กรุงเทพฯ – จดหมายข่าวจากกลุ่มอนุรักษ์ชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได จังหวัดหนองบัวลำภู ระบุว่า วันนี้ (18 สิงหาคม 2563) ตุลาการนอกองค์คณะศาลปกครองสูงสุดที่กรุงเทพฯ แถลงว่า คำสั่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ต่อประทานบัตรให้บริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่หินชนิดหินปูนในพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นการเข้าไปทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติปาเก่ากลอย-นากลาง ตามที่กลุ่มอนุรักษ์ฯ รวมกลุ่มฟ้องร้องต่อศาลปกครองตั้งแต่ปี 2555

ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ทนายความและนักสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมร่วมรับฟังคำแถลงคดีที่ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ

ศาลพิจารณามติ อบต.ดงมะไฟ

ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำแถลงใน 2 ประเด็นหลักๆ คือ 1. การที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูอนุญาตให้บริษัทฯ ใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเข้าทำประโยชน์นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ 

โดยตุลาการพิจารณาว่า อบต.ดงมะไฟ ได้มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุการเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนหรือไม่และการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเข้าใช้ประโยชน์ในการทำเหมืองเป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมายหรือไม่

“ตุลาการเห็นว่า จากเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องการจัดประชุม อบต. เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย แม้ว่าจะไม่มีเอกสารการแจ้งวาระประชุมล่วงหน้าอย่างน้อย 3 วัน แต่ก็ไม่ได้มีความบกพร่อง เพราะมีการเข้าประชุมโดยสมาชิกเกือบครบถ้วน ซึ่งเห็นไม่พ้องกับคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่พิจารณาว่า ข้อบกพร่องดังกล่าวเป็นความบกพร่องร้ายแรง สมควรให้การประชุมดังกล่าวเป็นโมฆะ” จดหมายข่าวระบุคำแถลงของตุลาการ 

ส่วนในประเด็นที่ 2 คือ การอนุญาตต่อประทานบัตรเพื่อการทำเหมืองแร่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ้างถึงรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2550 มาตรา 67 วรรค 2 เห็นว่า ในการต่ออายุโครงการที่มีผลกระทบต่อประชาชนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและให้องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเข้าร่วมให้ความคิดเห็นด้วย 

การต่อประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

จดหมายข่าวระบุอีกว่า การจัดทำรายงานศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่บริษัทยื่นประกอบการขอต่ออายุประทานบัตรไม่พบว่ามีการศึกษาผลกระทบอย่างครบถ้วน แม้ว่าคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติจะเสนอให้จัดทำกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อลดความขัดแย้งในพื้นที่ แต่กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ยังไม่ได้ทบทวนการขอต่ออายุประทานบัตร แต่กลับอนุมัติให้มีการต่ออายุประทานบัตร ทั้งๆ ที่ยังขาดกระบวนการการมีส่วนร่วมตามระเบียบข้อกฎหมาย 

“กรณีนี้ตุลาการผู้แถลงคดีเห็นว่า คำสั่งที่กระทรวงอุตสาหกรรมอนุมัติให้ต่อประทานบัตรไม่ชอบด้วยกฎหมาย” จดหมายข่าวระบุคำแถลงคดีของตุลาการ   

ทนายระบุยังไม่ใช่คำพิพากษา 

จดหมายข่าวยังระบุการสัมภาษณ์ สุรชัย ตรงงาม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ทนายความในคดีนี้ เปิดเผยหลังจากฟังคำแถลงสิ้นสุดว่า คำแถลงนี้เป็นคำแถลงของของตุลาการนอกองค์คณะ เพื่อเป็นเพียงแนวทางประกอบคำพิพากษา ยังไม่ได้เป็นคำพิพากษาคดี ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ควรมีส่วนร่วมในกรณีนี้เป็นแค่แบบพิธีกรรม โดยมีเพียงมติเห็นชอบของ อบต. เท่านั้น หากแต่ไม่มีการประชาคมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างแท้จริง

เปี่ยม สุวรรณสนธ์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได (คนที่ 4 นับจากซ้าย) สกล จุลาภา รองอธิบดีกรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) (ขวาสุด)

