เมียฝรั่งในอีสาน – การแต่งงานข้ามแดน : ชีวิตความคาดหวัง ความกดดัน (6)

ภาพหน้าปกจาก Henrik Bohn Ipsen / Heartbound – A Different Kind of Love Story

พัชรินทร์ ลาภานันท์ เรื่อง

บ้านนาดอกไม้ (ชื่อสมมติ) จังหวัดอุดรธานี เป็นพื้นที่ศึกษาเกี่ยวกับหญิงอีสานที่แต่งงานกับชาวต่างชาติและต่อมาได้ศึกษาที่หมู่บ้านนาเจริญ (ชื่อสมมติ) ในจังหวัดขอนแก่น เพื่อทำความเข้าใจทัศนะและปฏิกิริยาของผู้ชายไทยต่อการแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิง บ้านนาดอกไม้ ประกอบด้วย 5 หมู่บ้าน เดิมเป็นหมู่บ้านเดียวกัน แต่ภายหลังแยกเป็น 5 หมู่บ้าน ทั้ง 5 หมู่บ้านมีผู้อาศัยพันกว่าครัวเรือนและมีผู้หญิงแต่งงานกับผู้ชายชาวต่างชาติทั้งหมด 159 คน เขยจาก 21 ประเทศ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป จากอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศในเอเซียบ้าง 

ถ้าถามว่า เมียฝรั่งถูกมองอย่างไร

คนที่พูดถึงผู้หญิงที่เป็นเมียฝรั่ง มักมองว่าผู้หญิงเหล่านี้แต่งงานกับคนต่างชาติ โดยเฉพาะฝรั่งว่าเพราะเงิน หรือเพราะแรงจูงใจในทางเศรษฐกิจ ไม่ได้รักจริง หรือบางคนก็บอกว่าไม่อยากทำนาอยู่บ้านแล้ว อยากไปใช้ชีวิตสุขสบายในต่างประเทศ แต่จากการศึกษาที่บ้านนาดอกไม้พบว่า แรงจูงใจที่ผลักดันให้ผู้หญิงแต่งงานฝรั่งมีหลากหลายเงื่อนไข เหตุผลทางเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหนึ่ง แต่ก็ยังมีปัจจัยอื่นทั้งเรื่องเพศภาวะ (gender) ในสังคมไทยที่เชื่อมโยงกับบทบาทและความคาดหวังต่อหน้าที่ของผู้หญิงและผู้ชายในสังคมไทย เรื่องค่านิยมเกี่ยวกับการเต่งงาน เรื่องความรัก รวมทั้งจินตนาการเกี่ยวกับการใช้ชีวิตในต่างประเทศและบทบาทหญิงชายในสังคมตะวันตก ความหลากหลายของแรงจูงใจเหล่านี้ สะท้อนว่าการมองผู้หญิงอีสานแต่งงานกับฝรั่งเพราะเงิน เป็นมุมมองที่คับแคบหรืออาจเรียกได้ว่าอคติ 

เมียฝรั่งถูกมองอย่างไร…คำตอบได้ขึ้นกับว่าถามใคร 

ช่วงที่เรียนและเก็บข้อมูลเพื่อทำวิทยาพนธ์ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้คุยกับคนไทยที่แต่งงานแล้วย้ายไปอยู่ที่นั่นหลายคน สะท้อนภาพคล้ายๆ กันว่า เพื่อนร่วมงานที่เป็นชาวต่างชาติที่ทำงานอยู่ด้วยกันจะถามว่า แต่งงานเพราะอะไร สามีต้องจ่ายเงินในการแต่งงานเท่าไร ซึ่งเป็นภาพสะท้อนว่า ผู้หญิงที่แต่งงานกับคนต่างชาติเพราะเงิน ทัศนะแบบนี้มีในสังคมไทยเช่นกันที่ผู้หญิงที่มีสามีฝรั่งถูกมองว่าแต่งงานเพราะเงิน 

