ภาพหน้าปกจาก Henrik Bohn Ipsen / Heartbound – A Different Kind of Love Story

จำนวนผู้หญิงอีสานที่อพยพไปอยู่กับสามีในทวีปยุโรปมีจำนวนเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน ตัวเลขผู้ชายตะวันตกที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอีสานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้รัฐบาลส่วนกลางให้ความสนใจ แล้วการที่รัฐบาลมีข้อกังวลนี้มีจำเป็นหรือไม่? จากผลการวิจัยเมื่อไม่นานมานี้ชี้ให้เห็นว่า ผู้หญิงอีสานได้ก้าวข้ามทางเลือกที่มีอยู่อย่างจำกัด หลังแต่งงานกับชายชาวตะวันตก โดยชีวิตของผู้หญิงเหล่านี้ห่างไกลจากการตกเป็นเหยื่อ พวกเธอได้แสดงให้เห็นถึงการมีสิทธิเสรีภาพและอำนาจในการกำหนดชีวิตตัวเอง การยกระดับตัวเองและครอบครัวให้ดีขึ้น

ความท้าทายต่อมองเมียฝรั่งว่าเป็น ‘เหยื่อ’

ระหว่างปี ค.ศ. 2000 (พ.ศ.2543) ถึง 2010 (พ.ศ.2553) จำนวนชายชาวตะวันตกที่ตั้งถิ่นฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือกับภรรยาชาวอีสานเพิ่มขึ้นจากที่เคยมีน้อยกว่าหนึ่งพันคนเป็นเกือบ 25,000 คน และมีผู้หญิงชาวอีสานอีกหลายพันคนที่ย้ายไปยุโรป ออสเตรเลีย หรือสหรัฐอเมริกา และส่งเงินกลับบ้าน

หากดูในแง่เศรษฐกิจแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างชายชาวตะวันตกและหญิงอีสานมีผลอย่างชัดเจนต่อภูมิภาคแห่งนี้ เมื่อปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547) งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่รัฐบาลจัดทำขึ้นระบุว่า ผู้หญิงชาวอีสานราว 15,000 คน มีความสัมพันธ์กับชายชาวตะวันตกและส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว 1,464 ล้านบาท ต่อปี หรือเฉลี่ยประมาณ 97,600 บาทต่อครอบครัว

ตัวเลขนี้ไม่ใช่จำนวนเงินจำนวนน้อยนิด เพราะเมื่อปี ค.ศ. 2004 (พ.ศ. 2547)  รายได้ครัวเรือนเฉลี่ยของประเทศไทยอยู่ที่ 40,000 บาท ดังนั้นจำนวนเงินช่วยเหลือที่ผู้หญิงเหล่านี้ส่งกลับมาจึงเทียบเท่ากับรายได้เฉลี่ยของครอบครัว 36,552 ครอบครัว ทั้งนี้รายงานข่าวชิ้นหนึ่งได้ชี้ให้เห็นว่า การส่งเงินกลับมาช่วยเหลือครอบครัวของบรรดาผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวตะวันตกคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 6 ของผลผลิตทางเศรษฐกิจของชาวอีสานในปีดังกล่าว ในช่วงเวลาที่การส่งเงินจากต่างประเทศกลับมาประเทศไทย โดยรวมมีเพียงประมาณร้อยละ 1 เท่านั้น

สิบปีต่อมา เมื่อปี ค.ศ. 2014 (พ.ศ.2557) เงินช่วยเหลือของคู่รักข้ามชาติที่ส่งกลับมาอีสานเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว เป็นจำนวน 8,670 ล้านบาท ด้วยรายได้ครัวเรือนเฉลี่ยต่อปีของประเทศไทยอยู่ที่ 100,500 บาท เงินช่วยเหลือเหล่านี้จึงเป็นเงินรายได้เฉลี่ยต่อปีของครอบครัวในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากกว่า 86,000 ครอบครัว

