วิทยากร โสวัตร 

น่าสังเกตว่า ประวัติศาสตร์ชาติไทยที่บังคับสอนกันอยู่ตามสถาบันการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมขึ้นไปนั้นคือ ฉบับที่ตั้งต้นว่า สุโขทัยเป็นราชธานีแห่งแรกของประเทศไทยนั่นแหละ แผ่นดินอีสานมักไม่ได้รับการยืนยันหรือเชื่อมโยงให้เข้ากับกระแสประวัติศาสตร์นั้น พูดง่ายๆ คือ อีสานถูกผลักให้เป็นอื่นไป จะด้วยอคติเรื่องคนอีสานส่วนใหญ่พูดลาว เป็นลาว เป็นพวกเจ้าอนุวงศ์ หรือเรื่องกบฏผีบุญที่สั่นคลอนอำนาจราชสำนักสยามก็ไม่ทราบ

เราจะเห็นได้ว่า พอเริ่มต้นที่สุโขทัย ประวัติศาสตร์ไทยก็ไหลลงมาตามแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน มาถึงเจ้าพระยา ไม่มี โขง ชี มูล เลยนะครับ

ในทางวรรณคดีก็เหมือนกัน ไทยยอมรับนับเอาลิลิตพระลอมาจากทางเหนือเป็นวรรณคดีไทย 

เมื่อเป็นดังนี้ จินตภาพหรือภาพประเทศไทยที่ปรากฏในหัวของคนเรียนแผนที่ประเทศไทย มันจึงกลายเป็นรูปสากกะเบือ มันไม่ได้เป็นขวานทองอะไรหรอก เพราะภาพนั้นมันไม่มีใบขวาน หมายความว่า เรื่องราวในความเป็นมาของชาติไทยมันไม่สอดคล้องกับแผนที่

มันจึงเป็นคำถามหรือปริศนาอยู่สำหรับผมจนวันนี้ว่า เอาเข้าจริงๆ สยามหรือรัฐไทยนี่ยอมรับอีสานจริงๆ ตอนไหนหรือด้วยเหตุผลอะไรจึงยอมรับนับเอาอีสานเป็นส่วนหนึ่ง

ถึงกระนั้นก็ยังมีคำถามต่อว่า ถ้ารับแล้ว ทำไมตัวเลขเงินงบประมาณที่จัดสรรปันแบ่งมาเพื่อพัฒนาอีสานนั้นจึงน้อยนิดมาก ถ้าเราย้อนกลับไปดูสถิติตัวเลขที่ว่า ก็จะพบว่า จริงๆ แล้วอย่าเรียกว่าจัดสรรปันแบ่งเลย มันคือการปัดเศษหรือทิ้งเศษให้ต่างหาก (ดูจากภาพประกอบด้านล่าง)

การจัดสรรงบประมาณแผ่นดินแยกเป็นรายงานภาคเมื่อปี 2553 กราฟฟิกจากเว็บ Whereisthailand.info

ถ้ามองว่ากรุงเทพฯ เป็นพ่อและภาคต่างๆ คือลูก ก็ยืนยันได้ว่า พ่อคนนี้รักลูกไม่เท่ากันอย่างน่ารังเกียจ ไร้คุณธรรมความเป็นพ่ออย่างที่สุด ทำราวกับว่าเราเป็นลูกจัณฑาล!

