ปฐวี โชติอนันต์ เรื่อง
“ถ้าปล่อยให้คนปรุงรัฐธรรมนูญเป็นคนแก้ไขรัฐธรรมนูญ แล้วมันจะเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
“รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่ ต้องแก้ที่แม่ก่อนถึงจะแก้ที่ลูกได้”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
“นายกรัฐมนตรีไม่ควรมาจากคนนอก แต่ต้องมาจาก ส.ส. ที่เป็นตัวแทนประชาชน”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
“ส.ว. 250 คน ควรมาจากการเลือกตั้งครับ”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
“ประชาชนสามารถที่จะแสดงความคิดเห็นต่างได้โดยไม่ถูกคุกคาม”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
“เราควรแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อขยายสิทธิให้กับกลุ่ม LGBTQ เพราะพวกเขาก็เป็นคนไทยเหมือนเรา”
(นักเรียนคนหนึ่ง 22/8/63)
เมื่อวันที่ 22 กรกฎราคม 2563 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้จัดค่ายเยาวชนสำหรับนักเรียนที่สนใจศึกษาต่อทางด้านรัฐศาสตร์ นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้าร่วมเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 และมาจากจังหวัดต่างๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ศรีษะเกษ ยโสธร มุกดาหาร และ อุบลราชธานี เป็นต้น ประมาณ 250 คน
กิจกรรมภายในค่ายเริ่มต้นช่วงตอนเช้าด้วยการบรรยายทางวิชาการในหัวข้อรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 ส่วนช่วงบ่ายนักเรียนได้ร่วมทำกิจกรรมการออกแบบและแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ซึ่งถูกขึ้นร่างโดยคณะรัฐบาลทหารนำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ที่สำคัญ ประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังเป็นหนึ่งใน 3 ข้อเรียกร้องของกลุ่มเยาวชนปลดแอก คือ 1. ยุบสภาและเลือกตั้งใหม่ 2. ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. หยุดคุกคามประชาชน ซึ่งเป็นที่ถกเถียงและสังคมไทยให้ความสำคัญเป็นวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นพรรคฝ่ายค้าน พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค สื่อ ประชาชน นักเรียน และนักศึกษา
จากการที่ผู้เขียนเป็นส่วนหนึ่งของการจัดกิจกรรม จึงได้มีโอกาสฟังข้อวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจากนักเรียนและนักศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ โดยสามารถถอดความได้ 10 ประเด็นดังนี้
ประเด็นที่ 1 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560ไม่มีความชอบธรรมในเรื่องของที่มา แม้จะผ่านร่างการลงประชามติจากประชาชนทั่วประเทศ แต่ทำในช่วงที่ประเทศถูกปกครองโดยเผด็จการทหาร เจ้าหน้าที่ต่างๆ ถูกควบคุมโดยรัฐบาลทหาร การลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีการลงรณรงค์ให้โหวตรับไปก่อน แล้วค่อยมาแก้ทีหลัง ถ้าไม่รับก็ไม่มีใครรู้ว่ารัฐบาลทหารจะนำรัฐธรรมนูญฉบับไหนมาใช้
นอกจากนี้ การลงประชามติรัฐธรรมนูญในครั้งนั้นยังสอดแทรกคำถามพ่วงในเรื่องของการให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ การให้มีคำถามพ่วงดังกล่าวทำให้เกิดข้อกังขาอย่างมากกับสังคม เพราะไม่มีการแจ้งให้ผู้ลงประชามติรับรู้อย่างกว้างขวาง ที่สำคัญคือ คำถามพ่วงมีลักษณะกำกวมและเข้าใจยาก กล่าวคือ ไม่บอกว่าให้ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง แต่บอกว่า ให้รัฐสภาเป็นผู้เลือกนายกรัฐมนตรี
ประเด็นที่ 2 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 เป็นกฎหมายที่เกิดขึ้นเพื่อสืบทอดอำนาจของรัฐบาลการเผด็จการทหาร กล่าวคือ การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ วุฒิสมาชิก 250 คน ซึ่งมาจากการแต่งตั้งมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรีได้นั้น คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ใครคือผู้ที่เลือก ส.ว. เข้ามาทำหน้าที่ เพราะคนที่เลือก ส.ว. คือ ผู้ที่ทำรัฐประหาร 2557 และเมื่อให้ ส.ว. เป็นผู้มีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี พวกเขาจึงต้องเลือกคนที่แต่งตั้งพวกเขาเข้ามาดำรงตำแหน่งเพื่อตอบแทนผลประโยชน์ระหว่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ส.ว. ไม่ได้มีความยึดโยงกับประชาชน แต่มีสิทธิที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีได้ สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า อำนาจอธิปไตยไม่ได้เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง แต่เป็นกระชับอำนาจที่ควรเป็นของประชาชนให้ไปอยู่กับกลุ่มชนชั้นนำเท่านั้น