หากคุยกับผู้นำชุมชน อย่าง นายกเทศบาลตำบล กลับมองว่าเมียฝรั่งกับสามีคือทรัพยากรที่สำคัญในการพัฒนาหมู่บ้าน ถ้าไม่มีผู้หญิงที่ไปแต่งงานกับชาวต่างชาติ หมู่บ้านนาดอกไม้จะไม่เจริญแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คงไม่ได้เห็นบ้านหลังใหญ่สวยงาม รถเก๋งขับผ่านไปมาบนถนนหมู่บ้าน มีร้านค้าขนาดใหญ่ที่ขายของหลายอย่างเช่นเดียวกับร้านค้าในเมือง มีคนบริจาคเงินในโรงเรียน วัด และกิจกรรมต่างๆ ของหมู่บ้าน เวลามีงานสงกรานต์ ออกพรรษา เป็นงานใหญ่ เมียฝรั่งสบทบเงินจัดงาน สามารถจ้างหมอลำที่มีชื่อมาแสดงในหมู่บ้าน        

ถ้าถามพ่อแม่ของผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไปอยู่ต่างประเทศก็จะบอกว่า ลูกสาวเป็นคนกตัญญูมาก ส่งเงินมาให้พ่อแม่ไม่เคยทอดทิ้งทางบ้าน เมื่อญาติ พี่น้องเดือดร้อนก็ช่วยเหลือ ไม่ละทิ้ง พ่อแม่ต่างก็ภูมิใจและคาดหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากลูกสาว ในแง่ผู้หญิงหากครอบครัวที่เมืองไทยเดือดร้อนก็ต้องช่วยเหลือ บางทีมีการหยิมยืมเงินจากเพื่อนคนไทยในต่างแดนเพื่อส่งให้พ่อแม่ที่บ้านเกิด

ดังนั้นคำถามว่า “เมียฝรั่ง ถูกมองอย่างไร?” จึงไม่ได้มีเพียงคำตอบเดียว นัยของคำว่า “เมียฝรั่ง” มีความหลากหลายและซับซ้อน ในด้านหนึ่งสะท้อนทัศนะเชิงบวกทั้งการเป็นลูกกตัญญูและการช่วยเหลือชุมชน ซึ่งบ่งบอกถึง “ความสำเร็จ” ของผู้หญิงเหล่านี้ แต่อีกด้านหนึ่งกลับถูกตั้งคำถามถึงแรงจูงใจที่ทำให้ผู้หญิงก้าวสู่ความสัมพันธ์ข้ามชาติลักษณะนี้ รวมทั้งช่องทางที่ผู้หญิงใช้ในการสร้างความสัมพันธ์กับชายชาวต่างชาติ    

ความต่างของวัฒนธรรม กับ ความคาดหวังและความกดดัน  

ในบริบทวัฒนธรรมตะวันตกการส่งเงินให้พ่อแม่ที่บ้านเกิด เป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องเจรจา ต่อรองกับสามี  “ครอบครัว” ในวัฒนธรรมตะวันตกคือ พ่อ แม่ ลูก เป็นครอบครัวเดี่ยวประกอบด้วยคนสองรุ่น ไม่ใช่ครอบครัวขยายที่รวมปู่ ย่า ตา ยาย ด้วย ผู้หญิงที่สามีเข้าใจและยอมรับในความต่างของวัฒนธรรม จะยอมให้ส่งเงินให้พ่อแม่ที่บ้านเกิด แต่ผู้หญิงหลายคนไม่ได้โชคดีแบบนั้น จึงต้องมีการจัดการ ต่อรอง เจรจา ซึ่งนำมาสู่ความเครียด ความกดดัน ดังประสบการณ์ที่ สมหมาย คำสิงห์นอก ที่เล่าถึงชีวิตเมียฝรั่งในเมือง Thy ที่เผชิญกับความกดดันหลายๆ ด้านหนึ่งคือความคาดหวังของครอบครัวที่อยู่เมืองไทยต่อการสนันสนุบด้านการเงิน บางกรณีความคาดหวังของผู้ที่อยู่บ้านเกิดส่งผลถึงกับทำให้เกิดการหย่าร้าง 

