ภาพหน้าปกจาก Nøtynøte Amarin

ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง

ปรากฏการณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ของนักเรียน นิสิต และนักศึกษา กลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากเงียบหายไปช่วงการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (โรคโควิด-19) ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา

การชุมนุมครั้งนี้ กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” และกลุ่ม “สหภาพนักเรียน นิสิต นักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนท.)” เป็นหัวหอกการชุมนุม โดยเริ่มชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ ช่วงเย็นวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 แล้วลุกลามไปหลายจังหวัดในวันถัดมา (19 ก.ค. 63) อาทิ ขอนแก่น เชียงใหม่ แพร่ ลำพูน อุตรดิตถ์ อุบลราชธานี นครราชสีมา ร้อยเอ็ด มหาสารคาม อยุธยา นครสวรรค์ ชลบุรี และคาดว่าจะอีกหลายจังหวัด

เป็นที่น่าสังเกตว่า การชุมนุมครั้งนี้มวลชนมีข้อเรียกร้องที่ชัดเจนต่อรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ ให้รัฐบาลยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้เวลารัฐบาลทำตามข้อเรียกร้องภายใน 2 สัปดาห์ หากไม่ปฏิบัติตาม จะชุมนุมอีกครั้งที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อวิเคราะห์ปรากฏการณ์การชุมนุมประท้วงรัฐบาลรอบนี้ว่ามีประเด็นอะไรที่น่าสนใจในเชิงการเคลื่อนไหวทางเมืองของ “คนรุ่นใหม่” 

กลุ่มนักศึกษาและประชาชนชาวจังหวัดอุบลราชธานีที่เรียกตัวเองว่า “คนอุบลฯ ไม่ทนเผด็จการ” จัดกิจกรรมด้านหน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานีเมื่อวันที่ 19 กรกฏาคม พ.ศ. 2563 ภาพโดย Nøtynøte Amarin

เงื่อนไขประท้วงสุกงอม

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้เกิดขึ้นระหว่างที่สังคมไทยกำลังเผชิญวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจอันเป็นผลกระทบจากโรคโควิด-19 บริษัทและห้างร้านลดการรับพนักงานเพิ่ม อีกทั้งยังเลิกจ้างพนักงานเดิม ผู้คนตกงาน ไม่มีรายได้ และหนี้สินเพิ่มขึ้น 

รศ.สมชัย ภัทรธนานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม กล่าวว่า นี่คือเงื่อนไขที่สำคัญที่อาจทำให้การชุมนุมประท้วงรัฐบาลครั้งนี้ได้รับความสนใจจากคนหลากหลายอาชีพ หลากหลายอายุ ไม่ใช่เพียงแค่นักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาว 

“นิสิตนักศึกษาเป็นประชาชนกลุ่มแรกที่เริ่มต้นเคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาล คิดว่าหลังจากนี้จะมีประชาชนหลากหลายกลุ่มออกมาประท้วงมากขึ้นหลังจากนี้” รศ.สมชัยกล่าว

เหตุผลดังกล่าวจึงทำให้นักวิชาการคนนี้เห็นว่า นักศึกษาจะมีบทบาทนำในช่วงแรกเท่านั้น เพราะหากการเคลื่อนไหวประท้วงขยายตัวไปสู่หลายวิชาชีพ ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายจะไม่ใช่แค่ 3 ข้อเรียกร้องเท่านั้น แต่จะมีข้อเรียกร้องอื่นเพิ่มขึ้น หากเป็นเช่นนั้น ทุกฝ่ายต้องตกลงว่าจะเสนอข้อเรียกร้องกี่ข้อ เพื่อให้ครอบคลุมทุกความต้องการของประชาชนทุกกลุ่ม 

คนหนุ่มสาวต้องการชีวิตที่ดีกว่าเดิม

การนัดชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยครั้งล่าสุดเป็นการนัดชุมนุมที่ใช้เวลาเพียง 2 วันก่อนวันชุมนุม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่เป็นวันชุมนุมจึงมีผู้คนล้นหลาม

ทั้งนี้มีสื่อบางสำนักคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน กรุงเทพฯ เมื่อเย็นช่วงวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 น่าจะมีประมาณ 3,000 – 4,000 คน 

การชุมนุมในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี ผศ.อรุณี สัณฐิติวณิชย์ คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ระบุว่า การชุมนุมครั้งนี้สะท้อนว่าประชาชนไม่พอใจการบริหารงานของรัฐบาลมีจำนวนมากขึ้น 

เธอสังเกตว่า คนที่ปราศรัยส่วนใหญ่เป็นคนอายุประมาณ 20 ปี ซึ่งเป็นคนหนุ่มสาวซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า คนหนุ่มสาวก็มีความไม่พอใจต่อการบริหารงานของรัฐบาลเช่นกัน หากได้ยินคำที่คนหนุ่มสาวปราศรัย ยิ่งเห็นชัดว่าพวกเขาต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ต้องการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศเพื่ออนาคตของพวกเขา เพราะพวกเขาต้องใช้ชีวิตในประเทศนี้อีกนาน 