หมู่บ้านหรือตำบลบางแห่งจึงเริ่มเป็นที่รู้จัก เพราะมีการติดต่อสัมพันธ์กับชายชาวตะวันตกและได้รับความสนใจจากสื่อมวลชน โดยหมู่บ้านแห่งหนึ่งในจังหวัดร้อยเอ็ดมีชื่อเรียกเล่น ๆ ว่าเป็น “หมู่บ้านสวิส” ด้วยเพราะในหมู่บ้านแห่งนี้มีลูกเขยเป็นชาวตะวันตกมากกว่าร้อยละ 18 แม้ว่าผู้หญิงส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่กับสามีในสวิตเซอร์แลนด์ แต่เงินทองที่ส่งกลับมาก็ช่วยเหลือเกื้อกูลชุมชนแห่งนี้

ในอีกพื้นที่หนึ่งที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีชายชาวตะวันตกแต่งงานกับหญิงชาวอีสานจำนวนมาก เมื่อปี ค.ศ. 2008 (พ.ศ.2551) มีข่าวของหนังสือพิมพ์คมชัดลึกเผยแพร่การให้สัมภาษณ์ของเด็กอนุบาลคนหนึ่งที่กล่าวว่า “โตขึ้นหนูอยากเป็นเมียฝรั่ง” มาแล้ว

บรรดาผู้อ่านพากันตกอกตกใจ อีกทั้งเจ้าหน้าที่รัฐและอาจารย์มหาวิทยาลัยก็ออกมาแสดงความไม่พอใจ โดยกังวลว่า “การเน้นเรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจนั้นส่งสัญญาณให้เห็นถึงสถาบันครอบครัวในอีสานที่กำลังเสื่อมโทรม”

เมียฝรั่งที่อ่านข่าวนี้ก็ตกใจเหมือนกัน แต่พวกเธอสงสัยว่า ทำไมข่าวชิ้นนี้จึงไม่พูดถึงความดีงามที่พวกเธอได้กระทำเพื่อครอบครัว พวกเธอกล่าวว่า พวกเธอแสวงหาการแต่งงานกับชาวต่างชาติเพราะ “ปัญหาครอบครัว ความไม่รับผิดชอบของผู้ชายอีสาน รวมถึงความต้องการปรารถนาที่จะดูแลพ่อแม่ของตัวเอง” 

พัชรินทร์ ลาภานันท์ ผู้เขียนรายงานการศึกษาอย่างละเอียดเกี่ยวกับปรากฏการณ์เมียฝรั่งในอีสานและเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนไว้ในหนังสือว่า รัฐบาลส่วนกลางที่เพิ่งตื่นตัวกับ “ปัญหา” ของปรากฏการณ์เมียฝรั่ง มีความกังวลว่า หมู่บ้านเหล่านี้จะสูญเสียจิตวิญญาณของความเป็นคนไทยและทำลายประเพณีท้องถิ่น รวมทั้งคุณค่าของครอบครัว ส่วนนักวิชาการอีกคนหนึ่งก็กังวลว่า แฮมเบอร์เกอร์จะมาแทนที่อาหารอีสานในหมู่บ้านที่มีความเสี่ยงเหล่านั้น  

รัฐบาลได้วิจัยปัญหาและสรุปว่า ปัญหาคือการค้ามนุษย์ โดยชี้ให้เห็นว่า จากมุมมองของรัฐบาล “ปัญหาการค้าผู้หญิงและการแต่งงานข้ามชาติในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกัน”

ผู้หญิงอีสานคนหนึ่งที่เข้าร่วมการอบรมให้ข้อมูลที่จัดโดยรัฐบาล กล่าวว่า เธอรู้สึกสับสน เพราะให้ข้อมูลได้เน้นถึงวิธีการที่ผู้ชายชาวตะวันตกใช้ “ล่อลวงผู้หญิงอีสานไปค้าประเวณีข้ามชาติ” ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ของเธอหรือของเมียฝรั่งคนอื่นๆ เธอเข้าใจว่า หัวใจสำคัญของการเป็นเมียฝรั่งคือ การที่ผู้หญิงเหล่านี้ได้ช่วยพ่อแม่มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

