ภาณุพงศ์ ธงศรี เรื่องและภาพ 

วรรณคดี เรื่องเล่า ตำนาน และนิทาน เป็นของที่มีอยู่ในทุกชุมชน ทุกสังคม บางเรื่อง เขียนเรียกว่า วรรณคดีลายลักษณ์ บางเรื่องเล่าเรียกว่า วรรณคดีมุขปาฐะ แตกต่างกันออกไปตามวิถีของแต่ละพื้นที่ ล้วนมีอิทธิพลต่อความคิดและความเชื่อของคนในสังคมที่สร้างระบอบประเพณีและแนวปฏิบัติในสังคมให้เกิดขึ้น 

ดังจะเห็นจากพระไตรปิฎก สร้างความศรัทธาต่อพุทธวจนในพระพุทธศาสนา อุรัคนิทาน สร้างความศรัทธาต่อพระธาตุพนมให้เกิดขึ้นกับมหาชน พร้อมกันนั้นประเพณี และแนวปฏิบัติในสังคมก็สร้างวรรณคดี วรรณกรรมขึ้นมาเช่นเดียวกัน เช่น ความศรัทธาในพระพุทธศาสนาทำให้เกิดการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นแก่ชนรุ่นหลัง ความศรัทธาต่อพระธาตุพนมทำให้สร้างอุรังคนิทานขึ้น ดังนั้นวรรณคดี วรรณกรรม เรื่องเล่า ตำนาน และนิทานจึงเป็นรากฐานทางความคิดของคนในสังคมอย่างปฏิเสธไม่ได้

นักสังคมวิทยาและนักคติชนวิทยาสายอีสานศึกษาหลายคนอธิบายถึงรากฐานการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมประเพณีของภาคอีสานว่ามาจากคติความเชื่อของฮีต 12 คอง 14 หรืออธิบายต่อว่ากลุ่มวัฒนธรรมอีสานหรือล้านช้างรับความเชื่อประเพณีมาจากล้านนา แล้วนำมาใช้ในกลุ่มวัฒนธรรมของตน 

ส่วนตัวผู้เขียนเองมองว่า ภาคอีสานมีความเป็นลูกผสมสูง พื้นฐานดั้งเดิมตั้งแต่ช่วงก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 เป็นพุทธมหายาน ซึ่งเป็นฐานความเชื่อของชาวอีสาน ทั้งในลุ่มน้ำมูลและหนองหารจนถึงเวียงจันทน์ จากนั้นจึงรับพุทธเถรวาทจากเขมรเป็นระลอกแรกและรับจากล้านนาเป็นระลอกต่อมา 

เมื่อล้านช้างถูกแยกเป็นฝ่ายสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและภาคอีสานของประเทศไทย ประเพณีวัฒนธรรมฝ่ายอีสานจึงถูกกลืน กลายเป็นไทยอยู่หลายอย่างจวบจนถึงปัจจุบัน 

ด้วยเหตุนี้ การวิเคราะห์ประเพณีและการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมอีสานจึงต้องอาศัยฐานความเชื่อในแต่ละยุคมาเชื่อมโยงกันเพื่อทำความเข้าใจ ดังจะชี้ให้เห็นต่อไป

หนังสือสร้อยสายคำ (ฉบับปริวรรต) โดย สวิง บุญเจิม ปริวรรตเป็นอักษรไทยจากใบลานของวัดบ้านนาไฮ ตำบลนาสะไม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี

มุมมองการกำเนิดทางวัฒนธรรม ประเพณี สอดรับไปกับการสร้างวรรณคดีวรรณกรรมเพื่อรับใช้สังคม ดังได้กล่าวอธิบายไปแล้วข้างต้น ผู้เขียนเห็นว่า วรรณกรรมเรื่อง สร้อยสายคำ เป็นอีกงานเขียนชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจและควรนำมาพิจารณาวิเคราะห์ วิจารณ์เป็นอย่างยิ่ง 

