วีรวรรธน์ สมนึก : เรื่อง 

กฤษฎา ผลไชย : ภาพ 

บ้านชั้นเดียวมุงสังกะสีปลูกในที่ดินของคนอื่นในชุมชนหน้าโรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง เป็นบ้านของเด็กชายธนกร แก้วงาม หรือน้องต้นน้ำ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 นักเรียนโรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่อาศัยอยู่กับพ่อบุญธรรมและครอบครัว 

บ้านหลังเล็กเนื้อที่ไม่กี่ตารางวาบรรจุไว้ทั้งหมด 4 ชีวิต โดย ธนกร เป็นหนึ่งในนั้น 

ห้วงเวลาที่โรคโควิด-19 ระบาด พวกเขาทั้ง 4 ชีวิตต้องอาศัยบ้านหลังนี้เป็นสถานพักพิงตลอดวันและคืน โดยเฉพาะในวันที่ ชาญชัย สีหะนาท วัย 55 ปี พ่อบุญธรรมของธนกร ไม่มีรายได้จากการรับจ้างรายวัน 

“ปกติก็รับจ้างทั่วไป ทั้งซ่อมรถ ก่อสร้าง ปลูกต้นไม้ ก่อนหน้านี้โรงเรียนก็มาจ้างไปช่วยปูกระเบื้อง แต่ช่วงโควิด-19 ก็ไม่ค่อยมีคนจ้าง รายได้จึงไม่มี” ชายชัยเล่าสถานการณ์ที่เขาเผชิญในห้วงยามที่ผ่านมา 

ชาญชัย สีหะนาท พ่อบุญธรรมของ เด็กชายธนกร แก้วงาม นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ถ้ามีทุนอาหารกลางวันให้ลูกก็คงดี

ในช่วงที่ยากลำบากของชีวิต เขาต้องดูแลเด็กชายที่เป็นลูกของน้องสาวภรรยาที่อยู่ในวัยกำลังโต ไปพร้อมกับลูกชายวัยรุ่นลูกติดของภรรยา ซึ่งเป็นภาระอันหนักอึ้ง โดยเฉพาะเป็นช่วงที่ ธนกร เด็กชายวัย 9 ขวบต้องปิดเทอมยาวนานกว่าปกติ 

น้องต้นน้ำเป็นเด็กร่าเริงและซนตามวัย ชาญชัยจึงหวังว่า การดูแลลูกบุญธรรมจะทำให้วันหนึ่งเขาจะได้รับการดูแลบ้าง 

“ผมหวังว่า โรงเรียนจะกลับมาเปิดเร็วๆ เพื่อให้ลูกได้กลับไปเรียนและได้มีอาหารกลางวันกินครบ 5 หมู่ เพราะตอนนี้บางครั้งต้นน้ำก็กินข้าวกับเพื่อนบ้าน ถ้ามีทุนอาหารกลางวันและอุปกรณ์การเรียนให้ลูกก็คงดี จะได้ลดค่าใช้จ่าย”

นอกจากต้องกินข้าวที่บ้านของเพื่อนบ้านเป็นบางครั้งแล้ว ธนกรยังต้องอาศัยทีวีจากเพื่อนบ้านเพื่อเรียนออนไลน์จากช่องทีวี DLTV ด้วย 

“ที่บ้านไม่มีทีวีครับ” ธนกรตอบสั้นๆ ระหว่างกำลังเรียนออนไลน์วิชาภาษาไทยกับเพื่อนในวัยเดียวกัน 

เด็กชายในชุดลำลอง (เสื้อกีฬา) กางเกงขาสั้น นั่งขัดสมาธิกับพื้น ตาจ้องทีวีไม่กระพริบ ตอบด้วยเสียงอ้อมแอ้มว่า “โตขึ้นอยากเป็นนักฟุตบอลครับ” หลังจากที่ถามว่า “โตขึ้นอยากเป็นอะไร” 

กสศ.อนุมัติงบ 2 พันกว่าล้านแก้วิกฤตอาหารกลางวันเด็ก 

ในช่วงวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การปิดเรียนภาคฤดูร้อนปีนี้ยาวนานกว่าทุกปี โดยเพิ่มขึ้น  45 วัน เป็นไปตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 7 เมษายน 2563 

ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า การระบาดของโรคโควิด-19 มีเด็กนักเรียนยากจนต้องเผชิญภาวะขาดแคลนอาหาร ทำให้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมากองทุนฯ อนุมัติงบประมาณจำนวน 2,049 ล้านบาท เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยเหลือนักเรียนในระบบกว่า 7 แสนคน เด็กนอกระบบจำนวน 35,000 คน และแรงงานด้อยโอกาสอีกกว่า 1 หมื่นคน 

โดยจัดสรรเงิน 500 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้นักเรียนยากจนใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท.) ที่ กสศ. ดูแล ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาตอนต้นทั่วประเทศ และระดับอนุบาลอีก 10 จังหวัด รวม 753,997 คน โดยช่วยเหลือเป็นค่าอาหารกลางวันคนละ 600 บาท เป็นเวลา 30 วัน (เริ่มตั้งแต่วันที่ 18 พฤษภาคม 2563 เป็นต้นไป) ซึ่งบางคนจะได้รับเงินบริจาคเพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันช่วงปิดเทอมคนละ 960 บาทด้วย  

