หทัยรัตน์ พหลทัพ เรื่องและภาพ 

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า พลังของคนรุ่นใหม่ในห้วงยามนี้ ได้ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว เบ่งบานไปทุกหย่อมหญ้า ทุกจังหวัด ทั่วประเทศ 

ปรากฏการณ์นี้คงไม่ได้เกิดขึ้นเพียงชั่วข้ามคืน ทว่าเกิดการบ่มเพาะจากหลายปัจจัยจนทำให้พลังเหล่านี้ออกมาโลดแล่นในที่สาธารณะ แล้วพูดเรื่องส่วนรวมมากกว่าเรื่องส่วนตัว หนึ่งในนั้นคือกลุ่มขอนแก่นพอกันที ที่เริ่มต้นจากความหัวร้อนของกลุ่มนักศึกษา แล้วขยายออกนอกรั้วมหาวิทยาลัย 

เดอะอีสานเรคคอร์ด ชวน “อรรถพล บัวพัฒน์” หรือ ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที มาพูดคุยถึงที่มาที่ไปของกลุ่มฯ รวมถึงความฝันที่หมายมุ่งต่อการเคลื่อนไหวในนามนักศึกษา-ประชาชน 

The Isaan Record: กลุ่มขอนแก่นพอกันที มีที่ไปที่มาอย่างไร 

อรรถพล: จริงๆ แล้วขอนแก่นพอกันทีไม่ได้เกิดจากคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดจากนักศึกษาหลายกลุ่ม ขอนแก่นพอกันทีเริ่มมาจาก มข.พอกันที เกิดขึ้นจากความหัวร้อน ความไม่พอใจในกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ก็ต้องพูดกันตามตรงว่าคนรุ่นใหม่ส่วนมากสนับสนุนพรรคอนาคตใหม่ในขณะนั้น พอเกิดกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ความไม่พอใจจึงเกิดขึ้น 

แล้วก็จะมีกลุ่มก้อนของนักศึกษาหลายๆ กลุ่มที่สนใจในเรื่องการเมือง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่อยู่ในโลกออนไลน์หรือกลุ่มที่มีตัวตนจริงๆ แม้จะอยู่ต่างกลุ่มแต่ก็รู้จักกัน จากนั้นเริ่มเกิดการคุยกันและตกลงว่า “เอาเลย” 

ส่วนผมเข้ามาหลังจากที่น้องๆ คุยกันแล้วว่าจะจัด ก็แลกเปลี่ยนทางการเมืองกับน้องๆ ตลอด และน้องๆ ก็โทรมาบอกว่า “พี่…พวกเราจะจัดกันนะ พี่มาร่วมมาขึ้นเวทีให้หน่อยได้ไหม” สุดท้ายก็กลายเป็นการตกกระไดพลอยโจน 

หลังจากเสร็จม็อบที่บึงสีฐาน เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 จึงคุยกันว่า มข.พอกันทีมันพูดแค่ถึงนักศึกษา ยังไม่ผนวกภาคประชาชน จึงมีมติที่จะเปลี่ยนจาก “มข.พอกันที” เป็น “ขอนแก่นพอกันที” หมายรวมถึงนักศึกษา-ประชาชน โดยชูธงว่านักศึกษาคือทัพหน้า ประชาชนคือทัพหลวง 

The Isaan Record: ขอนแก่นพอกันทีจะไปไกลแค่ไหนและมีเป้าหมายอย่างไร

อรรถพล: คงให้คำตอบไม่ได้ เพราะเราเพิ่งเริ่มเดิน แต่เป้าหมายจริงๆ คืออยากเปลี่ยน ไม่ใช่แค่เปลี่ยนรัฐบาล แต่คือเปลี่ยนอุดมการณ์ของสังคม เปลี่ยนวิธีคิดของสังคม เปลี่ยนวิธีการดำเนินการของสังคม ของประเทศ คือทุกคนเห็นจุดด่างพร้อย เห็นจุดบกพร่องของสังคม ไม่ใช่แค่เรื่องการเมือง แต่มันคือวิถีวัฒนธรรม สิทธิ การเมืองเป็นแค่ตัวนำตัวชักพาให้คนที่มีความสนใจหลากหลายเรื่องมารวมตัวกัน 

