หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติให้พระราชกำหนดกู้เงิน พ.ศ. 2563 จำนวน 3 ฉบับ มูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดเมืองหลังการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โควิด-19)เมื่อ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา
พรรคการเมืองฝ่านค้านและพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคเสนอให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฏรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) เพื่อติดตามและตรวจสอบการใช้เงินก้อนนี้ เพราะเกรงว่าการใช้จ่ายเงินจะไม่โปร่งใส
แต่พรรคการเมืองจากฝ่ายรัฐบาล อย่างพรรคพลังประชารัฐ กลับคัดค้านโดยให้เหตุผลว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) ในรัฐสภาและกรรมการที่เป็นข้าราชการประจำ รวมทั้งองค์กรอิสระอย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ทำหน้าที่ตรวจสอบแล้ว อาจเป็นการทำงานซ้ำซ้อน เสียเวลา และอาจเสียงบประมาณในการจัดการ

สำหรับ รศ.ดร.สถาพร เริงธรรม อาจารย์ประจำสาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น ผู้เชี่ยวชาญด้านวิชานโยบายสาธารณะ เห็นว่า ควรจะตรวจสอบงบประมาณก้อนนี้อย่างเข้มข้นจากทุกภาคส่วน ไม่เฉพาะแค่ ส.ส. ในสภาฯ ฝ่ายข้าราชการประจำหรือองค์กรอิสระเท่านั้น เพราะเป็นงบประมาณจำนวนมหาศาล ซึ่งกลไกของรัฐ กลไกองค์กรอิสระคงไม่สามารถตรวจสอบได้ครอบคลุม
“การใช้แค่กลไกของรัฐบาลในสภาฯ กลไกราชการ หรือจะมีการตั้งกรรมาธิการฯ ขึ้นมาร่วมตรวจสอบก็คงไม่เพียงพอ เพราะคงตรวจสอบเฉพาะโครงการใหญ่ๆ แผนงานใหญ่ๆ แต่แผนงานย่อยที่ถูกส่งผ่านมาที่จังหวัด อำเภอ ตำบล อาจจะมีโครงการย่อยหลายร้อย หลายพันโครงการ กลัวว่าอาจมีการทุจริตในระดับโครงการย่อย” สถาพรกล่าว
ไม่ปฏิเสธการกู้เงินในช่วงวิกฤตครั้งนี้
รศ.ดร.สถาพรเห็นด้วยที่รัฐบาลตัดสินใจกู้เงินมาใช้จ่าย เพราะฐานะทางการคลังของรัฐบาลในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะนำมาใช้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปิดเมืองของรัฐบาล ซึ่งการปิดเมืองและให้ผู้คนอยู่ในบ้านนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตผู้คนในวงกว้าง
“การใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ถือว่าเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในสถานการณ์แบบนี้” สถาพรกล่าว
เงินก้อนโต…ทุกคนควรร่วมตรวจสอบ
แม้รัฐสภาจะลงมติให้รัฐบาลกู้เงินก้อนนี้เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นโดยด่วน แต่สำหรับสถาพรแล้ว เขาเห็นว่าไม่ควรเร่งด่วนในขั้นตอนการเบิกจ่าย แต่ควรตรวจสอบรายละเอียดโครงการและงบประมาณทุกโครงการอย่างเข้มข้น
“จะต้องมีกระบวนการตรวจสอบ การใช้เงินให้มันเป็นไปตามเป้าหมาย สมมุติว่าคุณอ้างว่าจะนำเงินมาใช้กระตุ้นเศรษฐกิจในทุกภาคส่วน ต้องพูดกันตรงไปตรงมาว่าจะใช้เงินอย่างไรให้คุ้มค่า และจะใช้มันยังไงให้เกิดประโยชน์สูงสุด” ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสาธารณะกล่าว
ข้อเสนอที่เป็นไปได้ตอนนี้สำหรับนักวิชาการคนนี้คือ รัฐบาลควรเปิดเผยรายละเอียดโครงการทั้งหมดให้ประชาชนเข้าถึงและตรวจสอบได้อย่างง่ายและไม่ซับซ้อน
“รัฐบาลต้องบอกก่อนว่าจะนำเงินมากถึง 1.1 ล้านล้านบาทไปทำอะไรบ้าง ประกาศมาเลยว่าจะมีกี่หมื่นกี่แสนโครงการ กระทรวงไหนรับผิดชอบ และแต่ละโครงการอยู่จังหวัดไหน อำเภออะไร ตำบลอะไร ประกาศให้ชาวบ้านเขารับรู้” สถาพรกล่าว
เขายังเสนออีกว่า หลังจากนั้นจึงค่อยนำกลไกการตรวจสอบทั้งของรัฐบาล กลไกราชการ องค์กรอิสระ องค์กรภาคประชาชนและประชาชนเข้ามาทำงานตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ
“ต้องแบ่งการตรวจสอบเป็น 2 ระดับ คือ ระดับชาติ คุณก็ใช้พวกกรรมาธิการที่ว่าจะตั้งขึ้นมาทำงานไป ส่วนในระดับท้องถิ่น ก็ใช้กลไกอื่นๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่ทำงานช่วยเหลือการตรวจสอบ ถ้ามีขั้นตอนเหล่านี้อาจทำให้การใช้งบประมาณเกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด” สถาพรกล่าว
สถาพรกล่าวอีกว่า คงปฎิเสธการตรวจสอบไม่ได้ คงปฎิเสธให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการใช้เงินไม่ได้ เงินกู้ที่เอามาใช้จ่ายเปรียบเหมือนเงินภาษีอากรของคนทั้งประเทศ เมื่อนำมาใช้ก่อน ก็ต้องผ่อนจ่ายผู้ให้กู้ทีหลัง ดังนั้นการนำมาใช้ก็ต้องให้เกิดประโยชน์ คุ้มค่าที่สุด ถ้าหากทำไม่คุ้มค่า ไม่โปร่งใส แล้วไม่คุ้มค่า ไม่เกิดประโยชน์
“ฉะนั้นทุกคนต้องสามารถที่จะมีสิทธิ์ที่จะรับรู้ได้ว่ามันมีกี่โครงการ โครงการแต่ละโครงการเอาไปทำอะไรบ้าง แล้วใครเป็นคนรับโครงการ โครงการนั้นทำจริงหรือไม่ ทำจริงแล้วผลเกิดขึ้นเป็นอย่างไร เพราะมันภาระหนี้สินของคนทั้งชาติ และเป็นภาระหนี้สินต่อไปในอนาคตที่คนรุ่นต่อไปต้องมารับต้นทุนนี้ไป” สถาพรกล่าวทิ้งท้าย