ภานุพงศ์ ธงศรี เรื่อง

“กาฬสินธุ์นี้ ดินดำน้ำซุ่ม ปลากุ้มบ่อนคือแข่แก่งหาง

ปลานางบ่อนคือขางฟ้าลั่น จั้กจั่นฮ้องปานฟ้าฟ้าลวงบน

แตกจ้น ๆ คนเป่าปี่โฮแซว มีซู่แนวซู่อัน แอ่นระบำรำฟ้อน”

ผญาอีสานบทนี้ได้เล่าถึงจุดเด่นของจังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งเป็นดินแดนที่มีวัฒนธรรมอันดีงาม รวมถึงศิลปินดนตรีพื้นบ้านเป็นที่รู้จักโดยทั่วไป เช่น เปลื้อง ฉายรัศมี ศิลปินแห่งชาติผู้ประดิษฐ์ คิดค้น และพัฒนาการทำโปงลาง และอีกคนหนึ่งที่จะลืมมิได้คือ เมฆ ศรีกำพล บรมครูแห่งปี่ภูไท บ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

เมฆ ศรีกำพล ขณะสาธิตการเป่าปี่ผู้ไท

เมฆ ศรีกำพล ถือเป็นอีกหนึ่งศิลปินคนสำคัญของภาคอีสาน จุดเริ่มต้นมาจากการคลุกคลีกับศิลปินพื้นบ้านของชนเผ่าผู้ไท ซึ่งมีการลำผู้ไทประกอบเสียงแคนและปี่ผู้ไท เมื่อจบระดับประถมศึกษาภาคบังคับและการศึกษาผู้ใหญ่ ด้วยใจรักในเสียงดนตรีผู้ไท เมฆจึงเริ่มฝึกฝนศิลปะดังกล่าวกับคนในชุมชนเดียวกัน พร้อมกับฝึกเป่าแคน เล่นโปงลางและดนตรีชนิดอื่นๆ

ต่อมา ดอม สุระพร ได้ตั้งวงโปงลาง “หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ” ทำให้เขาเป็นอีกศิลปินคนหนึ่งที่ร่วมก่อตั้งวงโปงลางวงนี้ โดยทำหน้าที่เป่าปี่และเป่าแคนประกอบการร้องหมอลำผู้ไท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ วงนี้ถือเป็นวงโปงลางในยุคแรกๆ ของภาคอีสาน จะเห็นได้ว่า จากประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ทำให้ เมฆ ศรีกำพล เป็นนักดนตรีพื้นบ้านที่มีความสามารถสูง หากคิดถึงปี่ผู้ไท จะต้องคิดถึง “เมฆ ศรีกำพล” อย่างขาดมิได้

วงโปงลาง “หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ” (ภาพถ่ายจาก หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ ปี 2537)

นอกจากการเป็นนักดนตรีแล้ว เมฆ ศรีกำพล ยังเป็นผู้ผลิตปี่ผู้ไทคุณภาพอีกด้วย โดยเขาเรียนรู้มาจากครูช่างทำปี่ผู้ไทฝีมือแห่งหมู่บ้านบุ่งคล้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้วยมองเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดนตรีของชนเผ่าผู้ไท โดยเฉพาะการลำผู้ไทที่นับวันจะมีผู้ชื่นชอบและอนุรักษ์สืบสานน้อยลงทุกที เขาจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดความรู้ในฐานะครูภูมิปัญญาให้แก่โรงเรียนต่างๆ ตลอดจนผู้ที่สนใจอยากเรียนรู้การเป่าปี่ผู้ไทและดนตรีอีสานให้เป็นที่รู้จักในสังคม โดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ มีผู้ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ

 เมฆ ศรีกำพล (คนที่ 1 นับจากซ้าย) ร่วมถ่ายทอดศิลปะพื้นบ้าน ภาพจาก เจาะสนามข่าวอีสาน สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส Thai PBS

ด้วยเหตุนี้ เมฆ ศรีกำพล จึงได้รับรางวัลและการเชิดชูเกียรติจากสถาบันต่างๆ ดังนี้

ปี 2537 ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ในการประกวดดนตรีพื้นบ้านจากสถานีวิทยุ 909 กรป.กลาง จังหวัดสกลนคร

ปี 2538 ได้รับรางวัลเป็นผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม จังหวัดกาฬสินธุ์ (ระดับจังหวัด) จากสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์

ปี 2539 ได้รับรางวัลชนะเลิศดนตรีพื้นบ้าน ถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในงานกาชาดประจำปี จังหวัดกาฬสินธุ์

ปี 2545 ได้รับรางวัลชนะเลิศเดี่ยวปี่ผู้ไทจังหวัดมุกดาหาร (ระดับจังหวัด) อำเภอหนองสูง จังหวัดมุกดาหาร

ปี 2550 รางวัลศิลปินพื้นบ้านอีสาน จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ปี 2559 ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติให้เป็นศิลปินมรดกอีสาน สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีพื้นบ้าน – ปี่ผู้ไท) จากมหาวิทยาลัยขอนแก่น

รางวัลและการยกย่องเชิดชูเกียรติดังที่ได้กล่าวมา เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความสามารถของ เมฆ ศรีกำพล ได้เป็นอย่างดี โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา จึงถือเป็นความโศกเศร้าของวงการดนตรีอีสานอย่างยิ่ง หลังเมฆ ศรีกำพล เสียชีวิตอย่างสงบในวัย 79 ปี ด้วยโรคประจำตัว ประกอบกับอายุมาก ผู้เขียนขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของศิลปินผู้ทรงคุณค่าของชาวอีสาน ผู้เป็นบรมครูปี่ผู้ไทของวงโปงลาง “หนุ่มมะพร้าวห้าว สาวดอกคูณ” แห่งบ้านกุดหว้า ตำบลกุดหว้า อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์

เอกสารอ้างอิง

  • ฐานข้อมูลศิลปวัฒนธรรม สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (ลิงก์เอกสาร http://artculture.msu.ac.th/artist_view.php?ArtId=50002)
image_pdfimage_print