วิทยากร โสวัตร เรื่อง
ถ้ามีโอกาสผ่านไปทางเมืองปากเซ ลาวใต้ ผมอยากให้คุณแวะไปที่สนามแดง สนามหญ้ากลางแจ้งอยู่ฝั่งขวามือก่อนจะถึงสถานีขนส่ง ที่นั่นจะมีอนุสาวรีย์สำนึกบุญคุณ ด้านหลังจะมีหลุมศพเรียงอยู่ประมาณ 10 หลุมเศษ ถ้าจำไม่ผิด น่าจะเป็นหลุมที่ 2 หรือไม่ก็ 3 จากซ้าย มีชื่อจารึกหน้าหลุมศพว่า ท่านมะนี เฮืองวงสา ถ้าเห็น วานคุณหยุดอยู่ตรงนั้น แล้วช่วยวางดอกไม้สักดอกลง (ถ้ามี) จากนั้นให้สงบนิ่งสักครู่เพื่อให้เกียรติแก่ดวงวิญญาณของผู้ตาย เพราะนั่นคือเสรีไทยอีสาน
เสรีไทยเล็กๆ คนหนึ่งจากอุบลราชธานี!
หลุมศพ ท่านมะนี เฮืองวงสา
ผมมีความเชื่อมโยงกันบางอย่างของเสรีไทยอีสาน 2 ท่านในหนังสือ 2 เล่ม (บันทึกลับของเสรีไทยภูพานและมีเธอเคียงฉันนิรันดร) นั่นคือ ทั้งสองต่างเป็นเสรีไทยอีสานที่ผ่านการฝึก เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกู้ชาติในภาวะสงครามก็ข้ามไปช่วยขบวนการลาวอิสระและขบวนการประเทศลาวกอบกู้อิสรภาพ ทั้งสองต่างเป็นนายทหารระดับผู้นำ
ต่างก็แต่คนแรก (จากหนังสือบันทึกลับของเสรีไทยภูพาน) เป็นหนุ่มโสด เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกอบกู้บ้านเมืองแล้วก็ข้ามฝั่งเพื่อไปช่วยลาวรบโดยตรง ในสมรภูมิทางลาวเหนือ แถวล่องแจ้ง และตายในสนามรบโดยฝีมือของนักรบไทยที่รับจ้าง ซี.ไอ.เอ. สหรัฐฯ ไปรบ (ซี.ไอ.เอ. สหรัฐฯ ทำสัญญาลับกับรัฐบาลไทยและกองทัพไทย)
ส่วนคนที่สอง (จากหนังสือมีเธอเคียงฉันนิรันดร) มีครอบครัว เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจกอบกู้บ้านเมืองจากภัยสงครามแล้วก็วางมือ แต่เมื่อ 4 รัฐมนตรีอีสานถูกฆ่าจากฝ่ายอำนาจนิยมเผด็จการทหารและตำรวจไทย เขาก็ถูกคุกคาม โดยระหว่างนั้นก็คงมีเพื่อนเสรีไทยอีสานถูกตามล้างตามฆ่าจากตัวแทนอำนาจรัฐส่วนกลาง เขาจึงหลบหนีไปประเทศลาวในรูปของพระภิกษุธุดงค์ข้ามช่องเขา (ช่องเม็ก) มุ่งหน้าสู่ภูมะโรง ดินแดนลาวใต้
กระทั่งการต่อสู้กับจักรวรรดินิยมอเมริกา (ซึ่งตอนนั้นรัฐบาลสหรัฐฯ ในนามของพี่ใหญ่แห่งโลกเสรีได้สนับสนุนเผด็จการในประเทศโลกที่สามเพื่อสู้กับขบวนการคอมมิวนิสต์) เข้มข้นขึ้น เพื่อนฝูงที่เป็นเสรีไทยอีสานที่เคยฝึกด้วยกันและอาสาเข้าไปช่วยรบเพื่อปลดปล่อยประเทศลาวให้เป็นอิสระจากประเทศมหาอำนาจมาชวนให้สึกเพราะรู้ว่าเขามีความสามารถในการรบ จึงได้ลาสิกขา เปลี่ยนชื่อ และนามสกุลออกไปจับปืน
และเขาอยู่ร่วมสู้รบจนได้รับชัยชนะ !
