ภาพปกจากกิจกรรม “อีสานบ่ย่านเด้อ”
ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
“เราต้องทำเรื่องนี้ให้จบในรุ่นของเรา เราขอจึงขอประกาศขอเรียกร้อง 3 ประการดังนี้
- ให้นายกฯ ยุบสภาและจัดการเลือกตั้งใหม่ 2. หยุดคุกคามประชาชน 3. แก้ไขรัฐธรรมมนูญ
กลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563
“ขอให้ระมัดระวังการละเมิดก้าวล่วง ผมคิดว่าประชาชนคงไม่ยอมนักหรอกที่จะให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก ไม่สมควรจะเกิดสำหรับประเทศไทยของเรา ผมจะไม่พูดมากในเรื่องเหล่านี้ ไม่ต้องการให้เป็นประเด็น ส่วน 3 ข้อที่เสนอกันมา ขอให้ไปเสนอในสภาฯ จะมีการตั้งคณะกรรมการอะไรก็ว่าไปกัน ซึ่งมีอยู่แล้ว”
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กรกฏาคม 2563
“โควิดเป็นแล้วหาย แต่ “โรคชังชาติรักษาไม่หาย”
พล.อ.อภิรักษ์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการกองทัพบก เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2563
“พวกเราไม่เกี่ยวฝ่ายใด แต่ไม่ต้องการให้มีการหมิ่นสถาบันจาบจ้วง รับไม่ได้เลย ใครแก้รัฐธรรมนูญก็แก้ไป จะเหลืองแดงเราไม่เกี่ยวการเมือง”
ฐากูล นวลแก้ว แกนนำกลุ่มศิษย์เก่าอาชีวะปกป้องสถาบัน เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563
“หากเด็กๆ มีอะไรข้องใจก็สอบถามได้ ขอให้ใจเย็นๆ รัฐบาลเตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น นศ.”
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563
“อย่าเรียกร้องให้สื่อยืนข้างประชาชน เรียกร้องให้สื่อทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเถอะค่ะ”
ฐาปนีย์ เอียดศรีชัย สำนักข่าว The Reporter เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563
“จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบนเวทีการชุมนุมเมื่อคืนที่ผ่านมา เป็นการหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงสถาบันเบื้องสูง สร้างความไม่สบายใจให้คนในชาติ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม แบ่งแยกประชาชนออกเป็น 2 ฝ่าย …จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่รุนแรงทางสังคมในที่สุด อาจจะเป็นการย้อนอดีตเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง เพียงแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นเกิดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ แต่ครั้งนี้จะเกิดขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต”
เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563
“10 ข้อเสนอเรียกร้องของนักศึกษาไม่เท่ากับการก้าวล่วงจาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันฯ และเราในฐานะพรรคก้าวไกล ยืนยันว่าข้อเสนอแบบนี้ต้องสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ในสังคมประชาธิปไตย อย่างมีสติ มีเหตุผล และมีวุฒิภาวะ”
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563

การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท
การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2563 บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กรุงเทพมหานคร ถือว่าเป็นปรากฏการณ์ทางการเมืองที่ก่อให้เกิดความสนใจต่อสังคมอย่างมาก
