อติเทพ จันทร์เทศ เรื่องและภาพ 

อุบลราชธานี – บริเวณศาลหลักมืองอุบลฯ กลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการจัดชุมนุมภายใต้ชื่องาน “เคียงข้างเยาวชน รวมพลไล่เผด็จการ ทวงคำตอบจากรัฐบาล”  ตั้งแต่เวลา  16.00 น. วันที่ 1 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา  เพื่อสนับสนุนแนวคิดกลุ่มเยาวชนปลดแอกที่ชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยการชุมนุมครั้งนี้มีนักเรียน นักศึกษา และประชาชนมาร่วมหลายร้อย แต่น้อยกว่าการชุนนุมวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา เนื่องจากมีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน 

ว่าที่ ร.ต. ฉัตรชัย แก้วคำปอด แกนนำกลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการ บอกว่า ก่อนหน้านี้ ทางกลุ่มฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 3 ข้อ ได้แก่ หยุดคุกคามประชาชน ยุบสภา และแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีคำตอบ

ว่าที่ ร.ต. ฉัตรชัย แก้วคำปอด แกนนำกลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการ 

“เรายื่นข้อเรียกไปแล้ว 2 สัปดาห์ ตอนนี้ก็ครบกำหนดแล้ว ยังไร้คำตอบจากรัฐบาล ครั้งนี้เราจึงออกมายกระดับการชุมนุม พร้อมอภิปรายประเด็นทางสังคมที่ต้องรัดเร่งแก้ไขและเราจะยกระดับการชุมนุมขึ้นเรื่อยๆ จนกว่ารัฐบาลจะทำตามข้อเรียกร้องของประชาชน” ว่าที่ ร.ต. ฉัตรชัยกล่าว 

เขายังบอกอีกว่า การชุนนุมครั้งถัดไปจะมีการยกระดับการชุมนุมเพิ่มมากขึ้น โดยจะเชิญประชาชนให้เข้าร่วมมากขึ้นเพื่อสนับสนุนแนวคิดของกลุ่มเยาวชนปลดแอก ซึ่งตอนนี้มีการอภิปรายลงรายละเอียดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาปากท้อง ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการศึกษา รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ที่สร้างปัญหาต่อการเมือง รวมถึงพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นต้น 

การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรเมืองอุบลราชธานี ได้เข้ามาติดตามการเคลื่อนไหวและดูแลความปลอดภัยให้แก่ผู้ชุมนุม ขณะที่บริเวณทางเข้าการชุมนุมเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขจังหวัดก็มาทำหน้าที่คัดกรองเชื้อโควิด-19 ตามนโยบายของรัฐบาล

ยูเรณัฐ  (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษาวัย 19 ปี ผู้ปราศรัยเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในกิจกรรม “เคียงข้างเยาวชน รวมพลไล่เผด็จการ ทวงคำตอบจากรัฐบาล” จ.อุบลราชธานี

การชุมนุมของนักศึกษาและประชาชนครั้งนี้ ยูเรณัฐ  (ขอสงวนนามสกุล) นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งวัย  19 ปี หนึ่งในผู้ปราศัยบนเวทีในประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ กล่าวว่า การออกมาชุมนุมครั้งนี้เป็นการเรียกร้องสิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางประชาธิปไตยเท่านั้น ซึ่งเป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคน

“ที่ผ่านมา เราถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ว่าจะยัดคดีและอ้างว่ามีรายชื่อของเรา พร้อมที่จะดำเนินคดี ซึ่งทำให้เรากังวลต่อการออกมาเคลื่อนไหว แต่เรายืนยันว่า การพูดความจริงไม่ใช่สิ่งที่ผิด เราออกมาพูดในสิ่งที่ชอบธรรม การขับไล่รัฐบาลเป็นสิ่งที่ประชาชนสามารถทำได้และเชื่อว่ายิ่งมีการกดดันมากขึ้น คนรุ่นใหม่จะออกมามากขึ้น และที่สำคัญประชาชนก็จะออกมาร่วมด้วย” ยูเรณัฐกล่าวก่อนขึ้นปราศัยบนเวที 

ป้ายรณรงค์หยุดการบังคับสูญหาย/การอุ้มหาย ตั้งอยู่ใกล้เวทีจัดกิจกรรมของกลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการ โดยมีโต๊ะสำหรับแจกจ่ายป้ายผ้าและกระดาษให้ผู้ร่วมกิจกรรมเขียนแสดงความคิดเห็นด้วย

การชุมนุมครั้งนี้ ผู้ร่วมชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนได้นำป้ายข้อความที่วิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล อธิปไตยเป็นของประชาชน เผด็จการจงพินาศ ประชาธิปไตยจงเจริญ อร่อยที่สุด ภาษีประชาชน เป็นต้น

