เมียฝรั่งในอีสาน – เขยฝรั่งในแดนอีสานกับวัฒนธรรมแต่งงานข้ามชาติ (11)

วีรวรรธน์ สมนึก เรื่อง

“อยู่ๆ ไป เดี๋ยวก็รักกันเอง”

เป็นข้อความหนึ่งที่ปรากฏในหนังสารคดีเรื่อง “Heartbound – A different kind of love story รักเอย” ที่บอกเล่าเรื่องราวชีวิตของหญิงที่มีถิ่นฐานบ้านเกิดอยู่ในภาคอีสานของไทย แล้วเลือกแต่งงานกับชายชาวตะวันตก เพราะอยากมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่นเดียวกับหญิงไทยอีกหลายคนที่แต่งงานกับชาวตะวันตกเพื่อมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม 

หนังสารคดีฉายให้เห็นการแต่งงานข้ามวัฒนธรรม โดยแรกเริ่มนั้น สามีชาวตะวันตกอาจเห็นว่าภรรยาคนไทยต้องการเพียงเงินเพื่อนำไปจุนเจือครอบครัว แต่เมื่อทั้งสองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันกลับพบว่าความสัมพันธ์ทั้งคู่มีค่ามากกว่านั้น 

ประเด็นหนึ่งที่เด่นชัดจากหนังสารคดีคือ “การดูแลกันและกัน” โดยฝ่ายภรรยาเริ่มเห็นว่าสามีสูงอายุต้องการคนดูแล แม้เธอจะมีเป้าหมายการแต่งงานเพื่อเงินตรา แต่กลับมีความรู้สึกผูกพัน ห่วงใย และเป็นความรักในแบบที่ไม่อาจซื้อหาได้ด้วยเงิน 

นี่จึงเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นกับชีวิตคู่ของหญิงชายต่างวัยต่างวัฒนธรรมคู่หนึ่ง ซึ่งการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมไม่ได้มีเพียงหญิงชายคู่นี้คู่เดียว แต่ยังมีตัวเลขของการแต่งงานในลักษณะนี้เป็นจำนวนมากในแดนอีสาน 

รายงานพิเศษชิ้นนี้จึงต้องการนำเสนอมุมมองของการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมระหว่างหญิงไทยและชายชาวตะวันตกที่เรียกถูกเรียกว่า “ฝรั่ง” เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ตลอดจนมุมมองความคาดหวังจากคู่สมรสว่าด้วย “การดูแล” โดยยกตัวอย่างชุมชนแห่งหนึ่งในอำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี ต่อไปนี้่จะขอเรียกว่า “หมู่บ้านนาดอกไม้” 

“บ้านนาดอกไม้” ชุมชนเขยฝรั่งในอุดรฯ 

หมู่บ้านนาดอกไม้อยู่ห่างจากบ้านโนนสูงที่เคยเป็นฐานทัพอเมริกันในยุคสงครามเวียดนามราว 40 กิโลเมตร โดย สำรวย อาษาเสนา  ผู้ใหญ่บ้านนาดอกไม้ คาดการณ์ว่า ในตำบลโนนหวายที่ประกอบด้วย 10 หมู่บ้าน มีชาวต่างชาติแต่งงานกับหญิงอีสานถึง 500 คน มีทั้งมาจากสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เบลเยียม สวีเดน นอร์เวย์ สวิสเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ เป็นต้น  

อย่างที่รู้กันว่า ระหว่างปี 2504 – 2519 สหรัฐอเมริกาได้มาตั้งฐานทัพในประเทศไทย เพื่อใช้เป็นฐานปฏิบัติการโจมตีประเทศเวียดนามเหนือ ทำให้มีทหารอเมริกันภาคพื้นดินประจำฐานต่างๆ ในไทยเมื่อปี 2511 ถึง 11,494 คน และทหารอากาศเมื่อปี 2512 ถึง 33,500 คน  ซึ่งตอนนั้นในภาคอีสานมีฐานทัพอเมริกันอย่างน้อย 4 แห่ง ได้แก่ ฐานทัพเรือนครพนม ฐานทัพอากาศอุบล ฐานทัพอากาศโคราช และฐานทัพอากาศอุดร  

อานันท์ อุทกัง ขณะให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับที่มาที่ไปของเขยฝรั่งในชุมชนโนนหวาย