การชุมนุมที่เกิดขึ้นนี้ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการกลับมาชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาลอีกครั้งในรอบประมาณ 4 เดือน เพราะก่อนหน้านั้นเกิดขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 มีการชุมนุมของนักศึกษาในหลายมหาวิทยาลัยเพื่อประท้วงต่อการทำงานของระบบยุติธรรมและรัฐบาล แต่การชุมนุมประท้วงต้องหยุดลงเพราะการแพร่ระบาดของ Covid-19
ยิ่งไปไปกว่านั้น การชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกอยู่ภายใต้สภาวการณ์ของประเทศที่มีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามชุมนุมจับกลุ่มกันและให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมผู้ฝ่าฝืน
ปรากฏการณ์ชุมนุมประท้วงและเรียกร้องต่อรัฐบาลของเยาวชนปลดแอก (ตอนนี้เปลี่ยนชื่อเป็นกลุ่มประชาชนปลดแอก) ไม่เพียงเกิดขึ้นแค่เพียงในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังมีในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา ลำพูน พิษณุโลก ขอนแก่น มหาสารคาม สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี กระบี่ ระยอง จันทบุรี เป็นต้น
ผู้เข้าร่วมชุมนุมส่วนใหญ่เป็นนักเรียนและนักศึกษาที่ผลัดกันขึ้นเวทีปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ผลงานของรัฐบาล ปัญหาของระบบยุติธรรมไทย ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม การอุ้มหายผู้มีความเห็นต่างทางการเมืองและสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย
เมื่อมีการจัดการชุมนุมในที่ต่างๆ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ รัฐมักจะอ้างว่าต้องเข้าดูแลการชุมนุมเพื่อรักษาความสงบและความเรียบร้อย ในบทความนี้ผู้เขียนจึงอยากนำเสนอถึงลีลาหรือวิธีการที่รัฐไทยใช้ในการจัดการกับกลุ่มนักเรียนและนักศึกษาที่ชุมนุมต่อรัฐบาลว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร เหมือนหรือต่างกับที่รัฐใช้อ้างในการเข้ามาควบคุมการชุมนุมให้เกิดความเรียบร้อยหรือไม่ ให้ท่านผู้อ่านได้ลองพิจารณา วิธีการที่รัฐใช้จัดการกับการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอกสามารถแบ่งออกได้ 10 วิธีการดังนี้
วิธีที่ 1 การข่มขู่และคุกคาม
1.1 การไปเยี่ยมผู้ปกครองของเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมที่บ้านหรือไปหาเยาวชนที่สถานศึกษาเมื่อมีการจัดกิจการชุมนุมประท้วงไล่รัฐบาล การไปในลักษณะนี้เจ้าหน้าที่รัฐมีข้ออ้างว่าไปเพื่อไม่ให้เยาวชนเคลื่อนไหว กระทำสิ่งที่ผิดกฎหมาย หรือแสดงความคิดเห็นต่างทางการเมืองที่รัฐยึดถือ
1.2 มีการข่มขู่และคุกคามผ่านผู้บริหารสถานศึกษา การกระทำในรูปแบบนี้แนบเนียนมากขึ้นกว่าการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานความมั่นคงภายใน เนื่องจากผู้บริหารสถานศึกษาที่เป็นครูหรืออาจารย์ของเยาวชนมีความใกล้ชิดกับเยาวชนมากกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อมีการชุมนุมของเยาวชนหรือนักศึกษา จะมีการเชิญเข้าไปว่ากล่าวตักเตือนถึงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือมีการพูดเชิงข่มขู่ว่า ถ้ายังคงทำหรือแสดงความเห็นทางการเมืองที่ต่างออกไปต่อไปจะไม่มีงานทำ สอบเข้ารับราชการยากเพราะเขามีประวัติ หรืออาจจะถูกฟ้องร้องดำเนินคดี
สำนักงาน iLaw ได้สรุปตัวเลขการข่มขู่และคุกคามที่เกิดขึ้นดังที่กลาวมาตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม – 6 สิงหาคม 2563 ประมาณ 50 กรณี
