วีระวรรธน์ สมนึก เรื่อง
กฤษฎา ผลไชย ภาพ
“I เขียน letter ถึงเธอ dear John
เขียนในแฟลตที่ you เคยนอน
จังหวัดอุดร ประเทศ Thailand
I broken heart you must understand
John จ๋า John dollar ขาดแคลน
เมีย second hand ของ you ยังคอย”
เนื้อเพลงท่อนแรกของเพลง “จดหมายรักจากเมียเช่า” จากปลายปากกาของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติผู้ล่วงลับ สะท้อนสังคมไทยในช่วงปี 2504 – 2519 ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา หรือ ‘มะกัน’ นำทหารจีไอ (Government Issue) จำนวนมากเข้ามาประเทศไทยเพื่อตั้งฐานทัพสู้รบระหว่างสงครามเวียดนาม
ห้วงเวลานั้นทหารอเมริกันไม่ได้มารบด้วยตัวเองโดดๆ หากยังมีพลเรือนที่สนับสนุนการรบหรือมีกิจการการค้าเกี่ยวกับทหารเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทำให้มีสถานบริการเพื่อรับรอง ทั้งทหารและพลเรือนในพื้นที่ใกล้ฐานทัพอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็นสนามบินดอนเมือง กทม. สนามบินอู่ตะเภา จ.ชลบุรี จ.นครราชสีมา จ.นครสวรรค์ จ.อุบลราชธานี จ.นครพนม รวมไปถึง จ.อุดรธานี

ทหารอเมริกันจัดงานวันคริสต์มาสที่ติดตั้งอยู่ในพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ค่ายรามสูร บ้านโนนสูง อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี
บ้านโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี ในช่วงนั้นจึงคราคร่ำไปด้วยชาวตะวันตกที่นำวัฒนธรรมเข้ามาผ่านผับ บาร์ โรงแรม ร้านอาหาร กิจการแท็กซี่ โรงหนัง เป็นต้น
“เมียเช่า” ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นของ จ.อุดรธานี จนถูกนำไปเล่าเป็นบทเพลงสุดแสนอมตะ “จดหมายรักจากเมียเช่า” ประพันธ์โดย อาจินต์ ปัญจพรรค์
“เมียเช่า” ตามพจนานุกรมฉบับมติชน 2547 ให้ความหมายว่า เป็นถ้อยคำเรียกหญิงที่รับจ้างเป็นเมียชั่วคราว
ชีวิตสาวบาร์ในเมืองอุดรฯ
บรรจง บุญกิจ วัย 69 ปี ชาว จ.อุดรธานี เคยทำงานในบาร์ระหว่างที่ทหารอเมริกันมาตั้งฐานทัพที่บ้านโนนสูง อ.เมือง จ.อุดรธานี
บรรจงเรียนจบชั้น ป.4 ที่โรงเรียนในหมู่บ้านนาดอกไม้ (หมู่บ้านสมมุติ) อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี ก่อนออกมาทำนาทำไร่กับครอบครัว ในสมัยที่ยังต้องหาบน้ำตำข้าว พออายุ 17 ปี (ปี 2512) ด้วยความอยากมีรายได้เพื่อเลี้ยงดูครอบครัว เธอจึงชวนเพื่อนรุ่นในหมู่บ้านอีกสองคนไปแสวงโชคในเมืองอุดรธานี หนึ่งในนั้นคือ คำปุ่น แนวหาร ภายหลังได้แต่งงานกับทหารจีไอ แล้วย้ายไปอยู่สหรัฐอเมริกา
หลังเดินหางานอยู่สักพัก พวกเธอก็เจอร้านอาหารที่รับสมัครพนักงานเสิร์ฟ
“ตอนนั้นทำงานตามร้านอาหารและทำงานเสิร์ฟในช่วงจีไอลงด้วย แขกฝรั่งจะดีกว่าแขกคนไทยตรงที่ได้ทิปดี อยู่โนนสูงพวกเราก็เช่าบ้านอยู่ด้วยกัน 3-4 คน ตกเย็นก็ไปหาแขก กลางวันก็นอน” เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานในช่วงนั้น

บรรจง บุญกิจ ชาวจังหวัดอุดรธานี ผู้เคยทำงานในบาร์ช่วงที่ทหารอเมริกัน (จีไอ) มาตั้งฐานทัพใน จ.อุดรธานี