เรื่องการเมืองจึงเป็นแค่สิ่งที่ทำให้ทุกคนเข้ามารวมกัน แล้วเราก็เห็นว่า การแก้ไขการเมืองที่ดีจะนำไปสู่การถกเถียงในเรื่องที่พวกเราสนใจได้มากขึ้น ต้องเริ่มจากการถกเถียงและเปิดกว้างในทางการเมืองก่อน แล้วเรื่องที่พวกเราสนใจก็จะตามมา

The Isaan Record: ที่ผ่านมา กลุ่มขอนแก่นพอกันทีไม่ได้เคลื่อนไหวเฉพาะเรื่องการเมืองเท่านั้น เพราะเห็นเคลื่อนเรื่องอื่นด้วย มีที่มาที่ไปอย่างไร 

อรรถพล: มาจากการจัดชุมนุมทั้ง 3 ครั้งใน จ.ขอนแก่น พอประชาชนเห็นว่าเรามี power มีกำลัง หรือเราเป็นกระบอกเสียงที่ดังพอ พอเขามีเรื่องที่ทุกข์ร้อน อย่าง กรณีเรื่องของพ่อค้าแม่ค้าหน้าโรงเรียนอนุบาลเดือดร้อน ก็ขอให้เราช่วย ตอนนี้จึงกลายเป็นว่าเราทำเรื่องอื่นด้วย 

นักศึกษาจะไม่โดดเดี่ยวตัวเองจากประชาชน จริงๆ แล้ว กลุ่มเราคุยกันตลอดว่าไม่อยากให้เป็นภาพหรือการใช้ชื่อเรียกว่าม็อบนักศึกษาหรือกลุ่มนักศึกษา เพราะตอนนี้นักศึกษาเป็นเพียงซับเซ็ตหนึ่งของประชาชนเท่านั้น

อรรถพล บัวพัฒน์ ปราศรัยที่ลานกิจกรรมใกล้บึงสีฐาน ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 ภาพโดย อติเทพ จันทร์เทศ

The Isaan Record: ทราบว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดการเวทีนักศึกษาในจังหวัดอื่นๆ มีที่มาที่ไปอย่างไร 

อรรถพล: คงไม่ใช่ในนามส่วนตัว เป็นในนามกลุ่มขอนแก่นพอกันที หลังจากที่เราจัดกิจกรรมทางการเมืองมาหลายครั้งก็มีเพจเฟซบุ๊กชื่อ ขอนแก่นพอกันที ทำให้ข่าวของเราถูกตีออกไป และในหลายจังหวัดที่เขามีใจ แต่ไม่มีกำลัง เราก็ไปช่วยจัด โดยการนำประสบการณ์ไปแชร์ เพื่อให้เขาได้เดินขบวนต่อไปได้ เขาขาดกำลังตรงไหน เราก็เข้าไปเสริม ที่ผ่านมาเราเข้าไปช่วยที่ จ.หนองคาย 

ส่วนจังหวัดอื่นๆ เขามีประสบการณ์แล้ว เราก็ไปช่วยในส่วนที่ขาด เช่น เรื่องผู้ปราศรัย ถ้าเขามีน้อยเราก็เอาไปเสริม ประเด็นสำคัญไหนที่เขายังขาด ไม่มีผู้พูด เราก็จะช่วยพูดให้ ส่วนมากคือการแชร์ประสบการณ์ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำปัญหา อะไรที่น่าจะเกิดขึ้น การเตรียมรับกับสถานการณ์เฉพาะหน้า เป็นต้น 

The Isaan Record: ตอนที่ไปช่วยในจังหวัดต่างๆ ไปกันกี่คน ใช้เงินจากไหน

อรรถพล: เราเริ่มต้นมาจากศูนย์บาท ไม่ต้องถามเลยว่ามีพรรคการเมืองใดสนับสนุนอยู่หรือไม่ ไม่มีแน่นอน แต่เราอยู่ได้ด้วยเงินบริจาค เราไปเดินตลาดมีกล่องขอรับบริจาคได้มาครั้งหนึ่งก็หลายพันถึงหมื่นเหมือนกัน แล้วก็เปิดบัญชีรับบริจาคหน้าเพจเฟซบุ๊กชัดเจน 

