ภาพปกจาก istock.com/Songsak Paname

พงศธรณ์ ตันเจริญ เรื่อง 

ในสถานการณ์วิกฤตการระบาดของโรคโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด – 19 ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่    การศึกษาไทยก็เป็นหนึ่งประเด็นที่กำลังถูกความท้าทายใหม่นี้พลิกโฉมเปลี่ยนสภาพแวดล้อมการเรียนจากเดิมที่นักเรียน นิสิต นักศึกษาเคยเรียนในห้องเรียนด้วยกันก็ถูกย้ายการเรียน การสอน และการสอบไปเป็นรูปแบบออนไลน์

เมื่อการศึกษาไทยถูกเปลี่ยนรูปแบบจึงมีนักเรียน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงการเรียนแบบออนไลน์ เพราะต้นทุนทางทรัพยากรที่มีแตกต่างกันจึงทำให้เกิดปัญหาสะสม

หลังการระบาดของโควิด-19 สังคมจึงเริ่มตั้งคำถามถึงความเหลื่อมล้ำที่สะสมในสังคมไทยมาอย่างยาวนานว่า เราจะสร้างการศึกษาใหม่อย่างไรเพื่อให้นักเรียน นักศึกษา นิสิตทุกคนที่มีต้นทุนทางทรัพยากรและทางสังคมที่แตกต่างสามารถเข้าถึงการศึกษาในระบบอย่างทั่วถึง อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาพลเมืองเข้าสู่สังคมอย่างมีคุณภาพและช่วยพัฒนาศักยภาพของพลเมืองให้สามารถใช้ชีวิตอยู่กับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ระหว่างที่โรคโควิด-19 ระบาด ณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้ลงนามในประกาศกระทรวงฯ ปิดสถานศึกษาทั่วประเทศ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม 2563 กระทั่งปลดล็อกให้สถานศึกษากลับมาเปิดเทอมอีกครั้งต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา 

ก่อนที่นิสิตนักศึกษาจะกลับมาพบเจอกันอีกครั้งในช่วงเปิดเทอม หลายคนต่างเจอสารพัดปัญหาจากคำสั่งของรัฐบาลที่ต้องการผลักให้ทุกคนอยู่บ้านเรียนออนไลน์ แต่บางคนมีปัญหาการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและขาดแคลนอุปกรณ์การเรียนออนไลน์อย่าง คอมพิวเตอร์  โทรศัพท์ แท็บเล็ต เป็นต้น จึงไม่อาจทำให้การเรียนออนไลน์ประสบความสำเร็จ 

ปัญหาเหล่านี้เป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า การศึกษาไทยยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนไปเป็นแบบออนไลน์อย่างเต็มรูปแบบ 

สิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการเรียนออนไลน์คือ ในขณะที่หลายคนเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ หลายครอบครัวได้รับผลกระทบโดยตรง จนที่ไม่สามารถสนับสนุนการเรียนให้ลูกหลานอย่างเต็มที่ ทำให้นักศึกษาบางคนอาจจำใจลาออกและถอยหลังให้ระบบการศึกษาเพื่อลดค่าใช้จ่ายให้ครอบครัว

ขณะเดียวกันการสอบออนไลน์ก็ไม่สามารถแทนที่การสอบในห้องเรียนได้ โดยที่ผ่านมาจะเห็นว่า การสอบแบบออนไลน์เปิดโอกาสให้มีช่องโหว่ให้ผู้เรียนสามารถทุจริตมากกว่าการสอบปกติในห้องเรียน เพราะระบบการศึกษาไทยไม่เคยมีความพร้อมที่จะนำระบบการสอบออนไลน์มาใช้เต็มรูปแบบเช่นนี้ พอนำการสอบออนไลน์มาใช้ ปัญหาการทุจริตจึงเกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว 