ยื่นหนังสือ ก.อุตฯ ปิดเหมืองหิน 

หลังจากฟังคำแถลงคดีแล้วชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดได้เดินทางไปยังกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (รมว.อุตสาหกรรม) เพื่อขอให้ปิดเหมืองหินและโรงโม่หิน จ.หนองบัวลำภู โดยมี สกล จุลาภา รองอธิบดีกรมกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) เป็นผู้รับหนังสือ

จดหมายระบุว่า เปี่ยม สุวรรณสนธ์ ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ได้อ่านจดหมายที่มีใจความว่า ทางกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้พบความผิดปกติเกี่ยวกับการรังวัดกำหนดเขตประทานบัตรของบริษัทฯ เช่น เขตประทานบัตรอยู่นอกเขตประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมหลักหมายเขตประทานบัตร หลักที่ 8 ที่วางตำแหน่งอยู่บนถ้ำน้ำลอดที่เป็นแหล่งน้ำซับซึมและแหล่งโบราณคดีที่สำคัญในพื้นที่ หลังจากมีการจับ GPS ที่หลักหมุดที่ 8 พบว่าไม่ตรงกับหมุดใดเลยตามพิกัดในเว็ปไซต์ของ กพร. และไม่ได้อยู่ในพื้นที่ประกาศแหล่งหินอุตสาหกรรมแต่อย่างใด

“ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ร้องเรียนถึงกระบวนการที่ไม่ถูกต้องมาตลอด แต่ไม่เคยมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่เลย” ตัวแทนกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันไดกล่าว

ขอให้ปิดเหมืองภายใน 7 วัน 

ทั้งนี้กลุ่มอนุรักษ์ฯ ยังขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ทำตามข้อเรียกร้องของกลุ่มอนุรักษ์ฯ 3 ข้อ คือ (1) ปิดเหมืองหินและโรงโม่หินถาวร (2) ฟื้นฟูภูผาป่าไม้ และ (3) พัฒนาดงมะไฟเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์และโบราณคดี โดยขอให้มีคำสั่งระงับการทำเหมืองแร่และร่วมตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับชาวบ้านโดยเร่งด่วนภายใน 7 วัน

รองอธิบดีฯ กล่าวหลังจากรับหนังสือกับชาวบ้านว่า การพบหลักฐานว่ามีการทำเหมืองแร่นอกเขตประกาศแหล่งแร่นั้นต้องตรวจสอบให้ชัดเจน โดยเฉพาะในประเด็นที่มีหมุดเขตเหมืองคลาดเคลื่อน ส่วนระยะเวลาการตรวจสอบนั้นยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะลงไปตรวจสอบได้เมื่อใด แต่รับปากว่า จะทำให้เร็วที่สุด 

คดีนี้ชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้ฟ้องร้องต่อศาลปกครองจังหวัดอุดรธานีเมื่อปี 2555 เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งจะหมดอายุในวันที่ 3 กันยายน 2563 และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินปูนของบริษัท ธ.ศิลาสิทธิ จำกัด ที่ประกอบกิจการเหมืองแร่หิน ชนิดหินปูน เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งจะหมดอายุลงในวันที่ 24 กันยายน 2563 นี้

ต่อมาศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำพิพากษาเพิกถอนหนังสืออนุญาตดังกล่าว เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 เพราะเห็นว่ามติของ อบต. ดงมะไฟ เพื่อนำไปประกอบการขออนุญาตเข้าทำประโยชน์เขตป่าสงวนแห่งชาติฯ มีกระบวนการที่ไม่เป็นไปตามระเบียบข้อกฎหมาย แต่ภายหลังคู่ความได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดคดีจึงยังไม่ถึงที่สุดและทางบริษัทยังมีการทำเหมืองอยู่อย่างต่อเนื่องในพื้นที่เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา กลุ่มอนุรักษ์ฯ ได้เข้าเจรจาเพื่อขอให้รองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูดำเนินปิดเหมือง แต่ไม่สำเร็จ กลุ่มอนุรักษ์ฯ จึงตัดสินใจปิดทางเข้า-ออกเหมืองหิน ต.ดงมะไฟ จ.หนองบัวลำภู วันนี้เป็นวันที่ 6

image_pdfimage_print