1.3 การเข้ามาในลักษณะเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเมื่อมีการจัดการชุมประท้วงรัฐบาลขึ้น สิ่งที่พบคือเจ้าหน้าที่รัฐในเครื่องแบบที่มาเพื่ออำนวยความสะดวกให้การจัดการชุมนุมให้มีความเรียบร้อย แต่อีกกลุ่มคือ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ปะปนเข้ามากับกลุ่มเยาวชนที่มาชุมนุม พยายามที่จะพูดคุยสอบถามที่มาที่ไปของการมาชุมนุม คนกลุ่มนี้ได้สร้างความกลัวให้กับผู้ชุมนุมได้ในระดับหนึ่งใน เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าเขาเป็นใคร สังกัดหน่วยไหน แต่การแต่งกายและทรงผมเป็นที่สังเกตได้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ปะปนเข้ามาอยู่กับผู้ชุมนุม

การชุมนุมของกลุ่ม KKU มัธยม จ.ขอนแก่น จัดกิจกรรม “มัธยม KKCทวงเสรีภาพคืน” ณ สวนรัชดานุสรณ์ (ลานสฤษดิ์) เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2563 โดยมีเจ้าหน้าที่ กอ.รมน.ติดตามความเคลื่อนไหว
วิธีที่ 2 การเชิญตัวผู้เข้าร่วมชุมไปทำความเข้าใจ
รัฐมีการเชิญตัวเยาวชนผู้ที่จัดงานประท้วงไล่รัฐบาลไปทำความเข้าใจและปล่อยออกตัวออกมาทีหลัง การกระทำในรูปแบบนี้เกิดขึ้นในการชุมนุมที่จังหวัดพิษณุโลก เจ้าหน้าที่มีการนำเยาวชนที่คิดว่าเป็นแกนนำในการจัดกิจกรรมไปไว้ในค่ายพระยาจักรี ก่อนที่กิจกรรมกล้าไม่ก้มหน้าให้เผด็จจะเริ่มขึ้น และปล่อยตัวออกมาภายหลัง โดยระหว่างที่นำตัวไปมีการยึดโทรศัพท์มือ เพื่อไม่ให้ติดต่อกับใครได้ อย่างไรก็ตามผู้กำกับการตำรวจตะเวนชายแดนที่ 31 “ผู้ดูแลค่ายปฎิเสธว่าไม่มีอะไรในค่าย” “เป็นการสร้างกระแสเรียกแขก ไม่มีอะไร เจ้าหน้าที่อยู่หน่วยปกติ”
วิธีที่ 3 การแจ้งข้อหาเพื่อจับกุม
การกระทำในรูปแบบนี้ รัฐจะใช้กับผู้ที่ขึ้นมาปราศรัยบนเวที หรือผู้ที่รัฐเห็นว่าเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ เพื่อต้องการให้เกิดความหวาดกลัวและไม่ให้ดำเนินกิจกรรมต่อไป รัฐมีความเชื่อว่า ถ้าจับแกนนำที่ปราศรัยได้ จะยิ่งทำให้ผู้เข้าชุมนุมกลัว เช่น การจับกุมและแจ้งข้อหา 8 ข้อต่อ อานนท์ นำภา ภานุพงศ์ จาดนอก และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2563 แต่ผลที่ตามมาคือ ประชาชนจำนวนมากได้ไปชุมนุมที่สถานีตำรวจบางเขน สมาชิกผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย รวมถึงองค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประจำประเทศไทย ได้เรียกร้องให้ปล่อยตัวและถอนหมายจับ สุดท้ายวิธีการที่รัฐใช้คือ ให้ประกันตัว แต่มีข้อแม้ว่า ห้ามชุมนุมและเคลื่อนไหวทางการเมือง
วิธีที่ 4 สร้างภาพมายา
มีการสร้างวาทกรรมให้กลุ่มเยาวชนปลดแอกกลายเป็นผู้ร้ายทำลายชาติและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือทำให้ภาพการชุมนุมของเยาวชนนั้นมีคนอยู่เบื้องหลัง ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองของกลุ่มคนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นการดูถูกความตั้งใจ สติปัญญา และความกล้าหาญของเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้ในการแก้ไขปัญหาและหาทางออกให้กับประเทศ ดังคำพูดของพวกเขาคือ “ให้มันจบในรุ่นของเรา”
วิธีที่ 5 การใช้หน่วยงานการปฎิบัติการด้านข่าวสาร (Information Operation หรือ IO)
การสร้างภาพมายาจะไม่มีผลได้เลย ถ้าไม่มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ในปฎิบัติการด้านข่าวสาร มีการใช้ปฎิบัติการด้านข้อมูลและข่าวสารในการทำสงครามกับกลุ่มผู้ประท้วงและคิดต่างจากรัฐ กลุ่ม IO มีหน้าที่ในการเข้าไปป่วนเพจใน Facebook Instagram Twitter ของกลุ่มที่จัดกิจกรรม หรือผู้ที่มีความเห็นต่างทางการเมือง