ราวๆ กลางปี 2554 ผมได้รับการติดต่อให้ช่วยเช็คข้อมูลและเป็นบรรณาธิการให้หนังสือเล่มหนึ่ง เขียนโดยคนไทยที่ตอนนั้นเป็นเจ้าของ (สัมปทาน) ตาดฟานรีสอร์ท ที่น้ำตกตาดฟาน ลาวใต้ เธอเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสาวรีย์แห่งความรักความผูกพันกับน้ำตกตาดฟานและผู้คนที่เกี่ยวข้อง
ตลอดสองปีของการเก็บข้อมูลและตรวจเช็คข้อมูล ผมเข้าออกลาวใต้เป็นว่าเล่น จึงได้รู้จักชีวิตเสรีไทยอีสานคนนี้ เพราะเขาเป็น “ลุง” ของคนเขียนหนังสือเรื่องมีเธอเคียงฉันนิรันดร และเป็นคนพาเธอไปรู้จักน้ำตกตาดฟาน ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของแขวงลาวใต้ จนทำให้เธอได้ทำตาดฟานรีสอร์ทขึ้น
บันทึกของเธอช่วยผมได้มาก ทำให้ผมทำงานได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนที่เป็นปากคำของ “เจ้าลุง” (เธอเรียก ลุง คนนี้ว่า เจ้าลุง และเจ้าลุงคนนี้ก็เรียก ปรีดี พนมยงค์ ด้วยภาษาลาวว่า “อ้าย” (พี่) ด้วยความเคารพทุกครั้งที่เอ่ยถึง) ผมใช้ข้อมูลจากบันทึกตรวจสอบข้อมูลประวัติศาสตร์จากหนังสือต่างๆ ที่ผมมี และใช้ข้อมูลที่ผมมีตรวจสอบข้อมูลจากบันทึก (ก็สนุกไปอีกแบบ)
ปกหนังสือ “มีเธอเคียงฉันนิรันดร” เขียนโดย กระดาษแก้ว (ซ้าย) และ มะนี เฮืองวงสา (ขวา)
เนื้อหาภายในเล่มให้ภาพที่ชัดเจน เข้าใจง่าย…
“เหตุการณ์ช่วงที่ฝรั่งเศสกลับเข้ามาภายหลังฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงคราม ทางลาวใต้นี้ ฝรั่งเศสได้รับความช่วยเหลือจากอเมริกาและเจ้าบุญอุ้ม ซึ่งทำให้ฝรั่งเศสสามารถยึดที่ราบสูงบอลิเวนและทางหลวงหมายเลข 9 ซึ่งเป็นเส้นทางสำคัญสุดในการเชื่อมลาวภาคกลางกับเวียดนาม และใช้ทหารที่ปากเซนี้เองช่วยรบที่สวรรณเขตจนได้รับชัยชนะ
จากนั้นก็เข้าตีที่ท่าแขกเรื่อยไปถึงเวียงจัน ถือเป็นสมรภูมิที่สู้กันดุเดือดที่สุดกับฝ่ายลาวอิสระ แต่สุดท้ายก็แตกพ่ายให้ฝรั่งเศสในช่วงวันที่ 24 เมษายน ค.ศ. 1946 เมื่อยึดหลวงพระบางได้ ในเดือนต่อมาฝ่ายลาวที่ต่อต้านก็ได้ยุติลง
ทหารฝรั่งเศสได้เข่นฆ่าประชาชนอย่างโหดร้ายป่าเถื่อนที่สุด โดยเอาเด็กน้อยยัดใส่กระสอบป่านแล้วทิ้งลงแม่น้ำโขงหรือทิ้งลงในบ่อน้ำให้จมน้ำตาย เอาประชาชนไปยืนเรียงแถวริมแม่น้ำโขงแล้วยิงทิ้ง ทำให้แม่น้ำโขงเต็มไปด้วยซากศพ
“ขณะเดียวกันในทางฝั่งไทยนั้น อ้ายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะหัวหน้าสูงสุดของเสรีไทย ได้สนับสนุนการต่อสู้เพื่อเอกราชของลาว โดยได้นำกองกำลังลาวมาฝึกที่เทือกเขาภูพานตั้งแต่สงครามโลกยังไม่สิ้นสุด ฝึกแล้วก็มอบอาวุธให้ด้วย เมื่อรัฐบาลลาวอิสระพ่ายแพ้ ก็หนีออกนอกประเทศโดยมีที่ลี้ภัยอยู่ที่เมืองไทย จัดตั้งเป็นรัฐบาลพลัดถิ่นก็ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลไทยซึ่งมีอ้ายปรีดี พนมยงค์ เป็นนายกรัฐมนตรีเป็นอย่างดี
กระทั่งวันที่ 8 พฤศจิกายน 1947 เมื่อพลโทผิน ชุณหะวัน ทำรัฐประหารโค่นรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ไม่นานจอมพล ป. พิบูลสงคราม ก็ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วก็สั่งยกเลิกนโยบายช่วยเหลือรัฐบาลลาวพลัดถิ่นทันที
จากนั้น นักการเมืองหรือกลุ่มบุคคลสายอ้ายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถือว่าเป็นศัตรูทางการเมือง ก็โดนกวาดล้าง
