ภาพหน้าปกจาก Ratchaprasong (CC BY-NC 2.0)

หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง 

กองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ดเปิดตัวซีรีส์ชุด “1 ทศวรรษ พฤษภาฯ เลือดปี’53” – ทำไมต้องคลี่ปม 10 ปี แห่งความสูญเสีย ซึ่งเป็นตอนแรก ออนไลน์เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ก็บอกชัดเจนว่า ไม่มีเจตนาสรุปข้อเท็จจริงใดๆ ที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมืองเมื่อเดือนเมษายน – พฤษภาคม 2553 

ในฐานะสื่อ เรามีหน้าที่เพียงเป็นสื่อกลางให้ผู้คนที่อยู่และไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ร่วมกันถอดบทเรียนความรุนแรงที่เกิดขึ้นเพื่อเรียนรู้ความสูญเสีย เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกระทบคนทั้งชาติ 

ตลอด 1 เดือนครึ่งที่กองบรรณาธิการฯ ได้เผยแพร่สารคดีเชิงข่าว วิดีโอสั้น บทสัมภาษณ์ บทความ เรื่องสั้น ฯลฯ ผ่านทั้งเว็บไซต์และสื่อโซเชียลมีเดีย เสียงตอบรับก็มีทั้งดอกไม้และก้อนอิฐ บ้างก็ว่าเป็นการรื้อฟื้นความรุนแรง ไม่เป็นประโยชน์ บ้างก็ว่าเป็นการกระตุ้นให้ตามหาความจริงเพื่อให้คนไม่ลืมสิ่งที่เกิดขึ้น

แต่หลายความคิดเห็นที่สะท้อนผ่านเฟซบุ๊กเพจเดอะอีสานเรคคอร์ด ภาคภาษาไทย ก็ใช้ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังจนทำให้กอง บก.ต้องตัดสินใจลบความคิดเห็นไปบางส่วน แต่หลายข้อความก็เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย 

ในซีรีส์ชุดฯ นี้ มีผู้ถูกสัมภาษณ์หลายคนได้เสนอให้ค้นหาความจริงเพื่อคืนความยุติธรรมให้แก่ผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ทางการเมือง แต่ข้อความของ ประไพ มณีใส ก็ทำให้เราได้รู้ถึงสัจธรรมของการอยู่ในสังคมนี้ โดยเธอระบุว่า “อย่าไปถามหาความจริงเลยค่ะ ถามให้เราตายก็ไม่มีค่ะ ความจริงในโลกใบนี้ไม่มีจริง” เป็นการแสดงความคิดเห็นหลังจากวิดีโอเผยแพร่คลิปวิดีโอการสัมภาษณ์ เดือนวาด พิมวนา นักเขียนซีไรต์ในตอน “คนตายกลางเมืองปี’53 ความทรงจำที่ลืมไม่ลง” 

ส่วน Yupin Kaewwilai แสดงความคิดเห็นหลังนำเสนอคลิปวิดีโอการสัมภาษษณ์ ถนัด ธรรมแก้ว หรือ ภูกระดาษ นักเขียนอีสานในตอน “10 ปี บทเรียนความพ่ายแพ้ของคนเสื้อแดง” ว่า “บทเรียนบางบทไม่ใช่เเพ้ค่ะ เเต่จะเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำที่จะไม่ยอมจำนนถ้าเรามีโอกาส” 

ยังมีเสียงสะท้อนอีกเป็นพันๆ เสียงที่ไม่ได้หยิบยกมากล่าวถึงในบทความนี้ แต่ไม่ได้สะท้อนว่า “ไร้ความหมาย” ทว่าเสียงเหล่านั้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะถือเป็นการแสดงออกต่อพื้นที่สาธารณะตามสิทธิอันพึงมี

ทั้งนี้ กองบรรณาธิการฯ ได้ขอให้บุคคลที่สัมภาษณ์ในซีรีส์ชุดนี้สะท้อนเสียงถึงเราในฐานะคนอ่าน คนฟัง และคนเคยติดตามสถานการณ์ทางการเมืองเมื่อปี 2553 อย่างใกล้ชิด หนึ่งในนั้นคือ ผศ.ดร.เสาวนีย์ ตรีรัตน์ อเลกซานเดอร์ นักภาษาศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ที่สะท้อนว่า การรำลึกครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์ปราบคนเสื้อแดงในปี’53 เป็นการย้อนกลับไปดูผลกระทบในระดับที่เข้มข้นมากกว่าทุกปี 

