ภาพหน้าปกจาก Nacharat Phakdeearsa
การจัดกิจกรรมรำลึกวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ที่ครบรอบ 88 ปีเมื่อวานนี้ (24 มิถุนายน 2563) นอกจากพื้นที่ลานสกายวอร์กและอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ กทม. แล้ว ยังมีการจัดกิจกรรมอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อาทิ อุบลราชธานี มหาสารคาม ขอนแก่น และนครราชสีมา เป็นต้น
เมื่อเวลา 18.00 น. วานนี้ (24 มิถุนายน 2563) บริเวณลานแปดเหลี่ยม วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) แนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตยและประชาชนกว่า 40 คน ร่วมจัดกิจกรรมอ่านประกาศคณะราษฏรเพื่อรำลึกถึงอดีต “วันชาติ” ที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์สู่ระบอบประชาธิปไตย
ภายในงานมีการนำหมุดคณะราษฏรจำลองที่หายไปมาประกอบการอ่านประกาศคณะราษฏรฉบับที่ 1 ที่มีใจความสำคัญระบุถึงสภาพสังคมไทยในขณะนั้นที่อำนาจผูกขาดไว้เฉพาะชนชั้นสูง รวมถึงปัญหาเศรษฐกิจจากการทุจริต รวมถึงความเป็นอยู่ของประชาชนที่ถูกกดให้ยากจนและไร้การศึกษา
พงศธรณ์ ตันเจริญ แกนนำแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย ปราศรัยในงานรำลึก 88 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครองที่ลานแปดเหลี่ยม ม.มหาสาคาม ภาพโดย ดานุชัช บุญอรัญ
พงศธรณ์ ตันเจริญ นิสิตจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ปราศรัยตอนหนึ่งว่า ใจความที่ปรากฏในประกาศคณะราษฏรนั้น หากพิจารณาแล้ว ไม่แตกต่างจากสภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจากรัฐบาลทหารที่ลุแก่อำนาจและบริหารประเทศแบบบริหารปิดหูปิดตาตัวเอง โดยผู้ที่ต้องรับผลร้ายคือประชาชนที่เป็นคนจ่ายภาษี
“แนวคิดของคณะราษฏรเมื่อ 88 ปีก่อนได้พยายามแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการวางเค้าโครงเศรษฐกิจเพื่อผลักดันให้ประชาชนทุกคนมีงานทำและมีรัฐสวัสดิการที่ถือเป็นความคิดก้าวหน้า เมื่อเปรียบเทียบกับนโยบายการใช้เงินแก้ปัญหาของรัฐบาล คสช. ด้วยนโยบายบัตรคนจนและอื่นๆ จึงแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง” พงศธรณ์กล่าว
ด้าน นิตยา รักษาภัย ข้าราชการเกษียณที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ แสดงความคิดเห็นว่า การมาร่วมกิจกรรมครั้งนี้เพื่อรำลึกถึงคณะราษฏรที่นำพาประชาชนให้หลุดพ้นจากสถานะไพร่ในอดีต และต้องการมาให้กำลังใจนิสิตนักศึกษาที่เป็นคนรุ่นใหม่
“ในฐานะเป็นคนเสื้อแดงที่ต่อสู้มากว่า 10 ปี ภูมิใจที่เห็นคนรุ่นใหม่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เชื่อว่าการลงเเรงของคนรุ่นนี้จะเป็นความหวังในการพัฒนาประเทศให้ก้าวหน้า เป็นประเทศที่มีประชาธิปไตย ประชาชนมีอำนาจ มีเสรีภาพ มีสิทธิในการคิด ในการกระทำ มีสิทธิแสดงความคิดเห็น” ข้าราชการเกษียณกล่าว
เมื่อถามว่า ปัจจุบันนี้มีประชาธิปไตยแบบกี่เปอร์เซ็นต์ นิตยาตอบว่า
“บ่มีเลยค่ะ (หัวเราะขื่น) ไม่มีค่ะ ประชาธิปไตยยังไม่มี ยังมองไม่เห็นปลายอุโมงค์เลย คงต้องเดิน เดินกันต่อไป”
โดยผู้ร่วมกิจกรรมได้แสดงสัญลักษณ์ต่อต้านเผด็จการด้วยการชู 3 นิ้ว ซึ่งการทำกิจกรรมครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารเข้าร่วมสังเกตการณ์การชุมนุมกว่า 100 นาย
ส่วนที่จังหวัดอื่นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีการจัดงานรำลึก 88 ปี 24 มิถุนายน 2475 อย่างคึกคัก
นักศึกษาและประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีชู 3 นิ้ว ที่เป็นสัญลักษณ์การต่อต้านเผด็จการในวันรำลึก 24 มิถุนายน 2475 ที่สะพานเสรีประชาธิปไตย จ.อุบลราชธานี ภาพจากเพจเฟซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี
ที่จังหวัดอุบลราชธานี เพจเฟซบุ๊กวิ่งไล่ลุง อุบลราชธานี ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมของชาวจังหวัดอุบลราชธานีร่วมทำกิจกรรมรำลึกคณะราษฎร วันอภิวัฒน์สยาม 2475 และอ่านประกาศคณะราษฎร (ฉบับที่ 1) เมื่อเช้ามืดเวลา 05.00 น.ที่สะพานเสรีประชาธิปไตย โดยมีเจ้าหน้าที่ร่วมสังเกตการณ์และบันทึกภาพผู้ร่วมกิจกรรมกว่า 50 คน
กลุ่มนิสิตนักศึกษานครราชสีมาทำกิจกรรมรำลึก 80 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครองที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จ.นครราชสี ภาพจากเพจ Korat No เผด็จการ
ส่วนเพจ Korat No เผด็จการ ได้เผยแพร่ภาพกิจกรรมการอ่านประกาศคณะราษฎรที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จ.นครราชสีมา จัดโดยกลุ่มนิสิตนักศึกษานครราชสีมาเมื่อเวลา 09.00 น. โดยมีป้ายข้อความระบุว่า “รำลึก 80 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครอง ขอเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ 60 เพื่อประชาชน” การทำกิจกรรมครั้งนี้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจร่วมสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิด ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก เยาวชนสุรินทร์เพื่อประชาธิปไตย ประกาศยกเลิกการทำกิจกรรมรำลึกที่จะจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์อนุสรณ์รัฐธรรมนูญในช่วงเวลา 18.00 น. โดยระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจข่มขู่แกนนำ และหากยังทำกิจกรรม อาจเป็นการละเมิดกฎหมายที่จะต้องดำเนินคดี