มากไปกว่านั้น กลุ่ม IO มีหน้าที่ในการสร้างกระแสและเบี่ยงเบนประเด็นของเยาวชนผู้เข้าชุมนุม มีการสร้างข่าวเท็จ (Fake News) ให้เป็นเรื่องที่สังคมเชื่อว่าจริงหรือผลิตซ้ำวาทกรรมต่างๆ ที่ทางผู้มีอำนาจสร้างขึ้น การกระทำทั้งหมดนี้เป็นไปเพื่อลดทอนความชอบธรรมในการชุมและทำให้การชุมนุมของเยาวชนปลดแอกหมดความน่าเชื่อถือ ที่สำคัญ ทำให้การชุมนุมประท้วงของเยาวชนถูกสังคมมองว่าก่อให้เกิดปัญหาความแตกแยกในสังคม ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความรุนแรงเหมือนในอดีต หรือก่อให้เกิดปัญหาทางด้านเศรษฐกิจในเวลาต่อมา
นอกจากการใช้กลุ่ม IO ในการปฎิบัติการด้านข่าวสารแล้ว รัฐได้เพิ่มยุทธวิธีการต่อสู้ทางด้านข่าวสารมากยิ่งขึ้น โดยการตั้งเพจ อาสา จับตา ออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้คนในสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลสังคมออนไลน์ การเกิดขึ้นของเพจดังกล่าวในมุมหนึ่งถูกมองว่า ทำให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐในการจับกุมผู้ทำผิดกฎหมายโลกออนไลน์ เช่น ข่าวเท็จ เว็บการพนัน เว็บโป๊ แต่อีกมุมหนึ่งคือ การกระทำดังกล่าวจะยิ่งเร่งทำให้สังคมแตกแยก ในกรณีที่มีเรื่องเงินรางวัลการนำจับเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะจะทำให้คนในสังคมบางส่วนกลายเป็นเครื่องมือของรัฐในการไล่ล่าผู้มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง
วิธีที่ 6 ควบคุมสื่อ
มีการควบคุมสื่อกระแสหลัก ทั้งในหน้าหนังสือพิมพ์และในจอโทรทัศน์ในการนำเสนอข่าวการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษา เพื่อทำให้ประเด็นการชุมนุมของนักศึกษาแพร่กระจายในสังคมน้อยที่สุด หรือถ้ามีการเสนอข่าว ก็จะเป็นในลักษณะของการเล่าถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบผ่านๆ มากกว่าจะมีการเจาะลึกลงในรายละเอียดว่าการชุมนุมนี้เกิดมาได้อย่างไร การจัดการชุมนุมมีประเด็นปราศรัยอะไรที่สำคัญ รัฐบาลตอบสนองต่อข้อเรียกร้องต่อผู้ชุมนุมมากแค่ไหน การเสนอข่าวของสื่อกระแสหลักนั้นเหมือนอยู่คนละโลกกับสื่อกระแสรองในโลกออนไลน์ที่มีการวิเคราะห์ข่าวการชุมนุมแบบเจาะลึกดังที่ได้กล่าวมา
วิธีที่ 7 สร้างความลำบากให้การจัดงาน
วิธีนี้ใช้เมื่อจะมีการจัดงานการชุมนุมเพื่อประท้วงรัฐบาล ผู้จัดต้องมีการเข้าไปขออนุญาตกับเจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิด ในบางพื้นที่เจ้าหน้าที่รัฐมีการพูดคุยหว่านล้อมไม่ให้มีการจัดเพราะอาจจะเกิดผลกระทบที่ตามมา หรือมีการโยนกันไปมาว่าต้องไปขอที่แผนกไหนหน่วยใดซึ่งต้องใช้เวลาในการขออนุญาตนาน โดยเฉพาะพื้นที่ภายนอกมหาวิทยาลัยที่การขอเครื่องขยายเสียงต้องไปขอที่เจ้าพนักงานท้องถิ่น นอกจากนี้ เมื่อมีการจัดการชุมนุมเสร็จสิ้น ผู้จัดการชุมนุมอาจจะโดนแจ้งข้อหาในการทำ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 หรือควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 เพื่อให้เสียค่าปรับ
ส่วนการขอใช้สถานที่ ต้องไปขอที่สถานีตำรวจ ตามปกติพื้นที่มหาวิทยาลัยผู้อำนาจหน้าที่ดูแลคือคณบดี แต่ถ้านอกคณะ แต่อยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ต้องไปขอกับอธิการบดีหรือรองอธิการบดีที่ดูแลสถานที่ มหาวิทยาลัยบางแห่งให้ความร่วมมือกับการจัดการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน แต่บางแห่งมีการปิดตอนที่ผู้ชุมนุมบางคนปราศรัย
สิ่งเหล่านี้สะท้อนความพยายามของรัฐในการสร้างความลำบากในการจัดการชุมนุมและสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นให้ผู้ที่อยากจะเข้าร่วมการชุมนุม เพราะความกังวลที่ต้องมาเจอกับการแจ้งข้อหาทำผิดเรื่องความสะอาดและการใช้เครื่องเสียง หรือต้องมาเจอกับด่านและการเรียกตรวจเอกสารต่างๆ จากเจ้าหน้าที่