“จากการดูผลตอบรับในอินเตอร์​เนตในเรื่องความตระหนัก​รู้ของคนก็น่าพอใจ มันทำให้บางคนที่ไม่รู้​เรื่องมาก่อนได้เรียนรู้ ให้คนที่ผ่านเหตุการณ์​นั้นกลับไปทบทวนจุดยืนของตัวเอง ให้คนที่เคยได้ยินเรื่องราวมาก่อนทราบว่าความยุติธรรม​ยังไม่มาถึง  หากทุกคนนึกถึงเรื่องราวความเจ็บปวด​ของประชาชน แล้วเปรียบเทียบ​กับสิ่งที่มันเกิดขึ้นทุกวันนี้ก็จะเห็น” เธอเขียนถึงกอง บก. 

เธอยังสะท้อนผ่านตัวอักษรอีกว่า ผ่านไป 10 ปี ประชาชนในสังคมไทยบางส่วนได้เรียนรู้ขึ้นมาบ้างว่า กลุ่มคนเสื้อแดงเขามาเรียกร้องอะไร แล้วสิ่งที่เขาได้คืออะไร   

“บาดแผล ความพิการ ความตาย การติดคุก แบบที่คนยังตั้งคำถามกับกระบวนการจนทุกวันนี้ บางคนก็ยังไม่เรียนรู้ ไม่เปิดใจ คงต้องใช้เวลาหรือต่อให้ใช้เวลา เอาข้อมูล​ต่างๆ มาให้พิจารณา​ คนกลุ่มนี้ก็คงไม่เรียนรู้​อะไร” เธอกล่าว  

นอกจากนี้ เธอยังบอกอีกว่า ตลอดช่วงหลังมานี้คนเสื้อแดง แม้จะไม่มีเสื้อสีแดงให้สวมแล้ว ยังถูกไล่ล่า ยังถูกคุกคามในรูปแบบต่างๆ กลายเป็นศพลอยในแม่น้ำ กลายเป็นคนสูญหาย ล่าสุดคือ วันเฉลิม (ต้าร์) สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ คำถามคือ หากสิ่งที่เกิดขึ้นกับต้าร์​เกิดเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คงไม่เห็นกระแสเรียกร้องให้สืบสวน ตามหา เพื่อช่วยเขามากขนาดนั้น แต่กระแสเรียกร้อง​ความยุติธรรม​ให้ต้าร์ ให้ครอบครัวของเขา บอกชัดเจนว่า ต่อให้เราไม่รู้​จำนวนคนที่ต้องการผลักดันให้สังคมพัฒนาไปข้างหน้าตามแนวทางประชาธิปไตย​ ต่อให้มีการคุกคามกดขี่ เล่นงานขนาดไหน กระแสประชาธิปไตยยังไหลอย่างต่อเนื่อง 

นักวิชาการทางด้านภาษาศาสตร์ที่ติดตามสถานการณ์การเมืองคนนี้บอกอีกว่า ในขณะที่​เกือบร้อยศพ เกือบสองพันชีวิตที่บาดเจ็บ ยังไม่ได้รับความเป็นธรรม  แต่เราเห็นเพื่อนร่วมสังคมจำนวนมากที่ร่วมกันเรียกร้องความเป็นธรรม​โดยไม่ได้แคร์​ว่าต้าร์จะเป็นสีไหน ยิ่งเมื่อเราพูดเรื่องนี้มากขึ้น เรื่องราวของคนอื่นๆ ก็ประจักษ์​มากขึ้น อ.สุรชัย ภูชนะ กาสะลอง สยาม  และคนอื่นๆ ที่สูญหายไปก่อนหน้า ได้กลับมามีพื้นที่ในการรับรู้​ในความทรงจำของผู้คนมากขึ้น   

