ขอนแก่น – เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม พ.ศ. 2563 เวลา 15.00 น. ศาลจังหวัดขอนแก่นพิจารณายกคำร้องขอปล่อยตัว “ทิวากร วิถีตน” ผู้สวมเสื้อ “เราหมดศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” จากโรงพยาบาลขอนแก่นจิตเวชราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น 

การพิจารณาของศาลเกิดขึ้นหลังจาก จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ “ไผ่ ดาวดิน” ในฐานะเลขาคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ได้ยื่นคำร้องต่อศาลขอนแก่นเมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 63) เพื่อให้พิจารณาว่า การนำตัวทิวากรไปไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชนั้น “ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” 

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังขอให้ทิวากรได้มีโอกาสชี้แจงต่อศาลว่ายินยอมให้เข้ารักษาอาการป่วยทางจิตที่โรงพยาบาลขอนแก่นจิตเวชหรือไม่ รวมถึงให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจิตเวชหรือตัวแทนคณะแพทย์ที่เป็นเจ้าของไข้ของทิวากร วิถีตน นักจิตวิทยา ผู้กำกับการ สภ.เมืองขอนแก่น และผู้กำกับการ สภ.ท่าพระ ขึ้นให้การต่อศาลถึงรายละเอียดการควบคุมตัวทั้งหมด

พูนสุข พูนสุขเจริญ (ซ้าย) และมนทนา ดวงประภา (ขวา) ทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นคำร้อง

พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นทนายความผู้ยื่นคำร้อง ให้สัมภาษณ์เดอะอีสานเรคคอร์ดหลังฟังคำสั่งศาล โดยระบุว่า ศาลเห็นว่าผู้ร้องไม่ใช่บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ผู้ถูกร้อง (ทิวากร) แม้ว่าประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 90 (5)ตอนหนึ่งระบุว่า “…บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขังมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อยตัว…”

*อ่านรายละเอียดคำร้องเพิ่มเติมทั้งหมดได้ที่ ร้องศาลปล่อยตัว “ทิวากร” จาก รพ.จิตเวชฯ เหตุถูกควบคุมตัวโดยมิชอบ

“ทีมทนายความมองว่า ประโยคที่ว่า บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง ซึ่งผู้ร้องคือจตุภัทร์ หรือ ไผ่ ดาวดิน ก็สามารถเป็นบุคคลอื่นตามที่กฏหมายระบุได้ ซึ่งไผ่ยื่นคำร้องดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง (ทิวากร) โดยต้องการให้สังคมได้ทราบจากปากทิวากรว่ายินยอมเข้าโรงพยาบาลจิตเวชเองหรือถูกบังคับให้เข้า” พูนสุขกล่าว

กลุ่มนักศึกษาที่มาให้กำลังใจทิวากร แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการชูป้ายข้อความว่า “เสรีภาพความคิด ปล่อยตัวทิวากรเดี๋ยวนี้” บริเวณหน้าโรงพยาบาลขอนแก่นจิตเวชราชนครินทร์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 17 กรกฏาคม พ.ศ. 2563 

พูนสุขกล่าวอีกว่า พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 ระบุหลักการว่า การบำบัดรักษาจะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย แต่ในเอกสารคำร้องและคำให้การของผู้ร้องคือจตุภัทร์ ก็ระบุว่าทิวากรสามารถสื่อสารพูดคุยอย่างมีสติสัมปชัญญะและมีความสามารถในการตัดสินใจเองได้ ไม่ได้มีลักษณะที่เป็นอันตรายต่อผู้อื่น หรือมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษา จึงต้องอาศัย “ความยินยอมของบุคคลดังกล่าวเอง” ไม่ใช่ความยินยอมของญาติหรือบุคคลอื่น

“แม้วันนี้ศาลจะไม่ได้อธิบายลงรายละเอียดถึงเหตุผลว่าทำไมจตุภัทร์ ไม่ใช่บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง แต่ศาลก็พูดประมาณว่า คนที่จะยื่นคำร้องขอปล่อยตัวได้ต้องเป็น บิดา มารดา สามี ภรรยาหรือญาติเท่านั้น” พูนสุขกล่าว