นอกจากนี้ ระหว่างชุมนุม เราก็รับบริจาค ณ ตอนนั้น เป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับเครื่องเสียง การเดินทาง ปัจจุบันเราทำกิจกรรมจากเงินที่เหลือจากการชุมนุมของเราเอง ส่วนเวลาไปจังหวัดต่างๆ เขาก็ระดมทุนช่วยค่าน้ำมัน ช่วยค่ากับข้าว ให้เราไปต่อกันได้ 

เราพูดกันเสมอว่า การทำกิจกรรมทางการเมือง เราจะไม่เดือดร้อนตัวเอง มีแรงสนับสนุนจากป้าๆ ลุงๆ ภาพที่สวยงามมากภาพหนึ่งที่เราเห็นคือ เวลาที่มีกิจกรรมจะมีคนเอาขนม เอาน้ำ เอาอาหารมาบริจาค สิ่งที่เกิดขึ้นในการชุมนุมทั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมาคือ เราแจกน้ำไม่หมด บางทีเหลือ 2-3 คันรถ หรือป้าๆ ลุงๆ ที่รู้จักใครเป็นการส่วนตัวก็อาจจะนำเงินมาใส่มือให้ 100-200 บาท แล้วบอกว่า “เอาเป็นค่าน้ำมันไปต่อนะลูก เป็นค่ากินไปต่อนะลูก” 

ถ้าถามว่าใครอยู่เบื้องหลังนักศึกษา ใครอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อน ไม่อยากพูดว่านักศึกษา แต่ขอเรียกว่าการขับเคลื่อนภาคนักศึกษาประชาชนของกลุ่มขอนแก่นพอกันที คำตอบก็คือประชาชน

The Isaan Record: มีพรรคการเมืองหนุนหลังไหม 

อรรถพล: คำว่าหนุนหลังในที่นี้ คงไม่ใช่หนุนหลังในเรื่องเงินหรือการสนับสนุนอย่างอื่น ก็ต้องพูดกันตรงๆ เราจะไม่พูดกันแบบโลกสวย การชุมนุมไม่จำเป็นต้องมีพรหมจารีขนาดนั้น นักศึกษาออกมาด้วยจิตใจที่ต้องการเห็นบ้านเมืองแบบใหม่ เห็นสังคมแบบใหม่ แล้วก็มีพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายสอดคล้องกับแนวคิดของเขาอยู่แล้ว 

เขาก็หัวร้อน เราก็หัวร้อน เหมือนมีคนกลุ่มหนึ่ง พรรคการเมืองพรรคหนึ่งที่จุดประกายความหวังให้เราว่าจะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางที่เรามุ่งหวัง แล้วก็ถูกยุบไป

ส่วนลึกๆ ก็มีพรรคการเมืองที่มีอุดมการณ์แบบเดียวกัน ที่คิดแบบเดียวกัน แต่ถามว่าเราจะให้เขาเข้ามามีบทบาทกับเรา อันนี้ก็ต้องขอปฏิเสธ แต่ถ้าแนวทางการขับเคลื่อนมันเป็นไปในแนวทางเดียวกัน ก็เดินใครเดินมัน แต่เดินไปสู่เป้าหมายเดียวกัน เราอาจจะขอคำปรึกษา เราอาจจะขอสนับสนุนในเรื่องขบวนการ ในเรื่องของวิธีคิด แต่เราจะไม่ขอสนับสนุนเรื่องการเงิน 

The Isaan Record: การออกมาเคลื่อนไหวเคยถูกข่มขู่คุกคามหรือเคยถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่หรือไม่

อรรถพล: น้องๆ ที่เป็นนักศึกษาที่อยู่ในหอพักเท่าที่คุยยังไม่เจอ เพราะหอพักมันอยู่กระจัดกระจาย แต่น้องๆ ที่อยู่บ้านมักจะเจอว่า มีรถตำรวจวนเวียนและเฝ้าหน้าบ้าน ดูอยู่ห่างๆ ในช่วงที่มีประเด็นเคลื่อนไหวหรือสถานการณ์การเมือง 