เป็นเรื่องราวชีวิตผู้หญิง 26 คน ที่บ้านนาดอกไม้ ชีวิต สมหมาย คำสิงห์นอก และผู้หญิงอีกหลายคนที่สะท้อนผ่านสารคดี “Heartbound – Adifferent Kind of Love Story”  มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ โดยการส่งเงินสนับสนุน พ่อ แม่ ญาติ พี่น้อง ให้มีชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ผู้หญิงต้องการแต่งงานกับชาวต่างชาติ เพื่อให้สามารถเลี้ยงดูพ่อ แม่ ให้สุขสบาย แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้หญิงเหล่านี้สะท้อนว่าอ่อนล้า เกิดความกดดันจากความต้องการของคนที่อยู่บ้านที่ไม่สิ้นสุด มีเรื่องอยากได้รถมอร์เตอร์ไซค์ แล้วอยากได้รถปิกอัพ อยากได้บ้านใหม่ เดี๋ยวคนนั้นคนนี้เจ็บป่วยอยู่เรื่อยๆ ซึ่งเป็นภาระหนักสำหรับผู้หญิงหนึ่งคนที่ใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศที่ต้องทำงานอย่างหนักเพื่อส่งเงินกลับบ้านสนองตอบความต้องการของคนที่บ้านซึ่งดูเหมือนไม่มีที่สิ้นสุด 

“ลูกตัญญู” กับการแต่งงานข้ามชาติของผู้หญิงอีสาน

เมื่อสอบถามเมียฝรั่งในบ้านนาดอกไม้ ถึงเหตุผลหลักที่ทำให้ตัดสินใจแต่งงานกับคนต่างประเทศ ทั้งที่รู้ว่าการแต่งงานภายใต้ความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ภาษา และการใช้ชีวิตไม่ใช่เรื่องง่ายต้องปรับตัวอย่างมาก คำตอบที่ได้แตกต่างกันไปตามประสบการณ์และบริบทชีวิตของผู้หญิงแต่ละคน เรื่องที่ผู้หญิงแทบทุกคนพูดถึงคือ ความต้องการดูแลพ่อ แม่ ให้สุขสบาย และต้อการเลี้ยงดูลูกให้มีชีวิต มีการศึกษาที่ดี ในกรณีที่ผู้หญิงเลิกรากับสามีคนไทยและมีลูกต้องดูแล การเลี้ยงดูลูก (จากสามีคนไทย) เป็นเรื่องที่วัฒนธรรมตะวันตกยอมรับ ในขณะที่การส่งเงินเพื่อสนับสนุนพ่อ แม่ เป็นเรื่องที่ผู้หญิงต้องต่อรอง ทำความเข้าใจกับสามีชาวตะวันตก แต่ผู้หญิงก็ยังให้ความสำคัญกับบทบาทหน้าที่นี้ ที่สะท้อนความกตัญูญู ต่อพ่อแม่ผู้ให้กำเนิด

ในสังคมไทย ความกตัญญูที่ลูกมีต่อพ่อแม่ เป็นแกนกลางของความสัมพันธ์ในครอบครัว การให้กำเนิดลูกถือว่าพ่อแม่มีบุญคุณต่อลูก ลูกที่ดีต้องทดแทนบุญคุณ ความคาดหวังต่อลูกผู้หญิงและผู้ชายในการทดแทนบุญคุณพ่อแม่แตกกต่างกัน การบวชเป็นพระสงฆ์ของลูกชายจะทำให้พ่อแม่ได้รับผลบุญที่เกิดขึ้น ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ที่ลูกถ่ายทอดให้กับพ่อแม่ แต่การแสดงความกตัญญูกตเวทีด้วยการบวชเป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่สามารถทำได้ เพราะผู้หญิงไม่ได้รับอนุญาตให้บวชเป็นพระ สิ่งที่ผู้หญิงทำได้คือการดูแล ช่วยเหลือปรนนิบัติและสนันสนุนพ่อแม่ทั้งด้านเศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่และจิตใจ ให้มีความสุขสบาย (Akin Rabibhadana, 1984)