เศรษฐกิจรุ่งเรือง-เงินดอลล่าร์เต็มมือ
สภาพสังคมและเศรษฐกิจของหมู่บ้านโนนสูงในช่วงนั้นยังคงอยู่ในความทรงจำของเธอมิเลือนลาง
เธอเล่าว่า เมื่อทหารอเมริกันเข้ามาในจังหวัดอุดรธานีก็มีผู้คนจากจังหวัดอื่นๆ ย้ายเข้ามาทำงานเป็นจำนวนมาก ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจดี ส่วนสภาพสังคมเมืองอุดรฯ ในยุคนั้นก็ครึกครื้น อำเภอกุมภวาปีที่อยู่ใกล้ อ.เมือง มีความเจริญตามไปด้วย
“ตอนนั้นทหารฝรั่งจะอยู่แฟลตเป็นห้องๆ ผู้หญิงไทยก็จะไปเช่าบ้านอยู่ใกล้ๆ เพราะตรงนั้นมีทุกอย่างที่เป็นความบันเทิง ทั้งผับ บาร์ โรงแรม โรงหนัง ร้านอาหาร” เธอเล่าด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม
บรรจงและเพื่อนอีก 2 คนทำงานในสถานบันเทิงประมาณ 5 ปี แต่มีเพียงคำปุ่นคนเดียวที่มีแฟนเป็นทหารชาวอเมริกัน หลังอเมริกาถอนทัพออกจากจังหวัดอุดรธานีเมื่อปี 2518 คำปุ่นจึงติดตามสามีไปอยู่ต่างประเทศด้วย จากนั้นจึงกลับมาสร้างบ้านให้พ่อแม่ที่บ้านนาดอกไม้ สามีคำปุ่นเพิ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2561 ที่ผ่านมา
“ฉันไม่ได้มีสามีฝรั่งเป็นตัวเป็นตน เพราะตอนนั้นชอบคนไทยมากกว่า เลยไม่ได้ดีเหมือนเพื่อน” บรรจงเล่าอย่างน้อยอกน้อยใจ
“เมียเช่า” คนเข้าใจว่า “โสเภณี”
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2512 แม้เธอและเพื่อนๆ จะสื่อสารกับทหารอเมริกันไม่ค่อยรู้เรื่อง ส่วนใหญ่ใช้ภาษามือและภาษากาย แต่การทำงานเป็นพนักงานเสิร์ฟในบาร์ก็สร้างรายได้ให้มากพอสมควร มีรายได้ประมาณหลักพันต่อเดือน ยุคนั้นทองคำราคาบาทละ 400 กว่า แต่ด้วยความเยาว์วัย เงินเหล่านั้นก็อันตรธานหายไปอย่างรวดเร็ว
“ถ้าผู้หญิงคนไหนมีฝรั่งมาคบ จะดีใจมาก พอได้ไปเช่าบ้านอยู่กับฝรั่งก็จะดีใจที่สุด เพราะชีวิตเปลี่ยนไปเลย เป็นค่านิยมของผู้หญิงที่อยากเปลี่ยนชีวิต แต่ตอนนั้นใจเรา ชอบคนไทยมากกว่า ตอนนั้นฝรั่งติดฉันตลอด แต่พอหาเงินจากฝรั่งได้ก็เอามาให้คนไทย” เธอเล่าประสบการณ์ชีวิต
เมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างหญิงไทยกับหนุ่มจีไอ บรรจงแสดงความเห็นว่า ทหารจีไอที่มีฐานะจริงๆ ส่วนใหญ่เขาไม่เลือกหญิงไทยตามหมู่บ้าน แต่จะคบหญิงอีกเกรดหนึ่ง คบหากับข้าราชการหรือคบกับคนไทยที่จบมหาวิทยาลัย หรือจากกรุงเทพฯ นอกจากมีผู้หญิงคนไทยถูกใจเขาจริงๆ เขาจึงกลับมาหาผู้หญิงคนนั้นและเลี้ยงดูกันไป
นอกจากนี้ยังมีกรณีที่ทหารไปจีไอไปรบแล้วเสียชีวิตในสงครามเวียดนาม เมียเช่าคนไทยก็ต้องหาคนใหม่ คล้ายกับว่าผู้หญิงเขาก็ต้องมีรายได้เพื่อเลี้ยงปากท้อง ส่วนทหารจีไอบางคนก็หาผู้หญิงคนใหม่เรื่อยๆ ไม่มีข้อผูกมัด
“คนสมัยนั้นจะเรียกเมียเช่าว่าเป็นพวกผู้หญิงหาเงิน หรือเรียกว่ากระหรี่นั่นแหละ พอฝรั่งเช่าบ้านหลังใหญ่ๆ แพงๆ ก็จะมีเมียเช่าแถมให้เสร็จ ไม่ต้องไปหาเอง พอฝรั่งคนเดิมตาย คนใหม่ก็เช่าต่อ เช่าทั้งบ้านเช่าทั้งคน ตอนนั้นสังคมยังไม่เปิด เขาก็ดูจะรังเกียจเมียเช่า เข้าบ้านไหนเขาก็ไม่อยากต้อนรับ”
