วิทยากร โสวัตร เรื่อง 

ผมไม่แน่ใจว่ามีคนศึกษาวิจัยเรื่องเพลงลูกทุ่งอีสานหรือเพลงลูกทุ่งหมอลำอีสานในฐานะที่มันเป็นจดหมายเหตุหรือบันทึกประวัติศาสตร์อีสานหรือไม่ เพราะอย่างน้อยที่สุดเพลงและลำอีสานน่าจะเป็นจดหมายเหตุหรือบันทึกภาคสนามชุดแรกๆ ที่อยู่ในเวลานั้นจริงๆ หรือใกล้เคียงที่สุด แล้วเทียบเคียงกับภาพกว้างของสังคมระดับประเทศและภูมิภาคหรือโลกในช่วงนั้นก็จะเห็นความโยกไหว ความเปลี่ยนแปลงได้ดี

และถ้าเราเอาเพลงทั้งหมดมาวางต่อกันตามปีที่เพลงนั้นเผยแพร่หรือถูกเขียนขึ้นแล้วฟัง เราน่าจะได้เห็นภาพอีสานและพัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมอีสานได้ละเอียดและชัดขึ้น

จะว่าไปแล้วบทความนี้ เขียนขึ้นอย่างบังเอิญมาก กล่าวคือ ตั้งแต่สนใจ พรศักดิ์ ส่องแสง (แรกเริ่มนั้นผมสนใจศิลปินคนนี้ในมิติวัฒนธรรมการเมือง) แล้วเขียนบทความออกมาก่อนหน้านี้ก็ฟังเพลง/ลำของเขาแทบจะทุกเพลง  

จากนั้นก็ตามไปฟังเพลงของนักร้องอีสานคนอื่นๆ ทุกวัน ฟังไปฟังมาก็เกิดภาพขึ้น เป็นภาพการเคลื่อนไหวของคนอีสานของสังคมอีสาน ผมมีภาพตัวอย่างจากเพลง 3 เพลงนี้ 

ตามน้องกลับสารคาม (ศักดิ์สยาม  เพชรชมพู, ปี 2515)

อีสานบ้านของเฮา (เทพพร เพชรอุบล, ปี 2520)

หนุ่มนานครพนม (พรศักดิ์  ส่องแสง, ปี 2525)

อาจจะประหลาดอยู่เหมือนกันที่ทั้งสามเพลงนี้มีช่วงห่างของแต่ละเพลงอยู่ที่ 5 ปี (เวลาอาจจะคลาดเคลื่อนกว่านี้ แต่ก็น่าจะอยู่ระหว่าง +/- 1 ปี) และเวลารวมของทั้งสามเพลงเท่ากับ 10 ปี และเป็น 10 สำคัญในยุคสงครามเย็นและสงครามกลางเมืองของไทย ซึ่งได้กลายเป็นฉากหลังของเพลงสำคัญทั้งสาม

จริงๆ แล้ว ถ้าว่ากันตามองค์ประกอบของเพลงที่มีผู้สาวเป็นตัวละครหลักออกจากบ้านไปและมีผู้บ่าวที่รักออกจากบ้านไปตามหา เราน่าจะพิจารณาแค่สองเพลงก็ได้คือ ตามน้องกลับสารคามและหนุ่มนานครพนม ซึ่งก็กินช่วงเวลา 10 ปีเหมือนกัน  

แต่ที่เอาเพลงอีสานบ้านของเฮามาด้วย เพราะมันเป็นช่วงกึ่งกลางระหว่างสองเพลงนี้พอดีและโดยบริบทของสังคมช่วงนั้นถือว่าเพลงนี้เป็นตัวเชื่อมที่ทำให้เพลงสองเพลงนี้ (โดยเฉพาะเพลงที่สามชัดขึ้น)

ทีนี้เรามาลองดูเนื้อเพลงกัน – –

ตามน้องกลับสารคาม

พี่ตามหาคนงาม จากสารคามไปถึงเมืองขอนแก่น
สืบหาเนื้อเย็นแต่ไม่เห็นหน้าแฟน จากขอนแก่นไปอุดรธานี
หาแก้วตาทั่วบาร์ทั่วคลับ ไม่ได้นอนไม่ได้หลับ
พี่อยากจะพบคนดี หาจนทั่วอุดร น้องก็ไม่เห็นมี
จากอุดรธานี พี่ไปตามที่หนองคาย
ถึงลำโขง พี่นั่งลงร้องไห้ 

หาจนทั่วแดนไทย น้องจากไกลหนีหาย
จำจะข้ามลำโขงหาอนงค์แก้วใจ
จะข้ามลำโขงไปหาทรามวัยที่เวียงจันทร์ *
กราบวิงวอนพระธาตุหลวงให้ดลช่วยให้ได้พบ
คนสวยเหมือนดังที่ใฝ่ฝัน
ตามหานวลน้อง จนทั่วนครเวียงจันทร์ *
ไม่เห็นแม้เงาจอมขวัญ พี่แทบจะกลั้นใจตาย
พี่ตามหา คนงาม จากสารคามไม่รู้ว่าเจ้าไปไหน
จึงฝากเสียงร้อง ลอยก้องกับสายลมไป
ได้ข่าวแล้วแม่ทรามวัย จงรีบกลับไปที่สารคาม…

ผมจะไม่อธิบายเนื้อเพลงนะครับ แต่อยากให้ดูเส้นทางที่ไอ้หนุ่มคนนี้ออกตามหาแฟนตามชื่อเมืองที่ทำตัวหนาไว้ และจุดที่เขาโฟกัสไปตามหา (ทั่วบาร์ทั่วคลับ) มันบอกอะไรเราได้มากเลย 

ตอนนั้นสงครามอินโดจีนยังไม่จบ ทั้งการรบในลาวและเวียดนามและเมืองต่างๆ ในเพลงนั้นก็เป็นเมืองที่มีฐานทัพ ซึ่งมีทหาร GI และหนึ่งในธุรกิจที่มากับสงครามและเงินสะพัดมากนอกจากทหารรับจ้างแล้ว ก็คือ บาร์ คลับ และซ่อง 

อีกทั้งแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่เริ่มในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2504) ก็เทงบประมาณลงมาพัฒนาอีสานเพื่อเป็นยุทธวิธีหนึ่งในการต่อสู้กับคอมมิวนิสต์เรื่อยมา และถ้ามนุษย์เราอพยพโยกย้ายแรงงานไปตามสภาพเศรษฐกิจแล้ว ในเพลงนี้ก็ทำให้เห็นว่าช่วงปี 2515 สภาพเศรษฐกิจในภาคอีสานและลาวโดยเฉพาะเมืองใหญ่ๆ ที่มีฐานทัพนั้นดีมาก

พอปี 2518 เวียดนามและลาวแตก และหลังจากการปฏิวัติตุลาคมปี 2516-2519 ก็เริ่มมีการประท้วงฐานทัพอเมริกาของนักศึกษาประชาชนไทยและถอนทัพไปในที่สุด สภาพเศรษฐกิจอีสานก็เริ่มผันผวนขนานใหญ่ จุดนี้แหละที่เป็นรอยต่อที่สำคัญ และทำให้เกิดเพลงลูกทุ่งอีสานที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่ พงษ์ศักดิ์ จันทรุกขา แต่งขึ้น (2520) ให้ เทพพร เพชรอุบล ร้อง ซึ่งนอกจากจะสะท้อนจิตวิญญาณของอีสานไว้อย่างถึงกระดูก ยังได้บรรยายสภาพการณ์ของสังคมอีสานในช่วงนั้นเอาไว้อย่างเห็นภาพ

