ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่อง
ภาพหน้าปกจาก Prachatai.com
การชุมนุมของนิสิต นักศึกษา และประชาชนในงาน “ธรรมศาสตร์จะไม่ทน” ณ ลานพญานาค ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา นอกจากการปราศรัยวิจารณ์การบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา รวมทั้งกดดันรัฐบาลให้ปฏิบัติตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. รัฐบาลต้อง “หยุดคุกคามประชาชน” 2. ต้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ 3. รัฐบาลต้อง “ยุบสภา”
บรรยากาศการชุมนุมของนักศึกษา ประชาชนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ขอบคุณภาพจาก : prachatai.com
แต่ไฮไลท์ที่ทำให้การชุมนุมโดดเด่นคือ การอ่านข้อเสนอ 10 ประการ ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาไว้สถานภาพของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย จนเกิดการโต้กลับของประชาชนบางกลุ่ม โดยการฟ้องร้องเอาผิดนักศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้อง เพราะมองว่าเป็นการกระทำจาบจ้วง อีกทั้งหมิ่นประมาท-ดูหมิ่นต่อองค์พระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน
ขณะเดียวกันก็มีกระแสเรียกร้องให้ประชาชนผู้รักสถาบันพระมหากษัตริย์ใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการกระทำการของผู้ชุมนุม ซึ่งประชาชนอีกฝ่ายที่สนับสนุนนักศึกษาก็กังวลว่ากระแสดังกล่าวอาจนำไปสู่ความรุนแรงทางการเมืองเหมือนช่วงเหตุการณ์ “6 ตุลาคม 2519”
เดอะอีสานเรคคอร์ดพูดคุยกับนักวิชาการ 3 คนจาก 3 มหาวิทยาลัยในภาคอีสานที่ลงชื่อในแถลงการณ์ “มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่สำหรับการตั้งคำถามและแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสันติของสังคม” ร่วมกับคณาจารย์อีก 355 คน ของเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมือง (คนส.) ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ ม.ธรรมศาสตร์ในวันนั้นเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำนักศึกษา ผู้ขึ้นเวทีอ่านแถลงการณ์ข้อเสนอ 10 ประการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตเมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ขอบคุณภาพจาก : prachatai.com
ข้อเสนอ 10 ประการเพื่อให้สถาบันอยู่อย่างสง่างาม
กิติมา ขุนทอง อาจารย์สาขาวิชา การพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครมองว่า จุดยืนของนักศึกษาในแถลงการณ์ 10 ประการต่อสถาบันพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการประกาศจุดยืนชัดเจนว่าต้องการทำให้สถาบันฯ มีความสง่างามภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หากเป็นตามเจตนานั้นถือว่าไม่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์
“ไม่แปลกใจที่คนที่ไม่เห็นด้วยกับนักศึกษา มีจุดยืนที่ตรงกันข้ามมองว่า สิ่งที่นักศึกษาพูดเป็นการดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์ จนนำไปสู่ความโกรธและเกรี้ยวกราดต่อผู้ชุมนุม” กิติมากล่าว
เสรีภาพการพูดป้องกันความรุนแรง
กิติมาเห็นว่า การจะแก้ปัญหาเรื่องการตีความข้อเสนอ 10 ประการของนักศึกษาที่แตกต่างกันของคนในสังคมคือ สังคมควรอนุญาตให้นำประเด็นนี้มาพูดคุยถกเถียงด้วยเหตุผลในที่สาธารณะได้