หากเปรียบผู้หญิงที่เป็นเมียฝรั่งยุคนี้กับยุคนั้น บรรจงให้ความเห็นว่า แตกต่างกันมาก เพราะยุคนี้ผู้หญิงที่แต่งงานกับฝรั่งจะมีเงินมาก สมัยก่อนทหารจีไอเขาเที่ยวมากกว่า ผู้หญิงได้แค่เงิน พอจะกลับก็กลับเลย
“ฝรั่งที่แต่งงานกับผู้หญิงยุคนี้เขาจะมาสร้างบ้านให้ แล้วอยู่แบบสบาย เพราะเขาจะจริงจังกับผู้หญิงไทยมากกว่ายุคจีไอที่มาเที่ยวถลุงเงินอย่างเดียว”

บรรจง บุญกิจ ชาวจังหวัดอุดรธานี ขณะย้อนเล่าความหลังครั้งอเมริกาตั้งฐานทัพที่โนนสูง อุดรธานี
ถอนฐานทัพอเมริกันออกจาก จ.อุดรฯ
บรรจงเล่าต่อว่า ตอนกองทัพอเมริกาจากไปเมื่อช่วงปี 2518 บ้านโนนสูงก็ซบเซา เรียกได้ว่าร้างไปหมด
“พวกทหารจีไอไม่กลับมาอีกเลย สิ่งที่เห็นคือ ลูกครึ่งจีไอกับหญิงไทยเต็มอุดรเลย มีเยอะมาก หน้าออกฝรั่งเลยแหละ ผมแดงๆ เว้าลาว” เธอเล่า
แสวงโชคครั้งใหม่ที่เมืองพัทยา
หลังยุคสงครามเวียดนาม เมื่อปี 2519 รัฐบาลยุคนั้นได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวด้วยการเปิดเมืองพัทยา จ.ชลบุรี เป็นแหล่งท่องเที่ยว ทำให้มีนักท่องเที่ยวจากตะวันตกมาเที่ยวมากขึ้นและเมืองพัทยาเติบโตขึ้น ผู้หญิงไทยที่เคยทำงานในบาร์ จ.อุดรธานี ก็ย้ายไปทำงานที่เมืองพัทยา บรรจงจึงเดินทางไปแสวงโชคอีกครั้ง
“ครั้งนี้ก็ไม่ได้สามีฝรั่งเป็นตัวเป็นตน แต่หาเงินเยอะ มีฝรั่งอยากแต่งงานด้วย แต่ฉันก็แต่งงานกับคนไทยและมีลูก 2 คน เป็นชาย 1 คน หญิง 1 คน ตอนนั้นญาติพี่น้องของเธอก็เสียดายว่าทำไมไม่เอาฝรั่ง มาคิดทีหลังก็สายไปแล้ว”
หลังใช้ชีวิตที่พัทยากว่า 10 ปี พอที่จะมีทุนรอนสร้างอาชีพใหม่ บรรจงและครอบครัวก็กลับบ้านเกิดที่หมู่บ้านนาดอกไม้ แล้วเปิดร้านขายก๋วยเตี๋ยวและร้านขายของชำ แต่เมื่อ 3 ปีที่แล้วเธอป่วยด้วยโรคมะเร็งลำคอทำให้ต้องหยุดกิจการ
ลูกสาวสานฝันแต่งงานกับชาวนิวซีแลนด์
ตอนนี้ลูกสาวของบรรจงวัย 30 ปี แต่งงานกับชาวนิวซีแลนด์ โดยย้ายไปอยู่ที่นิวซีแลนด์แล้ว 5 ปี หลังจากที่ทั้งคู่พบกันขณะทำงานที่บาร์แห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต โดยลูกสาวของเธอจะส่งเงินมาเลี้ยงดูพ่อแม่เดือนละ 4 หมื่นบาท แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มาสร้างบ้านหลังใหม่ให้พ่อแม่
“ตอนลูกแต่งงานกับคนนิวซีแลนด์ แม่ก็คิดดีใจด้วย เพราะว่าแม่ทำไม่ได้ ทั้งที่ในยุคนั้นฉันก็เป็นคนสวยคนหนึ่ง ไปไหนคนไทยก็มองตาม” บรรจงพูดไปยิ้มไประหว่างบรรยายถึงความสวยของตัวเอง
แม้บรรจงจะรู้สึกเสียดายที่ไม่ได้แต่งงานกับชาวต่างชาติ เพราะรักชอบคนไทยมากกว่า ประกอบกับสังคมในยุคนั้นที่ผู้คนมองว่า ผู้หญิงไทยที่แต่งงานกับชาวต่างชาติเป็นผู้หญิงไม่ดี จึงทำให้เธอตัดสินใจชีวิตแบบที่เป็นอยู่
“แม้ฉันจะไม่ได้ดีเหมือนคำปุ่น (เพื่อนร่วมรุ่น) ที่หลังสงครามก็ย้ายไปอยู่ต่างประเทศเลย แต่ตอนนั้นคนเขาเรียกผู้หญิงแบบนั้นไม่ดี แต่ยุคนี้เขาไม่เรียกกันแล้ว ไม่ถือสา เพราะผู้หญิงหาเงินได้ เป็นคนรวย คนดี แค่นี้ก็มีคนยกมือไหว้แล้ว” บรรจงกล่าวทิ้งท้าย