“สิ่งที่เราเห็นคือ ยิ่งถูกทำร้ายมากแค่ไหน เสียงของเหยื่อเหล่านี้ยิ่งดังมากขึ้น และกลุ่มคนที่เงียบงัน กลับกลายเป็นเป้าของความสนใจของคำวิพากษ์วิจารณ์​อย่างช่วยไม่ได้ หากถามว่า การรำลึกเหตุการณ์​ปี 53 จะให้อะไรกับสังคมบ้าง ก็คงเป็นสิ่งเตือนใจว่า ต่อให้สังคมมีความอยุติธรรม​ขนาดไหน มืดมนเพียงใด ประชาชนก็ยังไม่ยอมจำนน” รศ.เสาวนีย์เขียนถึงกองบก.เดอะอีสานเรคคอร์ด 

นอกจากนี้ยังมีเสียงของนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาเดียวกันอย่าง ธีระพล อันมัย อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ก็ใช้วิธีการเขียนสะท้อนถึงซีรีส์ชุดนี้ว่า การนำเสนอซีรีส์ 1 ทศวรรษ พฤษภา’53 ของเดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นการรื้อฟื้นความทรงจำทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของประชาชนที่ถูกล้อมฆ่าด้วยกองทหารพร้อมสรรพาวุธ (ราวกับเข้าสู่สงครามแย่งชิงเขตแดน) เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำต่อประชาชนในประเทศยิ่งกว่าอริราชศัตรู เป็นประวัติศาสตร์ที่อำนาจรัฐส่วนกลาง (ซึ่งครอบงำประเทศนี้อยู่หลายชั้น) พยายามจะให้เราลืมเลือนเสมือนว่าไม่เคยมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น ราวกับคนตายเฉียดร้อยไม่มีอยู่จริง 

“คนบาดเจ็บนับพันและคนถูกจำคุกจำนวนมากไม่เคยมีอยู่จริง หากไม่มีการรื้อฟื้นหรือทบทวนโดยสื่อมวลชนแล้ว ความทรงจำเรื่องนี้ก็จะกลายเป็นความทรงลืมในไม่นาน” ธีระพลเขียนสะท้อนความคิด 

นอกจากนี้ เขายังขอบคุณเดอะอีสานเรคคอร์ดที่เป็นปากเสียงให้ผู้ไร้เสียงและว่า  แม้ในท่ามกลางภาวะที่บ้านเมืองถูกยึดครองโดยรัฐบาลชุดเดียวกันกับคณะรัฐประหาร ซึ่งใช้กฎหมายความมั่นคงเป็นเครื่องมือจำกัดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน การนำเสนอเรื่องนี้จึงเป็นการแสดงเจตนารมณ์เสรีอย่างแน่วแน่ว่า ไม่ยอมจำนนต่ออำนาจแข็งกร้าว 

“หวังว่าเรื่องราวอื่นๆ อันเป็นความอยุติธรรมหรือการกดขี่ประชาชน ไม่ว่าจะโดยรัฐหรือทุน จะยังถูกนำเสนอสู่ที่แจ้ง และหวังว่า ในที่สุด ข้อเท็จจริงที่นำเสนอนั้นจะนำไปสู่การรับรู้และการเปลี่ยนแปลงหรือคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น” ธีระพลระบุ 

กองบรรณาธิการฯ ก็ได้แต่หวังว่า “ซีรีส์ชุด 1 ทศวรรษ พฤษภาฯ เลือดปี’ 53” จะทำให้คนในสังคมไทย โดยเฉพาะผู้มีอำนาจให้เหลียวมองเสียงสะท้อนจากทุกตอนที่เรานำเสนอทั้ง 34 ตอน (ฉบับภาษาไทย) เพื่อนำไปสู่การแก้ไข โดยเฉพาะข้อเสนอของ น.พ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตวุฒิสภา จ.อุบลราชธานี และ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติที่ว่า 

“ถ้าเราต้องการให้การเปลี่ยนผ่านจากเผด็จการไปสู่ประชาธิปไตย ต้องมีการเปิดเผยความจริง แล้วเอาคนผิดมาลงโทษ เอาผิดเพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างและไม่ให้เป็นการลอยนวลหรือทำผิดซ้ำซาก จากนั้นต้องชดเชย เยียวยาผู้เสียหาย และฟื้นฟูอย่างเป็นระบบ”

image_pdfimage_print