เมียฝรั่งในอีสาน – ความเสี่ยงของหญิงอีสานที่มากขึ้นเมื่อย้ายถิ่นไปยุโรป (9)

Feature image cover photo: istock.com/Weedezig

เมื่อปี ค.ศ. 2003 (พ.ศ.2546) ฉันได้เริ่มทำงานวิจัยด้านมานุษยวิทยาเกี่ยวกับกลุ่มหญิงไทยที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ในเขตชนบทของเมืองทุ (Thy)  ประเทศเดนมาร์กกับหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่ง ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากตัวเมืองจังหวัดนครราชสีมา ในเมืองทุมีผู้หญิงไทยอาศัยอยู่มากกว่า 900 คน ส่วนใหญ่มาจากภาคอีสาน ซึ่งเมื่อ 25 ปีที่แล้ว มีผู้หญิงอีสานอาศัยอยู่ที่เมืองทุเพียงไม่กี่คน หนึ่งในนั้นคือ สมหมาย (คำสิงห์นอก) ผู้พบกับนีลส์ขณะที่ทำงานเป็นหญิงขายบริการทางเพศที่พัทยา เธอแต่งงานกับเขา แล้วย้ายมาอยู่ด้วยกันที่เมืองทุ

ตลอดช่วงหลายปีที่ฉันรู้จักสมหมาย เธอได้สร้างบ้านคอนกรีตหลังใหญ่ด้วยเงินที่ได้จากการทำงานในโรงงานโลหะแห่งหนึ่งในเดนมาร์ก แล้วพาครอบครัวในอีสานให้หลุดพ้นจากความยากจนและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

เหยื่อหรือนักขุดทอง?

ผู้หญิงอีสานเริ่มย้ายถิ่นไปอยู่ยุโรปและเดนมาร์กตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ ค.ศ. 1990 (2533) ส่วนใหญ่เป็นการย้ายถิ่นผ่านการแต่งงานกับการไปขายบริการทางเพศ โดยเงินทองที่ส่งกลับบ้าน (จากการทำงานในต่างแดน) ถูกใช้ไปกับการสร้างบ้านให้ครอบครัว เป็นค่าเล่าเรียนของลูกๆ และเป็นค่าใช้จ่ายดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ผู้หญิงไทยส่งกลับประเทศบ้านเกิด แต่ข้อมูลจากธนาคารโลกพบว่า ในช่วงสิบปีที่ผ่านมามีการส่งเงินกลับเข้าประเทศไทยเพิ่มขึ้นและผู้ย้ายถิ่นชาวไทยในประเทศยุโรปส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงมากถึงร้อยละ 85 

เงินค่าใช้จ่ายในการสร้างบ้าน ค่ารักษาพยาบาล รวมทั้งการศึกษาดีๆ ให้ลูกหลานของครอบครัวในอีสานบ่อยครั้งมาจากเงินที่ลูกสาว แม่หรือพี่สาวที่อาศัยอยู่ในยุโรปส่งกลับมาให้ สถานการณ์เหล่านี้ตอกย้ำว่า ผู้หญิงอีสานที่ย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศมีส่วนสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจแก่ครอบครัวและบ้านเกิดของตน ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ควรเป็นสิ่งที่รัฐไทยจัดหาให้ประชาชนหรือไม่?  ไม่ใช่มาจากผู้หญิงในครอบครัวที่ยากจน

อย่างไรก็ตามผู้ย้ายถิ่นที่เป็นหญิงอีสานมักถูกตัดสินว่าเป็น “นักขุดทอง หวังรวยทางลัด” ถูกคนไทยและคนอื่นมองอย่างดูถูกว่าทำเพื่อเงิน เป็นทาสทางเพศ เป็นเหยื่อค้ามนุษย์ และเป็นผู้หญิงที่ถูก “ซื้อ” อย่างง่ายดาย และถูกผู้ชายชาวตะวันตกเอารัดเอาเปรียบ พวกเธอแทบจะไม่ค่อยมีใครเข้าใจหรือยกย่องว่าเป็นคนเก่งและกล้าหาญ แม้พวกเธอจะเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบาก แต่การย้ายถิ่นไปอยู่ยุโรปก็ผ่านการตัดสินใจอย่างรอบคอบและตั้งใจทำเพื่อครอบครัวและหางานทำ

บางคนแต่งงานด้วยความรัก โดยหวังว่าจะมีชีวิตแต่งงานที่เอื้ออาทรระหว่างกัน และบางคนก็แต่งงานโดยหวังว่าจะได้งานทำและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บางคนมองหาความรักและเงินทองในขณะเดียวกัน ทางเลือกเหล่านี้ย่อมมีผลลัพธ์ตามมาทั้งนั้น