สำหรับคนที่มีพื้นเพเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง และมีความคิดชาตินิยม การแพร่กระจายและอิทธิพลของปรากฏการณ์เมียฝรั่งทำให้พวกเขารู้สึกไม่สบายใจ บ่อยครั้งความรู้สึกไม่สบายใจเช่นนี้ ส่งผลให้คนกรุงเทพฯ พากันเผยแพร่สิ่งที่ทำให้ต้องตั้งคำถามถึงลักษณะของผู้หญิงอีสานเหล่านี้ ดังจะเห็นได้จากกรณีของบทความที่ดูถูกคนอื่นว่าโง่ เหยียดเพศ และเหยียดเชื้อชาติ ตีพิมพ์เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว โดยมติชนสุดสัปดาห์ จนทำให้เกิดความโกรธแค้นในหมู่ผู้หญิงอีสานจำนวนมาก

อำนาจในการตัดสินใจของเมียฝรั่ง

ช่วงทศวรรษ ค.ศ. 1980 (พ.ศ.2523) และ ค.ศ.1990 (พ.ศ.2533) วาทกรรมทางสังคมและแวดวงวิชาการส่วนใหญ่ที่มีเกี่ยวกับเมียฝรั่งนั้นตั้งอยู่บนฐานของ “ข้อสันนิษฐานที่แพร่หลายในประเทศตะวันตก รวมทั้งในหมู่ชาวเมืองที่อยู่ในกรุงเทพฯ ว่า เจ้าสาวชาวไทยของหนุ่มฝรั่งเป็นหญิงสาวไร้เดียงสาที่ตกเป็นเหยื่อของ

การค้าเจ้าสาวระหว่างประเทศหรือการค้ามนุษย์ทางเพศ” ซึ่งภาพเหมารวมที่พบบ่อยที่สุดก็คือ ผู้หญิงคนนั้นเป็น “โสเภณี” และผู้ชายคนนั้นก็เป็น “ผู้แสวงบริการทางเพศ” (sexpat)

ในบทความที่เผยแพร่เมื่อปี ค.ศ. 2013 (พ.ศ. 2556) ศิริจิต สุนันต๊ะ และ เลโอโนรา แองเจลิส เน้นถึงประเด็นที่ว่า ผู้หญิงอีสานหนีชีวิตเกษตรกรรมอันแร้นแค้นในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและส่วนใหญ่ผู้หญิงเหล่านี้มักเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ถูกผู้ชายอีสานที่ไร้ความรับผิดชอบทอดทิ้งไป “ ผู้หญิงเหล่านี้ถูกทำให้เป็นคนชายขอบในหลายระดับ เพราะเพศ เชื้อชาติ ชนชั้น และ/หรือสัญชาติของเธอ” ผู้เขียนทั้งสองเขียนไว้

เนื่องจากมีตัวเลือกไม่มากนัก ผู้หญิงเหล่านี้จึงอพยพย้ายไปยังภาคกลางของไทยและหางานทำเป็นชนชั้นแรงงาน ส่วนคนที่เกี่ยวข้องกับสถานบันเทิงและนักท่องเที่ยว พวกเขาได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแห่ง “สัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างประเทศ” ทำงาน “แรงงานสัมพันธ์ใกล้ชิด” อย่างมีทักษะ “โดยใช้อารมณ์ การดูแลเอาใจใส่ ด้วยความฉลาดหลักแหลมทางสังคม/อารมณ์” และใช้ภาพลักษณ์อันแปลกใหม่จากแดนไกลของหญิงไทยบนเวทีโลก

สำหรับผู้เขียนทั้งสองคนแล้ว ผู้หญิงเหล่านี้พยายามเอาชนะสถานะเป็นการคนชายขอบและโอกาสอันจำกัดจำเขี่ยเพื่อไต่เต้าสถานะทางสังคมด้วยการแต่งงานกับผู้ชายตะวันตก

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นจริงได้ ภายใต้เศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน แม้ว่าผลกำไรจากการท่องเที่ยวโดยทั่วไปจะตกอยู่ในอุ้งมือของ “บริษัทข้ามชาติ สายการบิน และเครือโรงแรม” แต่ผู้หญิงอีสานก็อดออมส่วนแบ่งของความมั่งคั่งส่งกลับไปสู่อีสานได้