ทหารอเมริกันในหมู่บ้าน 

หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุด ทหารอเมริกันบางคนก็เดินทางกลับประเทศแม่ แต่บางคนก็อยู่เมืองไทยต่อ อานันท์ อุทกัง ชาวหมู่บ้านนาดอกไม้ วัย 49 ปี เป็นคนหนึ่งที่เห็นปรากฏการณ์นั้นในวัยเด็ก 

“ผมเห็นฝรั่งเข้ามาอยู่ในหมู่บ้านครั้งแรกราวๆ ปี 2518 หลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลง” อานันท์เล่าจากความทรงจำ

ทั้งนี้เขาสังเกตว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หญิงไทยในหมู่บ้านแต่งงานกับฝรั่งมากขึ้น ในจำนวนนี้มีญาติของเขา 2 คนด้วย อาจเป็นเพราะหลายคนเห็นว่าการแต่งงานแบบนี้ทำให้ชีวิตดีขึ้น คนในหมู่บ้านจึงทำตาม 

เขายังบอกอีกว่า เขยฝรั่งคนแรกของหมู่บ้านนาดอกไม้เป็นชาวเยอรมันที่มาทำงานในประเทศไทย โดยแต่งงานกับหญิงชาวไทยชื่อ “จำปา ฮอพ์พ” ก่อนจะย้ายไปประเทศลาวในช่วงสงครามเวียดนาม ซึ่งปัจจุบันจำปาอายุ 76 ปี 

เมื่อปี 2547 สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ภาคอีสาน สำรวจพบว่า ผู้หญิงอีสานแต่งงานกับชาวต่างชาติจำนวน 19,594 คน 

ส่วนข้อมูลจากสำนักทะเบียนจังหวัดอุดรธานีปี 2560 ระบุว่า จังหวัดอุดรธานีมีชาวต่างชาติแต่งงานกับหญิงอีสานประมาณ 4,000 คน และตกสำรวจอีกจำนวนหนึ่ง คาดว่าน่าจะมีฝรั่งแต่งงานกับหญิงอีสานประมาณ 10,000 คน 

แต่งงานเพื่อยกระดับ “คุณภาพชีวิต”

แม้การแต่งงานของคนรักกันจะมีเป้าหมายเพื่อ “ความสุข” แต่ทว่าชีวิตก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้นเสมอไป โดยเฉพาะสังคมไทยในที่มีตัวเลขการหย่าร้างมากขึ้น 

ข้อมูลจากศูนย์ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี วิเคราะห์เกี่ยวกับการจดทะเบียนสมรสและการหย่าร้างของกรมการปกครอง พบว่า การจดทะเบียนสมรสของคนไทยลดลงจาก 313,000 คน เมื่อปี 2550 เป็น 298,000 คน มื่อปี 2560 สวนทางกับการจดทะเบียนหย่าที่เพิ่มขึ้นจาก 102,000 คน เป็น 122,000 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 

“ความคิดไม่ตรงกันหลายเรื่อง เลยแยกทางกัน” เป็นเหตุผลที่ณัฐมณฑ์อธิบายต่อการใช้ชีวิตคู่ที่ไม่ประสบผลสำเร็จ

ณัฐมณฑ์ สมภาร พนักงานธุรการ เป็นหนึ่งในตัวเลขของผู้จดทะเบียนหย่าจากชายไทย ก่อนจะตัดสินใจแต่งงานใหม่กับชาวต่างชาติ

แต่งงานใหม่หลังหย่าจากชายไทย 

เธอแยกทางกับสามีชาวไทยและตัดสินใจเลี้ยงลูกสาวที่ตอนนั้นอายุเพียงวัย 9 ขวบลำพัง กระทั่งพบกับ รอล์ฟ ฮิมเมิล ชาวนอร์เวย์ เมื่อปี 2550 ขณะไปเที่ยวพัทยา จ.ชลบุรี 

“เมื่อไม่สมหวังในความรักก็ไม่อยากมีครอบครัวใหม่ คิดแต่จะหาเงินเลี้ยงลูกอย่างเดียวและไม่คิดว่าคนไทยจะชอบเรา เพราะในสายตาพวกเขา เราอาจจะดูขี้เหร่ กระทั่งเจอรอล์ฟ ความคิดก็เปลี่ยนไป เขาไม่รังเกียจเราและลูก ตอนรู้จักกันใหม่ๆ เขาก็ช่วยค่าเลี้ยงดูเดือนละ 1-2 หมื่นบาท” ณัฐมณฑ์เล่าประสบการณ์ชีวิต 