ประเด็นที่ 3 นายกรัฐมนตรีที่มาจากคนนอกนั้นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าประชาธิปไตยของประเทศนั้นถดถอย รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ 2550 ระบุไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จึงจะมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องเป็น ส.ส. กล่าวคือ สภาฯ จะเลือกใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ สุดท้าย รัฐสภาที่ประกอบด้วย ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้ง และ ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐบาลทหาร เมื่อได้เสียงส่วนใหญ่ของรัฐสภาก็โหวตเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 เข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
ประเด็นที่ 4 รัฐธรรมนูญ 2560 มีการบัญญัติเรื่องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนไทย ไว้ในหมวด 3 ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง นักกิจกรรมทางการเมืองจึงยังคงถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐเป็นจำนวนมาก ที่สำคัญ รัฐยังใช้กฎหมายอาญา ม.116 ในการแจ้งข้อหาผู้ชุมนุมทางการเมืองที่มีลักษณะยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก ทั้งๆ ที่ผู้ชุมนุมไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์นั้นไม่ได้มีพฤติการณ์ที่ต้องการทำให้สังคมแตกแยก เพียงแค่เรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา แก้ไขรัฐธรรม และหยุดการคุกคามประชาชนโดยรัฐเท่านั้น
หรือแม้กระทั่งเรื่องการตัดผม รัฐธรรมนูญก็ให้สิทธิและเสรีภาพเหนือร่างกาย ที่สำคัญคือ กฎกระทรวงไม่ได้บังคับให้ตัดผม แต่บางโรงเรียน นักเรียนยังถูกบังคับให้ตัดผม ใครไม่ตัดจะถูกครูตัดให้
สุดท้ายคือ การแสดงออกทางการเมืองในโรงเรียน ซึ่งรัฐธรรมนูญให้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แต่บางโรงเรียนกลับถูกครูห้ามและถูกทำร้ายร่างกาย
มากไปกว่านั้น บางโรงเรียน ผู้อำนวยการอนุญาตให้ตำรวจเข้ามาจับกุมนักเรียนถึงในโรงเรียน สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงว่า รัฐธรรมนูญที่เขียน มีการเขียนถึงเรื่องสิทธิและเสรีภาพนั้น ไม่ได้ปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนผู้เห็นตรงข้ามกับรัฐบาล
ประเด็นที่ 5 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจในการจัดการพรรคฝ่ายตรงข้าม มาตรา 49 ในรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า “บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้” มาตรานี้ถูกร่างขึ้นเพื่อป้องกันการรัฐประหารและล้มล้างรัฐธรรมนูญ ในอดีต อัยการสูงสุดจะเป็นผู้เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ สิ่งที่ตามมาคือ มีการใช้มาตราดังกล่าวในทางการเมือง โดยมีการฟ้องร้องพรรคการเมืองบางพรรคที่เสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นการล้มล้างการปกครอง
ประเด็นที่ 6 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่สอดคล้องกับสภาวะสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ ในหลายหมวดของรัฐธรรมนูญมักกำหนดถึงความเท่าเทียมกันที่ระบุไว้เฉพาะเพศชายและเพศหญิงเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ในสังคมไทยตอนนี้ มีบุคคลที่แสดงออกและยอมรับในเพศสภาพของตนที่ไม่ตรงกับกำเนิดมากขึ้น เช่น ทอม ตุ๊ด เกย์ เลสเบี้ยน เป็นต้น คนเหล่านี้ถือว่าเป็นคนไทยเหมือนกัน แต่ไม่ได้รับสิทธิ เช่น การแต่งงาน การรับมรดกจากคู่สมรส เพราะว่าเพศของเขาไม่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ
สิ่งสำคัญคือ รัฐธรรมนูญไม่ควรแบ่งแยกชายและหญิงเท่านั้น เพราะในสังคมไทยมีความหลากหลายทางเพศ ถ้ารัฐธรรมนูญกำหนดในเรื่องความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมกันทางเพศที่มากกว่าชายและหญิง มันจะส่งผลต่อการออกกฎหมายลูกในการปกป้องสิทธิของคนเหล่านั้น
ประเด็นที่ 7 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ไม่ได้มีความจริงใจในเรื่องของการกระจายอำนาจ สิ่งที่พบคือ ภายหลังการรัฐประหาร 2557 รัฐบาลทหารได้มีการใช้ ม.44 ปลดผู้นำท้องถิ่นและตั้งข้าราชการให้เข้าไปดำรงตำแหน่งแทน ถึงแม้จะมีการเลือกตั้งในระดับชาติไปแล้วก็ตามเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2562 แต่รัฐบาลยังไม่เปิดให้มีการเลือกตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ส่งผลให้การปกครองท้องถิ่นไทยไม่มีการเลือกมา 6 ปี กว่าแล้ว ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งผู้นำท้องถิ่นเมื่อใด
สิ่งที่ย้อนแย้งคือ รัฐธรรมนูญกำหนดให้มีการกระจายอำนาจ แต่อำนาจในการบริหารท้องถิ่นยังถูกควบคุมและแช่แข็งจากส่วนกลาง ส่วนในแต่ระดับจังหวัดยังคงมีผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งเป็นข้าราชการส่วนภูมิภาค ทำหน้าที่ดูแลหน่วยงานราชการในจังหวัดและท้องถิ่นต่างๆ การมีบุคคลที่ถูกแต่งตั้งจากส่วนกลางเข้ามาทำหน้าที่ในการบริหารระดับจังหวัด ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการกระจายอำนาจ แต่เป็นความพยายามที่ต้องการดึงอำนาจไว้ให้รัฐส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมากที่สุด