อีสานบ้านของเฮา
หอมดอกผักกะแยง ยามฟ้าแดงค่ำลงมา
แอ้บแอ้บ เขียดจะนา ร้องยามฟ้าฮ้องฮวานฮวาน
เขียดโม่เขียดขาคำ เหมือนหมอลำพากันม่วน
เมฆดำลอยปั่นป่วน ฝนตกมาสู่อีสาน
หมู่หญ้าตีนกับแก้ ถูกฝนแลเขียวตระการ
ควายทุยเสร็จจากงาน เล็มหญ้าอ่อนตามคันนา
รุ่งแจ้งพอพุ่มพู ตื่นเช้าตรู่รีบออกมา
เร่งรุดไถฮุดนา รีบนำฟ้า ฟ้าวนำฝน
อีสานบ้านของเฮา อาชีพเก่าแต่นานดน
เอาหน้าสู้ฟ้าฝน เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา เฮ็ดนาไร่บ่ได้เซา
ม่วนเอ้ย..โอ้โอ โอ้โอโฮะโอ โฮะโอโอ้น้อ โฮะโอโอ้น้อ
โฮะโอโอ้น้อ โอโฮะโอโอ้น้อ โฮะโอโอ้น้อ โอ้น้อ โอ้น้อ
ม่วนเอยม่วนเสียงกบ ร้องอ๊บอ๊บกล่อมลำเนา
ผักเม็ก ผักกะเดา ผักกระโดน และผักอีฮีน
ธรรมชาติแห่งบ้านนา ฝนตกมามีของกิน
ฝนแล้งแห้งแผ่นดิน ห้วยบึงหนองแห้งเหือดหาย
มาเด้อ มาเฮ็ดนา มาเด้อหล้าอย่าเดินผ่าย
นับวันจะกลับกลาย บ่าวสาวไหลเข้าเมืองกรุง
เสียงแคนกล่อมเสียงซุง ตุ้งลุงตุงแล่นแตรลุ่งตุง
เสียงแคนกล่อมเสียงซอ อ้อนแล้วอ๋ออ้อนอีแล้วออ
มาเด้อมาช่วยกันก่อ อีสานน้อ..บ้านของเฮา

เพลงนี้บันทึกถึงสภาพแวดล้อมอีสานตอนนั้นไว้อย่างดีและชี้ให้เห็นสภาพการณ์ของคนอีสานที่เกิดการอพยพแรงงานครั้งใหญ่ที่ไม่ได้มุ่งไปตามถนนสายมิตรภาพสู่หนองคาย-เวียงจันทน์อีกแล้ว หากแต่ นับวันจะกลับกลาย บ่าวสาวไหลเข้าเมืองกรุง และนั่นทำให้อีก 5 ปีต่อมา (2525) กองทัพปลดแอกประชาชน (ทปท.) บนภูพานหรือในภาคอีสานแทบทั้งหมดสิ้นสภาพกลายเป็นป่าแตก ลาวปิดประเทศ หนุ่มสาวอีสานก็ไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากไปหากินยังภาคกลางและเมืองกรุง ซึ่งเศรษฐกิจกระจุกตัวอยู่ที่นั่น ภาพนั้นยิ่งชัดขึ้นในเพลงหนุ่มนานครพนม (แต่คนส่วนใหญ่จะรู้จักกันในชื่อ ตามหาน้องแดง) ของพรศักดิ์ ส่องแสง

หนุ่มนานครพนม
เสื้อขาดจองปองแจงแปง
ตามหาน้องแดง ตั้งแต่เดือนสาม
ป่านนี้ยังไม่เห็นหน้า
พี่ยังอุตสาห์เฝ้าติดเฝ้าตาม
เห็นใครพี่ก็ไตร่ถาม
ได้ข่าวคนงาม ไปอยู่อยุธยา
จากสกล เมืองหนองหานล่ม
จากนครพนม หนีไร่ หนีนา
ทิ้งพระธาตุที่เคยได้บูชา
จากอีสานบ้านนา
เจ้าลืมสัญญา
เฮาเคยเว้ากัน
อยุธยา ดินแดนบ้านเก่า
คงซิมีผู้บ่าว เอาใจทุกคืนวัน
ลืมหนุ่มนครพนม
เคยนั่งเรือชม สองฝั่งเวียงจันทร์ *
เจ้าจากพี่ไปหลายวัน
เมื่อไหร่จอมขวัญ จะหวนกลับมา
ส่งขาดซอวอแซแว
หาแดงตั้งแต่ต้นเดือนมีนา
เดี๋ยวนี้ฝนตกเนืองนอง
พี่ตามหาน้องจนทั่วพารา
กลับบ้านเสียเถิดแดงจ๋า
จงกลับคืนมา เมืองนครพนม

(หมายเหตุ : ยืนยันตัวสะกดตามต้นฉบับ)

จากเพลงนี้ไปถึงยุคนิกส์ของรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อีสานก็จะมีภาพหนึ่งขึ้นมาอย่างชัดเจน ก่อนที่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป…

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print