“พวกเขาคิดว่า ถ้ายังปล่อยให้โครงสร้างหรือระบบกลไกต่างๆ ของรัฐเป็นแบบนี้ทำงานต่อ มันอาจไม่ทำให้ชีวิตเขาดีขึ้น เขาก็ต้องออกมาเคลื่อนไหว” ผศ.อรุณีกล่าว

“คนอุบลฯ ไม่ทนเผด็จการ” จัดกิจกรรมเพื่อให้กำลังใจกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพฯ เมื่อค่ำวันที่ 18 กรกฎาคม จนถึงเช้าวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 ภาพโดย Nøtynøte Amarin

คนหนุ่มสาวขอร่วมกำหนดอนาคตประเทศ

นอกจากนี้ ผศ.อรุณี มองว่า ข้อเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 ของคนหนุ่มสาวถือเป็นเรื่องทั่วไป หากมองนักศึกษาเป็นกลุ่มผลประโยชน์ทางการเมืองกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพื่อเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ด้วยการเลือกตั้ง เพราะนักศึกษามองว่า รัฐบาลชุดนี้เป็นตัวแทนของระบอบเผด็จการสืบทอดอำนาจมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกทั้งไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ และปัญหาปากท้องของประชาชน เป็นต้น 

เธอมองว่า การเรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญมีความน่าสนใจ เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้ทุกรัฐบาลต้องปฏิบัติตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี คำถามคือ แผนนี้ นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมในการร่างกำหนดการพัฒนาอนาคตพวกเขาหรือไม่ มีเยาวชนคนรุ่นใหม่กี่คนที่เข้าไปร่วมในการร่างแผนยุทธศาสตร์นี้ อีกทั้งทุกแผนยุทธศาสตร์จะเชื่อมโยงการใช้เงินของรัฐในอนาคต 

“คนรุ่นใหม่ก็อยากมีอนาคตที่พวกเขาต้องการ อยากกำหนดเอง แต่ที่ผ่านมาเยาวชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแผนอนาคตประเทศ ไม่แปลกที่พวกเขาจะรู้สึกว่ามันเป็นอนาคตที่ต้องอยู่โดยที่ไม่ได้ร่วมกำหนดแผนพัฒนาประเทศเลย” นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สังเกตปรากฏการณ์ของคนรุ่นใหม่ 

คนหนุ่มสาวเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้

สำหรับ ปฐวี โชติอนันต์ สาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ ม.อุบลราชธานี มองว่า นักศึกษาคนหนุ่มสาวอาจเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ เพราะตอนนี้สังคมไทยคาดหวังกับพลังนักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีขึ้น เพราะผู้ใหญ่หรือคนที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมามองว่า นักศึกษาและคนหนุ่มสาวเป็นพลังบริสุทธ์ เคยไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเรื่องเสื้อสี 

ส่วนคำถามที่ว่าคิดว่า นักศึกษาและคนหนุ่มสาวจะนำสังคมได้หรือไม่นั้น ปฐวีตอบไม่ได้ แต่เขาคิดว่า ปัจจุบันคนหนุ่มสาวก็เป็นประชาชนกลุ่มหลักที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วคนหนุ่มสาวเหล่านี้ไม่ยอมให้ผู้ใหญ่ควบคุมหรือครอบงำความคิด อีกทั้งความคิดทางการเมืองของพวกเขาแสดงผ่านข้อเรียกร้องสามข้อที่สะท้อนวิธีคิดของเขาว่าเชื่ออย่างไร คิดเรื่องการเมืองอย่างไร 

“ผมคิดว่าไม่มีใครนำหรือครอบงำนักศึกษาเหล่านี้ได้ เพราะนักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวแต่ละคนมีความคิด ความเชื่อ และเหตุผลที่จะนำตัวของเขาเอง พวกเขารับรู้ข้อมูลข่าวสาร การเมือง บทวิเคราะห์ บทวิจารณ์การเมืองด้วยตัวเอง ทำให้เขามีเหตุผลในการกระทำทางการเมืองและมีส่วนร่วมทางการเมือง” ปฐวีกล่าว

วาทกรรม “เด็ก” เป็นเครื่องมือทางการเมืองตกยุคแล้ว

อย่างไรก็ตาม รศ.สมชัยมีแนวคิดเห็นสอดคล้องกับปฐวีที่ว่า นักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวรุ่นนี้ยังเป็นพลังบริสุทธ์ ในแง่ที่ว่าพวกเขาไม่ได้เคลื่อนไหวประท้วงรัฐบาลเพื่อสินจ้าง รางวัล หรือตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง

“สิ่งที่พวกเขาต้องการคือความเป็นธรรมในสังคม ต้องการประชาธิปไตย  เสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง ต้องให้ประชาชนทุกคนเป็นมีอำนาจสูงสุด เป็นเจ้าของประเทศ” สมชัยกล่าว

