ความเคลื่อนไหวในการจัดงานรำลึกการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 24 มิถุนายน 2475 ยังมีอย่างต่อเนื่อง เดอะอีสานเรคคอร์ดจัดเสวนาออนไลน์หัวข้อ “88 ปี เปลี่ยนแปลงการปกครองกับประชาธิปไตยในทัศนะของคนรุ่นใหม่” โดยมีตัวแทนคนรุ่นใหม่จาก 3 จังหวัด เข้าร่วมและเผยแพร่ผ่านทางเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ดเมื่อวันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา
พงศธรณ์ ตันเจริญ หรือ บอย แกนนำกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย เล่าบรรยากาศการจัดกิจกรรมรำลึก 88 ปี 2475 เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาที่จังหวัดมหาสารคามว่า การจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสังเกตภายในบริเวณงานถึง 100 คน
เขาตั้งคำถามว่า เหตุใดกิจกรรมการแสดงออกของประชาชน เพียงแค่การอ่านประกาศคณะราษฎรที่เป็นการรำลึกวันสำคัญวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทยจึงต้องใช้กำลังเจ้าหน้าที่มากถึงขนาดนี้ แม้ไม่มีการขัดขวางจับกุม แต่การที่ตำรวจมาเป็นจำนวนมากก็ส่งผลด้านจิตวิทยาระดับหนึ่ง
“เราจะเห็นว่า เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา มีการจัดงานรำลึกทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคอีสานมีจัดถึง 11 แห่ง ซึ่งเป็นการแสดงให้ว่ายิ่งทำให้กลัว คนก็ยิ่งอยากรู้อยากเห็นและประชาชนอยากมาร่วมมากขึ้น” พงศธรณ์กล่าว
นอกจากนี้ เขายังเล่าประสบการณ์การถูกข่มขู่คุกคามในฐานะการเป็นนักกิจกรรมนักศึกษาว่า ก่อนทำจัดกิจกรรมวิ่งไล่ลุงเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีตำรวจในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์มาพบที่บ้านเพื่อทัดทานไม่ให้จัดกิจกรรม ถือเป็นการข่มขู่แต่ไม่ได้ถูกดำเนินคดี ซึ่งการเข้ามาในเส้นทางการทำกิจกรรมทางการเมืองเป็นเรื่องเสี่ยง แต่ก็คุ้ม เพราะมุ่งหวังให้คนรุ่นหลังมองเห็นว่า สังคมมีปัญหา เราจึงต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง
“อยากเห็นการชำระล้างมรดก คสช. ตั้งแต่การแก้ไขรัฐธรรมจนถึงทหารกลับเข้ากรมกอง” พงศธรณ์ ตันเจริญ แกนนำกลุ่มแนวร่วมนิสิต มมส. เพื่อประชาธิปไตย
ต้องชะล้างมรดก คสช.
พงศธรณ์ยังกล่าวถึงความฝันของคนรุ่นใหม่ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยว่า อยากเห็นการชำระล้างมรดกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ( คสช.) ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นรัฐธรรมนูญ อิทธิพลทางการเมืองของทหาร เพราะทหารจะต้องกลับเข้ากรมกองและต้องมีการปฏิรูปราชการ อยากเห็นองค์กรภาคประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้น
“ผมอยากเห็นประชาชนร่วมใจกันรื้อถอนอำนาจ คสช. ทั้งหมด เพื่อให้ประชาธิปไตยในประเทศไทยเกิดขึ้นอย่างแท้จริง” แกนนำนักศึกษาฯ กล่าว
เขายังตั้งข้อสังเกตถึงการต่อพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน โดยจะสิ้นสุดวันที่ 26 กรกฎาคมว่า เมื่อรัฐบาลต่อพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป ทางนักศึกษาต้องยกระดับการเคลื่อนไหวมากขึ้น ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลต้องการรวบอำนาจและไม่ต้องการถูกรัฐสภาหรือผู้แทนของประชาชนตรวจสอบเรื่องการแก้ปัญหาโรคโควิด-19
“การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ได้มีผลแค่การทำกิจกรรมทางการเมือง แต่กระทบต่อการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วย หากนายกฯ คิดว่าสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ด้วยตัวเองคนเดียว อนาคตประเทศไทยจะดำมืดมาก ดังนั้น การทำกิจกรรมทางการเมืองต่อไปจะเข้มข้นขึ้น รวมทั้งจะประสานไปยังเครือข่ายนักศึกษาในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อยกระดับการเคลื่อนไหวต่อต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” พงษธรณ์กล่าว
“พวกเราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเขาไม่ใช่ประชาธิปไตย มีการสอดไส้เผด็จการจากการรัฐประหาร ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน” ธนัชชา ยืนยงค์ ตัวแทนจากกลุ่มขอนแก่นพอกันที
‘ขอนแก่นพอกันที’ อยากเห็นทุกคนเท่าเทียม
ทางด้าน ธนัชชา ยืนยงค์ หรือ แตงโม ตัวแทนจากกลุ่มขอนแก่นพอกันที ประมวลการทำกิจกรรมเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่จังหวัดขอนแก่นว่า ก่อนหน้านี้ทางกลุ่มฯ ได้จัดกิจกรรมตามหา วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองที่ถูกอุ้มหายที่ประเทศกัมพูชา จึงมีเจ้าหน้าที่ขัดขวางการทำกิจกรรม โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ก็มีเจ้าหน้าที่นำรถดับเพลิงและอุปกรณ์ต่างๆ มาวางกั้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่นเป็นจำนวนมาก ทั้งที่ทางกลุ่มฯ ไปกันแค่ 10 คน
“ตั้งแต่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง ยังไม่มีเจ้าหน้าที่คุกคามและติดตาม แต่มีเพื่อนๆ หลายคนถูกเจ้าหน้าที่เก็บชื่อและถ่ายรูปไป เขายิ่งทำกับเรามาก ยิ่งสกัดกั้นเรามากขึ้นแค่ไหน ก็ยิ่งจะทำให้เขารู้ว่า นี่มันคือการแสดงออกในเรื่องสิทธิที่ไม่มีควรมาปิดกั้น” ธนัชชากล่าว
ทั้งนี้ ธนัชชาอยากเห็นประชาธิปไตยที่ทุกคนเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน แม้จะมีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง ทุกคนควรมีความเท่าเทียมกันทุกด้านทั้งโครงสร้างพื้นฐานในสังคม การบริการภาครัฐที่ทุกคนเข้าถึงได้ การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และสิทธิเสรีภาพของประชาชน
“พวกเราออกมาเคลื่อนไหวเพราะเขาไม่ใช่ประชาธิปไตย มีการสอดไส้เผด็จการจากการรัฐประหาร ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทุกคนจึงไม่ควรอยู่ภายใต้ระบอบนี้” ตัวแทนกลุ่มขอนแก่นพอกันทีกล่าว
“ตอนนี้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจากการที่มี ส.ว. 250 คน สามารถเลือกนายกฯ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเสียงประชาชน” นัฐพงษ์ ป้องแสง หรือ เอมมี่ ตัวแทนจากกลุ่มวิ่งไล่ลุง จ.อุบลราชธานี
นายกฯ ต้องมาจากคนข้างล่าง
ขณะที่ นัฐพงษ์ ป้องแสง หรือ เอมมี่ ตัวแทนจากกลุ่มวิ่งไล่ลุง จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงความคาดหวังต่อประชาธิปไตยในอนาคตว่า อยากเห็นคือ นายกฯ ที่มาจากข้างล่างที่เข้าใจวิถีชีวิตจริงๆ ของประชาชน เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม
“ตอนนี้รัฐธรรมนูญมีปัญหาจากการที่มี ส.ว. 250 คน สามารถเลือกนายกฯ ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเสียงประชาชน” นัฐพงษ์ กล่าว
ในฐานะคนรุ่นใหม่ เขาอยากเห็นการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้นและอยากเห็นการปฏิรูปการศึกษา เพราะตอนนี้การศึกษาถูกออกแบบจากรัฐส่วนกลาง ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำขึ้นและควรมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดที่จะกำหนดแนวทางผู้ที่มาบริหารประเทศ
ขณะที่ประเด็นการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือนนั้น นัฐพงษ์ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ผับบาร์ต่างๆ สามารถเปิดแล้ว แต่ทำไมยังต้องคง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไว้ ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นเพราะต้องการควบคุมการแสดงออกทางการเมืองประชาชนมากกว่า
“เมื่อรัฐบาลทำแบบนี้ คนรุ่นใหม่ยิ่งต้องแสดงออกทางการเมืองให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่ประชาธิปไตยที่แท้จริงและสมบูรณ์ของประเทศไทย” ตัวแทนจากกลุ่มวิ่งไล่ลุง จ.อุบลราชธานีกล่าว