เรื่องนี้พบเห็นได้ทั่วไปบนสื่อโลกอินเทอร์เน็ตในช่วงการสอบปลายภาคเพื่อปิดเทอมของมหาวิทยาลัยและโรงเรียนต่างๆ หรืออาจได้ยินจากนักเรียนนักศึกษาที่รู้จักหรือคนใกล้ตัวว่า ในช่วงนั้นสิ่งที่เป็นที่พูดกันถึงอย่างมากก็จะมีเรื่องการจ้างสอบแทนกัน  การเสิร์ชคำตอบจากอินเทอร์เน็ตในช่วงสอบ  การรวมกลุ่มกันกับเพื่อนเพื่อช่วยสอบกัน  ข้อสอบออนไลน์ถูกส่งต่อลงบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการช่วยกันสอบผ่านโลกออนไลน์ เป็นต้น 

นี่จึงเป็นช่องโหว่ที่น่าเป็นกังวลอย่างมากต่อระบบการศึกษาไทย 

สิ่งที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น เป็นทั้งที่พบเห็นจากประสบการณ์ตรงและจากกระแสบนโลกโซเชียลมีเดียระหว่างการระบาดหนักของโรคโควิด-19 เมื่อช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา 

ดังจะเห็นว่า รูปแบบการสอบในลักษณะนี้ไม่สามารถวัดผลการศึกษาของผู้เรียนอย่างเต็มประสิทธิภาพและการสอบออนไลน์ก็ไม่สามารถแทนที่การสอบแบบปกติ

นอกจากปัญหานี้ ยังพบว่า บางกรณีไม่สามารถเข้าถึงการสอบออนไลน์ ก็ยิ่งทำให้เห็นถึงความล้มเหลวของนโยบายและคำสั่งที่รัฐบาลบังคับใช้ โดยไม่คำนึงถึงสภาพความเป็นจริง รวมถึงไม่มีมาตรการช่วยเหลือให้นักเรียน นิสิตนักศึกษาเข้าถึงการเรียนออนไลน์อย่างเสมอภาค 

การทดลองเรียนและสอบออนไลน์ที่ผ่านมาจึงเห็นความล้มเหลวของการสั่งการจากรัฐบาลและได้ทิ้งภาระทั้งหมดให้ผู้เรียนโดยที่ไม่สามารถหาความรับผิดชอบใดๆ จากรัฐบาลเผด็จการซ่อนรูปที่อ้างความชอบธรรมว่ามาจากการเลือกตั้ง 

อนาคตต่อจากนี้ นักเรียนนักศึกษาควรเป็นเจ้าของการศึกษาที่แท้จริง ด้วยการเปิดโอกาสให้นักเรียนนักศึกษาเข้าไปมีบทบาทกำหนดนโยบายการศึกษาหรือปรับเปลี่ยนแก้ไขปัญหาโครงสร้างทางการศึกษาที่สะสมมาอย่างยาวนาน 

ก่อนที่จะถึงตรงนั้น นักเรียนนักศึกษาควรร่วมกันออกมาเรียกร้อง กดดันให้เกิดการขับเคลื่อนในวงการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีสิ่งใดที่จะต้านทานแรงลมแห่งการเปลี่ยนแปลงได้ นักเรียน นิสิต นักศึกษาจึงเป็นพลังสำคัญในการผลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินให้ระบบการศึกษาเปลี่ยนแปลง เราคงไม่อาจหวังพึงโชคชะตาหรือรอคอยโอกาสในการเปลี่ยนต่อไปอย่างลมๆ แล้งๆ จากรัฐบาลยุคเผด็จการได้ แต่ถ้าทุกคนพร้อมใจกันออกมาลุกขึ้นสู้ปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่ก็จะเป็นการชี้ให้เห็นถึงระบบการศึกษาที่ล้มเหลว 

โครงสร้างการศึกษาและนโยบายการศึกษาที่ไม่ยึดโยงกับตัวผู้เรียน ไม่มีแม้แต่ช่องทางในการรับฟังเสียงสะท้อนจากตัวผู้เรียน ทั้งที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง ดังนั้น จึงถึงเวลาแล้วที่เหล่านักศึกษา ปัญญาชนจะต้องแสดงบทบาทในการปฏิรูปการศึกษาครั้งใหญ่เพื่อไม่ให้คนรุ่นหลังต้องมาแบกรับความล้มเหลวซ้ำซากเหล่านี้

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print