หลังจากทั้งคู่เจอกันก็สานสัมพันธ์ผ่านทางอีเมลและเจอกันอีกหลายครั้ง กระทั่งเมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา รอล์ฟ ฮิมเมิล ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านนาดอกไม้กับเธอ

ก่อนจะย้ายอยู่เมืองไทยอย่างถาวร ฮิมเมิลส่งเงินกว่า 3 ล้านบาทให้ณัฐมณฑ์เพื่อสร้างบ้านในวัยเกษียณ

บ้านของพวกเขาจึงงามสง่าและโดดเด่นกว่าบ้านหลังอื่นในระแวกเดียวกัน มีทั้งสระว่ายน้ำ สนามหญ้าหน้าบ้าน และสิ่งอำนวยความสะดวกภายในบ้าน 

ความเป็นอยู่ที่สะดวกสบายในบ้านหลังใหญ่ ทำให้ชีวิตของณัฐมณฑ์เป็นที่จับตาของเพื่อนบ้าน โดยมีหลายคนขอให้พวกเขาติดต่อกับชาวต่างชาติให้เพื่อแต่งงานและยกระดับฐานะครอบครัว  

หญิงไทยดูแลดี

ณัฐมณฑ์ สมภาร ชาว จ.อุดรธานี (ขวา) และ รอล์ฟ ฮิมเมิล สามีชาวนอร์เวย์ (ซ้าย)

การตัดสินใจเป็นเขยอีสานของชายชาวตะวันตกไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ทว่า รอล์ฟ ฮิมเมิล ชาวนอร์เวย์วัย 68 ปี ก็หอบชีวิตข้ามน้ำข้ามฟ้ามาอยู่ จ.อุดรธานี และลงหลักปักฐานสร้างชีวิตคู่ที่บ้านนาดอกไม้  

“ผมชอบความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ของคนไทย โดยเฉพาะการดูแลครอบครัวและการทำบุญ หญิงไทยดูแลดีมาก ที่ประเทศนอร์เวย์ ถ้าถึงวัยที่ไม่ได้ทำงาน คุณอาจถูกส่งไปอยู่สถานดูแลผู้สูงอายุและคนรุ่นลูกจะเข้ามาเทคโอเวอร์ทุกอย่าง” นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ฮิมเมิลตัดสินใจมาอยู่ที่เมืองไทย 

ฮิมเมิลเคยแต่งงานมาแล้วครั้งหนึ่ง พอเกษียณจากการเป็นช่างเดินเครื่องจักรโรงไฟฟ้าจึงตัดสินใจย้ายมาอยู่เมืองไทยและมีรายได้จากเงินบำนาญประมาณเดือนละ 7-8 หมื่นบาท 

“ตอนที่มาอยู่เมืองไทยใหม่ๆ ผมต้องปรับตัวหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องอาหาร เพราะไม่กินรสจัด จึงทานได้เฉพาะข้าวเหนียว ไข่เจียว และปลาทูทอด” ฮิมเมิลเล่าประสบการณ์การเป็นเขยอีสาน 

“ที่ประเทศนอร์เวย์ค่าใช้จ่ายสูงมาก ทุกอย่างแพง พอมาอยู่ที่นี่ก็ติดต่อญาติๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ต พวกเขาบอกให้ผมกลับไปเยี่ยมบ้าง แต่ผมไม่อยากกลับ อยากอยู่ที่นี่ตลอดไป” ฮิมเมิลกล่าวด้วยสีหน้ามุ่งมั่น 

แม่สื่อส่งรักต่างแดน 

นอกจากครอบครัวนี้แล้ว ในตำบลโนนหวายยังมีหญิงอีสานแต่งงานกับชาวต่างชาติอีกไม่น้อยกว่า 500 คู่ โดยเขยฝรั่งจำนวนหนึ่งในตำบลแห่งนี้ก็มาจากการชักนำของแม่สื่ออย่าง สมใจ อุทกัง วัย 57 ปี 

สมใจเล่าที่มาของการเป็นแม่สื่อว่า เดิมบ้านของเธอเป็นร้านของชำที่มักเป็นศูนย์รวมของคนหมู่บ้าน เมื่อชาวต่างชาติที่แต่งงานกับสาวอีสานมาซื้อของก็เกิดการแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ประกอบสามีของสามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ เพราะเคยทำงานที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย การเป็นแม่สื่อจึงเกิดขึ้น 