วิธีที่ 8 จัดตั้งและสนับสนุนฝ่ายที่เห็นตรงกับรัฐ
วิธีการนี้รัฐใช้ในการจัดตั้งกลุ่มหรือสนับสุนกลุ่มคนที่มีความเห็นตรงกับรัฐเพื่อสนับสนุนการทำงานของรัฐ กลุ่มชุมนุมที่มีความเห็นไปในทางเดียวกับรัฐจะได้รับการดูแลอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ ขั้นตอนการขอการชุมนุมจะไม่ยุ่งยาก ไม่โดนแจ้งข้อหาใดๆ ทั้งสิ้น ที่สำคัญกลุ่มในลักษณะนี้บางลักษณะยั่วยุให้เกิดการปะทะหรือใช้ความรุนแรงเพื่อลดทอนความชอบธรรมการชุมนุมของกลุ่มเยาวชน
วิธีที่ 9 ดึงเกมให้ยืดเยื้อ
วิธีนี้รัฐใช้เพื่อลดทอนกระแสความร้อนแรงของการชุมนุม เมื่อการชุมนุมมีความร้อนแรงเพิ่มมากขึ้น ในการตั้งคำถามต่อรัฐ เช่น พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะถูกนำมาใช้จัดการกับเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมหรือไม่ สิ่งที่รัฐทำคือการออกมาประกาศว่าจะไม่มีการใช้กฎหมายฉบับนี้จัดการกับผู้ชุมนุม แต่ก่อนนั้นรัฐเองเป็นผู้ขู่ผู้ชุมนุมว่า การชุมนุมจะผิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ ความพยายามของรัฐที่ตอนนี้มีการพูดถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนและตั้งคณะกรรมกรรมเพื่อฟังความคิดเห็นของกลุ่มเพื่อนำไปพิจารณา
สิ่งเหล่านี้ดูเหมือนว่ารัฐจะรับฟังคำเรียกร้องที่เกิดขึ้น ถ้ามองอีกมุมหนึ่งคือความพยายามประวิงเวลาให้ยืดออกไปนานขึ้น เพื่อลดความร้อนแรงของชุมนุมลดน้อยลง และความพยายามทำให้การชุมนุมนี้หมดความชอบธรรมลง เนื่องจากรัฐยอมเจรจาและเรื่องอยู่ในกระบวนการแล้วแต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมหยุด
วิธีที่ 10 การต่อรอง
รัฐมีการใช้วิธีการต่อรองกับเยาวชนผู้ชุมนุมถึงเรื่องที่ทำได้และทำไม่ได้ สิ่งที่พบล่าสุดคือ การยกระดับการปราศรัยของผู้ชุมนุมที่พูดถึงเรื่องบทบาทและความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับการเมืองไทย รัฐไทยมีความพยายามที่จะต่อรองกับผู้ที่จะจัดการชุมนุมให้หลีกเลี่ยงการพูดถึงประเด็นดังกล่าว เนื่องจากรัฐคิดว่าเป็นประเด็นที่ล่อแหลมในสังคม
สิ่งที่พบคือ การออกมาพูดของผู้มีอำนาจรัฐในการเรียกร้องการชุมนุมให้อยู่ 3 ข้อที่เสนอต่อรัฐบาลมาในตอนต้น อย่าเกินเลยออกไปมากกว่านี้ แต่อีกด้านหนึ่งผู้มีอำนาจรัฐเองเริ่มมีการสร้างวาทกรรมให้กับกลุ่มเยาวชนที่ชุมนุมเป็นผู้ทำลายชาติและสถาบัน อย่างไรก็ตามแทนที่จะมีการนำสิ่งที่ผู้ปราศรัยในการชุมนุมเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์มาพูดคุยถกเถียงในพื้นที่สาธารณะเพื่อให้สังคมได้รับทราบ แต่กลับใช้วิธีการต่อรอง ถ้าไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว รัฐจะปล่อยให้มีการจัดการชุมนุมต่อไปได้
ที่กล่าวมาเป็นลีลาหรือวิธีการที่รัฐไทยใช้การจัดการกับการจัดชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในช่วงเดือนที่ผ่าน สิ่งที่พบคือ การจัดการดังกล่าวไม่ได้เป็นไปเพื่อที่จะส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและแสดงความเห็นคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งพึงมีในการปกครองของประเทศที่มีความเป็นอารยะและเป็นประชาธิปไตย แต่กลับกลายเป็นการข่มขู่ คุกคาม ใส่ร้าย และพยายามสกัดการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนในการประท้วงเรียกร้องต่อรัฐบาลและความพยายามในแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเสียมากกว่า
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด