ขอนแก่น – วันนี้ (13 สิงหาคม 2563) เพจเฟซบุ๊กคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) เผยแพร่แถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอ 10 ประการของนักศึกษาระหว่างจัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา แม้จะมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าอาจเป็นการกระทำละเมิดประมวลกฎหมายอาญา ม.112 

แถลงการณ์สนับสนุนข้อเสนอ 10 ประการของนักศึกษาระหว่างจัดกิจกรรม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ของ กป.อพช.อีสาน

แถลงการณ์ กป.พอช.อีสาน ระบุว่า การจัดเวทีชุมนุม “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ลานพญานาค มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ได้ปราศรัยถึงบทบาทและปัญหาของสถาบันกษัตริย์และสังคมไทยแบบเปิดเผยอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในรอบหลายสิบปี การปราศรัยบนเวทีได้มีข้อเสนอให้แก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตยและรักษาสถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

กป.อพช.อีสาน มีความเห็นว่า ข้อเสนอของผู้ชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ การแสดงออกในครั้งนี้เป็นไปตามครรลองของกฎหมายบนหลักการพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย 

แถลงการณ์ระบุอีกว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น การจํากัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเฉพาะเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ เพื่อคุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลอื่น เพื่อรักษาความสงบ เรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือเพื่อป้องกันสุขภาพของประชาชน”

“ข้อความดังกล่าวคือถ้อยคำที่ระบุไว้ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 34 ซึ่งสอดคล้องกับหลักกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ประเทศไทยให้พันธกรณีตามกติกาสากล “ว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง” ซึ่งมีการรับรองเสรีภาพในการแสดงออกเอาไว้ใน ข้อที่ 19” แถลงการณ์ระบุ

สำหรับ กป.อพช.อีสาน เห็นว่า ข้อเสนอของผู้ชุมนุมไม่ควรถูกกล่าวหาว่าเป็นการละเมิดกฎหมายอาญาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ เพราะไม่มีการปรากฏข้อความใดที่ถือได้ว่าเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ 

“ในทางกลับกัน ถ้อยความเหล่านั้นเป็นข้อเสนอที่ตรงไปตรงมาและมีเจตนาที่จะรักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงถือเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างสุจริตชนและยังอยู่ภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย” แถลงการณ์ระบุ

ข้อเสนอเพื่อฝ่าวิกฤติสังคมและการเมืองไทยครั้งนี้

กป.อพช.อีสาน จึงแสดงจุดยืนเพื่อฝ่าวิกฤติสังคมและการเมืองไทย ดังนี้

 (1) สนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกอย่างสุจริตชนในประเด็นการแก้ไขกฎหมายและรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์เพื่อยกระดับสร้างสังคมประชาธิปไตยร่วมกัน 

(2) ขอเรียกร้องให้ภาคประชาสังคมภาคประชาชนทั้งหลายได้ประกาศตนสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อเปิดกว้างความคิดเห็นทางการเมืองอันจะนำไปสู่การพัฒนาสังคมประชาธิปไตย 

(3) ร่วมกันประณามกลุ่มคนที่พยายามบิดเบือนชี้นำว่าความคิดเห็นที่แตกต่างเป็นการจาบจ้วงหยาบคายและร่วมประณามกลุ่มคนที่พยายามยุยงปลุกปั่นให้เกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม

“เราจะร่วมกันแข็งขืนไม่ยอมให้ความจริงดังกล่าวถูกลดทอนคุณค่าและผลักดันให้คนหนุ่มสาวกลายเป็นเพียงผู้มีความคิดเห็นที่ก้าวร้าวหรือป้ายสีว่าถูกผู้อื่นชักใยอยู่เบื้องหลัง เราจงร่วมกันเปิดพื้นที่ของการแสดงความคิดเห็นในประเด็นสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้มีการวิเคราะห์ถกเถียงได้อย่างเปิดเผยตรงไปตรงมาเพื่อแก้ปัญหาของประเทศและสร้างความมั่นคงให้กับประชาธิปไตยในสังคมไทยร่วมกัน” แถลงการณ์ระบุ
ทั้งนี้มีการรายงานจากสื่อมวลชนบางสำนักว่า เมื่อคืนที่ผ่านมา (12 สิงหาคม 2563) แกนนำนักศึกษาและผู้ปราศรัยข้อเสนอ 10 ประการถูกเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบติดตามที่หอพักบริเวณ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่ล่าสุดมีรายงานข่าวว่า แกนนำนักศึกษาคนดังกล่าวยังปลอดภัยดีและไปเรียนหนังสือที่มหาวิทยาลัยตามปกติ

image_pdfimage_print