ภาพจากเพจ Military Weapons อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร

แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา เรื่อง

เมื่อเปิดรายงานวิเคราะห์งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 กระทรวงกลาโหม ของสำนักงบประมาณของรัฐสภา สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ภายใต้ยุทธศาสตร์ 2 ยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 จำนวน 233,353 ล้านบาท ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 232,506 ล้านบาท (ร้อยละ 99.64) และ ยุทธศาสตร์ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน จำนวน 846 ล้านบาท (ร้อยละ 0.36) คิดเป็นสัดส่วน 7.29 ของงบประมาณจ่ายประจำปี เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณปี 2562 จาก 227,325 ล้านบาท เป็นจำนวน 6,026 ล้านบาท หรือร้อยละ 2.65 ของงบประมาณที่ได้รับจัดสรรปี 2562

จำแนกตามแผนงานประกอบด้วย แผนงานบุคลากรภาครัฐ  104,682 ล้านบาท (ร้อยละ 45.50) แผนงานพื้นฐาน  30,829 ล้านบาท (ร้อยละ 11.97) แผนงานยุทธศาสตร์  95,088 ล้านบาท (ร้อยละ 41.33) และ แผนงานบูรณาการ  2,752 ล้านบาท แผนงานบูรณาการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณสูงสุด คือ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 1,584 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 57.55) 

รองลงมา ได้แก่ แผนงานบูรณาการขับเคลื่อนเขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) 799 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 29.03) แผนงานบูรณาการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด 321 ล้านบาท (สัดส่วนร้อยละ 11.69) 

หน่วยงานที่ได้รับงบประมาณสูงสุดคือ กองทัพบก 113,677 ล้านบาท (ร้อยละ 48.98) ในขณะที่สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) ได้รับงบประมาณต่ำสุดที่ 1,252 ล้านบาท (ร้อยละ 0.54) 

สำหรับรายการผูกพันปีงบประมาณ 2563 – 2566 กระทรวงกลาโหมมีรายการผูกพันข้ามปีทั้งสิ้น 153 รายการ งบประมาณตั้งในปีงบประมาณ 2563 จำนวน 43,513.4361 ล้านบาท จบในปี 2566 ที่ 129,287 ล้านบาท

ในช่วงปี 2560 – 2561 หน่วยงานภายใต้กระทรวงกลาโหมทุกหน่วยมีรายได้นอกงบประมาณ โดยเฉพาะ 3 เหล่าทัพ ได้แก่ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ มีรายได้นอกงบประมาณเกือบปีละ 2 หมื่นล้านบาท กองทัพบกมีรายได้นอกงบประมาณมากที่สุดในปี 2561 ที่ 12,356 ล้านบาท รายได้หลักๆ มาจากค่ารักษาพยาบาลจากโรงพยาบาลภายใต้กำกับดูแล แต่เมื่อพิจารณารายได้สูง/ต่ำกลับพบว่า กองทัพบกมีรายได้ต่ำกว่าค่าใช้จ่าย จำนวน 7,215 ล้านบาท ในขณะที่กองทัพเรือ และกองทัพอากาศมีรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่าย

ประเด็นข้อสังเกตของสภาผู้แทนราษฎร 

ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา (2554 – 2563) งบประมาณของกระทรวงกลาโหมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละมากกว่า 7,000 ล้านบาท (เฉลี่ยร้อยละ 4 ต่อปี) นับตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 งบประมาณของกระทรวงกลาโหมเพิ่มขึ้นมากกว่า 300% โดยไม่มีแผนงานที่เป็นเรื่องเร่งด่วน มีแต่กรอบแผนงานเดิมๆ ไม่เป็นไปตามสัดส่วนของงบประมาณ ไม่มีรายละเอียดการดำเนินงาน การติดตาม และประเมินผลแผนงานต่างๆ และเต็มไปด้วยตัวชี้วัดที่ไม่สามารถสะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ประชาชน หรือประเทศไทยจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ 

