พิณทอง เล่ห์กันต์ เรื่อง 

ในวงการกัญชา ทุกคนจะทราบดีว่า แคนาดา อิสราเอล เนเธอร์แลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร สเปน เป็นต้น พืชกัญชาถือว่าถูกกฎหมาย ทั้งในทางการแพทย์ บางประเทศอนุญาตให้ใช้ในการสันทนาการด้วยซ้ำ โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา มี 33 รัฐ กัญชาใช้ในทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมาย 

เพราะฉะนั้น การวิจัยพืชกัญชาในสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการแพทย์จึงก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ 

ธุรกิจกัญชาจึงเป็นที่น่าจับตามองสำหรับนักลงทุน ล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2563 นิตรสารฟอร์บสได้เผยแพร่บทความชิ้นหนึ่งเกี่ยวกับทีมนักวิจัยแคนาดาที่ค้นพบว่ากัญชาสายพันธุ์ Sativa ที่ให้สารสกัด CBD-C sativa ในปริมาณสูง มีโอกาสที่จะใช้ในการป้องกันและต่อสู้กับโรค Covid-19

แม้ว่าจะอยู่ในขั้นตอนการวิจัย แต่นี่ก็ถือว่าเป็นข่าวดีที่สุดแห่งปีต่อมวลมนุษยชาติมิใช่หรือ?

ผู้เขียนมีแรงบันดาลใจในการศึกษาสรรพคุณทางยาของพืชสมุนไพรกัญชาอย่างจริงจังก่อนปี พ.ศ. 2558 เพราะต้องการนำน้ำมันกัญชามารักษาแม่ที่ป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย แต่ตอนนั้นกฎหมายไม่อนุญาต และต่อมาแม่ผู้เขียนก็เสียชีวตลงด้วยโรคร้าย ทำให้ผู้เขียนรู้สึกผิดและเสียใจจนถึงทุกวันนี้   

หลังจากนั้น ผู้เขียนก็ศึกษาข้อมูลทั้งในไทยและต่างประเทศ ก็พบว่า หลายประเทศอย่างอิสราเอล อเมริกา แคนาดา เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ได้เผยแพร่งานวิจัยทั้งในห้องทดลอง สัตว์ทดลอง และคน ในระดับเริ่มต้นก็พบว่า สารสกัดกัญชาใช้รักษาอาการของโรคต่างๆ ได้มากมายหลายชนิด เช่น โรคลมชัก (มีตัวอย่างที่ได้ผลดีมากในเด็กที่เป็นลมชักทุกๆ 20-25 นาที หรือเกือบ 500 ครั้งต่อวัน) อาการแพ้การให้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง มีการทดลองในห้องทดลองของนักวิจัยที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา พบว่า สาร THC สามารถทำให้เซลล์มะเร็งลดลงถึงครึ่งหนึ่งและลดการแพร่กระจายของเซลล์ด้วย  

ส่วนในอิสราเอล นักวิจัยพบว่า สารคานาบินอยด์ (โดยเฉพาะ THC และ CBD) ที่มีอยู่ในพืชกัญชา เมื่อเข้าสู่ร่างกายและทำงานร่วมกับตัวรับสารสื่อประสาทที่เรียกว่า CB1 และ CB2 มีความสามารถในการสั่งให้เซลล์มะเร็งฆ่าตัวตายได้ด้วย ซึ่งเป็นการค้นพบที่มีนัยสำคัญที่บ่งบอกว่า กัญชาสามารถยับยั้งเซลล์มะเร็งและรักษาโรคมะเร็งได้

นอกจากนี้ยังมีการใช้สารกัญชารักษาผู้ป่วยเอดส์ ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า วิตกกังวล ลดอาการปวดเรื้อรังในร่างกาย รวมถึงไมเกรน โรคเส้นเลือดในสมอง ความดันโลหิต อาการอักเสบในร่างกาย และโรคไขข้อต่างๆ สรุปโดยรวมเกี่ยวกับสรรพคุณของสารสกัดจากพืชกัญชา คือสารนี้จะเข้าไปทำงานโดยตรงกับระบบ Endocannabinoid เพื่อสร้างความสมดุลให้กับร่างกายมนุษย์  

