เมียฝรั่งในอีสาน – บ้านพักฝรั่งสูงวัย ใจกลางมนต์เสน่ห์อีสาน (13) 

ดลวรรฒ สุนสุข เรื่องและภาพ

ห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ออกไปประมาณ 84 กิโลเมตร ติดกับเขตทุ่งกุลร้องไห้ ที่ได้ขึ้นชื่อว่าเป็นพื้นแห้งแล้งที่สุดในประเทศไทย บ้านนาแพง อำเภอนาโพธิ์  จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ตั้งของ ‘ลาณี เร้สซิเด้นซ์’ บ้านพักผู้สูงอายุฝรั่งที่ชอบความเป็นอีสาน แฝงตัวอยู่ในพื้นที่ชนบทแห่งนี้

หลังจากจอดรถ พนักงานของ ‘ลาณี เร้สซิเด้นซ์’ กล่าวทักทายเป็นภาษาเยอรมัน พร้อมหยิบเครื่องตรวจอุณหภูมิขึ้นมาตรวจ และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ สำหรับผู้ที่จะเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้  ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคควิด – 19  

ช่วงเวลาบ่ายโมง เหล่าบรรดาผู้สูงอายุ ชาวเยอรมัน – สวิสฯ ที่พักอาศัยอยู่ที่นี่ กำลังนั่งกินข้าวกันในห้องอาหาร พูดคุยภาษาเยอรมันกันอย่างสุนกสนาน ลาณี เยเกอร์ แพงไธงสง (Lanee Jaeger Phaengthaisong) เจ้าของสถานที่ กำลังง่วนอยู่กับการพูดคุยหยอกล้อกับผู้สูงอายุต่างชาติชาวยุโรปทั้ง 8 คน อย่างสนิทสนม

ผู้สูงอายุชาวยุโรปนั่งรถเข็นในยามบ่าย โดยมีผู้ดูแลเป็นคนในหมู่บ้านนาแพง อำเภอนาโพธิ์ จังหวัดบุรีรัมย์

เปลี่ยนพื้นที่แห้งแล้งเป็นหมู่บ้านผู้สูงอายุฝรั่ง

หลังจากส่งผู้สูงอายุกลับห้องพัก ลาณี กล่าวตอนรับเราพร้อมกับพาเดินแนะนำดูสถานที่ ประกอบด้วย บ้านพักจำนวน 13 หลัง โรงแรม อาคารกิจกรรมโรงอาหาร  สระว่ายน้ำ และสระน้ำขนาดใหญ่ ท่ามกลางพื้นที่ 13 ไร่ รายรอบด้วยทุ่งข้าวเขียวขจี 

“ไม่เคยมีความคิดว่าจะกลับมาอยู่ที่บ้านเลย อยู่ที่สวิสเซอร์แลนด์ก็ดีอยู่แล้ว มันเริ่มมาจากแม่ย่า (แม่สามี) มาเยี่ยมที่หมู่บ้านนาแพง ตอนแรกก็กังวลว่าจะอยู่ที่นี่ได้ไหม แต่พอมาแล้วตอนเช้าแม่ย่าก็ออกไปเดินเล่นในหมู่บ้าน ชาวบ้านก็เรียกกินข้าว ถึงแม้จะคุยกันไม่รู้เรื่อง พอเราทำกับข้าวให้กิน ย่าก็บอกว่า กินแล้ว กินกับคนในหมู่บ้าน”  

“หลังจากนั้นแม่ย่าก็บอกกับสามีว่า อยู่ที่นี่ได้ แต่มีข้อแม้อย่างเดียวคือฉันอยากมีเพื่อนที่พูดภาษาเดียวกัน”  ลาณี เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาตอนแรกเริ่มก่อนสร้างบ้านพักคนชราแห่งนี้

ด้วยความที่สามีเป็นนักธุรกิจและลาณีเองก็เป็นข้าราชการที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการแพทย์ จึงเกิดไอเดียขึ้นว่า “เราจะกลับมาทำที่นี่ให้เป็นหมู่บ้านผู้สูงอายุ เอาเสน่ห์ความเป็นอีสานไปขายให้ฝรั่ง”

ลาณี และ สามี ฮันส์ เยิร์ก เยเกอร์ (Hans-Joerg Jaeger) เริ่มทำเว็บไซต์ (www.lanee.ch) และโฆษณาลงสื่อว่าใครอยากมาใช้ชีวิตที่บ้านนาแพง ด้วยการดึงเสน่ห์อีสานเป็นจุดขาย ปรากฏว่ามีผู้สนใจติดต่อมาเป็นจำนวนมาก ทำให้มั่นใจว่า หมู่บ้านนาแพงแห่งนี้ ผู้สูงอายุชาวยุโรปสามารถมาใช้ชีวิตได้ 

กว่า 2 ปี หลังจากทำเว็บไซต์ ความคิดของทั้งคู่ก็เริ่มเป็นรูปร่างประมาณปี 2554  ช่วงนั้นพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเกิดน้ำท่วมใหญ่ แรงงานก่อสร้างใกล้หมู่บ้านตกงานแล้วกลับภูมิลำเนา ลาณีจึงเปลี่ยนที่นาที่ได้มรดกจากพ่อ-แม่ จำนวน 13 ไร่ โดยมีแรงงานในหมู่บ้านเป็นผู้สานฝัน

ผู้พักอาศัยในลาณี เร้สซิเด้นซ์ว่ายน้ำในสระของโครงการ โดยมีผู้ดูแลคอยติดตามอย่างใกล้ชิด

ความหนาวเหน็บฝั่งตะวันตกหาไออุ่นตะวันออก

เธอเริ่มก่อร่างสร้างจากพื้นที่ห่มข้าวเขียวชอุ่มในหน้าฝนและผันผ่านสู่ความแห้งแล้งของดินแตกระแหงในหน้าร้อน เป็นหมู่บ้านผู้สูงอายุเพื่อชาวยุโรป จากปีแรกมีบ้านพัก 6 หลัง จนถึงวันนี้ ลาณี เร้สซิเด้นซ์ มีบ้านพักทั้งหมด 13 หลัง

“ที่นี่ไม่รับคนประเภทมาหาเมียหรือคิดว่าคนไทยเป็นของเล่น ที่นี่ไม่เหมือนพัทยา เชียงใหม่ มันไม่มีอะไรแบบนั้น ความสะดวกสะบายก็ไม่มีมาก ห่างไกลจากห้างสรรพสินค้า บาร์ คนที่จะเข้ามาอยู่ต้องสอบถาม ตรวจประวัติ ให้ลองมาดูสถานที่จริงว่าเขาจะอยู่ได้ไหม เราอยู่กับแบบนี้นะ คุณอยู่ได้ไหม”  ลาณีเล่าถึงความเข้มงวดของคนที่จะเข้ามาพักในบ้านพักผู้สูงอายุแห่งนี้ 

ด้วยความที่เธอลองโฆษณาผ่านสื่อ ก่อนที่จะลงมือทำจริงทำให้เธอรับรู้ว่า ผู้สูงอายุชาวยุโรป ชอบความเงียบสงบ อากาศที่อบอุ่น รอยยิ้มและความเป็นกันเองของคนเอเชีย 

“ในประเทศที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี เขาจะแบ่งเงินออกไว้ให้จากเงินเดือนเพื่อใช้ชีวิตยามบั้นปลาย คนที่มาอยู่ที่นี่ก็จะมีเงินเป็นของตัวเองเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ แม้จะเป็นเงินไม่เยอะสำหรับเขา แต่สำหรับประเทศเรามันก็พอให้เขาอยู่ได้อย่างสบาย”ลาณีกล่าว

ราคาบ้านพักเดือนละ 38,000 บาท ค่าคนดูแลอีก 12,000 บาทต่อคน ลาณีบอกว่า เป็นราคาที่ไม่แพงสำหรับผู้สูงอายุชาวยุโรป 

ความสงบเงียบของชนบทอีสานเป็นเสน่ห์ที่ ฮันส์ เยิร์ก เยเกอร์ สามีของลาณีหลงรัก

“ผมชอบที่นี่ ผู้คน บรรยากาศ อากาศอบอุ่น มันเหมาะกับผู้สูงอายุที่หนีความหนาวมาจากยุโรป ความเงียบสงบบรรยากาศดี มลพิษน้อย ที่สำคัญคือความเป็นอีสาน ความมีสเน่ห์ของผู้คน ยิ้มงาม เป็นมิตร รู้สึกอบอุ่น คนรวมงาน พนักงานทุกคน เหมาะสมสำหรับการทำบ้านพักผู้สูงอายุมาก ผมเลยเลือกตรงนี้ คิดว่าเป็นจุดขายของเรา”  ฮันส์ กล่าว

ด้านผู้พักอาศัยอย่าง ไฮดี้ มือเล่อร์ ในวัย 81 ปี ชาวสวิสฯ เล่าว่า ที่นี่เหมือนเป็นครอบครัว อยู่ที่สวิสฯ มีแต่ความเหงา ชาวบ้านมีความเป็นมิตร มีกิจกรรมให้ทำร่วมกันตลอด ทำให้รู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว 

“ถ้าอยู่ที่สวิสฯ ต้องอยู่บ้านพักคนชราแบบโดดเดี่ยว แต่พอมาอยู่อีสานทุกคนเรียกฉันว่าคุณยาย เรียกว่าคุณป้า ทำให้รู้สึกว่าหลงเสน่ห์อีสานและด้วยราคาที่ไม่แพงมาก บ้านพักแห่งนี้เลยเป็นสิ่งที่เธอตามหา”เธอกล่าวด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม 

ไฮดี้ มือเล่อร์ ชาวสวิสฯ หนึ่งในผู้พักอาศัยใน “ลาณีเรสเร้สซิเด้นซ์” กำลังพักผ่อนที่ห้องพักส่วนตัว

กว่าจะก้าวข้ามทัศนคติเหยียด “เมียฝรั่ง”  

‘นกน้อย’ ลาณีบอกชื่อเล่นของเธอ ชีวิตของเธอเหมือนเด็กอีสานทั่วไป เมื่อวัยเรียนรู้ก็มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เรียนหนังสือในมหาวิทยาลัย จบปริญญาโท และทำงานต่อที่เมืองหลวง เธอพบรักกับ ฮันส์ ขณะที่ทำงานด้านการส่งออกที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อปี 2533 จากนั้นจึงคบหาดูใจกันในช่วงที่ค่านิยมของคนไทยยังไม่ได้เปิดกว้างเรื่องการเป็นเมียฝรั่งเหมือนเช่นทุกวันนี้

“ตอนนั้นไม่กล้าพาแฟนมาเจอพ่อกับแม่ เพราะตอนนั้นคนที่มีแฟนเป็นฝรั่งก็จะคิดว่าเป็นคนทำงานบาร์ ทำงานกลางคืน แต่เราก็ค่อยๆ พาเขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ด้วยการพาไปหาพี่น้อง จนวันหนึ่งเขายอมรับกระทั่งได้แต่งงานกันใช้เวลาสร้างการยอมรับกว่า 2 ปี”เธอเล่าอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการคบหาชาวตะวันตก 

หลังแต่งงานเธอจึงย้ายไปอยู่สวิสเซอร์แลนด์ โดยสามีทำงานเกี่ยวกับทางการแพทย์ในเมืองที่มีระบบสวัสดิการของรัฐดีพร้อม เธออยู่นั่นกว่า 20 ปี ดูเหมือนชีวิตลงตัว แต่ความมุ่งมั่นอย่างหนึ่งที่เคยคิดตอนเป็นเด็กว่า ทำไมเด็กบ้านนอก ไม่มีงาน ไม่มีโอกาสเหมือนคนในเมืองหลวงบ้างทำให้เธอต้องเดินตามหาคำตอบและทำตามฝัน 

“โอกาสมันมาไม่ถึง บ้านเราเป็นบ้านนอก ห่างไกลความเจริญ แต่ลองมองข้อดี เรามีความเงียบ ความสงบ เต็มไปด้วยธรรมชาติ ที่สำคัญที่สุดเรามีคนอีสานที่มีนิสัยเอื้อเฟื้อ มองทุกคนเป็นญาติกัน นี่แหละเสน่ห์ของอีสาน”เธอกล่าวด้วยความภูมิใจ 

คนงานในลาณีเรสเร้สซิเด้นซ์จำนวน 25 ชีวิต เป็นคนงานในหมู่บ้านใกล้เคียง เพราะเธอคิดว่า อยากสร้างงานให้คนในชุมชน 

สุวรรณี ค้อเจริญ วัย 36 ปี จึงเป็น 1 ในผู้ดูแลผู้สูงอายุในสถานที่แห่งนี้ ด้วยการศึกษาเพียงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ไม่ได้สร้างโอกาสให้เธอมากนัก ประกอบกับการเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว การได้งานใกล้บ้านจึงทำให้เธอมีเวลาให้ลูกมากขึ้น 

“เคยไปสมัครงานในตัวอำเภอก็มีแต่งานขนของ ถ้าอยากได้งานอย่างอื่น ต้องเข้าไปเมืองใหญ่ แต่เรามีลูกแล้วฝากไว้กับยาย ถ้าไปทำงานที่อื่นก็ไม่ได้เลี้ยงลูก การทำงานที่นี่จึงเป็นคำตอบ”สุวรรณีเล่าเหตุผลของการทำงานที่นี่มาตั้งแต่ปี 2559 

“ปัญหาเยอะมาก ทั้งปัญหาเรื่องความคิดของคน กว่าจะทำให้ทุกคนเข้าใจว่าเราทำอะไร มันใช้เวลานานและเราใช้เงินลงทุนเยอะมาก ทุ่มหมดหน้าตัก กว่าจะถึงทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูก สู้มาด้วยตัวคนเดียว” ลาณีเล่าถึงปัญหาที่พบ

กิจกรรมฉลองวันเกิดหนึ่งในผู้ของผู้พักอาศัยใน ลาณี เร้สซิเด้นซ์ จ.บุรีรัมย์

กว่าจะมีวันนี้ของ ‘ลาณี เร้สซิเด้นซ์’ 

เธอเล่าอุปสรรคอีกว่า การทำธุรกิจในชนบทไม่เหมือนเมืองใหญ่ แม้จังหวัดบุรีรัมย์จะประกาศว่าเป็นเมืองสุขภาพและกีฬา แต่ความเป็นเจริญด้านทรัพยากรยังกระจุกตัวอยู่ที่ในตัวเมืองใหญ่ 

“ถ้าอยากให้ทุกที่เจริญ มีงาน ต้องกระจายทรัพยากรออกไปทุกที่”ลาณีเสนอและสรุปว่า “เราเคยคิดว่าภูมิภาคอีสานไม่มีอะไร มีแต่ความแห้งแล้ง ยากจน แต่เราลืมไปว่า คนอีสานอยู่ที่นี่ เป็นสิ่งที่ทำให้มาอยู่แล้วชอบที่สุด”

ดูฉบับวิดีโอได้ที่นี่ 

image_pdfimage_print