อย่างไรก็ตามไม่ได้หมายความว่าผู้ชายไม่ต้องดูแลพ่อแม่ แต่ความคาดหวังต่อลูกสาวและลูกชายแตกต่างกัน ซึ่งความแตกต่างที่เชื่อมโยงกับความเชื่อทางพุทธศาสนา เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่ส่งผลบทบาทหญิงชายในสังคมไทย การดูแลช่วยเหลือและสนันสนุนพ่อแม่ให้มีชีวิตสุขสบาย เป็นการแสดงถึงความกตัญญู ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมไทยให้ความสำคัญอย่างมาก และเป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ผู้หญิงก้าวสู่การแต่งงานข้ามชาติ นอกจากการส่งเงินกลับบ้านให้พ่อ แม่     

“หย่าร้าง” หนึ่งเหตุผลที่ต้องดิ้นรน

ข้อมูลบ้านนาดอกไม้ เมื่อปี 2551-2552 มีเมียฝรั่ง 159 คน ในจำนวนนี้มีผู้หญิง 100 คน (63%) ที่เคยแต่งงานกับชายไทยและเลิกกับสามีและผู้หญิง  90 จาก 100 ที่ผ่านการแต่งงานมีลูกที่ต้องเลี้ยงดูส่งเสียให้เรียนหนังสือ กรณีที่พบที่บ้านนาดอกไม้ เมื่อความสัมพันธ์จบลง ผู้ชายไม่สนใจที่จะส่งเสียลูก แม่จึงต้องเลี้ยงดูลูกโดยลำพัง ภาระความรับผิดชอบต่อการเลี้ยงลูกทำให้ผู้หญิงต้องดิ้นรนและเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ผู้หญิงตัดสินใจออกจากหมู่บ้านเพื่อหาแฟนชาวต่างชาติ ด้วยความคาดหวังว่า หากความสัมพันธ์จบลงด้วยการแต่งงาน จะสามารถเลี้ยงดูและให้การศึกษาให้ลูกมีอนาคตที่ดี หลายคนเริ่มจากการทำงานในแหล่งท่องเที่ยว อย่าง พัทยา เพื่อพบปะ สร้างสัมพันธ์กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ และในที่สุดก็ได้ไปใช้ชีวิตในต่างประเทศ เช่นเดียวกับ สมหมาย หลายคนรู้จักกับสามีชาวต่างชาติผ่านการแนะนำของคนในหมู่บ้านแต่งงานและใช้ชีวิตในต่างแดน เช่นที่สมหมาย ได้แนะนำ ช่วยเหลือผู้หญิงหลายคนในหมู่ให้ได้แต่งงานกับผู้ชายชาวเดนมาร์ค 

ชีวิตในต่างแดนของเมียฝรั่ง ไม่ได้มีแต่เรื่องสวยงาม สุข สบาย เสมอไป ทุกคนต้องปรับตัวต่อการใช้ชีวิตในสภาพแวดล้อมทั้งภาษา วัฒนธรรม ผู้คน อาหารการกินที่แตกต่างไปจากถิ่นบ้านเกิด และต้องดิ้นรนทำงานเพื่อหารายได้ ส่งกลับให้ลูก และ พ่อ แม่ บางคนต้องทำงานหนักเพื่อให้มีรายได้เพียงพอที่ทำให้สามารถรับลูก (ที่เกิดจากสามีคนไทย) ไปอยู่ด้วยในต่างประเทศ แต่ละประเทศมีกฏหมายและระเบียบปฎิบัติที่แตกต่างกันไป จะเห็นได้เงินที่ผู้หญิงเหล่านี้หามาได้จากการทำงานหนัก ไม่ใช่เงินเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่เป็นเงินเพื่อสนันสนุนลูกและส่งกลับให้ครอบครัวที่บ้านเกิด 