ณิชชา ทองประดิษฐ์ ขณะปั่นจักรยานบนถนนใกล้บ้านในช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19

เงินบริจาคช่วยเติมอาหารกลางวัน 

ณิชชา ทองประดิษฐ์ เด็กหญิงวัย 11 ขวบ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เป็นหนึ่งในผู้ได้รับเงินบริจาค 960 บาท เพื่อลดภาระผู้ปกครองในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 

ณิชชาอาศัยอยู่กับตาและยายตั้งแต่เกิด หลังคลอดได้เพียง 3 เดือน แม่ของณิชชาก็ไปทำงานต่างประเทศและไม่ค่อยได้กลับมา ความดูแลทั้งหมดจึงอยู่กับสองตา-ยาย 

ด้วยความที่เป็นเด็กพิเศษ ณิชชาจึงได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาจากมูลนิธิคุณพุ่ม เจนเซ่น ปีละ 5,000 บาท และทุนจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ปีละ 2,000 บาท แม้จะเป็นจำนวนเงินไม่มากนัก แต่ก็หล่อเลี้ยงให้ครอบครัวอยู่ต่อไปได้ 

ประสาท ทองประดิษฐ์ ตาของณิชชาเล่าว่า พ่อแม่ของเธอแยกทางกัน แล้วนำลูกมาให้เลี้ยง ซึ่งแม่ของเธอก็ส่งเงินมาเป็นค่าเลี้ยงดูบ้าง

“ตอนนี้ตากับยายก็ปลูกฝรั่งขายประมาณ 5 ไร่ ก็เอาไปขายตามตลาดนัด ก็พอได้ใช้ แต่เราก็ยังมีหนี้สินเป็นค่างวดรถที่ยังผ่อนไม่หมด” ตาของณิชชาเล่าถึงสถานการณ์ชีวิตของชีวิตในวัน 64 ปี ที่ต้องดูแลหลานที่เป็นเด็กพิเศษและภาระหนี้สินที่ต้องชำระ 

ประสาท ทองประดิษฐ์ ผู้ปกครองของ ด.ญ.ณิชชา ทองประดิษฐ์ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนหนองไผ่มอดินแดง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ที่ได้รับเงินบริจาคเพื่อเป็นค่าอาหารกลางวันจาก กสศ.

“ตอนนี้ตากับยายก็ปลูกฝรั่งเพื่อขายในที่ดินประมาณ 5 ไร่ ก็เอาไปขายตามตลาดนัด ก็พอได้ใช้ แต่เราก็ยังมีหนี้สินเป็นค่างวดรถที่ยังผ่อนไม่หมด ยิ่งตอนนี้เศรษฐกิจแย่ ก็ขายไม่ค่อยออก” ตาของณิชชาเล่าถึงสถานการณ์ชีวิตของชีวิตในวัน 64 ปีที่ต้องดูแลหลานที่เป็นเด็กพิเศษและภาระหนี้สินที่ต้องชำระ

สำหรับประสาทแล้ว เขาไม่ได้คาดหวังว่าจะได้รับทุน แต่เมื่อได้แล้วก็ถือเป็นการแบ่งเบาภาระของครอบครัวในช่วงสถานการณ์ที่ต้องเผชิญกับการระบาดของโควิด-19

ในจังหวัดขอนแก่นมีนักเรียนได้รับทุนเสมอภาคในรูปแบบเงินบริจาคคนละ 960 บาท จำนวน 23,767 คน

โรงเรียนหนองไผ่มอดินแดงที่ “ต้นน้ำ” และ “ณิชชา” เรียนอยู่ได้รับค่าอาหารกลางวันจาก กศส. เป็นเงิน 28,500 บาท ซึ่งทางโรงเรียนจะจัดซื้ออาหารแห้ง แล้วแจกจ่ายไปตามบ้านของนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตครั้งนี้ 

“อาหารที่เราจะแจกจ่ายไปในถุงยังชีพจะช่วยให้นักเรียนได้รับอาหารที่เป็นประโยชน์ แม้ไม่มากมาย แต่ก็ทำให้เด็กอิ่มท้องและช่วยเบาเบาภาระผู้ปกครองได้ระดับหนึ่ง” อุไร ปัตถาพงษ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนหนองไผ่มอดินแดงกล่าว 

ในความเป็นครูที่ห่วงใยลูกศิษย์ ทั้งเรื่องการเรียนออนไลน์และการไม่มีอาหารเพียงพอสำหรับร่างกายเด็ก เธอก็ได้แต่หวังว่า สถานการณ์นี้จะผ่านไปโดยเร็ว เพื่อให้เด็กได้กลับเข้าห้องเรียนและได้ทานอาหารกลางวันที่โรงเรียนครบ 5 หมู่ เหมือนช่วงก่อนที่โรคระบาดจะมาเยือน 

image_pdfimage_print