“ฝรั่งที่เขามีเพื่อนมีเมียเป็นคนที่นี่ก็มาแวะที่ร้าน เราก็แนะนำให้ไปคุยกับคนที่เขาสนใจอยากแต่งงานกับฝรั่ง เราก็จะกึ่งๆ โฆษณาว่า หากสนใจเรื่องผู้หญิง ไม่ต้องไปเที่ยวกรุงเทพฯ หรือพัทยา อยู่อุดรธานีก็มี  แต่ช่วงหลังจะเพลาๆ ลง เพราะต้องเลี้ยงลูกหลานและมีกิจการบาร์ในตัวเมืองอุดรธานีที่ต้องดูแล” สมใจเล่าอย่างภาคภูมิใจ 

นอกจากคนในชุมชนใกล้เคียงที่เธอทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมรักแล้ว ยังมีหญิงไทยในพื้นที่ต่างอำเภอของจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง อย่างจังหวัดหนองบัวลำภู มาขอให้เป็นแม่สื่อในลักษณะปากต่อปาก รวมๆ แล้วเธอทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมรักแล้วไม่ต่ำกว่า 100 คู่   

“ฝรั่งมาสร้างโอกาสในชีวิตให้กับหลายคน รวมทั้งลูกสาวของป้าด้วย” สมใจเล่าไปยิ้มไป 

ลูกสาวของสมใจ “โบว์” วัย 33 ปี (ไม่ขอเปิดเผยชื่อจริง) หย่าร้างกับสามีคนไทยเมื่อหลายปีก่อนและตัดสินใจแต่งงานกับชาวสวิตเซอร์แลนด์จากการแนะนำของแม่ เมื่อปี 2562 ก่อนจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศพร้อมกับลูกชายวัย 11 ปี

“อยากให้ลูกสาวมีสามีเป็นฝรั่งอยู่แล้ว ถือเป็นอีกหนทางที่จะทำให้ชีวิตดีขึ้น ก็ถือเป็นความสำเร็จของชีวิตของลูกสาวและครอบครัวอื่นๆ ที่แนะนำด้วย เพราะหลังแต่งงาน หลานชายก็ไปเรียนที่เมืองนอก ส่วนแม่ก็มีโอกาสไปเที่ยวเมืองนอกด้วย” 

เขยฝรั่งสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน 

ในหนังสือ “Love, Money And Obligation: Transnational Marriage in a Northeastern Thai Village หรือ ความรัก เงินตรา และ หน้าที่: การแต่งงานข้ามชาติในหมู่บ้านอีสาน” ของ รศ.ดร.พัชรินทร์ ลาภานันท์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ผู้ศึกษาปรากฏการณ์ในหมู่บ้านนาดอกไม้ จ.อุดรธานี เขียนไว้ในหน้า 168 ว่า การแต่งงานในลักษณะนี้ทำให้บ้านเกิดของฝ่ายหญิงและชุมชนใกล้เคียงมีปฏิสัมพันธ์ด้วย โดยทำให้หมู่บ้านมีความทันสมัยขึ้น มีสร้างบ้านแบบคนเมือง มีรถหลายคัน มีร้านค้าขนาดใหญ่ขึ้น เป็นต้น นอกจากนี้ คู่แต่งงานชาวต่างชาติหลายคู่ก็บริจาคเงินเพื่อบูรณะสถานที่สาธารณะหลายแห่ง อาทิ วัด โรงเรียน เป็นต้น 

งานวิจัยชิ้นนี้สอดคล้องกับข้อสังเกตของผู้นำชุมชนอย่าง สำรวย อาษาเสนา  ผู้ใหญ่บ้านนาดอกไม้วัย 57 ปี ที่บอกว่า การมีชาวต่างชาติแต่งงานกับหญิงอีสานในหมู่บ้านก็ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

“หากเทียบกับเมื่อ 40 ปีที่แล้วที่ทหารจีไออยู่ในอุดรฯ ก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร เพราะตอนนั้นพวกเขามาเที่ยวหาความสำราญมากกว่า น้อยคนนักที่แต่งงานกับหญิงไทย” ผู้นำชุมชนวัย 57 ปีกล่าว

แม้ผู้นำชุมชนคนนี้จะเห็นข้อดีของการแต่งงานข้ามวัฒนธรรมที่ทำให้เศรษฐกิจชุมชนดีขึ้น แต่ยังกังวลว่าวัฒนธรรมของชาวตะวันตกที่แตกต่างกับชาวไทยอาจสร้างปัญหาในอนาคต จึงอยากให้เขยฝรั่งเข้าใจวัฒนธรรมอีสานและเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 

 

image_pdfimage_print