“การจะนำไปสู่การปกป้องไม่ให้เกิดความรุนแรงในสังคมคือ ทุกฝ่ายต้องยืดหยัดตกลงกันว่า เสรีภาพในการพูดและแสดงความเห็นทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะควรจะดำรงไว้อยู่คู่กับคนในสังคมต่างหาก นี่คือสิ่งที่จะป้องกันเกิดความรุนแรงหรือไล่ล่า จับกุม ไล่ฆ่าคนเห็นต่างหรือคนที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าล้มสถาบัน” กิติมากล่าว
เธอกล่าวอีกว่า หากสังคมยังไม่มั่นใจว่าเรื่องนี้ควรนำมาพูดในที่สาธารณะได้หรือไม่ ก็ควรให้สถาบันตุลาการศาลเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดว่าเรื่องนี้จะสามารถนำมาคุยด้วยเหตุผลได้หรือไม่ ถ้าศาลตัดสินใจก็ถือเป็นการสร้างมาตรฐานให้สังคมว่าสามารถพูดเรื่องนี้ได้หรือไม่ได้
“สิ่งที่นักศึกษาพูดควรถูกนำมาสื่อสารพูดคุยอย่างมีเหตุผลในที่สาธารณะ เพื่อให้เรื่องนี้เป็นประเด็นข่าวสาธารณะ วาระของสังคม เพื่อยืนยันหลักการว่าเสรีภาพทางการคิด การแสดงออกทางการเมืองเป็นเรื่องที่สำคัญในสังคมประชาธิปไตย” กิติมากล่าว
แนะอ่านข้อเสนอ 10 ประการอย่างละเอียด
สอดคล้องกับ ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคาม ที่เห็นว่า ข้อเสนอ 10 ประการไม่ได้เป็นข้อเสนอที่คนบางกลุ่มโจมตีว่าล้มล้างสถาบันฯ หากอ่านดูดีๆ จะเห็นเจตนาของแถลงการณ์ดังกล่าวที่อยากจะให้สถาบันกษัตริย์ปรับตัวเพื่อให้ดำรงอยู่เป็นมิ่งขวัญในสังคมยุคปัจจุบัน
“ข้อเสนอออกไปในแนวคิดของกลุ่มอนุรักษ์นิยม/กลุ่มนิยมสถาบันกษัตริย์ด้วยซ้ำ ผมใช้คำว่า “กลุ่มขวากลาง” เพราะไม่มีข้อไหนที่แสดงให้เห็นถึงความต้องการล้มล้างสถาบันฯ เลย” ไชยณรงค์กล่าว
เขากล่าวอีกว่า หากมองนักศึกษาในฐานะประชาชนพลเมืองไทย พวกเขาก็ควรที่จะมีสิทธิ์พูดหรือเสนอความเห็นที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ ผู้มีอำนาจและประชาชนที่ไม่เห็นด้วยควรรับฟังอย่างมีสติ อย่าเพิ่งกล่าวให้ร้ายหรือใส่ร้ายป้ายสีว่าพวกเขามีเจตนาล้มล้างสถาบันฯ
“คนไทยทุกคนก็สามารถพูดถึงเรื่องนี้ได้ ไม่ควรผูกขาดโดยใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ผ่านมาก็มีผู้ใหญ่บางคนใช้ประโยชน์จากสถาบันกษัตริย์ นำสถาบันมาอ้าง มาโหน เพื่อทำลาย ทำร้ายกันทางการเมือง ไม่ควรมีใครคนใดคนหนึ่งผูกขาดความจงรักภักดี ใครที่คิดต่างก็ถือว่าเป็นศัตรู” ไชยณรงค์กล่าว
สื่อมวลชนควรเปิดเวทีถกเถียง
ไชยณรงค์เห็นว่า เมื่อสังคมกำลังเกิดความแตกแยกและอาจมีคนบางกลุ่มอาจมีการใช้ความรุนแรงเพื่อยุติการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ของนักศึกษา เขาจึงเสนอให้สื่อมวลชนกระแสหลักที่มีคนติดตามจำนวนมากนำข้อเสนอของนักศึกษานำเสนอ พูดคุย ถกเถียงอย่างมีเหตุผล มีการรับฟังอย่างมีสติ
“สื่อเองควรเปิดเวทีให้นักศึกษา ประชาชน นักวิชาการ ทั้งสองฝ่ายมาร่วมพูดคุย ถกเถียงกัน อีกทั้งสื่อก็ไม่ควรทำหน้าที่นำเสนอข้อมูลหรือความเห็นด้านเดียว หรือสร้างกระแสความเกลียดชัง ยุยงให้เกิดความขัดแย้ง ยุยงให้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา ผู้แถลงการณ์ชุมนุม” อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.มหาสารคามกล่าว
สภาผู้แทนฯ ควรนำเรื่องนี้ไปพูดคุย
ไชยณรงค์กล่าวอีกว่า บทบาทของสภาผู้แทนราษฏรก็ควรทำหน้าที่ตัวแทนประชาชนโดยรับเรื่องนี้ไปพูดคุย ตรวจสอบข้อเท็จจริงในสภาฯ เช่นกัน เพราะจะถือว่าเป็นการตรวจสอบว่า สิ่งที่นักศึกษาพูดนั้นจริงหรือเท็จอย่างไร สังคมจะได้รับรู้ เพราะนักเรียนนักศึกษาที่ออกมาชุมนุมก็คือลูกหลานของประเทศ ในอนาคตคนเหล่านี้ก็ต้องมาเติบโตขึ้นมาขับเคลื่อนสังคมไทยต่อไป ผู้ใหญ่ต้องฟัง ต้องทนฟังเพื่อนำมาพิจารณา