งานวิจัยของต่างประเทศยังมีให้อ่าน ให้ค้นคว้าแบบไม่ต้องเสียเงินเป็นพันเป็นหมื่นชิ้นตามวารสารทางการแพทย์ แล้วงานวิจัยในไทยล่ะ มีบ้างหรือไม่ 

ตอบว่า “มี” แต่… ในประเทศไทย มีการทำวิจัยเกี่ยวกับพืชกัญชาทางการแพทย์อย่างจริงจังมาประมาณไม่น่าจะเกินสิบปี ถามว่ากัญชาอยู่คู่กับสังคมไทยมานานแค่ไหน? 

ตำราแพทย์แผนไทยกล่าวถึงตำรับยาแผนโบราณที่มีส่วนประกอบหนึ่งคือ พืชกัญชา มาตั้งแต่สมัยพระนารายณ์เมื่อ 300 กว่าปีมาแล้ว แต่เมื่อปี 2562 กรณีที่ตำรวจและหน่วยงานปราบปรามยาเสพติด หรือ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จับกุมเจ้าหน้าที่มูลนิธิข้าวขวัญของ เดชา ศิริภัทร และยึดของกลางที่เป็นกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชาที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งภายใต้การดูแลของ เดชา ศิริภัทร 

นั่นถือเป็นกระแสกัญชาในฐานะยารักษาโรคที่โด่งดังมากกรณีหนึ่ง จนมีกระแส #saveเดชา บนสื่อสังคมออนไลน์ และเกิดการผลักดันจากภาคประชาชนให้ถอดพืชกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 5 รวมทั้งให้มีการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างถูกกฎหมายตามมา แต่การผลักดันของภาคประชาชนก็ได้มาเพียงสารตั้งต้น คือการอนุญาตให้ประชาชนที่เป็นผู้ป่วยไปขึ้นทะเบียนครอบครองผลิตภัณฑ์กัญชาเท่านั้น ส่วนตัวกฎหมายยังระบุว่า    

“พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 กำหนดให้การขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือครอบครองกัญชาต้องดำเนินการภายใต้วัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการศึกษาวิจัยเท่านั้น และการผลิต นำเข้า ส่งออกจะต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้ ใน 5 ปีแรกผู้ขออนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก ต้องเป็นหน่วยงานรัฐหรือผู้ขออนุญาตอื่น (เช่น วิสาหกิจชุมชน ฯลฯ) ที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานรัฐ” 

เท่าที่เห็นงานวิจัยจากสถาบันการศึกษาและหน่วยงานวิจัยผ่านสายตา เช่น  มหาวิทยาลัยรังสิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และล่าสุด คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทำ MOU ร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อทำการวิจัยกัญชง-กัญชา มีโครงการจัดตั้งโรงเรือนในระบบปิดโดยใช้ตู้คอนเทนเนอร์ 

นอกจากงานวิจัยแล้วยังเห็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจากสารสำคัญจากกัญชา เช่น ยาที่เป็นสารสกัดกัญชา ผลิตโดยองค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลอภัยภูเบศร และน้ำมันกัญชาสูตร เดชา ศิริภัทร ผลิตโดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ทั้ง 2 ชนิดถูกกำหนดเป็นตำรับยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อการรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ ​ลงวันที่ 29 มีนาคม 2562 เป็นตำรับยาที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศภายใต้การรักษาโรค กรณีจำเป็นสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย (Special Access Scheme) และเป็นตำรับยาที่ได้รับอนุญาตภายใต้โครงการศึกษาวิจัยที่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเท่านั้น 

ประโยชน์ที่จะได้ หากพืชกัญชาถูกกฎหมายคือ จะมีความมั่นคงทางยา ผู้ป่วยได้เข้าถึงยาที่มีคุณภาพ ประชาชนทั่วไปสามารถจัดการความเจ็บไข้ได้ป่วยเบื้องต้นของตนเองและครอบครัวได้ ซึ่งจะช่วยลดความแออัดและภาระหนักอึ้งของบุคลากรทางการแพทย์ได้ 