ประเด็นที่ 8 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 มีปัญหาเรื่องกระบวนการยุติธรรม เพราะการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนไม่ได้บัญญัติว่าเป็นสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่สะดวกและรวดเร็ว เหมือนกับรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 และ ฉบับ 2550 แต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 บัญญัติ ใน ม.77 ว่า “รัฐต้องจัดระบบงานของรัฐและกระบวนการยุติธรรมให้อํานวยความยุติธรรมแก่ประชาชน” ข้อความดังกล่าวทำให้ตีความได้ว่า สิทธิในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของประชาชนได้หายไป แต่ให้อำนาจของรัฐในการอำนวยความยุติธรรมให้กับประชาชนแทน
การกำหนดในลักษณะนี้จะมีผลต่อการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างมากในการเลือกปฏิบัติต่อประชาชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ คดีของ วรยุทธ อยู่วิทยา (บอส กระทิงแดง) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่มีความล่าช้าอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับคดีของประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาทางการเมือง
ประเด็นที่ 9 รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาเรื่องของการบัญญัติให้มีระบบเลือกตั้งแบบ “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” การเลือกตั้งในแบบปาร์ตี้ลิสต์และแบบเขตการเลือกตั้งกำหนดให้ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว คะแนนที่ได้จากการเลือกตั้งของพรรคจะถูกนำมาจัดสรรให้กับตำแหน่ง ส.ส. กล่าวคือ พรรคการเมืองใดที่ ส.ส.เขตได้รับเลือกเข้ามามาก จะได้การจัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์น้อย
ในทางกลับกัน พรรคการเมืองใดที่ไม่มี ส.ส.เขต แต่คะแนนที่ได้แต่ละเขตรวมกันตามสูตรที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดขึ้น จะได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ตามแต่สัดส่วนคะแนน ส่วนพรรคการเมืองไหนไม่ส่งคนรับเลือกตั้งในเขตไหน ก็จะหมดสิทธิที่จะได้คะแนนจากเขตนั้นในรูปแบบปาร์ตี้ลิสต์ไปโดยปริยาย การกำหนดระบบเลือกตั้งในลักษณะนี้เพื่อต้องการให้ ส.ส. ที่ได้รับการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมือง สะท้อนความเป็นจริงของคะแนนเสียงที่ได้รับเลือกจากประชาชน อย่างไรก็ตาม คำถามที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งครั้งนี้คือ สูตรการนับคะแนนของ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่มีข้อน่ากังขาและเอื้อประโยชน์ให้กับพรรคเล็กที่มีแนวโน้มเข้าร่วมกับพรรคที่สืบทอดอำนาจจากรัฐบาลทหารมากกว่า ที่สำคัญคือ ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวมีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เอื้อให้เกิดพรรคเล็กจำนวนมากและทำลายพรรคการเมืองใหญ่ที่เคยครองฐานอำนาจในอดีต อย่างเช่น พรรคเพื่อไทย
ประเด็นที่ 10 รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ควรมีการแก้ไขในหมวดของพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ ที่ระบุว่า ผู้ใดจะกล่าวฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ และเพิ่มบทบัญญัติให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้ เช่นเดียวกับที่เคยบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับคณะราษฎร การแก้ไขดังกล่าวไม่มีความต้องการที่จะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ต้องการให้สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่สามารถตรวจสอบได้และคงอยู่กับสังคมไทยตลอดไป
ทั้งหมดนี้คือมุมมองและความเห็นของนักเรียนส่วนหนึ่งที่อยู่อาศัยอยู่ในภาคอีสานมีต่อรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ประเด็นต่างๆ ที่พวกเขานำเสนอนั้นย่อมสะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยไม่ได้นิ่งเฉยหรือเฉยชาต่อการมีส่วนร่วมการเมืองอีกต่อไป แต่พวกเขากลับค้นคว้าเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องสิทธิและเสรีภาพที่พวกเขาพึ่งมี รวมถึงปัญหาบ้านเมืองที่พวกเขาอยู่
มากไปกว่านั้น พวกเขามีทั้งความหวังและความฝันที่จะเห็นสังคมและอนาคตของประเทศไทยข้างหน้าดีขึ้น ผ่านการแก้ไขกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ความต้องการเรียนรู้ แสดงความคิดเห็น กล้าแสดงออก และเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง ไม่ใช่คุณสมบัติของเยาวชนที่สังคมในระบอบประชาธิปไตยต้องการหรือ?
หมายเหตุ: ความคิดเห็นหรือมุมมองต่างๆ ที่ปรากฎบนเว็บไซต์เดอะอีสานเรคคอร์ด เป็นข้อคิดเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่ได้เป็นมุมมองหรือความคิดเห็นของกองบรรณาธิการเดอะอีสานเรคคอร์ด