ภาพหน้าปกจาก Lars Skree / Heartbound

ศิริจิต สุนันต๊ะ เรื่อง 

การแต่งงานข้ามเชื้อชาติและวัฒนธรรมระหว่างผู้หญิงอีสานและชายชาวตะวันตก หรือที่รู้จักกันในชื่อปรากฏการณ์ “เมียฝรั่ง” หรือ “เขยฝรั่ง” ได้รับความสนใจจากสื่อและสังคมกระแสหลักตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 2000 (2543 – 2553) ซึ่งเป็นช่วง “บูม” ของปรากฏการณ์ดังกล่าว 

ทันทีที่เข้าสู่การรับรู้ของสังคมวงกว้าง ปรากฏการณ์เมียฝรั่งได้รับการจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ความเห็นส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางลบ หลักๆ แล้วความกังวลและคำวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ จะมุ่งไปที่ความอยากได้อยากมีของผู้หญิงอีสานที่หวังแต่งงานกับผู้ชายฝรั่ง เพื่อยกระดับฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของตนเองและญาติพี่น้อง โดยมองว่าผู้หญิงอีสานที่มีพื้นเพมาจากชนบท การศึกษาไม่สูง ใช้การแต่งงานกับฝรั่งเป็นทางลัดในการเลื่อนชั้นทางสังคม 

ผู้หญิงอีสานที่แต่งงานกับฝรั่งเป็นอย่างนี้จริงหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็น เพราะความเป็นจริงซับซ้อนกว่าภาพเหมารวมเสมอ สิ่งที่ต้องการนำเสนอก็คือ ฐานคิดของการเหยียดเมียฝรั่งตั้งอยู่บนอคติทางเพศ บวกกับอคติทางชนชั้น เชื้อชาติและความเป็นเมือง/ชนบทในบริบทความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมของไทย 

สังคมไทยเป็นสังคมชนชั้นและให้ความสำคัญกับสถานะและลำดับชั้นทางสังคม การแบ่งชนชั้นและการเลือกปฏิบัติกับคนที่มีสถานะทางสังคมต่างกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปกติ การเหยียดคนอีสานมีมานานแล้ว โดยมีภาพจำของคนอีสานว่าเป็นคนชนบทที่มีการศึกษาต่ำและเป็นชนชั้นแรงงาน 

แม้ปัจจุบันอีสานจะเปลี่ยนแปลงไปมาก แต่ภาพจำของความเป็นคนอีสานดังกล่าวก็ยังไม่หมดไป ในกรณีการเหยียดเมียฝรั่ง นอกจากอคติทางเชื้อชาติและชนชั้นแล้ว ยังมีมิติทางเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพราะร่างกายและเพศวิถีของผู้หญิงถูกสังคมตรวจสอบและนำมาเป็นประเด็นทางศีลธรรมเสมอ ตั้งแต่การแต่งตัว การวางตัวต่อเพศตรงข้าม เพศสัมพันธ์และการแต่งงาน การเหยียดเมียฝรั่งที่มีพื้นเพจากชนบทอีสานเป็นการกดทับในสองระดับ คือเพศสถานะและชนชั้นทางสังคม 

เมื่อพวกเธอถูกมองว่าเป็นผู้หญิงชนบท การศึกษาต่ำ ที่ใช้ร่างกาย เพศ และการแต่งงานเป็นเครื่องมือในการเลื่อนชั้นทางสังคม เช่นเดียวกับการเหยียดผู้หญิงอีสานที่ทำงานบริการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวทางเพศหรือเมียเช่าในอดีต ชนชั้นและสถานะทางสังคมเป็นเครื่องแบ่งแยกผู้หญิงไทยออกจากกัน ทรรศนะเหยียดเมียฝรั่ง บ่อยครั้งมาจากผู้หญิงไทยชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มองว่าเมียฝรั่งจากอีสานทำให้ภาพลักษณ์ของผู้หญิงไทยโดยรวมเสียหาย 

การตีตรานี้มาจากการหลับตาต่อความเหลื่อมล้ำและการผลิตซ้ำการแบ่งชนชั้นทางสังคม ภายใต้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันแรงงานส่วนใหญ่ทั้งในภาคเกษตร อุตสาหกรรมและบริการ รวมถึงเศรษฐกิจภาคไม่เป็นทางการต่างๆ มีรายได้ต่ำ ไม่มีเงินเก็บ เป็นหนี้ ในสภาพเศรษฐกิจที่บีบคั้นมากขึ้น หลายคนมองไม่เห็นอนาคตที่จะลืมตาอ้าปากหรือมีโอกาสประสบความสำเร็จมีชีวิตที่ดีได้ โดยเฉพาะเมื่อมีครอบครัว ลูก หรือพ่อแม่ที่จะต้องดูแล ในเมื่อโอกาสในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยตีบตัน 

เราจึงเห็นการดิ้นรนไปทำงานต่างประเทศ ทั้งโดยถูกต้องและไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อส่งเงินกลับจากการใช้แรงงานไทยในต่างประเทศ รวมถึงเมียฝรั่งช่วยประคับประคองและยกระดับความเป็นอยู่ของครอบครัวในชนบท ในขณะที่รัฐยังไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เท่าเทียมทางโอกาสระหว่างประชากรกลุ่มต่างๆ  

การเลื่อนชั้นทางสังคมของผู้หญิง โดยการแต่งงานไม่ใช่เรื่องใหม่ ปกติสังคมคาดหวังให้ผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายที่มีสถานะสูงกว่า ในเมื่อเศรษฐกิจไทยเป็นรองเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว การหวังมีคู่เป็นฝรั่งเพื่อสถานะและความมั่นคงทางเศรษฐกิจไม่ต่างกับการหวังมีคู่เป็นนายตำรวจหรือนายธนาคาร ซึ่งไม่ได้เกิดเฉพาะกับคนอีสานหรือคนชนบท  การเลื่อนชั้นทางสังคมของผู้หญิงชนบทอีสานผ่านการแต่งงานกับชาวต่างชาติท้าทายลำดับชั้นทางสังคม รวมถึงอุดมคติของชนชั้นกลางต่อคนชนบทและความเป็นชนบท 

ความฝันให้คนชนบทรักความพอเพียง ไม่ทะเยอทะยาน รักษาวัฒนธรรมประเพณี มาจากภาพโรแมนติกที่มองไม่เห็นความยากลำบากของการดำเนินชีวิตในเศรษฐกิจปัจจุบันและยังกีดกันไม่ให้คนชนบทได้เข้าถึงความสะดวกสบายที่ชนชั้นกลางในเมืองได้รับมาโดยตลอด 

ความคิดที่ว่าคนชนบทควรรู้ตำแหน่งแห่งที่ของตนเองและพอใจในสิ่งที่ตนมีอยู่ ลึกๆ แล้วเป็นความพยายามคงไว้ซึ่งสถานะที่ไม่เท่าเทียมระหว่างชนชั้นและระหว่างเมืองกับชนบท

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print