ส่วนตัวผมเอง ซึ่งซอยที่บ้านผมอยู่จะไม่เคยมีรถสายตรวจผ่าน แต่อยู่ดีๆ วันดีคืนดีถ้ามีประเด็นทางการเมืองก็จะมีรถผ่าน ก็คอยสังเกตว่าเขากับเราออกบ้านพร้อมกันหรือไม่ ถ้าออกบ้านพร้อมกันแสดงว่าเขาจะต้องเตรียมทำอะไรหรือเปล่า 

The Isaan Record: นักศึกษาที่ออกเคลื่อนไหวได้เรียกร้องให้รัฐหยุดคุกคามประชาชน ตอนนี้มีแนวโน้มแบบนั้นไหม

อรรถพล: หลักฐานที่เห็นได้ชัดเจน แต่เรายังไม่เปิดข้อมูลคือ มีน้องในกลุ่มที่เป็นลูกข้าราชการและอดีตข้าราชการทหารขึ้นพูดบนเวทีในจังหวัดหนึ่ง แล้วพบว่า เจ้าหน้าที่ขอถ่ายบัตรประชาชน จากนั้นก็เชิญผู้ปกครองไปคุย ซึ่งผู้ปกครองเป็นข้าราชการ นั่นหมายความว่าคุณกำลังรุกล้ำไปถึงครอบครัว 

ส่วนผมก็มีพรรคพวกที่เป็นตำรวจ ส่งสัญญาณมาว่ามีการลิสต์รายชื่อผมไว้ในบัญชีของตำรวจอยู่เหมือนกัน ถามว่าความกลัวมีไหม ต้องตอบตรงๆ ว่า มี ก็ถามตัวเองเหมือนกันว่าเราจะสู้เพื่ออะไร เราทำไปเพื่ออะไร เราได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้ แต่พอถึงเวลาที่มันจะทำจริงๆ มันรู้สึกว่าไม่อยากถอย มันรู้สึกว่ามันอัดอั้นจนเลิกกลัวไปแล้ว มันอัดอั้นจนรู้สึกว่ามันต้องเปลี่ยนๆ 

คงไม่ได้หมายความว่าต้องการเปลี่ยนประเทศไปเป็นระบอบใหม่ แต่หมายความว่าต้องการเปลี่ยนสังคม เปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนให้มันเปิดโอกาสมากขึ้นในสังคมนี้ ที่เราจะมีสิทธิ มีเสียง มีชีวิตที่ดีกว่านี้ มีอนาคตที่ดีกว่านี้ มีรัฐสวัสดิการที่ดีกว่านี้ มีการศึกษาที่ดีกว่านี้

“คุณต้องเริ่มให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา ประชาชนได้แล้ว” ใหญ่ ขอนแก่นพอกันที

The Isaan Record: แล้วสู้ไปเพื่ออะไร

อรรถพล: เรายังมีเวลาอยู่ในโลกนี้อีก 50-60 ปี เราอยากให้เป็นปีที่มีคุณภาพ มีความสุข มีรัฐสวัสดิการที่ดี ประเทศเราให้โอกาสกับคนน้อยเกินไป ผมอยากให้เกิดโอกาสกับคนทุกคน ไม่จำเป็นต้องเป็นครอบครัวชนชั้นกลาง ไม่จำเป็นต้องคนที่มาจากครอบครัวคนมีเงิน ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่มาจากครอบครัวข้าราชการ 

ผมอยากเห็นลูกชาวนาลูกชาวบ้านมีโอกาสที่จะเป็นสตาร์ทอัพได้ มีโอกาสที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เขาฝันได้ โดยที่เขาไม่ต้องมาห่วงว่าครอบครัวอาจจะล้ม ครอบครัวอาจจะขาดทุน แล้วบีบให้เขาต้องเข้าสู่ระบบอุตสาหกรรมแรงงาน เพราะเขาต้องรีบหาเงินมาจุนเจือครอบครัว แทนที่จะได้มีเวลาทำตามความฝัน

The Isaan Record: ตอนนี้มีความหวังหรือไม่

อรรถพล: ตอนนี้ผมอายุ 30 ปี จากที่มันไม่เคยมีเลยหรือไม่เคยคิด ไม่รู้จักแม้แต่คำว่ารัฐสวัสดิการ วันนี้เราได้รู้จัก ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ มีใครพูดคำว่ารัฐสวัสดิการไหม มันไม่ค่อยมีใครพูด แต่ตอนนี้เราเริ่มพูดกันมากขึ้น การเริ่มพูดก็คือการเริ่มมีความหวัง ผมมีความหวังที่จะมีอนาคต 