“การยกคำร้องครั้งนี้ ศาลพิจารณายกคำร้องในเชิงเทคนิคทางกฎหมาย คือว่า จตุภัทร์ไม่ใช่ญาติของทิวากร จึงไม่มีสิทธิ์ร้องศาลปล่อยตัว แต่ศาลไม่ได้พูดว่า การควบคุมตัวทิวากรในโรงพยาบาลจิตเวชนั้นชอบด้วยกฏหมายหรือไม่อย่างไร” 

หากวิเคราะห์ในนามศูนย์ทนายความสิทธิมนุษยชนไม่ใช่ทนายความผู้ร้อง พูนสุขวิเคราะห์ว่า หากศาลพิจารณาตีความประโยคว่า บุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง ตามที่กล่าวข้างต้นนั้น จะเท่ากับว่า หลังจากนี้คำว่า “บุคคลอื่นใด” จะมีความหมายแคบลงทั้งที่ตามกฎหมายเปิดช่องให้ “บุคคลอื่นใด” ที่ไม่ใช่บิดา มารดา สามี ภรรยาหรือญาติสามารถช่วยเหลือผู้ถูกคุมขังได้ 

หลังจากนี้จะมีการยื่นขอปล่อยตัวทิวากรจากโรงพยาบาลต่อศาลอีกหรือไม่นั้น ทางทนายความและผู้ร้องจะขอพูดคุยกันก่อน

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นักกิจกรรมทางการเมืองโพสต์ภาพถ่ายคู่กับกับ ทิวากร วิถีตน บนเฟซบุ๊ก Pai Jatupat หลังทิวากรถูกนำตัวไป ร.พ.จิตเวชราชนครินทร์ขอนแก่น พร้อมตั้งสถานะข้อความว่า “คนหมดศรัทธาไม่ใช่คนบ้า คนสั่งนั่นแหละบ้า”

ด้านจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ผู้ยื่นคำร้องให้ปล่อยตัวทิวากร ให้สัมภาษณ์ว่า รู้สึกเสียใจที่ศาลพิจารณายกคำร้อง ต่อจากนี้อาจมีการเคลื่อนไหวเพื่อเชิญชวนคนในสังคมร่วมช่วยเหลือให้มีการปล่อยตัวทิวากร 

“หากศาลไม่ช่วยเหลือ เท่ากับว่าตอนนี้ไม่มีช่องทางตามกฎหมายในการช่วยเหลือให้ทิวากรได้ออกจากโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อขึ้นศาลชี้แจงว่าเขายอมรับว่าเขามีอาการป่วยทางจิตและยินยอมเข้ารักษาอาการป่วยทางจิตตามที่โรงพยาบาลขอนแก่นจิตเวชหรือไม่” จตุภัทร์กล่าว 

จตุภัทร์แสดงความคิดเห็นต่อกรณีนี้ว่า การที่เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและบุคลากรทางการแพทย์นำตัวทิวากรไปไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวชฯ หลังจากที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่ศรัทธาสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยนั้น เหมือนต้องการหยุดการแสดงออกของทิวากร ด้วยการนำเข้าโรงพยาบาลจิตเวชแทนการจับกุมเข้าเรือนจำ

“หากทิวากรทำผิดจริง ก็ควรใช้ขั้นตอนตามกฎหมาย ด้วยการแจ้งความจับกุม ขึ้นศาลและทิวากรควรมีสิทธิตามกฎหมายในการต่อสู้คดี แต่กรณีนี้ เจ้าหน้าที่รัฐเลือกใช้การกล่าวหาว่าทิวากรมีอาการป่วยทางจิตแล้วกักขังไว้ที่โรงพยาบาลจิตเวช” 

ทิวากร วิถีตน ถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขนำตัวเข้าโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังจากโพสต์ภาพการสวมเสื้อที่มีข้อความว่า “เราหมดศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์” บนเฟซบุ๊กส่วนตัว

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้องกับ “ทิวากร วิถีตน” ได้ที่ คุมตัว “ทิวากร วิถีตน” ใน ร.พ.จิตเวช จ.ขอนแก่นยังไร้วี่แววปล่อยตัว

image_pdfimage_print