ส่วนงานที่ไม่ใช่งานหลักของกระทรวงกลาโหม เช่น การท่องเที่ยว การแก้ปัญหายาเสพติด พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ถือเป็นพันธกิจด้านการพาณิชย์ ควรเป็นเป้าหมายของหน่วยปฏิบัติ กระทรวงฯ ควรเป็นเพียงหน่วยงานที่ไปร่วมสนับสนุนเชิงนโยบายเท่านั้น 

ดูเหมือนว่า กระทรวงกลาโหมให้ความสำคัญกับสวัสดิการของกำลังพล โดยใช้งบประมาณดำเนินการในภารกิจการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ จำนวน 23,392 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างปรับปรุงและพัฒนาอาคารที่พักอาศัยพร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกของกำลังพล จำนวน 10,067 ล้านบาท แต่กลับไม่มีรายละเอียดว่า กองทัพมีกรอบอัตรากำลังพลที่ต้องจัดสวัสดิการอำนวยความสะดวกด้านที่พักอาศัยในภาพรวมเท่าไร ดำเนินการสวัสดิการแล้วเท่าไร และที่ยังไม่จัดสวัสดิการอีกเท่าไร คาดว่าจะต้องดำเนินการอีกกี่ปี จึงครอบคลุมตอบกรอบอัตรากำลังและการสร้างขวัญกำลังใจให้กับกำลังพล 

ตัวอย่าง การวิเคราะห์งบประมาณรายหน่วยงาน เช่น สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณปี 2563 จำนวน 10,350 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 (10,063 ล้านบาท) จำนวน 286 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคงในภารกิจการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ แต่ตัวชี้วัดส่วนใหญ่ไม่แสดงถึงตัวชี้วัดในระดับที่บอกถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมว่าประชาชนหรือประเทศจะได้รับประโยชน์จากการใช้จ่ายงบประมาณในปี 2563 อย่างไร เช่น งบประมาณ โครงการพัฒนาสงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึกษาและทหารนอกประจำการ 1,505 ล้านบาท 

ผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีการสงเคราะห์ทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการ 472,854 ราย มากกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 463,500 ราย แต่ไม่มีรายละเอียดว่า ปัจจุบันจำนวนทหารผ่านศึกและทหารนอกประจำการมีทั้งหมดเท่าไร ไม่มีรายละเอียดการสงเคราะห์ประกอบด้วยสวัสดิการเรื่องใดบ้าง แต่ละด้านมีหลักเกณฑ์อย่างไร

ส่วนโครงการพิทักษ์รักษา การถวายพระเกียรติ การปฏิบัติตามพระราชประสงค์ และการเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์วงเงิน 1,210 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการถวายความปลอดภัยสถาบันพระมหากษัตริย์ 1,016 ล้านบาท และเป็นค่าก่อสร้างผูกพัน 2 รายการ 182 ล้านบาท แต่ไม่มีรายละเอียดว่ามีการดำเนินงานอย่างไร

กองทัพบกได้รับงบประมาณปี 2563 จำนวน 113,677 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 (111,376 ล้านบาท) จำนวน 2,300 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 2,650 ล้านบาท เป็นภารกิจการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ (ค่าก่อสร้าง ปรับปรุงและพัฒนาหน่วย) และแผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศ และความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 536 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ (จัดหายุทโธปกรณ์และเสริมสร้างกำลังกองทัพ) เป็นโครงการผูกพันใหม่ ในปี 2563 จำนวน 16 โครงการ ในการแสดงผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดตามเอกสารงบประมาณ 

แต่ละโครงการระบุไว้เป็นไปตามที่กำหนด โดยผลการเบิกจ่ายในรายจ่ายลงทุนกลับอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งเป็นรายการสำคัญๆ ได้แก่ โครงการแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เบิกจ่าย 51.31% โครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ เบิกจ่าย 36.66%  และผลผลิตการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ เบิกจ่าย 69.11% แต่ในการแสดงผลการดำเนินงานตามตัวชี้วัดตามเอกสารงบประมาณ แต่ละโครงการระบุไว้เป็นไปตามที่กำหนด จึงมีคำถามว่า พิจารณาจากหลักการอย่างไร

กองทัพเรือได้รับงบประมาณปี 2563 จำนวน 47,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2562 (45,484 ล้านบาท) จำนวน 1,793 ล้านบาท งบประมาณที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เป็นแผนงานพื้นฐานด้านความมั่นคง 833 ล้านบาท เป็นภารกิจการดำรงสภาพความพร้อมในการป้องกันประเทศ (ค่าก่อสร้าง ปรับปรุง และพัฒนาหน่วย) แผนงานยุทธศาสตร์พัฒนาศักยภาพการป้องกันประเทศและความพร้อมเผชิญภัยคุกคามทุกมิติ 938 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายในโครงการพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพ เป็นโครงการผูกพันใหม่ ในปี 2563 จำนวน 5 โครงการ และแผนงานบูรณาการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เป็นโครงการผูกพันใหม่ในปี 2563 จำนวน 4 รายการ (ปรับพื้นที่และถมดินสำหรับก่อสร้างทางขับระยะที่ 1 และลานจอดของศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน)

อย่างไรก็ตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก วงเงิน 799 ล้านบาท กำหนดเพียงตัวชี้วัดเชิงปริมาณเท่านั้น คือ “โครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมและระบบโลจิสติกส์ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้รับการพัฒนา 9 รายการ” ไม่มีตัวชี้วัดเชิงคุณภาพที่สะท้อนถึงผลสัมฤทธิ์หรือประโยชน์ที่ประชาชน หรือประเทศไทยได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณ ไม่มีแผนการดำเนินงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายใต้โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Master plan) ทั้งโครงการประกอบด้วยรายการอะไรบ้าง เป็นต้น

เมื่อเกิดสถานการณ์การระบาดของโควิด – 19 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งให้ กระทรวงกลาโหมตัดงบประมาณปี 2563 ด้วยการชะลอโครงการต่างๆ รวม 17,700 ล้านบาท เพื่อโอนเงินไปสู่งบประมาณรายจ่ายงบกลางเพื่อนำไปใช้ในการแก้ปัญหาโควิดฯ

เพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Military Weapons อาวุธยุทโธปกรณ์ทางทหาร ระบุว่า ภายใต้โครงการของ 3 เหล่าทัพ ตามแผนปีงบประมาณ 2563 ที่อาจได้รับผลกระทบในการชะลอหรือเลื่อนการจัดซื้อออกไป หรือผ่อนชำระจำนวนน้อย 

กองทัพบก ตามแผนปีงบประมาณ 2563 (ตัดงบ 30%) 

– โครงการจัดซื้อยานเกราะลำเลียงพล Stryker ล็อต 2 จำนวน 50 คัน วงเงิน 4,500 ล้านบาท

– โครงการจัดซื้อปืนใหญ่ขนาด 105 มม. และ 155 มม. วงเงิน 2,000 ล้านบาท 

– โครงการจัดซื้อเครื่องบินแบบใช้งานทั่วไปวงเงิน 1,350 ล้านบาท 

– โครงการจัดซื้อรถถัง VT-4 ล็อตที่ 3 วงเงิน 1,600 ล้านบาท 

กองทัพเรือ ตามแผนปีงบประมาณ 2563 (ตัดงบ 33%)

– โครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ ลำที่ 2 และ ลำที่ 3 ผูกพันงบประมาณตั้งแต่ปี 2563 – 2569 วงเงิน 22,000 ล้านบาท 

– โครงการก่อสร้างที่จอดเรือดำน้ำ 900 ล้านบาท 

– โครงการซ่อมปรับปรุงเฮลิคอปเตอร์ปราบเรือดำน้ำ

– โครงการพัฒนาระบบเชื่อมโยงข้อมูล Network Centric

– โครงการจัดหาเครื่องฝึกจำลองยุทธ์

– โครงการจัดหาระบบอาวุธปืนรอง

– โครงการก่อสร้างอาคารพัก 64 ครอบครัว

กองทัพอากาศ ตามแผนปีงบประมาณ 2563 (ตัดงบ 23%) โดยเลื่อนโครงการไปปีงบประมาณ 2564

– โครงการจัดหาเครื่องฝึกทดแทน 12 เครื่อง ผูกพันงบประมาณปี 2563 – 2566 วงเงิน 5,195 ล้านบาท

– โครงการจัดหาเครื่องบินฝึกนักบินลำเลียงขั้นต้นฝูงฝึกขั้นปลาย 4 เครื่อง ผูกพันงบประมาณ ปี 2563 – 2564 วงเงิน 233 ล้านบาท 

– โครงการพัฒนาและปรับปรุงระบบป้องกันทางอากาศ ระยะที่ 6 (mid-life refurbish and upgrade) เรดาร์ป้องกันภัยทางอากาศรุ่น AN/TPS – 78 ผูกพันงบประมาณปี 2563 – 2565 วงเงิน 850 ล้านบาท 

– โครงการจัดหาระบบสำรวจภูมิประเทศด้านความมั่นคงด้วยเครื่องบินลาดตระเวนทางอากาศ 3 เครื่อง ผูกพันงบประมาณปี 2563 – 2565

– โครงการอัพเกรดเครื่องบินลำเลียง C – 130 ราวๆ 3 พันล้านบาท 

– โครงการจัดหาเครื่องฝึกนักบินขับไล่ขั้นต้น T – 50 ระยะที่ 4 จำนวน 2 เครื่อง  ผูกพันงบประมาณ 2563 – 2565 วงเงิน 2,450 ล้านบาท 

2 แสนล้านเพื่อความมั่นคง?

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ภายใต้งบประมาณปี 2563 ของกระทรวงกลาโหมกว่า 2 แสนล้านบาทที่อ้างความมั่นคง การสร้างความสามารถในการแข่งขัน และแสนยานุภาพของประเทศ แต่ประโยชน์ที่ประชาชนหรือประเทศไทยจะได้รับจากการใช้จ่ายงบประมาณคืออะไร

ทำไมจึงมีการใช้งบประมาณอย่างมหาศาลสำหรับเป้าหมายของกระทรวงที่เกี่ยวกับการพัฒนาประเทศหรืองานที่ไม่ใช่งานหลักของกระทรวงกลาโหม เช่น การท่องเที่ยว 24 ล้านบาท การแก้ปัญหายาเสพติด 321 ล้านบาท การพัฒนาพื้นที่ EEC 799 ล้านบาท หรือโครงการพัฒนาศักยภาพด้านการพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน เช่น การจัดหาแหล่งน้ำ จำนวน 1,284 ล้านบาท และก่อสร้างและปรับปรุงทางชนบท จำนวน 954 ล้านบาท เป็นต้น

เหตุใดรายได้นอกงบประมาณเกือบปีละ 2 หมื่นล้านบาทที่เปิดเผยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากโรงพยาบาล ส่วนรายได้จากการทำธุรกิจอื่นๆ มีมากน้อยแค่ไหน และมีการส่งรายได้คืนเข้ารัฐอย่างไร

ทำอย่างไรกับคำถามเรื่องการใช้งบประมาณของกระทรวงกลาโหม หรือกองทัพไทย จึงจะอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่สังคมสามารถตรวจสอบได้ในทางสาธารณะ มีความโปร่งใส และเป็นการใช้งบประมาณเพื่อประโยชน์ต่อประชาชน หรือประเทศไทยอย่างแท้จริง

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print