ถ้ามีการแบ่งปันจัดสรรกันอย่างเป็นธรรมแล้ว อีสานเราคง “กินหลากหลาย” ตั้งนานแล้ว การพัฒนาประเทศแบบนี้ก็เหมือนกับว่า พ่อคนนี้ต้องการฆ่าลูกทางอ้อม เพราะตามหลักพัฒนาการสมองนั้น แกนสมองมนุษย์ไม่ได้ต่างกันมาก (ยกเว้นพวกอัจฉริยะ) แต่สิ่งที่จะทำให้สมองพัฒนาจนทำให้เป็นคนสมองดีนั่นก็คือ อาหารหรือโภชนาการ

คงจะประมาณว่า มึงเสือกเกิดมาแล้ว อย่ากระนั้นเลย กูจะทำให้มึงแคระแกร็นไม่เจริญเติบโตด้วยการไม่ต้องเลี้ยงดูมันด้วยอาหารดีๆ ให้อดๆ อยากๆ

ที่ผมเกริ่นนำเรื่องสภาพการณ์ของอีสานมาค่อนข้างยาวก็เพื่อนำมาสู่อีกข้อสังเกตที่สำคัญที่ผมสนใจศึกษามาพักใหญ่แล้ว 

นั่นก็คือ ในสภาพการณ์ที่ยากไร้แบบนี้ ทำไมอีสานถึงมีวรรณคดีชิ้นเยี่ยมๆ เยอะมาก มีตั้งแต่ระดับนิทาน เรื่องสั้น ยันมหากาพย์ (แต่ต้องหมายเหตุตรงนี้ไว้ว่า คนอีสานหรือคนลาวแต่ก่อนเก่าโบราณเรียกวรรณคดีว่า นิทาน คำเรียกเรื่องสั้น นิยาย มหากาพย์ วรรณกรรม วรรณคดีนี่เป็นคำสมัยใหม่ที่ผมเรียกให้เข้าใจง่าย สรุปก็คือ วรรณกรรมทั้งหลายทั้งในรูปของมุขปาฐะและที่เขียนลงในใบลานและต่อมาปริวรรตพิมพ์เป็นหนังสือนั้น คนลาวคนอีสานแต่ก่อนเรียกด้วยคำๆ เดียวว่า นิทาน)

ถ้าเรามองอีสาน (ในสำนึกราชสำนักสยามที่เราคิดว่าเขามองว่าอีสานเป็นลาว) มันก็มีความรู้สึกดูถูกว่าลาวล้าหลัง เป็นเมืองขึ้น ไม่ติดทะเล (ไม่ได้กินอาหารทะเลสมองไม่ดี) อดอยากยากแค้นหรือถ้ามองอีสานแยกออกจากลาว นี่ก็เป็นดินแดนที่เขาปล่อยปละละเลยให้จมอยู่กับความยากไร้แร้นแค้น

หนังสือรวมนิทานอีสานชุดที่ 2 ประกอบด้วย นิทานเซียงเมี่ยง นิทานวัดเชตพน นิทานท้าวเต่าคำ นิทานท้าวโสวัตร และนิทานท้าวขูลูนาวอั้ว

แล้วทำไมอีสานถึงมีวรรณคดีชิ้นเยี่ยมๆ มากมายเหลือเกิน?

บ้านเมืองแบบไหนกันที่จะสามารถสร้างสรรค์วรรณกรรม/วรรณคดีได้ขนาดนี้?

เพราะเป็นที่ยอมรับกันในทางวิชาการแล้วว่า วรรณคดีเป็นเครื่องชี้วัดความเจริญหรือวัฒนธรรมของมนุษยชาติและองค์การยูเนสโกของสหประชาชาติก็ยืนยันหลักการนี้และให้คุณค่าเรื่องนี้มาตลอด

แต่วรรณคดีอีสานถูกทำให้กลายเป็นแค่วรรณกรรมพื้นบ้าน/วรรณกรรมท้องถิ่นในไทยไปไหน

คือเรื่องนี้ผมอยาก Debate มากเลยกับคนที่ศึกษาวรรณคดีไทย คือ เอาวรรณคดีไทยที่ว่าชิ้นเยี่ยมๆ มาวางเทียบกับวรรณคดีอีสาน แล้วดูว่าตัวโครงสร้างของใครจะดีกว่า เทียบเคียงกันไปทีละรายละเอียดเลย