โดย รศ.สมชัยมองว่า นักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาวมีความเข้าใจการเมืองอย่างเชิงลึก เข้าใจปัญหาการเมืองเชิงโครงสร้าง เข้าใจความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจกับการเมือง รวมถึงการเมืองในชีวิตประจำ เข้าใจความซับซ้อนทางการเมือง กลุ่มการเมืองไหนต้องการอะไร นักศึกษาวิเคราะห์ได้ 

“วาทกรรมแบบเก่าที่ว่านักศึกษาเป็นเด็ก กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ผู้ใหญ่ เป็นความคิดของคนตกยุค หากคุยการเมืองกับนักเรียน นักศึกษา และคนหนุ่มสาว จะรู้ว่าพวกเขารับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมโลก การเมืองโลกและการเมืองในประเทศค่อนข้างเยอะ” รศ.สมชัยกล่าว

คนรุ่นใหม่ที่เรียกตัวเองว่า คนอุบลฯ ไม่ทนเผด็จการ ปราศรัยโจมตีการทำงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา บริเวณด้านหน้าศาลหลักเมือง จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา ภาพโดย Nøtynøte Amarin

ชุมนุมประท้วงรัฐบาลที่ไหนก็ได้

ทั้งนี้ ปฐวีไม่แปลกใจกับจำนวนของผู้ชุมนุม เพราะหากย้อนดูการชุมนุมทั่วประเทศหลังการยุบพรรคอนาคต ซึ่งเป็นช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ก็มีการชุมนุมถึง 18 ครั้งภายใน 2 เดือน 

“การชุมนุมครั้งนี้เสมือนเป็นการกลับมาชุมนุมใหม่ที่จำนวนคนออกมาร่วมชุมนุมมากกว่าครั้งก่อน” ปฐวีกล่าว

ประเด็นสำคัญที่น่าสนใจสำหรับปฐวีคือ การชุมนุมของนักเรียน นิสิต นักศึกษาครั้งนี้ ออกมานอกโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ซึ่งหมายความว่า พวกเขาไม่กลัวและพร้อมที่จะเผชิญกับกฎหมายควบคุมการชุมนุม เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ เป็นต้น 

“ผมคิดว่า ผู้ชุมนุมต้องการยืนยันสิทธิทางการเมืองของพวกเขาว่าเขามีสิทธิ์ชุมนุมทางการเมือง ไม่ใช่แค่ในมหาวิทยาลัย และทุกที่เขามีสิทธิ์ที่จะชุมนุมได้ ในฐานะที่เขาเป็นพลเมืองไทยคนหนึ่ง” ปฐวีกล่าว

ไม่ได้ชุมนุมเฉพาะบนโลกออนไลน์  

การรวมมวลชนเพื่อชุมนุมอย่างรวดเร็วก็เป็นสิ่งที่น่าสนใจ โดยเห็นว่า บางคนแบกลำโพง บางคนตั้งเวทีขนาดเล็ก จากนั้นประชาชนคนไหนก็สามารถขึ้นเวทีปราศรัยวิจารณ์การทำงานรัฐบาลได้ ซึ่งปฐวีเห็นว่า รูปแบบการจัดชุมนุมแบบนี้คือการจัดตั้งการชุมนุมแบบดาวกระจาย ซึ่งหมายถึงว่า การจัดตั้งขบวนการเคลื่อนไหวเป็นแบบแนวนอน ไม่มีแกนนำสั่งการ หรือรูปแบบการชุมนุมที่เป็นระบบ 

“เป็นการชุมนุมเคลื่อนไหวแบบรวดเร็ว ซึ่งการจัดการชุมนุมแบบนี้แทบไม่ต้องลงทุนอะไรมากเหมือนการชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมา แค่ลำโพง ไมค์ ชูป้าย พูด แล้วก็แยกย้ายกันกลับ” ปฐวีกล่าว

สำหรับปฐวี การจัดตั้งการชุมนุมแบบนี้ถือว่ายั่งยืนเพราะมีความยืดหยุ่นสูง เพราะไม่ต้องไปยึดติดกับคำสั่งของแกนนำหรือคนให้ทุนสนับสนุนการเคลื่อนไหว ทุกคนสามารถเป็นคนจัดการชุมนุม คนที่ร่วมชุมนุมก็สามารถเป็นสื่อเผยแพร่การชุมนุมได้ด้วยตัวเอง 

“ทุกคนสามารถประท้วงแพร่ภาพได้ตลอดเวลา ไม่ต้องฟังคำสั่งการแกนนำ  เพราะทุกคนมีเป้าหมายการชุมนุมเหมือนกัน แต่แค่วิธีการชุมนุมต่างกันตามแต่ละพื้นที่ ซึ่งคิดว่าดี เข้ากับวิถีชีวิตของคนหนุ่มสาวคนรุ่นใหม่” ปฐวีกล่าว

image_pdfimage_print