The Isaan Record: การเคลื่อนไหวที่ผ่านมา มองว่าจะมีการชุมนุมใหญ่ในระดับภูมิภาคหรือไปรวมกับที่กรุงเทพฯ หรือไม่ 

อรรถพล: การจะไปรวมกันที่กรุงเทพฯ หรือไม่ คำตอบนี้ตอบยาก เพราะต้องอาศัยทรัพยากร อาศัยเวลา แต่การรวมตัวของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนในภาคอีสานในระดับใหญ่นั้นเกิดขึ้นได้ ขณะนี้ขอนแก่นพอกันทีเห็นแนวทางที่จะทำให้เกิดขึ้น เราเองอาสาที่จะเดินทางไปทำความรู้จักกับพี่น้องในจังหวัดต่างๆ เพื่อให้เกิดองคาพยพร่วมกัน เพื่อให้เกิดความรู้จักกัน ทั้งในนามส่วนตัวและในนามกลุ่ม 

วันหนึ่งเราอาจจะส่งสัญญาณบางอย่างพร้อมๆ กันก็ได้ แต่ภาคอื่นก็ต้องดูว่า ในภูมิภาคนั้นมีความแข็งแกร่งขนาดไหน ส่วนอีสานจะสามารถเติบโตถึงขนาดไหน โดยอุปนิสัยของคนอีสานมีความเป็นกลุ่มก้อน ชอบสนุก ก็พยายามออกแบบทุกการชุมนุมให้มีสาระ ระบายอารมณ์ สนุก บันเทิงไปพร้อมๆ กัน 

The Isaan Record: การผนึกกำลังเพื่อที่นำไปสู่เป้าหมายที่มีการประกาศ 3 ข้อนั้นมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน

อรรถพล: ต้องประเมินความเข้มแข็งของรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลยังรักษาฐานอำนาจและเครือข่ายอำนาจของรัฐบาลไว้ขนาดไหน ส่วนเราก็ผสานกำลังไปเรื่อยๆ เราไม่ได้มีแกนนำ ผมหยุดหนึ่งคน ขอนแก่นพอกันทีไม่ได้หยุด ถ้าคุณอยากให้ขอนแก่นพอกันทีหยุด คุณต้องหยุดคนสักประมาณ 100 คน หรือต่อให้ขอนแก่นพอกันทีหยุด มหาสารคาม หนองคาย ที่ไม่หยุด 

คุณไม่สามารถที่จะหยุดคนทั้งภาคได้ ตอนนี้เราพยายามที่จะขยายกลุ่มให้มากขึ้น ทำความรู้จักกันให้มากขึ้น ดึงคนข้างนอกเข้ามาให้มากขึ้น เราหวังว่าพลังที่มากขึ้นจะทำให้อำนาจต่อรองของเรามากขึ้น ตอนนี้ผมก็ยังสงสัยว่า พลังของเราที่มากขนาดนี้ยังไม่สะเทือนรัฐบาลเชียวหรือ ถ้าแค่นี้คุณบอกไม่สะเทือน เราก็จะทำให้มันใหญ่กว่านี้

The Isaan Record: ประเมินว่ารัฐบาลสะเทือนหรือไม่ 

อรรถพล: ถามว่าสะเทือนถึงขั้นสั่นคลอนหรือไม่ ผมมองว่ายังไม่ถึงจุดนั้น ยังไม่ถึงจุดที่จะสั่นคลอน แต่มันก็คือสัญญาณเตือนว่า คุณจะทำทุกอย่างตามใจไม่ได้แล้ว คุณต้องฟังข้อเรียกร้องของประชาชนแล้ว การที่มีการชุมนุมในเกือบจังหวัดขนาดนี้และกำลังจะมีขึ้นอีกต่อๆ คุณต้องฟังแล้ว คุณต้องหยุดบางอย่างที่คุณคิดจะทำอย่างแอบแฝงและฉ้อฉล คุณต้องเริ่มให้ความสำคัญกับข้อเรียกร้องของนักศึกษา ประชาชนได้แล้ว 

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับวิดีโอได้ที่นี่

image_pdfimage_print