หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่อง
อติเทพ จันทร์เทศ ภาพ
หนองบัวลำภู – เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (13 ส.ค. 2563) กลุ่มอนุรักษ์ผาเหล่าใหญ่ – ผาจันไดจาก 6 หมู่บ้าน ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ประมาณกว่า 300 คน เข้าหารือกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและอีกหลายหน่วยงาน อาทิ อุตสาหกรรมจังหวัดฯ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดฯ ที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อยื่นข้อเสนอให้ปิดเหมืองและโรงโม่หินของบริษัทเอกชน เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งขอให้เพิกถอนการประทานบัตรเหมืองแร่และหยุดต่ออายุประทานบัตรการทำเหมืองแร่

สมควร เรียงโหน่ง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ผาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ขณะเจรจากับหน่วยงานราชการเพื่อขอให้ปิดเหมือง
ยื่น 3 ข้อเรียกร้องต่อผู้ว่าฯ
สมควร เรียงโหน่ง แกนนำกลุ่มอนุรักษ์ผาเหล่าใหญ่ – ผาจันได ให้สัมภาษณ์ก่อนการหารือว่า การเจรจาครั้งนี้ชาวบ้านได้เตรียมข้อเสนอไว้ 3 ข้อ 1. ปิดเหมืองแร่ 2. ฟื้นฟูภูผาป่า และ 3. พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยว
“ถ้าหน่วยงานราชการไม่ทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อนี้ พวกเราก็จะกลับไปปิดเหมืองดงมะไฟเอง”สมควร กล่าว
จากนั้นตัวแทนชาวบ้านกว่า 50 คนจึงเข้าร่วมเจรจากับ เวียงชัย แก้วพินิจ รองผู้ว่าราชการจังหวัด และตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หลังการหารือกว่า 3 ชั่วโมง การเจรจากลับไม่เป็นผล เนื่องจากหน่วยงานราชการไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านได้
วิลัย อนุเวช ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากฝุ่น เสียงและความเดือดร้อนอื่นๆ มาตลอด 26 ปี โดยเฉพาะบ้านที่อยู่ติดกับเหมืองหินตอนนี้ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระเบิดเหมือง ทำให้ต้องซ่อมบ้านไม่รู้กี่ครั้งแล้ว
“ถ้าใครอยากรู้ว่าปัญหามีมากแค่ไหน อยากให้ลองมาอยู่บ้านดิฉันสักสัปดาห์ จะรู้ว่าชาวบ้านเดือดร้อนแค่ไหน” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ฯ กล่าว

จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ (หญิงคนกลาง) ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ เป็นตัวแทนเจรจากับหน่วยงานราชการที่ จ.หนองบัวลำภู
ทำเหมืองนอกเขตสัมปทาน
ขณะที่ จุฑามาส ศรีหัตถผดุงกิจ ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่หรือ กพร. พบว่า มีการปักหมุดนอกเขตพื้นที่การสัมปทาน จึงถือว่าบริษัทเอกชนทำเหมืองนอกเขต เท่ากับว่าทำผิดกฎหมาย
“ตอนนี้ใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลางท 2 แปลงจะสิ้นสุดลงวันที่ 3 ส่วนใบประทานบัตรการทำเหมืองจะสิ้นสุดลงวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2563 นี้ ทำไมผู้ว่าฯ ที่เป็นผู้มีอำนาจจึงจะสั่งปิดเหมืองไม่ได้ เพราะตาม พ.ร.บ.แร่ ฉบับ 2560 มาตรา 129 ระบุว่า หากกิจการสร้างความเดือดร้อน ความเสียหายหรือทำอันตรายต่อบุคคล สัตว์ เจ้าหน้าที่สามารถสั่งระงับได้” ตัวแทนเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าว
ส่วน อุทัย สอนเทศ อุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูชี้แจงว่า การที่จะให้หน่วยงานราชการระงับการปฏิบัติงานของเอกชนคงทำไม่ได้ทันที ตราบใดที่ยังตรวจสอบไม่พบว่ามีการกระทำความผิด
“ถ้าพิสูจน์แล้วพบว่าเอกชนทำผิดจริง ผมก็จะทำหนังสือส่งถึงอธิบดี กพร. ให้มีคำสั่งปิดเลย แต่ผมเป็นราชการต้องทำงานตามเอกสาร ถ้าผิดปุ๊บ ก็ปิดปั๊บ แต่ตอนนี้ยังสั่งปิดไม่ได้” อุตสาหกรรมจังหวัดฯ กล่าว

กลุ่มอนุรักษ์ฯ นำก้อนหินและหน่อไม้วางต่อหน้ารูปผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู
เจรจาล่มเดินหน้าปิดเหมือง
หลังการเจรจากว่า 3 ชั่วโมง รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูจึงสรุปว่า ขณะนี้หน่วยงานราชการไม่สามารถทำตามข้อเรียกร้องของชาวบ้านได้ทันที จะต้องตรวจสอบข้อมูลตามขั้นตอนให้ละเอียดก่อนจึงจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งได้ ทำให้ชาวบ้านขอยุติการหารือและประกาศจะกลับไปปิดเหมืองด้วยตัวเอง เพราะได้มีการต่อสู้ในระบบมาแล้ว 26 ปี
ก่อนเดินทางกลับพื้นที่เพื่อปิดทางเข้า – ออกเหมือง ชาวบ้านได้แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการวางก้อนหินที่นำมาจากการทำเหมืองหินของบริษัทเอกชนในตำบลดงมะไฟและหน่อไม้ที่นำมาจากชุมชุน ต่อภาพของ สมเจตน์ จงศุภวิศาลกิจ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นต้น