“นักการเมือง ตัวแทนประชาชนในสภาฯ พรรคการเมืองรับไปพูดคุยตรวจสอบต่อ ไม่ควรจะด่วนสรุปชี้หน้านักศึกษาว่า จาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันฯ” ไชยณรงค์กล่าว
เปิดใจรับฟังอย่างมีขันติธรรม
ส่วน ธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี มองว่า เรื่องนี้ไม่เพียงแค่ยึดหลักการเสรีภาพทางการคิด การแสดงออกทางการเมือง แต่สิ่งที่คิดและแสดงออกต้องไม่ไปกระทบหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น
ธีระพลเห็นว่า การพูดถึงสถาบันของนักศึกษาเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมานั้น เป็นการพูดโดยหลักการที่ประเทศที่เป็นอารยะยอมรับกัน เพียงแค่ฝ่ายผู้มีอำนาจหรือฝ่ายที่เห็นต่างควรเปิดใจรับฟังอย่างละเอียดใจเย็น มีขันติธรรม และมีใจเป็นธรรม
“ส่วนที่จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็แสดงออกมาด้วยชุดหลักการและเหตุผล ไม่ใช่มุ่งโจมตีให้ร้ายป้ายผิดหรือข่มขู่ที่จะคุกคามสิทธิเสรีภาพของพวกเขา หรือบางคนเลยเถิดไปถึงปองร้ายหมายชีวิตนักศึกษาอย่างที่เกิดขึ้นในตอนนี้” ธีระพลกล่าว
นักศึกษาและบุคลากรมหาวิทยาลัยขอนแก่นและประชาชนชาวขอนแก่น ร่วมจัดกิจกรรม #มขพอกันที แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการยุบพรรคอนาคตใหม่ ข้างบึงสีฐาน ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 คาดว่ามีจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมมากกว่า 1,000 คน ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ ถ่ายเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2563
โรงเรียน มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก
นับตั้งแต่รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา ธีระพลเห็นว่า ทหาร ตำรวจหรือเจ้าหน้าที่รัฐที่อ้างความมั่นคงที่ไม่ใช่ความมั่นคงของประชาชน ได้เข้าไปเพ่นพ่านในสถาบันการศึกษาราวกับว่าเป็นค่ายทหาร
สำหรับธีระพล โรงเรียนและมหาวิทยาลัยควรปลอดภัยสำหรับนักเรียนและครู อาจารย์และบุคลากร สถานที่แห่งนี้ต้องเป็นเสมือนบ้าน ต้องปลอดภัยสำหรับลูกๆ และพ่อแม่
“ในภาพใหญ่ ประเทศก็ต้องเป็นที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทุกหมู่เหล่า ต่อให้เขาแตกต่างกันเพียงใดก็ตาม คนที่จะทำให้เปิดอย่างนั้นได้คือ ผู้ปกครองหรือผู้บริหารแต่ละหน่วยต้องค้ำประกันความปลอดภัยของสมาชิก” ธีระพลกล่าว
เช่นเดียวกับ กิติมา ขุนทอง ที่เห็นว่าสถานศึกษาควรเป็นพื้นที่ให้นักเรียนนักศึกษา สามารถที่จะพูดและสื่อสารความต้องการ ความเข้าใจ มุมมอง ทัศนคติทางการเมืองของพวกเขาได้อย่างมีเหตุมีผลและเสรี
“มันควรเป็นพื้นที่ให้เสรีภาพทางการพูด หลักการสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ที่ควรมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง แสดงความคิดเห็นทางการเมือง สิทธิ์นี้ รัฐมีหน้าที่จะสนับสนุน คุ้มครอง ปกป้อง ไม่ใช่สกัดกั้น ปิดกั้น จับกุม” กิติมากล่าว
สำหรับธีระพล บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาก็ควรจะร่วมกันยืนยันอย่างกล้าหาญว่า สถาบันการศึกษาต้องเป็นพื้นที่เสรีทางความคิด ความรู้ ไม่ใช่พื้นที่ที่คนมีปืนจะเข้ามาคุกคามหรือข่มขู่นักเรียนนักศึกษาได้อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