การย้ายถิ่นส่วนใหญ่ถูกมองว่าเป็นห้วงเวลาที่หนาวเหน็บ ไม่ว่าจะเป็นภาพผู้ย้ายถิ่นขณะปีนรั้วกั้นแนวชายแดน การเกาะเรือที่ล่มกลางท้องทะเลหรือการยืนต่อแถวรอที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองในยุโรป ห้วงเวลาเหล่านี้มีความสำคัญต่อการบันทึกความหายนะที่เกิดขึ้นจากการย้ายถิ่น แต่เพื่อทำความเข้าใจถึงสถานการณ์และทางเลือกต่างๆ ที่นำไปสู่การย้ายถิ่นและผลของการย้ายถิ่นให้ได้อย่างถ่องแท้ เราจำเป็นต้องติดตามดูชีวิตของผู้ย้ายถิ่นตลอดการย้ายถิ่น

หลังจากย้ายถิ่นไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศนานถึง  27 ปี สมหมายรู้สึกตัดสินใจไม่ถูกว่าจะอยู่ที่เดนมาร์กต่อหรือจะกลับบ้านเกิดในอีสาน เธอไม่อยากใช้ชีวิตบั้นปลายที่เดนมาร์กและนีลส์ก็ไม่อยากย้ายไปอยู่ประเทศไทย

อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ความเจ็บปวดและความเสียใจที่บรรดาผู้ย้ายถิ่นที่เป็นแม่ต้องเผชิญ การย้ายถิ่นทำให้ผู้หญิงบางคนต้องมอบความรักความอบอุ่นให้ลูกของตัวเองผ่านทางเฟซไทม์ (Facetime) และเมสเซนเจอร์ (Messenger) ความพยายามของพวกเธอในการทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของลูกๆ ดีขึ้นนั้น ท้ายที่สุดกลับเป็นสิ่งที่ทำให้พวกเขาต้องแยกกันอยู่คนละประเทศ

แต่การมองผู้หญิงอีสานและผู้หญิงย้ายถิ่นคนอื่นว่า เป็นเพียงแค่เหยื่อหรือ “นักขุดทอง ผู้หวังรวยทางลัด” คือการมองข้ามความสามารถที่ปรากฏเด่นชัดของผู้หญิงเหล่านี้ในการตัดสินใจอย่างมีนัยสำคัญเกี่ยวกับชีวิตของตนเองและครอบครัว นอกจากนี้ยังมองข้ามรายได้ในระบบเศรษฐกิจจำนวนมากที่ผู้หญิงย้ายถิ่นมอบให้แก่ครอบครัว รวมทั้งเงื่อนไขทางโครงสร้าง เช่น ภาวะว่างงานในอีสานที่พวกเธอพยายามหนีด้วย

วาทกรรมของการตกเป็นเหยื่อนั้นไม่ได้มองว่า การย้ายถิ่นของผู้หญิงอีสานไปยุโรปเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งผู้หญิงเป็นผู้ย้ายถิ่นและเป็นผู้มีอำนาจในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองมากขึ้น โดยจำนวนผู้ย้ายถิ่นหญิงทั่วโลกมีน้อยกว่าครึ่งของจำนวนผู้ย้ายถิ่นทั้งหมดอยู่เพียงเล็กน้อย อีกทั้งการย้ายถิ่นของผู้หญิงจากประเทศซีกโลกใต้หรือประเทศกำลังพัฒนาไปยังทวีปยุโรปก็มักถูกตีความว่าเป็นส่วนหนึ่งของการย้ายถิ่นของผู้หญิงทั่วโลกที่มากขึ้น (ผู้ทำงานบ้าน ผู้ย้ายถิ่นผ่านการแต่งงาน และพนักงานบริการทางเพศ) ซึ่งผู้หญิงต้องแบกภาระในการพัฒนาและทำให้ความเป็นอยู่ของครอบครัวในประเทศซีกโลกใต้ดีขึ้นจากการย้ายถิ่นของตัวเอง

อย่างไรก็ตามความสำคัญว่าด้วยเพศภาวะปรากฏออกมาหลายวิธี ซึ่งความจำเป็นที่ผู้ย้ายถิ่นหญิงจะต้องเป็นคนหาเลี้ยงครอบครัวมีเพิ่มขึ้น หลังจากผู้หาเลี้ยงครอบครัวที่เป็นชายไม่มีงานทำ เจ็บป่วยและไม่มีรายได้มาจ่ายค่ายาหรือติดเหล้า ติดยาเสพติด ซึ่งในประเทศไทยประเทศเดียวมีการคาดการณ์ว่า การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 อาจทำให้มีคนว่างงานมากถึง 8 ล้านคน ในทางกลับกันอาจเป็นผลให้ผู้หญิงย้ายถิ่นไปอยู่ต่างประเทศมากขึ้น

