปี อาจถอยหลังไปถึงยุคสฤษดิ์โมเดลด้วยซ้ำ” อดีต ส.ว.อุบลราชธานีกล่าวและว่า “เป็นโจทย์ของสังคมว่าจะฝ่าวิกฤตการครอบงำอำนาจอันปราศจากการพัฒนาหรือการปฏิรูปประเทศไทยที่เราเคยตั้งความหวังไว้ตั้งแต่ปี 2540 ได้อย่างไร” 

“สังคมไทยเป็นสังคมของคนที่ผู้กระทำผิดลอยนวล” น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

สังคมไทยปล่อยคนผิดลอยนวล 

แม้ในรายงานของ กสม.จะไม่มีข้อเสนอว่า ผู้กระทำความผิดต้องรับผิดอย่างไร แต่ในข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายข้อ 4 ก็ระบุว่า คณะรัฐมนตรีโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการสืบสวน สอบสวนหา  ข้อเท็จจริงและติดตามผู้กระทำ ความผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผู้ชุมนุม  หรือบุคคลใดก็ตามมาดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่ง น.พ.นิรันดร์ ที่เป็นหนึ่งในผู้จัดทำรายงานฉบับนี้บอกว่า แต่ในความจริงยังไม่สามารถเอาผิดผู้สั่งการตามกระบวนการยุติธรรมได้แม้แต่คนเดียว 

“สังคมไทยเป็นสังคมของคนที่ผู้กระทำผิดลอยนวล เพราะเผอิญว่าผู้ทำความผิดนั้นเป็นผู้ที่สามารถยึดกุมอำนาจรัฐได้ เรายอมรับผู้ยึดกุมอำนาจรัฐที่เราเรียกว่าองค์อธิปัตย์ เมื่อเสียงปืนเกิดขึ้น กฎหมายต่างๆ ที่เคยให้ความเป็นธรรม หลักสิทธิมนุษยชนที่ได้รับการยอมรับทั่วโลกว่าเราเคยมีรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ดีที่สุด เป็นรัฐธรรมนูญที่เน้นหนักเรื่องหลักสิทธิมนุษยชน กลายเป็นฝันสลายก็คือว่าเราก็ถอยหลัง”เป็นเสียงสะท้อนของอดีตวุฒิสมาชิกชุดแรกที่มาจากการเลือกตั้งหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2540  

แม้จะไม่มีหวังว่า สังคมไทยจะนำผู้สั่งการมารับผิดตามกระบวนการยุติธรรมได้หรือไม่ เพราะหลังจากศาลฎีกายกฟ้อง อภิสิทธิ์ เวชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี และสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี เมื่อปี 2556 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยเจตนาและพยายามฆ่าโดยเจตนาและต่อมาปี 2560 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ก็ยกคำร้องกรณีขอให้รื้อฟื้นคดีสลายการชุมนุมปี 2553 โดยอ้างว่าพยานหลักฐานจากการไต่สวนไม่เพียงพอ แต่อดีตกรรมการสิทธิ์ฯ ผู้นี้ยังเห็นว่า “เรายังมีโอกาส”

เขาขยายความคำว่า “โอกาส” ว่า ภาคประชาชน นักวิชาการ สื่อมวลชน หรือคนที่รักความเป็นธรรมต้องทำงานหนักมากขึ้น เพื่อให้อำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยมถูกลดทอน 

คนสั่งการ คือ “ผู้รับผิด” 

ปฏิเสธไม่ได้ว่า เหตุการณ์สลายความรุนแรงทางการเมืองเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทหารมีบทบาทสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสีย แต่ น.พ.นิรันดร์ เห็นต่าง โดยเขาเห็นว่า ทหารชั้นผู้น้อยต้องทำงานตามคำสั่ง  

“การปราบปรามโดยใช้อาวุธกระสุนจริงมันเป็นเรื่องการที่ต้องการชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จในสงคราม แต่เรื่องทางการเมืองนั้นไม่ใช่สงคราม เพราะเป็นเรื่องคนไทยฆ่ากันเอง ตรงนี้เท่ากับว่าคนที่จะต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่มันเกิดขึ้นที่เราเรียกว่าเป็นอาชญากรรมในสงครามกลางเมืองก็คือผู้ที่สั่งการ”เขาเน้นย้ำด้วยน้ำเสียงหนักแน่น 

นอกจากนี้เขายังเสนอทางออกที่น่าจะเป็นทางออกสังคมไทยเพื่อนำไปสู่การปฏิรูปเชิงระบบว่า สังคมไทยควรมีบรรทัดฐานใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมตามหลักประชาธิปไตยเปลี่ยนผ่าน 

“ถ้าเราต้องการให้การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตยต้องมีการเปิดเผยความจริง แล้วเอาคนผิดมาลงโทษ เราเอาผิดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและไม่ให้เป็นการลอยนวลหรือทำผิดซ้ำซาก จากนั้นต้องชดเชย เยียวยาผู้เสียหาย และฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ”เขาเสนอทางออกเพื่อให้บาดแผลจากเหตุการณ์ทางการเมืองปี 2553 ได้รับการแก้ไข 

ก่อนจบบทสนทนาอดีตวุฒิสภา จ.อุบลราชธานี เสนอว่า ควรปฏิรูปโครงสร้าง สถาบัน องค์กร ที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดความรุนแรง ทั้งตำรวจ ทหาร อัยการ ในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งกฎหมายต้องกลับมารื้อฟื้นและปฏิรูปเพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำอีกที ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว 

“ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ก็ไม่สามารถก้าวข้ามสิ่งที่เรียกว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้”เขากล่าวด้วยความหวัง

ดูบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ที่นี่

image_pdfimage_print