ขอนแก่น – คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) สมัชชาคนจน ร่วมกับหลายเครือข่าย จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญคนจน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2563 ที่จังหวัดขอนแก่น มีตัวแทนจากหลายเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 100 คน ถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ด
“รัฐธรรมนูญใหม่ต้องต้องลดอำนาจและงบประมาณของทหารเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้หญิงและประชาชน”สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจน ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
สมปอง เวียงจันทร์ แกนนำสมัชชาคนจนและตัวแทนกลุ่มผู้หญิงนักปกป้องสิทธิ เสนอประเด็นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องลดอำนาจการกระจุกตัวและกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการจัดการ รวมทั้งการตัดสินใจและมีส่วนร่วม
“รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสนับสนุนสวัสดิการ การศึกษาถ้วนหน้าให้ผู้หญิงทุกกลุ่มและต้องลดอำนาจและงบประมาณของทหารเพื่อนำมาจัดสรรสวัสดิการให้กับผู้หญิงและประชาชน” ตัวแทนสมัชชาคนจนกล่าว
ตัวแทนกลุ่มผู้หญิงนักปกป้องสิทธิยังกล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญใหม่ควรเป็นรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าที่มีคุณภาพ โดยต้องให้ผู้หญิงกลุ่มต่างๆ เข้าถึงที่อยู่อาศัยและเป็นตัวแทนในคณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับรัฐสวัสดิการในทุกระดับอย่างน้อย 50% เป็นต้น
“พวกเราในเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานร่วมกันในภาคอีสานทั้งหมดต้องร่วมกันผลักดัน เพราะไม่ใช่ว่าเสนอไปแล้วจะจบ เราต้องร่วมแรงกันเพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปปฏิบัติให้ได้” สมปองกล่าว
“ผมเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกฉีกอีกแน่นอน จึงไม่ควรนำทุกอย่างไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ” รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์
จากนั้น รศ.อลงกรณ์ อรรคแสง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม บรรยายพิเศษหัวข้อ “รัฐธรรมนูญคืออะไร ทำไมเราต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560” ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่น่าสงสัยว่าเป็นกฎหมายสูงสุดอย่างแท้จริงหรือไม่ ถ้ามันสูงสุดจริงๆ ทำไมในประเทศไทยจึงถูกฉีกทิ้งบ่อยครั้ง
เขากล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีเฉพาะที่เป็นกระดาษหรือที่เรียกว่า รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรเท่านั้น แต่ยังมีรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมที่มีผลกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคมที่มีความเข้มแข็งกว่ารัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษร เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับลายลักษณ์อักษรถูกฉีกแล้วฉีกอีก แต่ฉบับที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรไม่เคยถูกฉีกเลย
“ผมเชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะถูกฉีกอีกแน่นอน ดังนั้นจึงไม่ควรนำทุกอย่างไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญ ต้องช่วยกันทุบการรวมศูนย์และกระจายอำนาจมาอยู่ที่ประชาชน” รศ.อลงกรณ์กล่าว
วุฒิสภาอำนาจล้นฟ้า
นักวิชาการจากวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม ยังตั้งคำถามถึงอำนาจของวุฒิสมาชิก หรือ ส.ว. ที่มีจำนวน 250 คน ซึ่งไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่กลับมีอำนาจมาก อย่างนี้เหมาะสมหรือไม่
“อำนาจของ ส.ว. เป็นสิ่งที่ต้องคิดตอนแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคุณไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่คุณมีอำนาจมาก โดยเฉพาะการแต่งตั้งองค์กรอิสระที่ถือว่าเป็นอำนาจอธิปไตยอันที่ 4 แต่คนแต่งตั้งกลับไม่ได้มาจากประชาชน” รศ.อลงกรณ์กล่าว
นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ยังกล่าวถึงหลักการแบ่งแยกอำนาจที่แบ่งอำนาจออกเป็นฝ่าย ได้แก่ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ แต่รัฐธรรมนูญไทยตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบัน องค์กรศาลยังไม่มีการตรวจสอบหรือถ่วงดุลกับสภาผู้แทนราษฎรเลย
“ผมขอถามว่า อำนาจของประชาชนในศาลอยู่ตรงไหน เพราะอำนาจนิติบัญญัติของประชาชนคือการเลือกตั้ง อำนาจบริหารคือการให้ผู้แทนฯ ไปเลือกนายกฯ แต่ศาลประชาชนกลับไม่มีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลเลย” รศ.อลงกรณ์กล่าว
หนุนแนวทางเยาวชนปลดแอก
จากนั้นตัวแทนเครือข่ายประชาชนอีสานจึงอ่านแถลงการณ์สนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่มีข้อเรียกร้อง 3 ประการ ได้แก่ 1. ขอให้ยุบสภา 2. หยุดคุกคามประชาชน และ 3. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่
แถลงการณ์ระบุอีกว่า หลังจากที่ร่วมกันระดมความคิดเห็นเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญคนจน จึงเห็นว่า การชุมนุมเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่อื่นๆ ที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะมีพลังยิ่งๆ ขึ้น หากขบวนประชาชนในภาคอีสานจะลุกขึ้นลงสู่ท้องถนนร่วมไปกับพวกเขาด้วย จึงเป็นเวลาอันเหมาะสมแล้วที่จะให้มีการยุบสภา หยุดคุกคามประชาชน และร่างรัฐธรรมนูญใหม่
“เราจึงขอให้พี่น้องอีสานเปลี่ยนจากการสนับสนุนและให้กำลังใจกันในโลกออนไลน์ลงสู่ท้องถนนร่วมกับเยาวชนและคนรุ่นใหม่เหล่านี้” แถลงการณ์เครือข่ายประชาชนอีสานระบุ