ข้อความแสดงความคิดเห็นบนกระดาษของผู้ร่วมชุมนุมที่ส่วนใหญ่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะรัฐมนตรี 

หลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลงประมาณเวลา 20.00 น. กลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการได้อ่านแถลงการณ์โดยมีสาระสำคัญดังนี้ 

เนื่องด้วยการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา รวมเป็นระยะเวลากว่า 6 ปี จากเผด็จการสู่ประชาธิปไตยครึ่งใบ ใช้อำนาจพิเศษปิดกั้นการแสดงความเห็นต่างต่อร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่ไม่ยึดโยงกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศ มีการรวมศูนย์อำนาจ เกิดความเหลื่อมล้ำสูงในสังคม ขาดความเสมอภาค ความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศถูกทำลาย  ปัญหาปากท้องประชาชนขาดการดูแล 

บัดนี้ได้ประจักษ์แล้วว่า รัฐบาลที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ผู้นำเผด็จการยึดอำนาจของประชาชน มิได้นำพาปัญหาความทุกข์ยากของประชาชนมาแก้ไขเป็นสำคัญ กลับแต่เอื้อประโยชน์สูงสุดแก่กลุ่มนายทุนใหญ่ มีความเหลื่อมล้ำในสังคมสูง ความยุติธรรมในสังคมเสื่อมถอย ประชาชนเสื่อมความศรัทธากับรัฐบาลที่มีอยู่ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนคนยากจนในสังคมได้ เมื่อกลไกของของรัฐ กระบวนการยุติธรรมในสังคมขาดความเป็นอิสระ แต่ตกอยู่ภายใต้อำนาจของผู้มีอันจะกิน ผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับการดูแลปกป้องจากรัฐอีกต่อไป 

ในฐานะประชาชน นิสิต นักศึกษา และพลเมืองผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่อาจทนต่อการดำเนินนโยบายการบริหารงานประเทศที่ขาดประสิทธิภาพและไม่มีความยึดโยงต่อประชาชนเช่นนี้อีกต่อไป จึงได้รวมตัวกันเพื่อเป็นการเรียกร้องและแสดงความคิดเห็น ตามสิทธิและเสรีภาพอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน

ทั้งนี้กลุ่มคนอุบลรวมพลไล่เผด็จการมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาล ดังนี้ 

1. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เป็นรัฐธรรมนูญที่เอื้อต่อการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลเผด็จการ เพื่อรักษาประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญจะต้องคำนึงถึงหลักการสิทธิมนุษยชน มีความยึดโยงกับประชาชนเป็นหลัก 

2. นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง รับผิดชอบกับความตกต่ำย่ำแย่ของประเทศที่ต้องเผชิญอยู่ 

3. หยุดคุกคามประชาชน รัฐบาลมีเครื่องมือหลายอย่าง เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และกฎหมายอื่นๆ ที่รัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกให้ยกเลิกกฎหมายที่ละเมิดเสรีภาพในการชุมนุม 

4. ยุบสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลสืบทอดอํานาจเผด็จการภายใต้การนําของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล้มเหลวในการบริหารเศรษฐกิจ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน

ทั้งนี้ ทางกลุ่มได้ยื่นคำขาดถึงรัฐบาลต้องดำเนินการภาย 90 วัน ตามข้อเรียกร้องนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 

อย่างไรก็ตามการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา ประชาชน ในพื้นที่ภาคอีสานยังมีอีกหลายพื้นที่ โดยวันนี้ (2 สิงหาคม 2563) เวลา 17.00 น. สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกนัดชุมนุมที่ลานหน้าเวทีบึงพลาญชัย โดยขอให้ผู้ร่วมชุนนุมนำอุปกรณ์ดังนี้มาร่วมชุมนุม ได้แก่ 1. หน้ากากอนามัยสีดำ เพื่อป้องกันเชื้อโควิด – 19 2. เสื้อสีดำ เพื่อไว้อาลัยต่ออำนาจอธิปไตยที่ประชาชนสูญเสีย และ 3. อุปกรณ์ให้ความสว่าง ไม่ว่าจะเป็นไฟฉายจากโทรศัพท์มือถือและไฟฉายกระบอกเพื่อช่วยสอดส่องดูแลผู้ร่วมชุมนุมทุกท่านอย่างทั่วถึง

ส่วนที่จังหวัดศรีสะเกษ กลุ่มนักศึกษา ประชาชนจะจัดกิจกรรม “เผด็จการเป็นเหตุ ศรีสะเกษจะไม่ทน” ที่ศาลหลักเมืองศรีสะเกษ ตั้งแต่เวลา 17.00 น. เป็นต้นไป 

image_pdfimage_print