1

ทำไมต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน

เดอะอีสานเรคคอร์ดจัดเสวนาหัวข้อ “ทำไมต้องยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” (ภาคอีสาน) มีตัวแทนจากนักศึกษา นักวิชาการ และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศร่วมพูดคุย โดยถ่ายทอดสดทางเฟซบุ๊กเดอะอีสานเรคคอร์ด เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา 

การศึกษาต้องเท่าเทียม

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และตัวแทนกลุ่มขอนแก่นพอกันที แสดงความคิดเห็นถึงบทบาทนักศึกษาต่อการร่างรัฐธรรมนูญว่า นิสิตนักศึกษาถือเป็นประชาชนที่มีสิทธิเท่าเทียมกัน โดยนักศึกษาไม่ได้ถกเถียงกันว่าจะแก้มาตราไหน แต่พูดคุยกันว่าต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วร่างใหม่โดยผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกต้องประชาชน 

“พวกเราไม่อาจยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ ยิ่งผมเรียนนิติศาสตร์ก็ทำให้ไม่สามารถยอมรับกฎหมายที่มาจากเผด็จการได้” ตัวแทนกลุ่มขอนแก่นพอกันที กล่าว

“ควรยกเลิกมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ แล้วนำตัวคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาลงโทษ เพราะมีความทำฐานกบฏ ล้มล้างรัฐธรรมนูญ” วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่น

วชิรวิทย์ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญในฝันของนิสิตนักศึกษาว่า ควรมีการส่งเสริมเรื่องการศึกษาและการแสดงออก โดยให้มีการศึกษาที่เท่าเทียมและฟรีจนถึงระดับปริญญาตรี 

“อย่าลืมว่า การศึกษามันไม่ได้มีแค่เรื่องค่าเทอม มันยังมีค่าที่พัก ค่าครองชีพ นอกจากที่เขาต้องคิดเรื่องค่าเทอมเขายังต้องคิดเรื่องเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้นิสิต นักศึกษาอยากได้รัฐธรรมนูญใหม่ คือการศึกษาที่เท่าเทียมและฟรีจริงๆ” วชิรวิทย์กล่าว

เขายังอธิบายประสบการณ์ถึงระบบการศึกษาอีกว่า รู้สึกคับแค้นใจที่เห็นเพื่อนบางคนต้องมาคิดเรื่องกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ต้องมาคิดเรื่องหาทุน ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นสิ่งที่รัฐควรจัดสรรให้นักศึกษา 

“อย่างผมเป็นลูกข้าราชการ ไม่ต้องคิดเรื่องค่าเทอม แต่ทำไมเพื่อนของผมเป็นลูกชาวนา ซึ่งก็เป็นราษฎรเหมือนกัน แต่ต้องมาคิดว่าจะหาเงินจากไหน นี่คือสิ่งที่คับแค้นใจของนิสิตนักศึกษา” นักศึกษา ม.ขอนแก่นกล่าว 

ยกเลิกมาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ

ตัวแทนกลุ่มขอนแก่นพอกันทียังเสนอให้แก้ไขหมวดสิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญว่า หมวดนี้ต้องแก้ไขเพื่อป้องกันการรัฐประหารและป้องกันการฉีกรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะในมาตราสุดท้าย 279 ที่เป็นการรับรองการรัฐประหาร 

“ผมเห็นว่า มาตราสุดท้ายของรัฐธรรมนูญควรยกเลิกไป แล้วนำตัวคุณประยุทธ์ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) มาลงโทษ เพราะคุณประยุทธ์มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาในฐานกบฏล้มล้างรัฐธรรมนูญ ต้องนำคณะรัฐประหารมาลงโทษ เพื่อให้เขารู้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นมันผิดจริงๆ” นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.ขอนแก่นกล่าว 

ในฐานะตัวแทนของกลุ่มขอนแก่นพอกันที วชิรวิทย์ได้กล่าวถึงปรากฏการณ์ออกมาเคลื่อนไหวของนักศึกษาและประชาชนว่า การที่นักศึกษาและประชาชนออกมาไล่รัฐบาลนั้น การเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ลาออกคงไม่พอ สิ่งที่สำคัญคือต้องแก้รัฐธรรมนูญใหม่ 

“หากยุบสภา พวกเราก็อย่าเพิ่งดีใจ ต้องคิดเสมอว่าเขาสามารถกลับมาได้ เขามี ส.ว. ที่แต่งตั้งมากับมือ ต้องอย่าลืมว่านอกจากเราเรียกร้องให้ยุบสภา เราต้องเรียกร้องให้แก้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะกฎหมายนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญที่จะกำหนดว่าประเทศเราจะขับเคลื่อนไปทางไหน” แกนนำนักศึกษากล่าว 

“สังคมไทยยอมรับการมีอยู่จริงของคนหลากหลายทางเพศ แต่กฎหมายกลับไม่ให้สิทธิ์คุ้มครอง” อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

พ.ร.บ.คู่ชีวิต-สมรสเท่าเทียม 

อิสรีย์ อภิสิริรุจิภาส ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานและอดีตผู้สมัครพรรคอนาคตใหม่ จ.บุรีรัมย์ กล่าวว่า สังคมไทยยอมรับการมีอยู่จริงของคนหลากหลายทางเพศ แต่กฎหมายกลับไม่ให้สิทธิ์คุ้มครอง เช่น การจดทะเบียนสมรส เป็นต้น และในรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ในมาตรา 27 ก็มีการแยกตามเพศ เป็นเพศหญิง เพศชาย ดังนั้นจึงควรเพิ่มคำว่าเพศสภาพและเพศวิถีเข้าไป เพื่อให้ครอบคลุมและได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายเท่าเทียมกัน 

นอกจากนี้ประเด็นที่ควรมีการแก้ไขสำหรับกลุ่มความหลากหลายทางเพศนั้นเธอบอกว่า ขณะนี้มีการณรงค์เพื่อสร้างความเข้าใจเพื่อให้แก้ไขกฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.คู่ชีวิต และ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1448 ที่ต้องการให้สิทธิสมรสทุกอย่างเท่าเทียมกับคู่สมรสหญิงชาย 

“ตอนนี้พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คู่ชีวิตเข้าสู่สภาฯ แล้ว ส่วนกฎหมายสมรสเท่าเทียมก็อยู่ในขั้นตอนการฟังความเห็นของประชาชน กำลังเข้าสู่กระบวนการของสภา แต่ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มประเด็นอื่นๆ ที่คนหลากหลายทางเพศไม่ได้รับความเป็นธรรมและการเลือกปฏิบัติหรือเหตุแห่งเพศจากการไปใช้บริการหน่วยงานภาครัฐ หรือองค์กรใดๆ ก็อาจจะมีการนำเสนอเพิ่มเติมอีก”ตัวแทนเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสานกล่าว 

“รัฐธรรมนูญต้องยึดโยงกับประชาชน” รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ภาพโดย ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์

รศ.ดร.สามชาย ศรีสันต์ วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์ ในฐานะตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ว่า ได้ติดตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ตั้งแต่การยกร่าง ที่มาของผู้ยกร่าง และกระบวนการจัดการเลือกตั้ง ผลการเลือกตั้ง และอื่นๆ ก็พบปัญหามากมาย โดยเฉพาะคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ตั้งคำถามเป็นจำนวนมาก 

“ตอนนี้องค์กรอิสระต่างๆ ถูกตั้งคำถาม แม้แต่รัฐบาลก็ดูเหมือนว่าจะไม่ปฏิบัติตามหรือเคารพรัฐธรรมนูญเท่าที่ควร จะเห็นได้จากการกล่าวคำถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหรือกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินต่างๆ มันถูกตีความบิดเบือนได้ตลอดเวลา” นักวิชาการจากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ม.ธรรมศาสตร์กล่าว 

นักวิชาการจาก ม.ธรรมศาสตร์ ยังกล่าวอีกว่า บรรยากาศทางการเมืองตอนนี้หลายฝ่ายล้วนออกมาขานรับข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่เรียกร้องให้หยุดคุกคามประชาชน แก้รัฐธรรมนูญ และท้ายที่สุดคือ ไม่ต้องการรัฐบาลชุดนี้อีกต่อไป โดยขอให้มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่บริสุทธ์และยุติธรรม 

“ที่ผ่านมา นอกจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่ยึดโยงกับภาคประชาชน ดังนั้น เราจึงต้องทำให้รัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน” รศ.ดร.สามชายกล่าว

ตัวแทนคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน กล่าวอีกว่า จากการรวบรวมข้อมูลในเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในภาคอีสานเป็นครั้งแรก ก็พบว่า ส่วนใหญ่ต้องการให้การตรวจสอบอำนาจรัฐยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น  

“สิ่งสำคัญนอกเหนือจากเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐาน คือเรื่องความแตกต่างหลากหลายที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ใช่การแบ่งเพศเป็นชายกับหญิงหรือวัฒนธรรมอย่างเดียว แต่เป็นความหลากหลายทางชาติพันธ์ุและอื่นๆ ที่เห็นว่าควรเขียนสิทธิเหล่านี้ลงไปในรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดการยอมรับ” รศ.ดร.สามชายกล่าว