ฝ่ายรัฐบาลลาวพลัดถิ่นก็ได้รับความลำบากอย่างมาก ประกอบกับนโยบายการเมืองของฝรั่งเศสประกาศนิรโทษกรรมพวกลาวอิสระและเสนอตำแหน่งในรัฐบาลให้ และยังให้เงินอีกคนละ 800,000 กีบ กับใช้หนี้ระหว่างที่มาอยู่ประเทศไทยให้ด้วย
คณะรัฐบาลลาวพลัดถิ่นหรือกลุ่มลาวอิสระก็แตกออกเป็น 3 กลุ่ม คือ หนึ่ง กลุ่มเจ้าเพชราชที่ไม่ยอมต่อฝรั่งเศสแล้วล้างมือทางการเมืองและไม่กลับประเทศ สอง กลุ่มที่ยอมตามแล้วกลับประเทศ (ต่อมาหลายคนกลายเป็นฝ่ายขวาจัดและขึ้นต่อรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่เข้ามาแทนที่ฝรั่งเศส) และสาม กลุ่มเจ้าสุภานุวงศ์และท่านสิงกะโปร์ที่ยังดำเนินการต่อต้านฝรั่งเศสในเขตปลดปล่อยรวบรวมผู้มีอุดมการณ์เดียวกันในประเทศลาวและเพื่อนบ้านโดยขอความช่วยเหลือหลักจากเวียดนาม
เดือนกุมภาพันธ์ 1954 กองทัพแนวลาวอิสระเปิดฉากเข้าตีที่ราบสูงบอลิเวนหรือภูเพียง ปลดปล่อยแขวงอัตตะปือ ที่ราบสูงบอลิเวน ตัวเมืองเหล่างาม แขวงสาละวันได้สำเร็จ”
จากนั้น 21 ปี (ค.ศ.1975) อดีตเสรีไทยอีสาน (อุบลราชธานี) คนนี้ก็เคลื่อนพลมาหยุดอยู่ที่หลัก 8 เพื่อตั้งขบวนชัยประชาชนเคลื่อนเข้าสู่ตัวเมืองปากเซ ประชาชนในเมืองปากเซตั้งแถวโบกธงแดงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่
และเขาก็เป็นแกนหลักคนหนึ่งที่ผลักดันให้เกิดการเชื่อมสัมพันธไมตรีกับไทย และภายหลังจากนั้น 10 ปี (ค.ศ.1985) เขาก็ได้กลับมาเยือนบ้านเกิดเมืองนอนคืออุบลราชธานีอีกครั้ง ได้กลับมาหาลูกชายที่แทบจะจำหน้าพ่อไม่ได้เพราะตอนพ่อหนีไปนั้นอายุประมาณ 2-3 ขวบ เมื่อโดนคนล้อว่าเป็นลูกกำพร้า กลับมาถามแม่ว่าพ่อไปไหน แม่ก็ไม่มีคำตอบ ได้แต่บอกว่าพ่อบวชเป็นพระธุดงค์แล้วชี้ไปทางเมืองลาว
33 ปี จึงได้พบหน้าลูก!
ถ้าคุณไม่ใช่พ่อแม่คน คุณจะไม่เข้าใจความทุกข์ความเจ็บปวดที่ต้องทิ้งลูกน้อยหายไปจากชีวิตน้อยๆ นี้โดยไม่รู้ว่าชาตินี้จะได้พบกันอีกไหม
คำถามคือ อะไรทำให้พ่อต้องทิ้งลูกที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ไป?
ในหนังสือบอกว่า ปี 2528 มีขบวนรถของคณะรัฐมนตรี พร้อมทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บัญชาทหารบก (ผบ.ทบ.) พาเจ้าหน้าที่ระดับสูงของประเทศลาวมาที่บ้านตามคำขอของเจ้าหน้าที่ลาวท่านนั้น ว่า ‘มีพี่น้องอยู่แถวนี้อยากไปเยี่ยมยามถามข่าว’ เมื่อมาถึง ท่านก็ถามหาพ่อ (ของผู้เขียนหนังสือมีเธอเคียงฉันนิรันดร)
นั่นคงเป็นช่วงที่สองประเทศฟื้นความสัมพันธ์และเตรียมการเปิดด่านชายแดนเพื่อเปลี่ยนสนามรบให้เป็นสนามการค้า จากวันนั้น การเข้า-ออกผ่านทางช่องเม็ก-วังเต่าของคนสองประเทศ(ลาว-ไทย) ก็สะดวกขึ้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้
และถ้าคุณมีโอกาสผ่านไปทางสนามแดงเมืองปากเซ ลาวใต้ ที่หลังอนุสาวรีย์สำนึกบุญคุณมีหลุมศพหลุมหนึ่งจารึกชื่อ
ท่านมะนี เฮืองวงสา
18-11-1918 – 22-6-2004
อาดีดคะนะปะจำพักแขวงจำปาสัก – ปะทานปกคองแขวง
หัวหน้าผะแนกกะสิกำแขวง – กำมะกานสูนกางแนวลาวส้างซาด
ปะทานแนวลาวส้างซาดแขวง – สะมาซิกสะพาแห่งซาด เขต 152
ปะทานหอสะพากานค้า 4 แขวง พากไต้
เขาคือเสรีไทยอีสานจากอุบลราชธานี
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด