ยศพนธ์ เกิดวิบูลย์ เรื่องและภาพ
กระแสเรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เปิดทางให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ประชาชนทุกภาคส่วน รวมถึงนักเรียนนักศึกษามีส่วนร่วมในการเสนอสิ่งที่พวกเขาต้องการ เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
งานเสวนา “รัฐ ทำ นัวร์” ที่ร้านหนังสืออิสระ อับดุล บุ๊กส์ จ.ขอนแก่น เมื่อวันเสาร์ที่ 29 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา เป็นอีกหนึ่งเวทีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีของนักเรียน นักศึกษา และประชาชน ถึงความต้องการออกแบบรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนที่เสนอให้ประเทศไทย มีกฎหมายที่ให้รัฐจัดการบริการสาธารณะในรูปแบบ “สวัสดิการถ้วนหน้า” และ “ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย”

ถ้าแรงงานล้มป่วย เศรษฐกิจก็ล้มด้วย
ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม หนึ่งในผู้ร่วมพูดคุย กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องสนับสนุนให้มีสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพนั้นเป็นเพราะทุกภาคส่วนถือเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้กับประเทศ เมื่อประเทศได้ผลกำไรจากการใช้แรงงานของประชาชน ประเทศก็ควรตอบแทนด้วยการดูแลคุณภาพชีวิตของประชาชน
“หากวันหนึ่งประชาชนล้มป่วยเพราะทำงานหนัก นั่นเท่ากับว่า เศรษฐกิจของประเทศนี้อาจล้มไปด้วย ฉะนั้นรัฐต้องมีสวัสดิการให้กับคนทำงานระดับล่างที่ลำบากที่สุดก่อน เพราะพวกเขาทำงานหนักที่สุด” ธนาภรณ์กล่าว

สวัสดิการถ้วนหน้าพาเยาวชนไม่ถูกขังจากครอบครัว
หนึ่งประเด็นที่ ธนาภรณ์ เสนอในวงเสวนาจนได้รับความสนใจและเสียงปรบมือจากผู้ร่วมงานคือ หากประเทศไทยมีระบบสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชนทุกคน เช่น การมีระบบสวัสดิการให้พ่อแม่ในยามแก่เฒ่า จะทำให้บทบาทการเป็นนักเรียนของเธอในวันนี้สามารถใช้ความรู้ ความสามารถที่ได้จากการเรียนรู้ในสถานศึกษาไปใช้ในการทำงานในอนาคตได้อย่างเต็มที่
ธนาภรณ์กล่าวว่า ในอดีตจนมาถึงปัจจุบันนี้ สังคมไทย โดยเฉพาะในสังคมอีสานครอบครัวคนชนชั้นกลางถึงชนชั้นล่าง พ่อแม่มักจะคาดหวังให้ลูกทำงานราชการ เพื่อเป้าหมายเดียว คือการให้ได้รับสิทธิการเป็นข้าราชการเพื่อไว้ดูแลพ่อแม่ รวมถึงครอบครัวในยามที่เจ็บป่วยและเผชิญกับวิกฤตต่างๆ
“หลายคนคงเคยเจอ พ่อแม่อยากให้ลูกเป็นครู อยากให้ลูกรับราชการ แล้วเหตุผลที่เขามักใช้เสมอก็คือ สวัสดิการมันดี มันสบาย ค่ารักษาพยาบาลพ่อแม่ ลูก มันฟรี” ธนาภรณ์กล่าว
สำหรับ ธนาภรณ์ เห็นว่า ถ้าเด็กที่เรียนจบทุกคนเข้าไปอยู่ในระบบราชการที่ไม่มีการปฏิรูปมานาน อาจจะถูกระบบราชการกลืนให้กลายเป็นคนทำงานในระบบ และไม่ได้ใช้ความรู้ความสามารถเฉพาะด้านที่ตัวเองเรียนมาในการทำงาน
“คิดว่า พอเข้าไปอยู่ในระบบ ประเทศของเราก็จะขาดสายงานแขนงใหม่ๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด เราก็จะเสียโอกาสในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับประเทศนี้มากขึ้น” ธนาภรณ์กล่าว
ความฝันของธนาภรณ์คืออยากเห็นประเทศมีกฎหมายให้รัฐจัดการบริการสาธารณะในรูปแบบ “สวัสดิการถ้วนหน้า” เช่น เงินเดือนผู้สูงอายุเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจ ซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุดีพอ
“ถ้ามั่นใจว่า คนแก่จะมีชีวิตบั้นปลายที่ปลอดภัย มีสวัสดิการของรัฐ มันก็จะทำให้ลูกหลานได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยไม่ถูกกักขังจากระบบราชการ และที่สำคัญไม่ถูกขังโดยความคาดหวังของครอบครัว” ธนาภรณ์กล่าว
การศึกษาควรเป็นสิทธิ์ ไม่ใช่สินค้า
สวัสดิการศึกษาสำหรับ ธนาภรณ์ คือการที่ทุกคน ไม่ว่าจะฐานะทางเศรษฐกิจแบบไหนก็ควรที่จะเข้าถึงสิทธิในการศึกษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม
เธอกล่าวอีกว่า การศึกษาไม่ควรที่จะเป็นของปัจเจก ครอบครัวใครครอบครัวมันที่จะต้องรับผิดชอบ เพราะฐานะทางเศรษฐกิจและโอกาสของทุกคนไม่เท่ากัน
“ถ้าเป็นเรื่องบ้านใครบ้านมัน บ้านไหนจ่ายได้ก็ได้ไป บ้านไหนจ่ายไม่ได้ก็อยู่อย่างนี้ พอมันเกิดสิ่งนี้ขึ้น มันทำให้การศึกษากลายเป็นสินค้าที่คนมีเงินก็เข้าถึงเท่านั้น นี่จะยิ่งเป็นการถ่างความเหลื่อมล้ำให้กว้างขึ้น” ธนาภรณ์กล่าว
สวัสดิการที่ดีจะทำให้เด็กตามฝันได้
อรรถพล บัวพัฒน์ ตัวแทนกลุ่มขอนแก่นพอกันที เห็นตรงกันกับธนาภรณ์ว่า หากมีสวัสดิการถ้วนหน้าดูแลประชาชนทุกคนอย่างมีคุณภาพและเท่าเทียม ประเทศไทยอาจจะมีผู้ประกอบการหน้าใหม่หรือมีงานแขนงใหม่ๆ ที่สร้างรายได้ให้ประเทศเพิ่มขึ้น เพราะเด็กเรียนจบใหม่จะสามารถทำงานอิสระ ตามฝันได้ในระหว่างที่ตัวอย่างยังไม่ประสบความสำเร็จ
“แต่ไทยเราไม่ใช่รัฐสวัสดิการ อีกทั้งระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม มันไม่เปิดโอกาสให้เราแพ้ เราไม่สามารถที่จะแพ้ได้ คนๆ หนึ่งที่เรียนจบมาต้องรีบหางานทำ เหมือนส่งเงินเดือนเดือนแรกให้ครอบครัว” อรรถพลกล่าว

ระบบเศรษฐกิจบังคับมอบเงินเดือนแรกให้ครอบครัว
สำหรับ อรรถพล เหตุผลที่เงินเดือนๆ แรกของลูกเป็นสิ่งที่ต้องรีบมีให้พ่อแม่ คือระบบเศรษฐกิจมันไม่อนุญาตให้ใจเย็นได้เลย มันไม่อนุญาตให้เด็กลองทำสิ่งที่ต้องการ มันไม่อนุญาตให้ตามฝัน มันบีบให้ต้องรีบเข้าไปทำงานบริษัท ต้องรีบเข้าไปสู่โรงงานเพื่อทำงานเอาเงินเดือนๆ แรก
“แต่มันก็มีคำถามว่า ลองเสี่ยงดูสิ อยากทำอะไรก็ทำสิ แต่ขอโทษ ถ้าคุณเสี่ยงแล้วคุณล้ม แล้วเกิดพ่อคุณป่วยล่ะ แล้วเกิดแม่คุณป่วยล่ะ จบนะ นั่นคือความล้มละลายของคนทั้งครอบครัว” อรรถพลกล่าว
คำถามใหญ่ของอรรถพลคือ ทำไมเราไม่สามารถลองผิดลองถูกได้ สามารถที่จะล้มแล้วก็สามารถที่จะมีชีวิตต่อไปได้
“ถ้ามีระบบในการรักษาพยาบาลที่ดีและถ้วนหน้า ทุกคนในประเทศนี้สามารถที่จะลองตามฝันของตัวเองได้ปีหรือสองปีแรกหลังการเรียนจบ เพราะคุณไม่ต้องคิดว่าพ่อแม่คุณจะป่วยหรือเปล่า ในขณะที่คุณยังไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต” อรรถพลกล่าว

โรงเรียนควรเป็นที่ฝึกการใช้สิทธิเสรีภาพ
ปรากฏการณ์การออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิของนักเรียน รวมไปถึงสิทธิเสรีภาพทางการเมืองในโรงเรียนและนอกโรงเรียนจนถูกครูและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงคุกคาม แจ้งข้อหา จับกุม ทำให้ ขวัญข้าว ตั้งประเสริฐ ตัวแทนภาคีนักเรียน KKC กลุ่มมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายในจังหวัดขอนแก่น
เขาเสนอว่า ครูในโรงเรียนและเจ้าหน้าที่ความมั่นคงไม่ควรปิดกั้นเสรีภาพการแสดงออกทางการเมืองของนักเรียน เพราะนักเรียนถือเป็นประชาชนกลุ่มหนึ่งในสังคมควรมีสิทธิที่จะแสดงความเห็นหรือเสนอความต้องการทางการเมืองได้อย่างเสรีตามที่กฎหมายกำหนด
ขวัญข้าวกล่าวอีกว่า โรงเรียนถือเป็นสถาบันที่ให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพให้เด็ก อีกทั้งเป็นสังคมจำลองเพื่อจะเตรียมเด็กเข้าสู่สังคมขนาดใหญ่
“ดังนั้นโรงเรียนควรจะเปิดพื้นที่ในการแสดงออกทางความคิดเห็น สามารถชุมนุมวิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่ไม่เป็นธรรมในสังคมหรือตรวจสอบรัฐบาลที่ทำหน้าที่ไม่ดีได้” ขวัญข้าวกล่าว
สำหรับขวัญข้าว โรงเรียนจึงเป็นสถานที่ฝึกการใช้สิทธิเสรีภาพ จึงควรปลูกฝังว่า การชุมนุมเป็นสิทธิที่สามารถทำได้โดยเสรีภาพขั้นพื้นฐาน อย่างสันติ ไม่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ซึ่งถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว
“ปัญหาไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาอยู่ที่ผู้ใหญ่ อาจารย์ ไม่เข้าใจว่าการชุมนุมเป็นสิทธิที่ถูกต้อง ดังนั้นอาจารย์ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ว่าการชุมนุมหรือการแสดงออกต่างๆ เป็นเสรีภาพที่พึงกระทำตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว” ขวัญข้าวกล่าว