“สถาบันการศึกษาควรจะเป็นพื้นที่บ่มเพาะความคิดเสรีอย่างเต็มที่ ให้พวกเขาใช้ความรู้ ใช้เหตุผลกันเต็มที่ หักล้างกันด้วยความรู้ ด้วยเหตุผล ด้วยหลักการอย่างเต็มที่ หากคุณสังเกตดีๆ ความรู้ใหม่ วิทยาการใหม่ๆ หรือความก้าวหน้าใหม่ๆ มันเกิดจากการคิดและถกเถียง เกิดจากความคิดของคนที่ไม่เชื่องต่อความรู้เก่า ความเชื่อเดิมๆ เราจะได้สิ่งสร้างสรรค์ใหม่ๆ จากคนที่คิดนอกกรอบ หรือเป็นขบถต่อขนบเดิมๆ มากกว่าพวกที่เชื่องและเชื่อฟังโดยไม่ตั้งคำถาม” ธีระพลกล่าว
ไม่อยากให้เกิดการฆ่ากลางกรุงฯ อีก
สำหรับธีระพล อันมัย อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานี เห็นว่า การไล่ล่า จับกุม รวมถึงการฆ่าประชาชนผู้ที่ออกมาชุมนุมหรือเห็นต่างในประเทศไทยไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก เพราะขณะนี้คนรุ่นใหม่ เยาวชนตื่นตัวทางการเมืองอย่างมาก
“คนรุ่นใหม่ นักเรียน นักศึกษาปัจจุบันนี้พวกเขาต่างเข้าถึงข้อมูลและขุดคุ้ยข้อมูลความอำมหิตต่างๆ ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยออกมาตีแผ่ในโซเชียลมีเดียจนทำให้เรื่องที่ถูกปกปิดกลายเป็นเรื่องสาธารณะที่ไม่อาจปิดหรือบิดเบือนได้อีก” ธีระพลกล่าว
ร่างรัฐธรรมนูญใหม่หนทางแก้ไขความขัดแย้ง
ธีระพลเสนอว่า หากต้องการป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ความรุนแรงทางการเมืองซ้ำรอย วิธีแก้เบื้องต้นคือ คนที่เสียงดัง คนที่ดูเป็นกลางๆ และยังไม่รู้จะเลือกข้างไหน รวมทั้งนักการเมือง พรรคการเมืองทุกฝ่ายที่เข้ามาด้วยระบอบประชาธิปไตย ต้องออกมาส่งเสียงปกป้องและแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบต่อการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน
“คนเหล่านี้ต้องมีความกล้าหาญที่จะไม่เห็นด้วยกับการคุกคาม การบังคับขู่เข็ญด้วยวิธีการของมาเฟีย ไม่เห็นด้วยกับการตั้งข้อกล่าวหาอย่างที่ผ่านมา เปล่งเสียงในสื่อในโซเชียลมีเดียในนามของตัวเอง เปล่งเสียงในสภาในนามตัวแทนของประชาชนที่สง่างาม” ธีระพลกล่าว
สำหรับธีระพล เรื่องการใช้ความรุนแรงโดยรัฐต่อประชาชนจะไม่เกิดขึ้นเลย หากคู่กรณีในเหตุการณ์สังหารนักศึกษาและประชาชนหลายๆ ครั้ง ทั้งกรณี 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาคม 2535 พฤษภาคม 2553 หรือกรณีอุ้มฆ่า อุ้มหาย ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมอย่างเป็นธรรมเพื่อไต่สวนเอาผิดอย่างตรงไปตรงมาตามกฎหมาย
“แต่ประเทศไทยไม่เคยนำผู้สั่งการและคนลงมือสังหารประชาชนขึ้นสู่ศาลจนถึงที่สุดเลย การสังหารโดยรัฐก็ยังกลายเป็นสิ่งที่พวกกระหายเลือดยกมาข่มขู่และปฏิบัติการ” ธีระพลกล่าว
ข้อเสนอป้องกันความขัดแย้งรุนแรงระยะยาวของธีระพลคือ ต้องร่วมมือกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการร่างให้เป็นประชาธิปไตยโดยให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และต้องไม่ให้มีบทเฉพาะกาลนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหาร
“ที่คนหนุ่มสาวออกมาเคลื่อนไหวเช่นนี้ก็เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เป็นเงื่อนไขที่ทำให้ประชาชนไม่เห็นทางออก เยาวชนคนหนุ่มสาวไม่เห็นอนาคตของตน เลือกตั้ง ส.ส.ให้ตายก็แพ้การยกมือของ 250 ส.ว. เลือกอีกคนแต่ได้ส.ส.จัดสรรปันส่วนที่เราไม่ได้เลือก และมันมีกลไกองค์กรอิสระก็ไม่ได้อิสระจากอำนาจคณะรัฐประหาร ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็ไม่เห็นว่ามันจะมีวิสัยทัศน์ทางเศรษฐกิจที่จะยืนยันความมั่นคงสถาพรของประชาชน” อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลราชธานีกล่าว