เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน เรื่อง
อุบลราชธานี – เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม พ.ศ. 2563 เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานออกแถลงการณ์ต่อรัฐบาล ขณะที่นายธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ ลงพื้นที่ศึกษาดูงานการบริหารจัดการน้ำที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี
โดยแถลงการณ์ขอให้รัฐบาล หยุดขยายเวลาประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะรัฐบาลใช้โอกาสนี้ผลักดันโครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำคือ โครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล ซึ่งมีประชาชนในอีสานคัดค้าน

สุวิทย์ กุหลาบวงษ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน ให้สัมภาษณ์ในจดหมายข่าวของเครือข่ายฯ ว่า รัฐบาลใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นข้ออ้างเพื่อกีดกันการมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรน้ำในภาคอีสาน เพราะช่วงที่รัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก ฉุกเฉินฯ เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสานเห็นรัฐบาลรีบผลักดันโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และประชาชนที่คัดค้านโครงการไม่สามารถเคลื่อนไหวแสดงความเห็นต่อโครงการได้
“การจัดการน้ำของภาคอีสาน มีนักวิชาการ ภาคประชาชน ภาคประชาสังคม พูดมาหลายปีว่า ต้องจัดการน้ำแบบยั่งยืน และเราไม่เห็นด้วยกับการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ เพราะไม่มีความคุ้มค่าที่จะทำ เรายืนยันให้ยกเลิกการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และเราจะยื่นจดหมายถึงประธานกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบต่อไป” สุวิทย์กล่าว
สุวิทย์กล่าวอีกว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำโขงอีสาน จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล หน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวที่ประชาชนกังวล
ประการแรก ขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและการใช้อำนาจพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ทันที แล้วทบทวนนโยบายและโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ในภาคอีสานทั้งระบบ
“ที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการจัดการน้ำต่างๆ ยังทำตามแนวทางการจัดการน้ำแบบเดิมที่มุ่งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ตามลุ่มน้ำต่างๆ แต่บทเรียนที่ผ่านมาตลอด 6 ทศวรรษ การจัดการน้ำภาคอีสานบ่งชี้ว่า การจัดการน้ำควรสอดคล้องกับระบบนิเวศและวัฒนธรรมของพื้นที่ภายใต้บริบทของพื้นที่ที่หลากหลาย” แถลงการณ์บางส่วนระบุ
ประการที่สอง คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการจัดการลุ่มน้ำทั้งระบบ และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาแนวทางการบริหารจัดการลุ่มน้ำโขง เลย ชี มูล สงคราม ต้องทบทวนบทบาท การทำงาน และการศึกษาต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ที่เกี่ยวข้องกับโครงการผันน้ำโขง-เลย-ชี-มูล และโครงการจัดการน้ำต่างๆ ตามลุ่มน้ำสาขาในภาคอีสานทั้งระบบ
“อยากให้กลับมาเริ่มต้นศึกษาและประเมินความคุ้มค่าที่แท้จริงของโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ เพราะที่ผ่านมาได้มีการละเลยการศึกษาถึงมิติความคุ้มค่าโครงการฯ แต่กลับมีมุมมองการจัดการน้ำแบบแยกส่วนและการแก้ไขปัญหาทรัพยากรน้ำระยะสั้นตามสถานการณ์เพียงเท่านั้น” แถลงการณ์บางส่วนระบุ
ด้านชาญณรงค์ วงษ์ลา ผู้ประสานงานกลุ่มฮักเชียงคาน ให้สัมภาษณ์ในจดหมายข่าวของเครือข่ายฯ ว่า การใช้อำนาจจากพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาเอื้อในการผลักดันโครงการนั้น ถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ชอบธรรม และถึงแม้จะทำครบกระบวนการ แต่ก็ขาดซึ่งความถูกต้องสมบูรณ์ เพราะไม่ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม เปรียบเหมือนกินข้าว สักแต่ว่ากินแต่ไม่อิ่มสักที
ในขณะเดียวกัน เครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสานส่งจดหมายเปิดผนึกถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในจดหมายกล่าวถึงการพัฒนาแหล่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำในภาคอีสานตลอดทั้ง 30 ปี กรณีเขื่อนปากมูล เขื่อนหัวนา เขื่อนราษีไศล ว่าได้ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายมหาศาลและใช้งบประมาณมหาศาล แต่กับไม่เกิดความคุ้มค่าและยังทำลายระบบนิเวศและวิถีชีวิตของคนอีสาน พร้อมทั้งแสดงจุดยืนคัดค้านโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำที่รัฐบาลกำลังดำเนินการและผลักดัน
สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์สาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ ม.ราชภัฏอุดรธานี ตัวแทนเครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสาน ให้สัมภาษณ์ในจดหมายข่าวฯ เช่นเดียวกันว่า อยากให้รัฐบาลทบทวนปัญหาที่มีอยู่แล้วก่อน เพราะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งก่อให้เกิดปัญหากับชุมชนที่ไม่คุ้มค่าและมีความเสียหายเป็นรูปธรรม
“ไม่อยากให้รัฐมุ่งกับการพัฒนาบนแม่น้ำโขง เพราะน้ำโขงตอนนี้ป่วยและกำลังจะตาย โขงเลยชีมูลไม่ควรทำ ลงทุนเยอะ ผลกระทบมาก เหมือนสร้างแม่น้ำสายใหม่ ชาวบ้านไม่รู้ด้วยซ้ำว่ากระทบตัวเองรึเปล่า” สันติภาพกล่าว
สันติภาพกล่าวอีกว่า เครือข่ายนักวิชาการลุ่มน้ำโขงอีสานพยายามจะทำงานวิจัยเพื่อศึกษาตามพื้นที่ที่มีโครงการสุ่มเสี่ยงเกิดผลกระทบ ทำให้ภาคประชาชนและชาวบ้านเข้มแข็ง รับรู้ข้อมูลถึงการบริหารจัดการน้ำทั้งอีสาน และเราเกาะติดสถานการณ์บนแม่น้ำโขง พร้อมทั้งเราจะทำข้อเสนอต่อรัฐบาลต่อไป