คือที่พูดแบบนี้เพราะว่า- –

ในความสนใจวรรณกรรมหรือวรรณคดีอีสาน จนรวบรวมหาซื้อมาแทบจะครบทุกเรื่องแล้วค่อยๆ อ่านศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนานนั้น ผมไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากความเป็นลาวอะไรเลย มันเกิดจากความเบื่อหน่ายวรรณคดีไทย (เพราะได้เรียนวรรณคดีพวกนี้ตั้งแต่ประถม แถมยังบวชเรียนก็ยิ่งหนักเรื่องของภาษาไทย ความเป็นไทยเข้าไปอีก) แต่การได้อ่านและชอบอ่านวรรณกรรมต่างประเทศมาก (อ่านฉบับแปลนี่แหละ เพราะผมไม่ได้ภาษาอังกฤษ) ตั้งแต่นิทาน เทพนิยาย มหากาพย์ จนวรรณกรรมสมัยใหม่ แล้วมันก็อดเปรียบเทียบไม่ได้

ทีนี้ดันไปพบว่า วรรณคดีบางเรื่องของต่างประเทศ เช่น โรเมโอและจูเลียต มันมีลักษณะสำคัญบางอย่างที่เหมือนกับนิทานของคนลาวอีสานที่เคยฟังสมัยเด็ก (ที่บอกว่า นิทาน เพราะว่าตอนนั้นยังไม่ได้อ่าน) เช่นเรื่อง ขูลูนางอั้ว และ ผาแดง-นางไอ่ 

หรือแม้แต่งานระดับมหากาพย์อย่างรามายณะหรือโอดิสซี มันก็ดันไปเหมือนกับสินไซ ที่เคยได้รู้ได้ฟังจากการเล่า จากหนังบักตื้อ

นี่เป็นเหตุหรือแรงบันดาลใจในการหันมาอ่านวรรณกรรม/วรรณคดีลาวอีสานก็ด้วยอยากพิสูจน์ความเชื่อมโยงสัมพันธ์กับวรรณคดีระดับโลก

และที่ผมมั่นใจมากๆ ในเรื่องนี้ก็ด้วยได้อ่านข้อเขียนชิ้นหนึ่งของจารุบุตร เรืองสุวรรณ ซึ่งถือเป็นผู้รู้เรื่องอีสาน แต่ตอนนี้ถูกหลงลืมไปแล้ว (?) เรื่องประวัติความเป็นมาของบทกวีอีสาน ผะหญา ที่พูดถึงวรรณคดีอีสานเรื่องหนึ่งว่า 

“…นักประวัติศาสตร์เคยเชื่อว่า หลังจากที่พระเจ้าอโศกมหาราชได้ทำพิธีสังคายนาแล้ว ได้จัดส่งพระโสณะและพระอุตตระออกมาเผยแพร่ศาสนาทางภาคตะวันออก แต่ยังมีหลักฐานหรือนิยาย ซึ่งประเทศทางเบื้องบูรพาทิศ (ประเทศทางตะวันออก-ผู้เขียน) ได้จัดส่งคณะทูตเพื่อไปสืบพระศาสนามาด้วยตัวเอง เช่น เรื่องพระถังซำจั๋ง หรือ เฮ้งเจีย (ไซอิ๋ว-ผู้เขียน) ไปสืบพระศาสนาถึงอินเดีย

“นอกจากนี้ยังมีหลักฐานเอกสารสำคัญอันเป็นวรรณคดีชิ้นเอกของชาวอีสานเรื่องหนึ่ง คือหนังสือชื่อ “เชตะพน” หรือ “เสถพน” ซึ่งบรรยายถึงการที่มีพระมหากษัตริย์องค์หนึ่งได้จัดส่งคณะธรรมฑูตไปสืบพระศาสนาจากวัดพระเชตุพนที่ใกล้เมืองสาวัตถีประเทศอินเดียโดยตรงด้วย มีหัวหน้าคณะชื่อว่า “ขุนไท” เป็นหลานพระเจ้าแผ่นดิน พร้อมด้วยขุนลิ่งล้ำ ขุนพลและขุนพายกับไพร่พลชาย 400 คน หญิงสาว 100 คน มีม้าช้างเป็นพาหนะ เดินทางผ่านไปทางเมืองหงสาวดีและย่างกุ้ง ผ่านดินแดนทุรกันดารไปจนถึงจุดหมาย