เส้นทางเสี่ยงสู่ยุโรป

การเน้นย้ำถึงอำนาจในการตัดสินใจของผู้หญิงไม่ได้เป็นการปฏิเสธว่าไม่มีผู้หญิงที่ต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากหรือถูกเอารัดเอาเปรียบ อย่างเช่นผู้หญิงย้ายถิ่นหลายคนที่ฉันได้พบปะจากงานวิจัย ซึ่งในภูมิภาคที่ต้องอาศัยพึ่งพาการย้ายถิ่นเพื่อให้มีชีวิตรอดอย่างภาคอีสานนั้น ปัจจุบันผู้หญิงอีสานย้ายถิ่นด้วยวิธีการที่เสี่ยงมากขึ้น พวกเธอต้องยืมเงินเพื่อนำมาใช้จ่ายในการเดินทางมากกว่าในอดีต ซึ่งพวกเธอจะต้องจ่ายหนี้ก้อนดังกล่าวในยุโรปก่อน หลังจากนั้นจึงเริ่มส่งเงินกลับอีสานได้ นั่นหมายความว่า ผู้ย้ายถิ่นหญิงบางส่วนได้หันไปทำงานในอุตสาหกรรมทางเพศแทน ส่งผลให้ผู้หญิงไทยบางคนต้องลงเอยในซ่องยุโรปเพื่อที่จะหาเงินได้เร็วขึ้น และยิ่งผู้หญิงย้ายถิ่นเหล่านี้ใช้ชีวิตใต้ดินลึกลงไปมากเท่าใด เช่น ทำงานในซ่องโสเภณีคนเดียวก็จะทำให้เธอหาเงินได้มากขึ้น

ผู้หญิงอีสานต้องเสี่ยงชีวิตมากขึ้นเพื่อให้ปลดตัวเองหรือครอบครัวออกจากบ่วงหนี้ เพราะการย้ายถิ่นไปอยู่ในยุโรปเพื่อหาเงินส่งกลับมาให้ครอบครัวทำให้พวกเธอมีหนี้สินมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอุตสาหกรรมหนี้ในอีสานได้ประโยชน์จากสิ่งนี้และผู้หญิงย้ายถิ่นเหล่านี้บ่อยครั้งต้องกู้เงินใหม่เพื่อมาชำระหนี้เก่าๆ

ทั้งนี้กฎหมายว่าด้วยการย้ายถิ่นเข้มงวดขึ้นไม่ได้ทำให้ผู้หญิงอีสานเดินทางเข้าประเทศยุโรปน้อยลง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การย้ายถิ่นไปยุโรปได้ส่งผลให้เกิดการย้ายถิ่นในรูปแบบที่เน้นเรื่องเพศมากขึ้นและมีความเสี่ยงต่อการหนี้จำนวนมาก แม้ว่าการย้ายถิ่นของพวกเธอจะไม่ถูกขัดขวาง  แต่กว่าจะไปถึงยุโรปได้นั้นต้องกำหนดเส้นทางใหม่และใช้เวลาเดินทางนานขึ้นและมีเส้นทางที่เสี่ยงกว่าเดิม เช่น ผ่านอุตสาหกรรมทางเพศในพัทยา วีซ่าระยะสั้นไปยังยุโรปตะวันออก ติดต่อผ่านนายหน้าในกรุงเทพฯ ให้พาไป เป็นต้น 

ยิ่งกฎหมายเขตแดนของสหภาพยุโรปเข้มงวดขึ้นเท่าใด ผู้หญิงย้ายถิ่นอีสานก็ยิ่งต้องยืมเงินมากขึ้นเพื่อมาเป็นค่าใช้จ่ายในเดินทางและยิ่งต้องทำงานนานขึ้นและหนักขึ้น ฉันเคยพบผู้หญิงอีสานเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่บอกว่า ตัวเองไม่อยากอยู่ในอีสาน แม้จะมีงานดีๆ ทำ มีสวัสดิการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง มีที่อยู่อาศัยและการศึกษาดีให้แก่ลูกๆ

พวกเธอจะไม่เลือกวิธีการที่เสี่ยงแบบนี้ ถ้ายื่นขอวีซ่าทำงานในต่างประเทศง่ายกว่านี้ ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินผู้หญิงย้ายถิ่นจากการกระทำของพวกเธอ เราจำเป็นต้องเข้าใจถึงข้อจำกัดในการดำเนินชีวิต การเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการย้ายถิ่นที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น รวมทั้งความเข้มแข็งของผู้หญิงอีสานที่ทำให้พวกเธอย้ายถิ่นฐานไปอยู่ต่างแดน

หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด

image_pdfimage_print