ผู้เขียนได้พูดคุยกับ ประหยัด โททุมพล อายุ 61 ปี เกษตรกรจากอำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร ที่อยู่กับพืชกัญชามาเกือบทั้งชีวิตว่า ตอนเด็กๆ เวลาเจ็บไข้ครอบครัวและชาวบ้านส่วนใหญ่จะใช้พืชสมุนไพรในการจัดการ หนึ่งในนั้นคือกัญชา 

“ทั้งฮาก (ราก) ทั้งต้น ทั้งใบมันหนะได๋ ไปไฮ่ไปสวนหนิ ปวดหัวตัวร้อน ผมหนิ เป็นท้องร่วง ถ้าเป็นบ่แฮง ชาเด๋มีบ่ ขั่นมีชากะต้มฮากชา กะดีได๋ เป็นไข้ เป็นหยัง ลางเทื่อไข้ออกฮ้อนกะเอาใบมัน ต้มให้น้ำมันออก พอมันเย็นกะกิน เด็กน้อยกะกินใด๋ เพิ่นบ่ให้กินปริมาณหลาย ขั่นกินหลายมันสิเมา ท่อนั่นล่ะ เพิ่นสิตัดมาแล้ว เพิ่นกะเอาไปห้อยไว้อยู่ในเล้า เพิ่นบ่ได๋พันหรอกพันริ้วหยังดอก เพิ่นเก็บมาแล้วกะดาย เม็ดมันกะเก็บใส่ผ้าขาว ห่อไว้ เอาไว้ไปเฮ็ดยา แม้แต่เม็ด ชาวบ้านกะยังเอามาเฮ็ดยา” ประหยัดเอ่ยถึงสรรพคุณทางยาของพืชกัญชา 

ไม่แตกต่างจาก ทอมสัน เล่ห์กันต์ อายุ 46 ปี อาชีพเกษตรกร จังหวัดขอนแก่น เล่าประสบการณ์การใช้น้ำมันกัญชาว่า ถูกเลื่อยตัดไม้บาดมือเป็นแผลลึกและกว้าง แต่ตอนนั้นอยู่กลางทุ่งนาคนเดียว มีเพียงน้ำมันกัญชาเท่านั้นที่คิดว่าเป็นยา จึงห้ามเลือดและหยดน้ำมันกัญชาใส่แผลหลายหยด  

“หลังจากหยดน้ำมันกัญชาแล้ว วันต่อมาแผลก็เริ่มดีขึ้น ผมไม่ได้ไปหาหมอ แต่ใช้น้ำมันหยดใส่แผลทุกวัน ประมาณ 10 วัน แผลก็ตกสะเก็ดและตอนนี้หายสนิทแล้ว” ทอมสันกล่าว

ไม่เพียง 2 คนนี้เท่านั้นที่มีประสบการณ์ตรงจากการใช้สมุนไพรกัญชาในการรักษาร่างกาย สุนทร หงชัย วัย 49 ปี อาชีพเกษตรกรและค้าขายจังหวัดเลย เล่าว่า ใช้ใบสดของกัญชาชงน้ำร้อนดื่ม เพื่อบรรเทาอาการภูมิแพ้ และชงให้แม่ที่อายุมากที่เป็นโรคเบาหวาน ความดัน และนอนไม่ค่อยหลับได้ดื่มด้วย 

“อาการภูมิแพ้ของผมดีขึ้นโดยบ่ต้องใช้ยา ส่วนแม่กะนอนหลับปกติดี อาการเบาหวาน ความดันกะดีขึ้น” สุนทรเล่าประสบการณ์ตรง 

แต่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สุนทรกลับถูกตำรวจท้องที่จับในข้อหามีกัญชาสดไว้ในครอบครอง ทำให้เขาต้องไปรายงานตัวที่ศาลไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง 

“สมัยผมเป็นเด็กน้อย เฮากะใช้ในครัวเรือน ใช้ทั้งต้น ฮาก ใบ มันเป็นยาเหมิดเด้ครับ เฮากะปลูกไว้ในไห่ในสวนเป็นธรรมดา แต่ผมกลับถืกจับ ข้อหาครอบครองกัญชาสด 1 ขีด เฮ็ดกับผมปานว่าเป็นอาชญากร ผมต้องนอนคุก 1 คืน ใช้เงิน 5 หมื่นประกันโต” สุนทรโอดครวญสิ่งที่ประสบพบเจอจากการถูกจับกุมดำเนินคดี 

การใช้บริโภคทุกส่วนของพืชกัญชา เช่น ต้น ราก ใบ เมล็ด ตรงกันกับที่ 

ดร.จูลี่ ฮอลแลนด์ (Dr.Julie Holland) บรรณาธิการและผู้เขียนหนังสือ The Pot Book: The Complete Guide to Cannabis ให้สัมภาษณ์ CNN ว่า การใช้ประโยชน์กัญชาทั้งต้นโดยการกินจะไม่เกิดอาการเมา แต่จะได้สรรพคุณทางยาที่สูงกว่าการสูบ

หากดูบทสัมภาษณ์ เดชา ศิริภัทร ประธานมูลนิธิข้าวขวัญ และเจ้าของสูตรน้ำมันกัญชาเดชารักษาโรคที่ยอมทำผิดกฎหมายในการผลิตน้ำมันกัญชาเพื่อรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ในรายการ Perspective ตอนหนึ่งว่า “ชีวิตคนมันรอไม่ได้ กฎหมายแก้ทีหลังได้ เอาชีวิตคนก่อน กฎหมายจะเปลี่ยนก็เป็นคนส่วนใหญ่มีส่วนร่วม และถ้าคนส่วนใหญ่จะมีส่วนร่วม ก็เป็นเพราะเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่เขาผลักดันให้มันเปลี่ยน” 

ยิ่งทำให้เห็นว่า สมุนไพรกัญชาเป็นพืชที่มีสรรพคุณทางยาที่ผู้คนยอมติดคุกเพื่อประโยชน์ส่วนรวม 

จึงไม่แปลกหาก ประหยัด โททุมพล เกษตรกรชาวสกลนคร จะเสนอให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดและอนุญาตให้เกษตรกรปลูกขายได้ 

“ผมบ่ได้อยากให้ถึงกับเสรีแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่อยากให้เน้นคุณภาพ ให้มันมีกติกา” เกษตรกรชาวสกลนครเสนอ 

ทั้งนี้สุนทรยังมีข้อเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ควรทำให้กัญชาถูกกฎหมายก่อนและเข้าใจว่า การส่งเสริมให้กัญชาเป็นเศรษฐกิจนั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา 

“รัฐควรอนุญาตให้ประชาชนปลูกไว้ใช้ประโยชน์ในครัวเรือน อาจจะเป็นครอบครัวละ 2-3 ต้น กะว่ากันไป” เกษตรกรชาวสกลนครเสนอ 

ถามว่างานวิจัยทั้งในไทยและต่างประเทศที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบัน เพียงพอที่จะทำให้พืชกัญชาถูกถอดออกจากบัญชียาเสพติดเหมือนกับบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือไม่ 

หากพืชกัญชาไม่ใช่ยาเสพติด จะเปิดทางให้มีการศึกษาวิจัยถึงคุณประโยชน์ของพืชท้องถิ่นชนิดนี้ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพื่อให้คนทั่วไปและผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยากัญชาได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้ รวมถึงเกษตรกรผู้ปลูกกัญชา ซึ่งผลประโยชน์ต่างๆ ก็จะตกอยู่กับประชาชนโดยรวมมิใช่หรือ

“กัญชาเป็นยา (เสพติด)?” คำถามสำคัญคือ คุณเชื่อแบบไหน? 

แล้วจะลบภาพมายาคติที่บอกว่ากัญชาเป็นปีศาจร้ายออกจากสังคมไทยได้อย่างไร? 

ถือเป็นโจทย์ที่อยากชวนสังคมช่วยกันคิดช่วยกันถกด้วยปัญญาอย่างจริงจังอีกสักครั้ง เพื่อให้เกิดแรงผลักดันในระดับนโยบายในการตัดสินใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดที่จะเกิดแก่สังคมโดยรวม   

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print