การทำหน้าที่เป็น “ลูกสาวที่ดี” และ“ สมาชิกชุมชนเปี่ยมด้วยมิตรไมตรี” ทำให้สังคมอีสานมองบรรดาผู้หญิง “กล้าหาญ” เหล่านี้ในด้านบวกมากขึ้น การแต่งงานกับชาวตะวันตกในอีสานจึงได้รับการยอมรับมากขึ้นและถูกตีตราว่าอัปยศน้อยกว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ดังที่สะท้อนให้เห็นในคำพูดของผู้นำท้องถิ่นชายคนหนึ่งในอีสาน ดังนี้

“ผู้หญิงที่เป็น (เมียฝรั่ง) อาจจะเลือกสถานที่และสถานะทางสังคมที่ตัวเองเกิดมาไม่ได้ แต่พวกเธอเลือกได้ว่าอยากจะอยู่ที่ไหน (ทางกายภาพและทางสังคม) และตราบใดที่ทางเลือกของพวกเธอทำให้ตัวเธอและครอบครัวมีความสุขและปลอดภัย ผมก็ไม่มีอะไรที่จะต้องต่อต้าน”

ผู้เขียนยังกล่าวไว้ว่า หญิงอีสานเหล่านี้ไม่ควรถูกมองด้วยความสงสัยเคลือบแคลง แต่ทว่าพวกเขากลับแสดงให้เห็นว่า คน “ที่อยู่ในชั้นทางสังคมที่ต่ำที่สุดยังคงต่อสู้ พัฒนา ปรับตัวและคิดค้นวิธีการที่จะเปลี่ยนแปลงโชคชะตาของตัวเอง แม้จะมีทรัพยากรที่จำกัดจำเขี่ยก็ตาม”

ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน

ข้อมูลจากงานวิจัยของ ทอมป์สัน เอริค, พัฒนา กิติอาษา และสุริยา สมุทคุปติ์ ได้ชี้ให้เห็นว่า งานวิจัยก่อนหน้านี้มีแนวโน้มที่จะ “ตีตราผู้หญิงโดยเฉพาะ แต่ผู้ชายก็ยังถูกมองว่าเป็น ‘อดีตผู้ให้บริการทางเพศ’ (หรือ ‘ผู้แสวงหาบริการทางเพศ’) อยู่ตลอด ราวกับว่า นั่นเป็นเพียงส่วนเดียวของประสบการณ์ชีวิตอันยาวนานของพวกเธอนั้นเป็นเรื่องสำคัญ” แต่นักวิจัยทั้ง 3 คนนี้กลับต้องการ “เปิดให้มีการอภิปรายหารือกันกว้างขึ้น” ว่าสถานะของเมียฝรั่งและ “ผู้ชายฝรั่งนับหมื่นที่ปักหลักอยู่ในอีสาน” มีการเปลี่ยนแปลงไม่เพียงแต่ผู้หญิงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงครอบครัวและความสัมพันธ์ทางสังคมและเศรษฐกิจต่อชุมชนท้องถิ่นด้วย

ตามธรรมเนียมดั้งเดิม สังคมอีสานให้ความสำคัญแก่ฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ ในแง่ที่ว่าที่ดินและความมั่งคั่งส่วนใหญ่ถูกควบคุมโดยผู้หญิง เมื่อแต่งงาน ครอบครัวของสามีไม่เพียงต้องจ่าย “ค่าสินสอด” เท่านั้น แต่ยังสูญเสียลูกชาย ออกจากบ้านไปด้วย โดยปกติแล้วลูกเขยคนใหม่จะเข้ามาอยู่ร่วมกันกับครอบครัวของผู้หญิง และเขยใหม่เหล่านี้ก็มีค่าในแง่ของ “แรงงานที่มีประสิทธิผลและทรัพยากรทางวัตถุที่พวกเขาสามารถนำมาสู่ครอบครัวและหมู่บ้านที่เขาแต่งงานด้วย” หากเทียบกับลูกชายแล้วบรรดาลูกสาวนั้นจะได้รับการให้ความสำคัญอย่างสูง แต่พวกเธอก็ถูกคาดหวังสูงกว่าในแง่ของการที่จะต้องดูแลครอบครัว ซึ่งที่จริงแล้ว ผู้เขียนทั้ง 3 คนกล่าวไว้ว่า “การแสดงออกทางวัฒนธรรมหลักๆ ของสังคมที่ให้ความสำคัญแก่ทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ คือบทบาทหน้าที่ของลูกสาวที่จะต้องปฏิบัติต่อพ่อแม่”