หนังสือเล่มนี้ แต่เดิมเขียนด้วยอักษรธรรมลาวมีหลายสำนวน เนื้อความรวมของเรื่องแต่ละสำนวนเป็นไปในทางเดียวกัน จะต่างเพียงชื่อตัวละครและบางเหตุการณ์ ฉบับที่ผู้เขียนจะหยิบขึ้นมาพิจารณานี้เป็นของ สวิง บุญเจิม ที่ปริวรรตเป็นอักษรไทยจากใบลานของวัดบ้านนาไฮ ตำบลนาสะไม อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งกระจายในหลายจังหวัด ได้แก่ นครพนม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด หนองคาย อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี 

ผู้เขียนเห็นว่า การสร้างวรรณกรรมเรื่องนี้คงเป็นระบบของสังคมมากกว่าการเป็น “ข้อขะลำ” ซึ่ง ปัจจรี ศรีโชค (2550 : 13) สันนิษฐานว่า วรรณกรรมเรื่องนี้น่าจะสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าสุริยวงศาธรรมิกราช (2181 – 2238) ส่วนในมุมของผู้เขียน คิดว่า คงเก่ากว่านั้น น่าจะสร้างขึ้นในสมัยของพระยาโพธิสาลราช (2063 – 2090) ด้วยเหตุผลของการปฏิรูปพระพุทธศาสนา แนวปฏิบัติ ซึ่งมีระเบียบ กฎเกณฑ์ แบบแผนของผู้คนในสังคม พร้อมทั้งยุคนั้นล้านนาและล้านช้างมีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกันอย่างเข้มข้น เกิดองค์ความรู้ใหม่ ทั้งในด้านกฎหมายและวรรณกรรม อย่างไรก็ตามข้อสันนิษฐานนี้ยังไม่เป็นที่สรุปต้องรอให้ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์พิสูจน์ต่อไป

ความน่าสนใจของลำดับเรื่องในวรรณกรรมเรื่อง สร้อยสายคำ ฉบับสวิง บุญเจิม (2537) ในเรื่องย่อเล่าถึงเมืองที่นามว่า อติรัตน์ มีพระราชาปกครอง จากนั้นจึงมอบเมืองให้พระราชกุมารนามว่า “ศิรินันทกุมาร” ได้ราชาภิเษกเป็นกษัตริย์โดยไม่ได้บวช จากนั้นจึงมีพระราชกุมารนามว่า “อินทกะมุนี” ด้วยบวชเป็นสงฆ์ปฏิบัติในครองธรรมของพระพุทธศาสนา เนื้อเรื่องตรงนี้มีความน่าสนใจในแง่ของการเชื่อมโยงตัวละครกับการรับพระพุทธศาสนาว่าคนที่ได้บวชเรียนนั้นถือเป็นคนที่มีความรู้ และอยู่ในศีลธรรม ดังที่ท้าวอินทกะมุนีได้สอนพ่อของตนเองให้อยู่ในศีลธรรม 

การก่อรูปความเชื่อในการบวชจึงน่าจะมาจากจุดนี้ เมื่อ “ท้าวศิรินันทกุมาร” ไปประพฤติตนตามกรอบศีลธรรมบ้านเมืองก็เดือดร้อน ดังนั้นจึงต้องน้อมรับความเชื่อทางพระพุทธศาสนา ดังจะเห็นจากท้าวอินทกะมุนีผู้เป็นบุตรได้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางนี้ การสร้างตัวละครให้พระพุทธเจ้าเป็นผู้แสดงธรรมและข้อปฏิบัติใน “สร้อยสายคำ” เป็นการสร้างความศักดิ์สิทธิ์ และสิทธิ์ในการสั่งสอนราชา ต่อจากนั้นจึงได้เริ่มวางหลักเกณฑ์ของสังคมเริ่มจากคำพูด ดังความว่า

อันหนึ่งอย่าได้ทำเคียดค้อย ป้อยด่า มันคะลำ แนวเข็ดขวางอย่าได้ทำการแก้

คันจักทำอันใด๋นั้นให้หายามมื้อปลอด แม่นว่าวันอุตตโชคแท้ดีแล้วก็จั่งทำ

(ธรรมสร้อยสายคำ : สวิง บุญเจิม, 2537: 46)