ในแง่สามีฝรั่ง มักตั้งคำถามว่า ทำไมพ่อของลูกที่เป็นคนไทยจึงไม่รับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูลูกของตัวเอง ทำไมภาระการเลี้ยงลูกจึงตกอยู่กับผู้หญิง ในสังคมตะวันตกแม้เลิกกันทั้งพ่อและแม่ต้องรับผิดชอบต่อการเลี้ยงดูลูก ในหลายๆ ประเทศ ความรับผิดชอบของพ่อแม่ต่อลูกเป็นทั้งเรื่องเชิงวัฒนธรรมและเชิงกฏหมายที่ต้องถือปฏิบัติ ซึ่งแตกต่างไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมชนบท ที่แม่มักเป็นผู้ที่ต้องเลี้ยงดูลูก บนฐานความแตกต่างที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ชายไทยถูกมองว่าขาดความรับผิดชอบต่อครอบครัว มุมมองนี้ได้สร้างความชอบธรรมให้กับผู้ใหญิงในการปฏิเสธผู้ชายไทยและตัดสินใจเลือกแต่งงานกับผู้ชายฝรั่ง อย่างไรก็ตามเรื่องบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของหญิงและชายต่อครอบครัวต้องทำความเข้าใจผ่านมุมมองทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับเพศภาวะ (gender culture) ในสังคมไทยและสังคมตะวันตกมากกว่าการมองว่า ผู้ชายไทยมีความรับผิดชอบต่อครัวน้อย (หรือมาก) กว่าผู้ชายตะวันตก

การแต่งงานข้ามชาติกับ “ความเจริญ” และ ความเหลื่อล้ำ  

ในชุมชนที่มีผู้หญิงแต่งงานกับฝรั่งจำนวนมาก เช่น กรณีบ้านนาดอกไม้ สิ่งที่ปรากฎชัดคือ มีบ้านหลังใหญ่ เหมือนกับบ้านจัดสรร ในเมืองมากกว่าบ้านในชุมชนชนบท ภายในบ้านมีการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ที่ทันสมัย ด้วยความผูกพันของเมียฝรั่งกับชุมชนบ้านเกิด เมื่อกลับมาบ้านมักบริจาคเงินให้โรงเรียนและชุมชน หรือจัดทอดผ้าป่าที่วัดในหมู่บ้าน หรือสร้างศาลาในหมู่บ้าน การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้สะท้อน “ความเจริญ” ที่ทำให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จัก และเป็นความภาคภูมิใจของชาวบ้านส่วนหนึ่ง โดยเฉพะอย่างยิ่ง ญาติ พี่ น้อง ของเมียฝรั่งที่มีส่วนในการสร้าง “ความเจริญ” แก่ชุมชน ในอีกแง่มุมหนึ่ง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นก็ทำให้กลุ่มคนที่ไม่มีลูกหลานญาติพี่น้องที่แต่งงานแล้วออกไปอยู่ต่างประเทศรู้สึกว่า ตัวเองด้อยกว่า ไม่สามารถสร้างฐานะและความมั่นคงในชีวิตได้ แม้ว่าหลายคนจะทำงานหนัก ทำให้ความความเหลื่อมล้ำในชุมชนปรากฎชัดขึ้น และในบางกรณีพัฒนาไปสู่ทัศนะเชิงลบต่อเมียฝรั่ง เช่น การตั้งคำถาม/ข้อสังเกตต่อพื้นฐานครอบครัว การศึกษา และช่องทางในการสร้างสัมพันธ์กับสามีฝรั่งที่มักถูกมองผูกโยงกับเพศพาณิชย์ 

เรื่องราวชีวิตของของผู้หญิงชาวบ้านนาดอกไม้ที่แต่งงานและไปอาศัยอยู่กับสามีในต่างแดนสะท้อนให้เห็นถึงความหวัง ความกดดัน และการต่อสู้ ดิ้นรน เพื่อการมีชีวิตที่ดีและการมีอนาตคที่มีความหมายของตนเองและของครอบครัวในต่างแดน และพ่อ แม่ ญาติ พี่ น้อง ในถิ่นบ้านเกิด เช่นเดียวกับพี่สมหมาย คำสิงห์นอก (มอล์เบ็ก) บุคคลต้นเรื่องในหนังสารคดี “Heartbound – A Different Kind of Love Story”

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print