ชาร์ลส์ เอฟ คายส์ ตั้งข้อสังเกตว่า ช่วงต้นทศวรรษ ค.ศ. 1980 (2523) ผู้หญิงไทยวัยทำงานมีมากถึง 500,000 ถึง 700,000 คน หรือราวร้อยละ 3.3 ถึง 4.7 ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยได้รับการขนานนามว่าเป็น“ ซ่องของโลก” เขากล่าวว่า ผู้หญิงเหล่านี้มาจาก “ครอบครัวในชนบทที่มีปัญหาทางการเงินอย่างหนัก” และพวกเธอเข้าสู่ “ความสัมพันธ์แบบแสวงหาผลประโยชน์กับผู้ชาย” ดังนั้น ผู้หญิงที่อยู่ในกลุ่มนี้ แม้ว่าจะทำหน้าในฐานะลูกสาวที่มีความกตัญญู แต่ก็ค้นพบว่า “ผลประโยชน์ที่ได้…ก็แทบจะไม่ได้หักล้างความเสื่อมโทรมที่มากับการทำหน้าที่ของเธอเลย”

การวิจัยของผาสุก พงษ์ไพจิตร แสดงให้เห็นว่า ผู้ให้บริการทางเพศเชิงพาณิชย์ในยุคนั้นยอมรับบทบาทของตนในฐานะลูกสาวที่มีความกตัญญู เธอกล่าวถึงผู้หญิงที่เธอได้ทำแบบสำรวจด้วย โดยพบว่าส่วนใหญ่ผู้หญิงเหล่านี้ยอมรับบทบาทของตน “ในฐานะผู้หาเลี้ยงครอบครัว” “ยังมีความผูกพันกับครอบครัวเป็นอย่างดี” และส่งเงินกลับไปให้ครอบครัว

เนื่องจากรายได้ทางการเกษตรลดลง ครอบครัวในอีสานจึงต้องพึ่งพาเงินตราที่ส่งกลับจากบรรดาสมาชิกในครอบครัวที่อพยพเข้าไปทำงานอยู่ในเขตเมืองในประเทศไทยหรือในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบการอพยพย้ายที่ “ขยายจากชนบท-ท้องถิ่นสู่ในเมือง-ในประเทศ ไปจนถึงข้ามชาติ ” ทั้งนี้ ในระบบเศรษฐกิจที่มีการสร้างรายได้มากขึ้นนั้น การให้ความสำคัญกับแรงงานที่มีศักยภาพของบุตรเขยจึงเปลี่ยนเป็นสู่ “เงินตราและทรัพยากรทางวัตถุอื่น ๆ ที่ลูกเขยเหล่านี้จะหามาให้ได้” แทน

การแต่งงานกับชายชาวตะวันตกจึงกลายเป็น “กลยุทธ์สำคัญของผู้หญิงในการปฏิบัติหน้าที่ความกตัญญูกตเวที” และเป็นวิธีเสริมสร้างสถานะของผู้หญิงเหล่านี้ ชายชาวตะวันตกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของ “การเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางครอบครัวและความสัมพันธ์ทางเครือญาติของสังคมอีสานที่ให้ความสำคัญแก่ทางฝ่ายหญิงหรือฝ่ายแม่ ในฐานะลูกเขยที่แต่งงานเข้ามา ซึ่งเป็นผู้ให้การสนับสนุนทางด้านวัตถุและการเงิน ตลอดจนการดูแลด้านอื่นที่ไม่ใช่ด้านวัตถุ” เช่น การเลี้ยงดูบรรดาลูกๆ ที่ภรรยามาก่อนแต่งงาน