 “…หนังสือเรื่อง เสถพน ฉบับนี้ จึงเปรียบเสมือนเรื่อง “เห้งเจีย” (ไซอิ๋ว – ผู้เขียน) แห่งอีสาน

มันตลกตรงที่ วรรณคดีหรือนิทานเรื่องนี้ เมื่อเห็นชื่อเรื่องแล้ว ผมตั้งใจว่าจะอ่านเป็นเรื่องสุดท้าย แต่เมื่อผมอ่านข้อเขียนชิ้นนั้นแล้วทำให้ผมต้องเปิดวรรณคดีอีสานเรื่องนั้นอ่านทันที 

ต้องยอมรับว่า นิทานวัดเชตพน เป็นเรื่องที่ตื่นตาตื่นใจมาก โดยเฉพาะ “เส้นทาง” ที่ว่านั้นระบุชัดเจนว่าเป็นเส้นทางเก่าแก่โบราณที่ใช้มาและมีผู้เจนทาง (ในเรื่องคือผู้เฒ่าคนหนึ่ง) สามารถบอกเส้นทางได้อย่างละเอียด ทั้งเวลาในการเดินทางและนำทางได้ 

ในเรื่องนี้อย่างน้อยที่สุด มันเคยมีเอกสาร “ผลการวิจัยเรื่องเมืองโบราณในอาณาจักรสุโขทัย” โดยอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม เสนอสถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อ พ.ศ. 2530 ที่สั่นคลอนวงการประวัติศาสตร์ (ราชาชาตินิยม) ไทยว่าสุโขทัยนั้นเกิดจากการเป็นชุมทางของเส้นทางคมนาคมค้าขายโบราณจากเวียงจันท์และอีสาน และ สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้รวบรวมมาเรียบเรียงพิมพ์เป็นหรือสูจิบัตรในรายการ รักเมืองไทยกับยางสยาม และชี้ว่า “ลาวสยาม” จาก “อีสาน-เวียงจัน” เป็นพวกสร้างแคว้นสุโขทัย ต่อมาก็เอามาขยายเป็นหนังสือเล่มมาตรฐานขนาด 270 หน้า ในชื่อ แคว้นสุโขทัย : รัฐในอุดมคติ 

นั่นเท่ากับว่า “เส้นทาง” ที่ว่านั้นมีอยู่จริงๆ แต่ในหนังสือนิทานวัดเชตพน เส้นทางที่ว่านั้นยาวออกไปไกลมาก (และผมเข้าใจว่า งานวิจัยชิ้นนั้นก็คงไม่ได้เอาวรรณคดีอีสานเรื่องนี้ไปใช้ในการศึกษา) และเมื่อกางแผนที่ออกดู เส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ตรงมากจากอีสานไปถึงเมืองสาวัตถีที่อินเดีย

และสิ่งที่น่าอัศจรรย์กว่านั้นก็คือว่า จุดสำคัญๆ ในเส้นทาง ล้วนตรงตามความเป็นจริง!! 

ทั้งที่นิทานเรื่องนี้มีมาแต่ปู๋แต่ปู้ ผ่านการคัดลอกลงในใบลานด้วยอักษรธรรมและร้อยเป็นหนังสือผูก 7 ผูก ต่อๆ กันมาในระยะทางของเวลาที่นับไม่ได้ กระทั่งที่ผมได้อ่านนี้อ่านจากที่ปริวรรตเป็นตัวอักษรไทยแล้ว

คำถามสำคัญคือ ทำไมวรรณคดีระดับนี้ถึงไม่ถูกนับ?

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print