ส่วนการบัญญัติประเพณี เริ่มมีการกล่าวถึงการบัญญัติประเพณี โดยเริ่มกล่าวว่าพระพุทธเจ้า เป็นผู้บัญญัติประเพณีให้เกิดขึ้น ความว่า

แต่นั้นพระบาทเจ้าหลิงโลกบารมี แล้วจั่งลงบัญชีใส่ลานคำไว้

ก็จั่งเอาคำเว้าองค์พุทต้านสั่ง ให้เมือสอนส่ำเชื้อชุมพูก้ำฝ่ายนคร

(ธรรมสร้อยสายคำ : สวิง บุญเจิม, 2537: 46)

จะเห็นได้ว่าความบทนี้ชี้ให้เห็นว่า ข้อปฏิบัติต่างๆ ในสร้อยสายคำได้รับการบัญญัติจากพระพุทธเจ้าให้นำมาบอกแก่ชาวเมือง ให้ยึดถือปฏิบัติ แล้วจึงอธิบายแนวทางการปฏิบัติตนเริ่มตั้งแต่การจัดพิธีงานศพ การปลูกเรือน ฤกษ์ยาม การแต่งงาน การปฏิบัติตนในบ้านเรือน ศีลธรรม การเสพกาม การสั่งสอนลูก จากนั้นจึงสรุปเรื่องลงให้เห็นถึงความสำคัญของการปฏิบัติตนตามธรรมสร้อยสายคำว่าจะนำพาให้ชีวิตมีความสุข

ชาวอีสาน พิธีเผาศพตามประเพณีแบบพื้นเมืองสองฝั่งโขง ภาพลายเส้นฝีมือชาวยุโรป เขียนสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงต้นแผ่นดินรัชกาลที่ 5 ภาพจาก นิตยสารศิลปวัฒนธรร

ถ้าหยิบหนังสือ “สร้อยสายคำ” มาวิเคราะห์ถ้อยคำอาจจะอนุมานได้ว่า “สร้อย” หมายถึง โซ่ ส่วน “สายคำ” หมายถึง เส้นทางแห่งความเจริญ รุ่งเรือ (คำว่า คำ แปลว่า ทอง) วรรณกรรมเรื่องนี้วางระเบียบประเพณีหลวมๆ โดยอ้างอำนาจของความเชื่อมาเป็นส่วนหนึ่งของการควบคุมแนวปฏิบัติ อาจมีการบอกเล่าผ่านการเทศน์ในวัดหรือการบอกเล่า จะเห็นว่าข้อห้ามต่างๆ ได้เชื่อมโยงถึงคติการสวดอุบาทว์ของชาวอีสานด้วย เช่น งูเข้าไปนอนในบ้านไม่ดี ห้ามแต่งงานก่อนอายุ 20 ปี เป็นต้น และอีกหลายข้อที่ยังปฏิบัติมาจนถึงปัจจุบัน โดยคนในสังคมรับรู้โดยไม่ต้องบอก เพราะถูกวางเป็นระบบผ่านกรอบศีลธรรม กลายเป็นกฎหมายของสังคมไปในตัว

ถ้าจะกล่าวว่า “สร้อยสายคำ” เป็นหนังสือที่ชี้ให้เห็นถึงการสร้างระเบียบทางวัฒนธรรมในสังคมอีสาน โดยประเพณีเกิดขึ้นก่อนวรรณกรรมหรือวรรณกรรมเกิดก่อนประเพณีก็ไม่อาจทราบได้ แต่หนังสือเล่มนี้ได้ชี้ให้เห็นการจัดหมวดหมู่และการเริ่มสถาปนาแนวคิด ความเชื่อ แนวทางการดำเนินชีวิตของชาวอีสานตั้งแต่เกิดจนตายได้เป็นอย่างดี

งานที่อ้างถึง

ปัจจรี ศรีโชค. (2550). การศึกษาวิเคราะห์กลวิธีการสอนเรื่องขะลำ เข็ดขวงในวรรณกรรมอีสานเรื่องสร้อยสายคำ. กรุงเทพฯ: ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศิลปากร.

สวิง บุญเจิม. (2537). ธรรมสร้อยสายคำ. อุบลราชธานี: มรดกอีสาน.

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print