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คู่รักคนอีสาน-ตะวันตกได้ย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศบ้านเกิดของสามีและส่งเงินกลับมาให้ครอบครัวในอีสาน แต่ปัจจุบันจำนวนของคู่รักเหล่านี้มาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย “เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก” ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคอีสาน ในทางกลับกันถือเป็นการรักษาประเพณีการแต่งลูกเขยเข้าบ้านนั่นเอง

บ่อยครั้งลูกเขยชาวตะวันตกมักเป็นฝ่ายนำรายได้ที่มั่นคงของครอบครัวในอีสาน ครอบครัวที่มีลูกเขยต่างชาติจึงเปรียบได้กับ “การถูกรางวัลลอตเตอรี่” หรือดียิ่งกว่านั้น แทนที่จะจ่ายเงินครั้งเดียว แต่ลูกเขยชาวตะวันตกนั้นมีศักยภาพที่จะหารายได้มาจุนเจือครอบครัวอยู่เสมอแทน

แม้ว่าจะยังคงถูกตีตราอยู่บ้าง แต่การแต่งงานกับชาวตะวันตก “ก็กลายเป็นปณิธานทางวัฒนธรรมที่แพร่หลายในหมู่ผู้หญิงอีสาน” ซึ่ง “ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง เช่น ในทางวัฒนธรรมว่า เป็นสิ่งที่ผู้หญิงหลายคนปรารถนา”

ขณะเดียวกันรัฐบาลส่วนกลางแสดงความกังวลว่า ความต้องการที่กว้างขวางของผู้หญิงอีสานนี้เป็นประเด็นที่น่าเป็นห่วงและทำให้ต้องมีความพยายามที่จะจัดการกับ “ปัญหานี้” ทว่าความพยายามดังกล่าวอาจเป็นเจตนาที่ดี แต่ก็เป็นความพยายามที่เกิดจากความเข้าใจผิดๆ แทนที่จะเป็นปัญหา แต่การมีลูกเขยชาวตะวันตกนั้นบ่อยครั้งทำให้สถานะของผู้หญิงอีสานดีขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในขอบเขตทางวัฒนธรรมและเพศก็ตาม ส่วนใหญ่แล้ว ผู้หญิงอีสานสามารถหน้าที่ของความกตัญญูกตเวทีจึงทำให้พวกเธอเป็น “ลูกสาวที่ดีของคนอีสาน”

ตอนต่อไปจะพูดถึงสถานะของเมียฝรั่ง บทบาทของผู้ชายอีสาน และให้การพิจารณาใหม่เกี่ยวกับเรื่องของ “ความรัก” ใน “การแต่งงานกับชายชาวตะวันตกในฐานะที่เป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้หญิงอีสานอย่างไรบ้าง”

งานวิจัยที่มีการอ้างอิงถึง: 

Keyes, Charles F., “Mother or Mistress but Never a Monk: Buddhist Notions of Female Gender in Rural Thailand,” American Anthropologist (1984), 11 (2), pp. 223–41.

Pasuk Phongpaichit, Rural Women in Thailand: From Peasant Girls to Bangkok Masseuses (Geneva: International Labour Office, 1980).

Patcharin Lapanun, Love, Money and Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village (National University of Singapore Press, 2019).

Sirijit Sunanta & Leonora C. Angeles, “From rural life to transnational wife: agrarian transition, gender mobility, and intimate globalization in transnational marriages in northeast Thailand,” Gender, Place & Culture: A Journal of Feminist Geography (2013) 20 (6), pp. 699-717.

Statham, Paul, “Living the long-term consequences of Thai-Western marriage migration: the radical life-course transformations of women who partner older Westerners,” Journal of Ethnic and Migration Studies (2020) 46, pp. 1562-87.

Thompson, Eric C., Pattana Kitiarsa, and Suriya Smutkupt, “From Sex Tourist to Son-in-Law: Emergent masculinities and transient subjectivities of farang men in Thailand,” Current Anthropology (2016) 57 (1), pp. 53-71.

Thompson, Eric C., Pattana Kitiarsa, and Suriya Smutkupt, “Transnational Relationships, Farang-Isan Couples, and Rural Transformation,” Journal of Sociology and Anthropology (2018) 37 (1) , pp. 95-126.

image_pdfimage_print